ซอชนิดหนึ่งของไทย (ดู ซอ ประกอบ) มีมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่าเป็นอย่างเดียวกับ “ซอพุงตอ” ในสมัยสุโขทัย ซอสามสายมีเสียงไพเราะนุ่มนวล รูปร่างสวยงามวิจิตรยิ่งกว่าซออื่นใด ถือเป็นเครื่องดนตรีชั้นสูง ใช้ในราชสำนักเพื่อการขับกล่อมและการบรรเลงในพระราชพิธีต่าง ๆ มาโดยตลอด
ลักษณะทั่วไปของซอสามสายมีส่วนประกอบดังนี้
๑. กะโหลก ทำด้วยกะลามะพร้าว ตัดตามขวางเอาแต่ส่วนบนซึ่งมีปุ่มนูนเป็นรูป ๓ เส้า ด้านหน้าต่อติดกับกรอบไม้เนื้อแข็ง โบราณนิยมใช้ไม้สัก เรียกว่า “ขนงไม้สัก” ซึ่งทำเป็นวงรีคล้ายกรอบหน้านาง แล้วขึงหนังลูกวัวหรือหนังแพะให้ตึงพอดีโดยปิดทับขอบขนงไม้สักและขอบกะลาเล็กน้อย แล้วตกแต่งให้ดูงาม กะโหลกของ ซอสามสายส่วนกว้างที่สุดประมาณ ๑๘ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๒๑ เซนติเมตร
กะลามะพร้าวลักษณะดังกล่าวเป็นของหายาก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ตราภูมิคุ้มห้าม” ให้แก่เจ้าของสวนที่มีมะพร้าวชนิดนี้เพื่อมิให้ต้องเสียภาษีอากร นับว่าเป็นการส่งเสริมพันธุ์มะพร้าวชนิดนี้ไว้แก่ชนรุ่นหลังอย่างวิเศษยิ่ง
๒. คันซอ แบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วน คือ ทวนบน ทวนกลาง และทวนล่าง
ทวนบน คือ ส่วนที่นับจากรอยต่อเหนือรัดอกขึ้นไป ยาวประมาณ ๒๔.๕ เซนติเมตร
ทวนกลาง คือ ส่วนที่ต่อจากทวนบนลงมาถึงกะโหลก ยาวประมาณ ๔๑ เซนติเมตร ถ้าเป็นทวนที่ทำด้วยงา ทวนกลางนี้อาจแบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนมักหุ้มด้วยโลหะที่มีค่า เช่น ทองคำ นาก
ทวนล่างหรือแข้งไก่ คือ ส่วนที่ต่อจากกะโหลกลงไป รวมทั้งเข็มซึ่ง เป็นโลหะท่อนกลม ปลายแหลม ยาวประมาณ ๒๖ เซนติเมตร
๓. ลูกบิด มี ๓ ลูก เมื่อดูจากหน้าซอ ทางขวามือลูกล่างสำหรับ “สายเอก” ลูกบนสำหรับ “สายกลาง” ทางซ้ายมือมีลูกเดียวสำหรับ “สายทุ้ม” หรือบางทีก็เรียกว่า “สายสาม” ลูกบิดแต่ละลูกยาวประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างลูกบิดยาวประมาณ ๓ เซนติเมตร การเทียบเสียงนั้นเป็นคู่ ๔ ลดหลั่นลงมาตามลำดับ โดยใช้เสียงสายเอกเท่ากับลูกฆ้องลูกที่ ๑๐ โดยเริ่มนับจากลูกทวนซึ่งเป็นลูกที่มีเสียงต่ำสุดของฆ้องวงใหญ่ แต่ถ้าเป็นซอสามสายหลีบ (ขนาดเล็ก) จะเทียบเสียงสูงขึ้นไปเป็นคู่ ๔ ของซอสามสายธรรมดา
๔. รัดอก มักใช้สายไหมฟั่นเกลียวอย่างสายซอ ขนาดเล็ก พันรอบทวนกลาง รัดสายทั้ง ๓ สายให้แนบทวนกลางเพื่อให้เสียงของสายเปล่าได้ระดับและมีความกังวานทั้ง ๓ สาย การพันนั้นต้องพันด้วยเงื่อนซ่อนปลายค่อนไปทางส่วนบนของทวนกลาง ให้ได้จำนวนรอบพอเหมาะ ถ้ามากไปก็ร้อยสายเข้าลำบาก ถ้าน้อยไปเสียงจะเครือไม่ชัดเจน
๕. หย่อง ทำด้วยไม้หรืองา เหลาเป็นรูปคันธนูให้ได้ขนาดพอรับสายซอทั้ง ๓ สาย ระยะวางหย่องของซอสามสายนั้นไม่วางตรงกลางหน้าซอเหมือนหย่องซอด้วงหรือหมอนซออู้ แต่ค่อนไปทางส่วนบนของหน้าซอ บนหย่องบากร่องไว้ ๓ ตำแหน่งเพื่อรองรับสายซอ
๖. ถ่วงหน้า ทำด้วยแก้วหรือโลหะ เช่น เงิน ขึ้นรูปเป็นตลับกลมเล็ก ๆ ข้างบนประดับพลอยสีต่าง ๆ หรือถม หรือลงยา ภายในบรรจุขี้ผึ้งผสมตะกั่วเพื่อให้ได้น้ำหนัก ปิดหน้าด้วยชัน เมื่อเวลาจะใช้งานจึงลนไฟที่ชันส่วนที่ปิดหน้านี้ แล้วกดลงเบา ๆ ที่หน้าซอด้านซ้ายมือของผู้สี เพื่อถ่วงหนังหน้าซอด้วยสายเอก ปรับให้เสียงสายเอกเข้ากันกับสายสามหรือสายทุ้ม โดยคำนึงถึงน้ำหนักและตำแหน่งที่จะติด เพื่อให้มีความกังวานหวานไพเราะนุ่มนวล
๗. หนวดพราหมณ์ ใช้สายไหมฟั่นเกลียวอย่างสายซอ ขนาดใหญ่กว่าสายรัดอก ผูกเป็นบ่วง ๓ บ่วง ร้อยเข้าไปในรูซึ่งเจาะไว้ที่ทวนล่าง สำหรับรั้งปมของปลายสายทั้ง ๓ หนวดพราหมณ์นี้ทำขึ้นเพื่อความสะดวกในการเปลี่ยนสาย รูร้อยสายถึงรูร้อยหนวดพราหมณ์ยาวประมาณ ๗๐ เซนติเมตร
๘. คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งและเหนียว เช่น ไม้แก้ว กลึงเกลาให้ได้รูปอ่อนช้อย ขึงด้วยขนหางม้าสีขาวประมาณ ๒๕๐-๓๐๐ เส้น จนตึงพอดี คันชักยาวประมาณ ๘๗ เซนติเมตร ส่วนที่ขึงหางม้ายาว ๗๐ เซนติเมตร ใช้ยางสนถูเส้นหางม้าเพื่อให้มีความฝืดมากพอที่จะใช้สีกับสายซอให้เกิดเสียงดัง
การฝึกหัด ผู้ฝึกหัดต้องเริ่มเรียนตั้งแต่เค้าโครงของเพลง แล้วครูจะพิจารณาเพิ่มเนื้อหาครั้งละน้อยตามพัฒนาการทางสรีระของผู้ปฏิบัติ แล้วจึงหัดจับซอและหัดท่านั่งให้ถูกระเบียบปฏิบัติแต่โบราณ โดยเฉพาะท่านั่งต้องนั่งพับเพียบ จัดท่านั่งให้ดูสง่างาม กำหนดจุดปักปลายซอที่ทวนล่าง ให้ตรงแนวหัวเข่าด้านนอกเป็นเส้นตรงกับแขนซ้ายที่จับทวนกลางของซอ กะประมาณให้ห่างพอปลายลูกบิดสายซอที่ ๓ คลอใกล้ ๆ กับใบหูซ้ายในขณะที่พลิกคันซอไปในแกน ๑๘๐ องศา หลังจากนั้นจึงหัดสีสายเปล่าให้ได้เสียงคู่ทั้งล่างและบนชัดเจนแจ่มใส วิธีการสีที่ถูกต้องต้องพลิกคันซอเพื่อให้สายมารับหางม้าที่คันชักได้เสียงดังชัดเจน เมื่อลองไล่นิ้วต่าง ๆ ทั้งนิ้วปรกติและนิ้วชุน (นิ้วแทง) ได้ถูกต้องแล้ว จึงเริ่มเรียนเพลงขับไม้บันเฑาะว์เป็นเพลงแรก เพื่อจะได้มีโอกาสใช้คันชักยาว ได้เสียงประสานกัน ๒ สาย
หลักการบรรเลงซอสามสาย พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) เคยกล่าวไว้ว่า “สีซอให้เป็นทั้งสามแบบ” ซึ่งหมายถึง ลักษณะการสีซอสามสายแบบขับไม้ แบบไกวเปล และแบบฉุยฉาย ดังนี้
ก. การสีแบบขับไม้ ใช้ในพระราชพิธีหลวงต่าง ๆ เช่น กล่อมพระเศวตฉัตรกล่อมพระคชาธาร ขึ้นพระอู่ กล่อมพระบรรทม การสีเช่นนี้ไม่มีหน้าทับบังคับ ประกอบ ด้วยลักษณะ ๓ ประการ คือ
๑. สีเคล้าไปกับเสียงของผู้ขับ
๒. สีเสริมเสียงเมื่อผู้ขับร้องหยุดถอนใจ
๓. สีนำเสียงทำนองที่จะร้องในวรรคต่อไป
ข. การสีแบบไกวเปล เป็นการสีลำลองหรือบรรเลงเพลงต่าง ๆ โดยทั่วไป ต้องสีสม่ำเสมอ สีดังเสมอกันตั้งแต่ต้นจนปลายคันชัก ให้ได้เสียงเดียวตลอด ลักษณะ คันชักคล้ายการไกวเปล โดยปรกติมักใช้คันชัก ๒ หรือคันชัก ๔
ค. การสีแบบฉุยฉาย ใช้ในการรำฉุยฉาย ซึ่งต้องสีให้เหมือนเสียงผู้ขับร้อง ซึ่งอาจจะมีเสียงหลายเสียงใน ๑ คันชัก (เช่น คันชัก ๕ คันชัก ๖) แต่ในปัจจุบันไม่ใคร่ ได้พบเห็นซอสามสายสีเพลงฉุยฉาย นอกจากในการเลียนเสียงร้องซึ่งเรียกว่า “ว่าดอก” ในเพลงลา เช่น เพลงเต่ากินผักบุ้ง เพลงปลาทอง ซึ่งถือเป็นลักษณะของการ สีแบบฉุยฉายอย่างหนึ่งเช่นกัน
หลักการบรรเลงนอกจากนี้ เช่น การใช้นิ้ว ใช้คันชัก (ดู คันชัก ๒ ประกอบ) เป็นเรื่องละเอียดพิสดาร ซึ่งต้องได้รับการฝึกหัดโดยตรงจากครูผู้สอน ถือกันว่านอก จากจะสีซอให้เป็นทั้ง ๓ แบบดังที่พระยาภูมีเสวินได้กล่าวไว้แล้วนั้น ยังต้องสีให้ได้ครบ ๓ อารมณ์ คือ รัก โศก และโกรธ อีกด้วย
หน้าที่สำคัญของซอสามสาย เมื่อบรรเลงในวงมโหรี ซอสามสายมีหน้าที่ คลอเสียงผู้ขับร้องและบรรเลงร่วมในวงด้วย การคลอจำเป็นต้องเรียนและฝึกฝนจนมี ความชำนาญ มิฉะนั้นจะขัดกับผู้ขับร้อง ไม่สอดคล้องสัมพันธ์กัน ทำให้ขาดความไพเราะ หรืออาจทำให้ผู้ขับร้องเสียหลักได้