ซอด้วง

ซอชนิดหนึ่งของไทย (ดู ซอ ประกอบ) มีเสียงสูงแหลม การที่เรียกซอชนิดนี้ว่า “ซอด้วง” เพราะส่วนที่เป็นเครื่องอุ้มเสียงมีรูปร่างคล้ายเครื่องมือสำหรับดักสัตว์ที่เรียกว่า ด้วง

 ลักษณะทั่วไปของซอด้วงมีส่วนประกอบดังนี้

 ๑. กระบอก คือ ส่วนที่เป็นเครื่องอุ้มเสียงให้เกิดกังวาน ที่เรียกว่า “กระบอก” เพราะมีรูปร่างเหมือนกระบอกไม้ไผ่ ยาวประมาณ ๑๓ เซนติเมตร หน้าซอกว้างประมาณ ๖ เซนติเมตร กระบอกนี้ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน ไม้ดำดง บางทีทำ ด้วยรากต้นลำเจียกก็มี ที่นิยมว่าสวยงามนั้นทำด้วยงาช้าง ถ้าต้องการเสียงนุ่มนวลให้ ใช้ไม้ลำเจียก ไม้ตาล เสียงแหลมกว้างให้ใช้ไม้ชิงชัน เสียงกลมให้ใช้ไม้พะยูง และเสียง แหลมเล็กให้ใช้ไม้ประดู่ ด้านหน้าของกระบอกมีวัสดุบาง ๆ ขึงปิดหน้า ส่วนใหญ่นิยม ใช้หนังงูเหลือม ถ้าไม่มีหนังงูเหลือมจะใช้หนังแพะ หนังลูกวัว หรือกระดาษว่าวปิด ซ้อนกันหลาย ๆ ชั้นก็ได้ แต่คุณภาพเสียงจะสู้หนังงูเหลือมไม่ได้

 ๒. คันซอ ทำด้วยไม้หรืองาช้าง มีลักษณะกลมยาว สอดปักที่กระบอกและ ตั้งตรงขึ้นไป คันซอด้วงแบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ ช่วงบนตั้งแต่ใต้ลูกบิดขึ้นไปจนถึง ปลายคันมีรูปร่างเป็นเหลี่ยมคล้ายโขนเรือ เรียกว่า “โขน” ไม่เรียก “ทวนบน” เหมือน ซอสามสายหรือซออู้ ปลายโขนโค้งงอนไปทางด้านเปิดของกระบอก ส่วนคันซอตอน ล่างนับตั้งแต่ใต้ลูกบิดลงไป เรียกว่า “ทวนล่าง” ถ้าเป็นซองาช้างมักมีส่วนพิเศษทำด้วย ไม้มะเกลือหรือมุกประดับอยู่กลางทวนเพื่อความสวยงาม

 ๓. ลูกบิด มี ๒ ลูก เสียบอยู่ช่วงล่างของโขนหรือเหนือทวนล่าง ปลายลูก บิดเจาะรูไว้สำหรับร้อยสายซอเพื่อขึงให้ตึงตามความประสงค์ของผู้บรรเลง หัวลูกบิด (ที่มือจับ) ประดิษฐ์เป็นรูปคล้ายหัวเม็ดทรงมัณฑ์ หันไปทางเดียวกับส่วนปลายของโขน ซอ ใช้สำหรับหมุนให้สายตึงหรือหย่อน ลูกบิดลูกล่างสำหรับสายที่มีเสียงสูง เรียกว่า “ลูกบิดสายเอก” ลูกบนสำหรับสายที่มีเสียงต่ำ เรียกว่า “ลูกบิดสายทุ้ม”

 ๔. รัดอก คือ บ่วงเชือกสำหรับรั้งสายซอ นิยมใช้ขนาดเดียวกับสายเอก ใช้ผูกรั้งสายซอทั้ง ๒ เข้ากับทวนล่าง พันโดยรอบประมาณ ๔ รอบ เพื่อให้ได้คู่เสียง ของสายเปล่าที่ชัดเจน รัดอกนี้จะอยู่ต่ำกว่าลูกบิดลูกล่างประมาณ ๑๓ เซนติเมตร

 ๕. หย่อง คือ ไม้ชิ้นเล็ก ๆ หนาประมาณ ๓ มิลลิเมตร ใช้หนุนสายซอให้พ้น ขอบกระบอก และเป็นตัวกลางรับความสั่นสะเทือนจากสายซอไปยังหน้าซอ

 ๖. คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งหรืองาช้าง รูปโค้ง ด้านมือจับมีหมุดสำหรับเป็นหลักให้เส้นหางม้าคล้อง อีกด้านหนึ่งเจาะรูไว้เพื่อร้อยหางม้าแล้วขมวดให้แน่น ให้เส้นหางม้าตึง ใช้เส้นหางม้าประมาณ ๒๕๐ เส้นรวมกันขึงกับคันชักให้ตึงคล้ายคันกระสุน คันชักยาวประมาณ ๗๔ เซนติเมตร ส่วนที่ขึงหางม้ายาวประมาณ ๖๕ เซนติเมตร สอดเส้นหางม้าให้อยู่ภายในระหว่างสายเอกกับสายทุ้ม สำหรับชักเข้าชัก ออกซึ่งเรียกว่า “สี” ให้เส้นหางม้าถูกับสายซอ เส้นหางม้านั้นนิยมใช้ยางสนถูเพื่อให้ มีความฝืดมากพอที่จะใช้สีกับสายซอให้เกิดเสียงดัง

 การเทียบเสียงซอด้วงใช้สายเอกเป็นหลัก โดยเทียบเสียงให้ตรงกับเสียง ขลุ่ยเพียงออปิดรูทั้ง ๒ มือ เว้นนิ้วก้อยรูล่าง แล้วเป่าแหบ [อนุโลมเท่ากับเสียง เร (D) ของโน้ตสากล] สายทุ้มตรงกับขลุ่ยเพียงออปิดรูมือบนทั้งหมด แล้วเป่าธรรมดา [อนุโลม เท่ากับเสียง ซอล (G) ของโน้ตสากล] หรือเทียบสายทุ้มให้ต่ำลงมาจากสายเอก ๔ เสียง เป็นคู่ ๕ กับสายเอก สำหรับบรรเลงกับวงเครื่องสายหรือวงมโหรี

 การฝึกหัด เมื่อได้หัดจับซอ จับคันชัก และหัดท่านั่งดีแล้ว จึงฝึกสีสายเปล่า จนกว่าจะมีเสียงชัดเจน แล้วฝึกไล่นิ้วตามลำดับเสียงทั้งขึ้นและลงให้คล่องแคล่ว จาก นั้นจึงเริ่มเรียน (ต่อ) เพลง เช่น ตับต้นเพลงฉิ่ง (๓ ชั้น) ซึ่งประกอบด้วยเพลง ๔ เพลง คือ เพลงต้นเพลงฉิ่ง เพลงจระเข้หางยาว เพลงตวงพระธาตุ และเพลงนกขมิ้น ต่อไป จนถึงเพลงอื่น ๆ ซึ่งต้องใช้เม็ดพรายในการใช้นิ้วและคันชักสำหรับการบรรเลง

 หน้าที่สำคัญของซอด้วงคือ ใช้บรรเลงในวงเครื่องสายและวงมโหรี เมื่อ บรรเลงอยู่ในวงเครื่องสาย ผู้บรรเลงซอด้วงมีหน้าที่เป็นผู้นำวง และดำเนินทำนอง เนื้อเพลงเป็นหลักของวง แต่เวลาบรรเลงอยู่ในวงมโหรีมีหน้าที่เพียงดำเนินเนื้อเพลง เท่านั้น ไม่มีหน้าที่เป็นผู้นำวง เพราะในวงมโหรีมีระนาดเอกซึ่งเสียงดังกว่า ทำหน้าที่ เป็นผู้นำวงอยู่แล้ว ส่วนวิธีบรรเลงของซอด้วงนี้ มีทั้งสีทำนองเก็บและทำนองอ่อนหวาน เป็นเสียงยาว ๆ แล้วแต่ลักษณะของทำนองเพลงในตอนนั้น ๆ