ฆ้องที่ใช้ตีกำกับจังหวะ (ดู ฆ้อง ประกอบ) เป็นฆ้องที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากฆ้องหุ่ย (ดู ฆ้องหุ่ย ประกอบ) กว้างประมาณ ๓๐-๔๕ เซนติเมตร ส่วนที่เป็นหลังฉัตรมีลักษณะโค้งเข้า เจาะรูเชือกที่ใบฉัตร ๒ รู แขวนห้อยทางตั้งกับขาหยั่งหรือคานไม้ (เช่นเดียวกับฆ้องกระแต) ไม้ตีมีด้ามสำหรับถือ ตรงหัวไม้พันด้วยผ้ากับเชือกให้เป็นปุ่มโต อ่อนนุ่มพอประมาณ เมื่อตีจะมีเสียงดัง “โหม่ง-โหม่ง” จึงเรียกว่า “ฆ้องโหม่ง”
ฆ้องโหม่งมีเสียงกังวานยาว เมื่อนำผสมวงดนตรีจึงใช้ตีห่าง ๆ เป็นเครื่องกำกับจังหวะในวงดนตรีที่บรรเลงเป็นทำนองได้ทุกชนิด ทั้งปี่พาทย์ เครื่องสาย มโหรี ตามปรกติมักจะตี ๒ จังหวะฉิ่ง คือ ตี “ฉิ่ง-ฉับ” ๒ ครั้ง ตีโหม่ง ๑ ครั้ง แต่ถ้าผสมกับวงกลองยาว (เถิดเทิง) จะตีพร้อมจังหวะลง “ฉับ” ทุกครั้ง ในวงกลองแขกปี่ชวาสมัยโบราณใช้ฆ้องโหม่งเป็นเครื่องกำกับจังหวะ ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นใช้ฉิ่งแทนมาจนปัจจุบันนี้ แต่ในประเทศมาเลเซียยังคงใช้ฆ้องโหม่งอยู่