ฆ้อง

เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี ทำด้วยโลหะผสมระหว่างทองแดง ดีบุก สังกะสี มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น ทองเหลือง ทองสัมฤทธิ์ ทองม้าล่อ ทองห้าว ทองลงหิน รูปลักษณะตัวฆ้องทำด้วยโลหะแผ่นรูปวงกลม ตรงกลางทำเป็นปุ่มนูนขึ้นมาเพื่อตีให้เกิดเสียง เรียกส่วนนี้ว่า “ปุ่ม” ต่อจากปุ่มเป็นฐานแผ่ออกไปแล้วงองุ้มลงมาเป็นขอบโดยรอบอย่างฉัตร จึงเรียกส่วนนี้ว่า “ฉัตร” และเรียกส่วนที่เป็นพื้นราบรอบปุมว่่ า “หลังฉัตร” หรือ “ชานฉัตร” ส่วนที่งอเป็นขอบเรียกว่า “ใบฉัตร” ที่ใบฉัตรเจาะรูสำหรับร้อยเชือก หรือหนังเพื่อแขวนฆ้อง ถ้าแขวนตีทางตั้งเจาะ ๒ รู แขวนตีทางนอนเจาะ ๔ รู

 ฆ้องแบ่งตามลักษณะการบรรเลงเป็น ๒ ประเภท คือ ใช้ตีกำกับจังหวะและใช้ตีดำเนินทำนอง ฆ้องที่ใช้ตีกำกับจังหวะมีมาก่อนฆ้องตีดำเนินทำนอง เนื่องจากในระยะแรกยังไม่มีผู้รู้จักใช้วัสดุถ่วงเสียงติดที่ใต้ปุ่มฆ้องเพื่อปรับให้มีเสียงเข้ากับเครื่องดนตรีอื่น ๆ จึงใช้ฆ้องตีในลักษณะกำกับจังหวะ และตีเป็นสัญญาณบอกเวลาหรือบอกกล่าวเรื่องราวต่าง ๆ ต่อมามีวิธีใช้วัสดุถ่วงเพื่อปรับเสียงฆ้องได้แล้ว จึงพัฒนาเป็นเครื่องตีดำเนินทำนองเพลงประสมในวงดนตรี

 ฆ้องที่ใช้ตีกำกับจังหวะ ได้แก่ ฆ้องหุ่ยหรือฆ้องชัย (ที่ใช้ตีลูกเดียว) ฆ้องโหม่ง ฆ้องเหม่ง ฆ้องระเบ็ง และฆ้องคู่

 ฆ้องที่ใช้ตีดำเนินทำนอง ได้แก่ ฆ้องราง ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ฆ้องมโหรี ฆ้องมอญ ฆ้องกระแต และฆ้องหุ่ยหรือฆ้องชัย ที่ใช้ตีดำเนินทำนองห่าง ๆ ในวงปี่พาทย์ ดึกดำบรรพ์ (มี ๗ ลูก ปรับเสียงเข้ากับดนตรี)