ครอบ

การประสิทธิ์ประสาทวิทยาการ หรืออนุมัติให้เริ่มเรียนวิชาในชั้นนั้น ๆ ได้ การครอบของดนตรีไทยถือว่าปี่พาทย์เป็นหลักสำคัญของดนตรีทั้งหลาย จึงครอบด้วยเครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ มีขั้นตอนเป็นอันดับดังนี้

 ๑. ครอบอันดับแรก เป็นการครอบอย่างย่อ ผู้เรียนนำดอกไม้ ธูปเทียน และเงินกำนนมามอบให้แก่ครูด้วยคารวะ แล้วครูจับมือศิษย์ผู้นั้นให้ตีฆ้องวงใหญ่ ตีวรรคแรกของเพลงสาธุการ ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จ ถือว่าศิษย์ผู้นั้นเริ่มเรียนปี่พาทย์ต่อไปได้ โดยต่อเพลงสาธุการต่อไปจนจบ แล้วจึงเรียนเพลงในชุดโหมโรงเย็น ยกเว้นเพลงตระซึ่งจะต้องมีพิธีครอบเป็นอันดับที่ ๒ จากนั้นจึงเรียนเพลงอื่น ๆ ต่อไปตามแต่ครูจะเห็นสมควร

 ๒. ครอบอันดับที่ ๒ เมื่อศิษย์เรียนเพลงโหมโรงเย็นจบแล้ว จะเริ่มเรียนเพลงตระโหมโรง ซึ่งได้เว้นไว้เมื่อเรียนขั้นแรก ครูจะจับมือให้ตีฆ้องวงใหญ่ขึ้นต้นเพลงตระโหมโรง

 ๓. ครอบอับดับที่ ๓ เมื่อเริ่มเรียนเพลงโหมโรงกลางวัน ครูจะจับมือให้ตีเพลงกระบองกัน

 ๔. ครอบอับดับที่ ๔ เมื่อเริ่มเรียนเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง ในขั้นนี้ ครูจะจับมือให้ตีเพลงบาทสกุณี

 ๕. ครอบอับดับที่ ๕ เมื่อเริ่มเรียนเพลงองค์พระพิราพ ซึ่งถือว่าเป็นเพลงสูงสุด

 วิธีการครอบอันดับที่ ๒-๕ เมื่อได้ประกอบพิธีไหว้ครูเสร็จแล้ว ศิษย์ผู้ประสงค์ จะครอบนำขันกำนน มีดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าเช็ดหน้าสีขาว และเงินกำนน เข้าไปหาครู ผู้ทำพิธี ส่งขันกำนนให้ครูและถือไว้ก่อนจนกว่าครูจะว่าคำประสิทธิ์ประสาทจบจึงปล่อยมือ แล้วครูจึงทำพิธีครอบตามขั้นตอนที่จะเรียนดังนี้

 - เรียนเพลงตระโหมโรง ครูจะจับมือให้ตีฆ้องวงใหญ่ ตีวรรคแรกของเพลงตระโหมโรง ๓ ครั้ง

 - เรียนเพลงโหมโรงกลางวัน ครูจะจับมือให้ตีฆ้องวงใหญ่ ตีวรรคแรกของเพลงกระบองกัน ๓ ครั้ง เพราะเพลงในชุดโหมโรงกลางวันถือว่าเพลงกระบองกันเป็นเพลงสำคัญ

 - เรียนหน้าพาทย์ชั้นสูง ครูจะจับมือให้ตีฆ้องวงใหญ่ ตีวรรคแรกของเพลงบาทสกุณี ๓ ครั้ง เพราะถือว่าเพลงบาทสกุณีเป็นเพลงสำคัญในประเภทหน้าพาทย์ชั้นสูง

 - เรียนเพลงองค์พระพิราพ ครูจะจับมือให้ตีฆ้องวงใหญ่ทำนองเพลงตอน ขึ้นต้นองค์พระ ๓ ครั้ง

 เมื่อได้จับมือตีฆ้องวงใหญ่อันดับใดแล้วก็จะต่อเพลงในอันดับนั้นไปจนจบเพลง และสามารถจะไปปฏิบัติเครื่องดนตรีอย่างอื่นได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นระนาด ปี่ ตะโพน กลอง สำหรับผู้เรียนตะโพน ครูจะจับมือให้ตีตะโพนแทนฆ้องวงใหญ่ก็ได้

 ส่วนการครอบเครื่องดนตรีอย่างอื่น เช่น ซอ จะเข้ ปี่ ขลุ่ย ตลอดจนการขับร้อง ซึ่งมิได้บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ต่าง ๆ เหมือนปี่พาทย์ สิ่งใดที่พอจะจับมือได้ เช่น ซอ จะเข้ ครูอาจจับมือให้สีหรือดีดก็ได้ แต่ใช้เพลงประเภทที่เครื่องดนตรีนั้น ๆ ใช้บรรเลง หรือจะใช้ฉิ่งครอบที่ศีรษะของศิษย์ผู้นั้นก็ได้ การใช้ฉิ่งครอบที่ศีรษะนี้ใช้ได้กับการครอบเรียนดนตรีทุกอย่างที่ไม่สะดวกในการจับมือ

 อนึ่ง การครอบเมื่อจะเรียนปี่พาทย์เพลงองค์พระพิราพนั้นยังมีแบบแผนประเพณีบัญญัติไว้อีกอย่างหนึ่ง คือ ผู้ที่จะเรียนเพลงองค์พระพิราพจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี หรือได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว หรือมิฉะนั้นจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงจะรับการครอบให้เรียนได้