ขิม

เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี ที่ใช้สายโลหะขึงอยู่บนกล่องเสียง (ตัวขิม) ขิมแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ตัวขิมและฝาขิม

 ๑. ตัวขิม ทำด้วยไม้ มีลักษณะกลวงอยู่ภายใน ด้านบนขึงสายทองเหลืองเรียงสลับกันเป็นแถว ๆ ตามแนวนอน มีด้วยกันทั้งหมด ๑๔ แถว แถวละ ๓ สาย รวมสายขิมทั้งหมด ๔๒ สาย ที่นิยมใช้สายทองเหลืองเพราะมีสำเนียงกังวานไพเราะดีสายขิมทุกสายมีหมุดทองเหลืองยึดอยู่ทั้ง ๒ ด้าน ด้านละ ๔๒ ตัว หมุดทางด้านขวามือของผู้บรรเลงใช้หมุนสำหรับเทียบเสียงได้ ส่วนหมุดทางด้านซ้ายมือใช้สำหรับ ยึดสายขิมเท่านั้น บนพื้นของตัวขิมมี “หย่อง” ๒ อันทำด้วยไม้รูปแบนยาวกรุเป็น ลวดลายสวยงาม ส่วนบนทำเป็นสันแข็ง วางห่างกันประมาณ ๒๐ เซนติเมตร รองหนุน สายขิมทุกแถวไว้ โดยวางหนุนเป็นแนวตั้งฉากกับแนวของสายขิม ทำหน้าที่ถ่ายทอด แรงสะเทือนจากสายขิมลงไปสู่ตัวขิม ถัดจากแนวของหมุดขิมทั้ง ๒ ด้านเข้ามาเล็กน้อย มีแนวสันไม้เตี้ย ๆ เรียกว่า “สะพาน” รองรับสายขิมไว้อีกชั้นหนึ่ง โดยวางแนวสอบ เข้าหากันเหมือนรูปพีระมิด สะพานนี้ทำหน้าที่จัดระดับความตึงของสายขิมเพื่อให้เสียงมีความสูงต่ำต่างกัน ไม้พื้นของตัวขิมทำด้วยไม้เนื้อโปร่งเพื่อให้เสียงก้องกังวาน ผิวหน้ากรุเป็นช่องรูปวงกลมไว้เพื่อให้เสียงออกดีขึ้น ตรงกลางตัวขิมทำเป็นลิ้นชักเล็ก ๆ สำหรับเก็บค้อนที่ใช้เทียบเสียงขิม

 ๒. ฝาขิม ทำด้วยไม้เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นแบบดั้งเดิมของจีนมักนิยมเขียนลวดลายเป็นภาพโป๊ยเซียน (รูปเซียน ๘ องค์) เรียกกันว่า “ขิมโป๊ยเซียน” มีขนาดเล็ก กว่าขิมที่ใช้บรรเลงกันในปัจจุบัน ฝาขิมนี้นอกจากจะใช้ปิดคลุมขิมแล้ว ยังใช้รองหนุน ตัวขิมในขณะที่บรรเลงเพื่อให้เสียงดังกังวานดียิ่งขึ้นด้วย

 วิธีบรรเลงใช้ไม้ขิม ๒ อันตีลงไปบนสายขิมทำให้เกิดเสียงดังกังวาน

 ขิมคงเข้ามาในประเทศไทยราวสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยชาวจีนที่เข้ามาติดต่อค้าขายได้นำมาบรรเลงกัน จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๑-๒๔๖๒ จึงมีนักดนตรีไทยนำขิมมาบรรเลงร่วมกับวงดนตรีไทย ต่อมาได้รับความนิยมนำมาบรรเลงผสมวงเครื่องสาย ตั้งแต่นั้นมาไทยก็ได้สร้างขิมขึ้นใช้เองโดยใช้วัสดุในประเทศทั้งหมด แต่ได้ปรับปรุงรูปแบบและวิธีบรรเลงบ้างเพื่อให้เหมาะสมกับรสนิยมของคนไทย