ขับเสภา

การขับลำนำประเภทหนึ่ง มีมาแต่โบราณ แต่เดิมนั้นว่า มาจากการเล่านิทาน ต่อมาได้มีการปรับปรุงทำนองและจังหวะมาเป็นลำดับ รวมทั้งมีการใช้กรับซึ่งทำด้วยไม้เนื้อแข็ง มาขยับให้เกิดเสียงประกอบการขับ ผู้ขับจะถือกรับไว้ทั้ง ๒ มือ มือละคู่ ขยับกรับให้สอดคล้องเข้ากับการขับ การขยับกรับต้องพอเหมาะพอดีกับบทที่ใช้ขับตามลักษณะทำนองที่เรียกเป็นไม้ต่าง ๆ เช่น ไม้กรอ ไม้หนึ่ง ไม้สอง ไม้รบหรือไม้สี่ โดยไม้กรอ ใช้ในการเล่าเรื่องทั่วไป สอดแทรกกับการขับเป็นวรรค ๆ ไม้หนึ่งและไม้สองใช้ประกอบบทเสภาไหว้ครู ส่วนไม้รบหรือไม้สี่ใช้ประกอบบทร้องที่รุกเร้า

 แต่เดิมนั้น การขับเสภายังไม่มีดนตรีประกอบ เริ่มมีการนำปี่พาทย์เข้ามา ประกอบการขับเสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดังปรากฏ หลักฐานในคำไหว้ครูเสภาที่แต่งขึ้นในรัชกาลนี้ ตอนหนึ่งว่า

เมื่อครั้งจอมนรินทร์แผ่นดินลับ เสภาขับยังหามีปี่พาทย์ไม่
มาถึงพระองค์ผู้ทรงชัย จึงเกิดมีขึ้นในอยุธยา

การขับเสภาส่วนใหญ่จะใช้เรื่องขุนช้างขุนแผน

 วิธีเล่นเสภาที่ได้ปรับปรุงขึ้นเป็นแบบแผน คือ เมื่อปี่พาทย์โหมโรงแล้ว ผู้ขับจะไหว้ครู จบแล้วก็ขับดำเนินเรื่อง เมื่อเล่าเรื่องไปพอสมควรแล้วจะหยุดส่งลำ คือ ผู้ขับจะส่งเพลง ๒ ชั้น หรือ ๓ ชั้น เช่น เพลงพม่าห้าท่อน พอจบเพลงแล้วก็จะขับเล่าเรื่องต่อไป และหยุดส่งเพลงเป็นช่วง ๆ จนกว่าจะเลิกจึงร้องส่งแบบที่เรียกกันว่า “ลำลา” (คือ เพลงลา) เช่น เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง เพลงเต่ากินผักบุง เพลงอกทะเล วิ้ ธีนี้ถือปฏิบัติมาจนทุกวันนี้