เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า มักทำจากไม้รวก ไม้ชิงชัน ไม้พะยูง งาช้าง ปัจจุบัน ใช้วัสดุอื่นก็มี เช่น พลาสติก แต่ในวงดนตรีนั้นนิยมใช้ขลุ่ยที่ทำด้วยไม้รวก เนื่องจากให้เสียงที่นุ่มนวลไพเราะกว่า ขลุ่ยมี ๕ ชนิด คือ ขลุ่ยกรวด ขลุ่ยนก ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยหลีบ และขลุ่ยอู้ ขลุ่ยทุกชนิดมีส่วนประกอบและรายละเอียดดังนี้
๑. เลาขลุ่ย คือ ตัวขลุ่ย มีขนาดแตกต่างไปตามชนิดของขลุ่ย ถ้าเป็นไม้ต้องเป็นไม้ที่แก่จัด เช่น ไม้รวกมีเนื้อไม้เป็นเสี้ยนดำ และมักนิยมประดิษฐ์ลวดลายต่าง ๆ ลงบนตัวขลุ่ย เช่น ลายดอกพิกุล ลายหิน ลายลูกระนาด โดยขัดผิวไม้ให้เรียบสะอาด ลนไฟให้แห้ง แล้วใช้น้ำตะกั่วร้อนราดหรือลวดร้อนพัน ผ่านกรรมวิธีเพื่อให้เป็นลาย ตามต้องการ ขลุ่ยบางเลาอาจไม่มีลวดลายเลยก็ได้ถ้าไม้ที่ใช้ทำขลุ่ยนั้นมีผิวหรือเนื้อไม้ งดงามดีแล้ว
๒. ดาก คือ ไม้อุดปากขลุ่ย นิยมใช้ไม้สักทอง ท่อนยาวประมาณ ๕ เซนติเมตร เหลากลมให้คับแน่นกับร่องภายในของปากขลุ่ย ฝานให้เป็นช่องว่างลาดเอียงตลอดดาก ให้เป่าลมลงไปได้
๓. รูเป่า เป็นรูสำหรับเป่าลมลงไป
๔. รูปากนกแก้ว เป็นรูที่แซะร่องรับลมจากช่องปลายดากภายในขลุ่ย รูปากนกแก้วจึงอยู่ด้านเดียวกับรูเป่า ห่างลงมาจากปากขลุ่ยประมาณ ๕ เซนติเมตร ซึ่งสุดปลายดากขลุ่ยพอดี เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวประมาณ ๒ เซนติเมตร กว้าง ประมาณ ๐.๕ เซนติเมตร รูปากนกแก้วเป็นรูที่ทำให้เกิดเสียงเทียบได้กับลิ้นของขลุ่ย นั่นเอง
๕. รูเยื่อ เป็นรูสำหรับปิดวัสดุที่ทำให้เสียงสั่นพลิ้ว มักใช้เยื่อไม้ไผ่หรือเยื่อ หัวหอมปิด ปัจจุบันใช้กระดาษหรือแถบวัสดุ เช่น เทป ปลาสเตอร์ หรือใช้ขี้ผึ้งอุดแทน เพื่อไม่ต้องการให้เสียงสั่นพลิ้วก็ได้ รูเยื่ออยู่ด้านข้างทางขวามือ ต่ำจากปากขลุ่ยลงมา ประมาณ ๑๑.๕ เซนติเมตร
๖. รูค้ำ หรือ รูนิ้วค้ำ เป็นรูสำหรับนิ้วหัวแม่มือปิด เพื่อบังคับเสียงและ ประคองเลาขลุ่ยขณะเป่าด้วย รูค้ำอยู่ใต้รูปากนกแก้ว ต่ำจากปากขลุ่ยลงมาประมาณ ๑๗.๕ เซนติเมตร
๗. รูบังคับเสียง เป็นรูที่เจาะเรียงอยู่ด้านบนของเลาขลุ่ยตรงข้ามกับรูนิ้วค้ำ และรูปากนกแก้ว มี ๗ รู ห่างกันรูละประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร รูบนสุดอยู่ตำ่ จาก ปากขลุ่ยลงมาประมาณ ๑๕ เซนติเมตร
๘. รูร้อยเชือก เป็นรูที่อยู่ตรงส่วนปลายของขลุ่ย ถ้าเป็นไม้รวก ส่วนปลาย จะเป็นข้อไม้ รูร้อยเชือกจะอยู่เหนือข้อไม้ขึ้นมาเล็กน้อย มี ๔ รู หรือ ๒ รู ก็ได้ โดย เจาะทะลุบน-ล่าง และทะลุด้านข้างซ้าย-ขวา ให้เยื้องคู่กัน สำหรับร้อยเชือกไว้แขวนหรือ ถือตามถนัด รูร้อยเชือกนี้อาจมีผลช่วยปรับเสียงขลุ่ยให้มีมาตรฐานดีขึ้นได้
เสียงขลุ่ยเกิดจากการเป่าลมและใช้นิ้วมือทั้ง ๒ ข้างปิดเปิดรูบังคับเสียง วิธีวางมือของขลุ่ยไทยนั้น ตามแบบแผนจะใช้มือขวาอยู่บน ในปัจจุบันสามารถใช้มือซ้ายหรือขวาอยู่บนก็ได้ ขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้เป่า แต่ถ้าใช้มือซ้ายอยู่บนก็จะสอดคล้องกับการเป่าขลุ่ยสากล
เสียงของขลุ่ยกำหนดได้ดังนี้
๑. ตำแหน่งนิ้ว
มือบน | นิ้วหัวแม่มือ | ตรงรูนิ้วค้ำ |
นิ้วชี้ | ตรงรูที่ ๗ (บนสุด) | |
นิ้วกลาง | ตรงรูที่ ๖ | |
นิ้วนาง | ตรงรูที่ ๕ | |
มือล่าง | ||
นิ้วชี้ | ตรงรูที่ ๓ | |
นิ้วกลาง | ตรงรูที่ ๒ | |
นิ้วนาง | ตรงรูที่ ๑ |
๒. ตำแหน่งเสียง โดยทั่วไปเสียงของขลุ่ยแทบทุกนิ้วจะผันเสียงได้เป็น ๒ เสียงเสมอ ถ้าเป่าลมตามปรกติจะเป็นเสียงต่ำ แต่ถ้าเป่าลมแรงขึ้นจากปรกติจะเป็นเสียงสูง
วิธีไล่เสียงตามมาตรฐานเสียงของขลุ่ยเพียงออ (ดู ขลุ่ยเพียงออ ประกอบ) เป็นดังนี้
เป่าลมปรกติ ปิดนิ้วหมดทุกรู | ตรงกับเสียง | โด ของไทย |
(ซึ่งเท่ากับ Bᵇ ของเปียโน) | ||
เป่าลมปรกติ เปิดนิ้วก้อยรู ๑ | ” | เร |
เป่าลมปรกติ เปิดนิ้วนางรู ๒ | ” | มี |
เป่าลมปรกติ เปิดนิ้วกลางรู ๓ | ” | ฟา |
เป่าลมปรกติ เปิดนิ้วชี้รู ๔ | ” | ซอล |
เป่าลมปรกติ เปิดนิ้วนางรู ๕ | ” | ลา |
เป่าลมปรกติ เปิดนิ้วกลางรู ๖ | ” | ซี |
เสียงในลำดับต่อไปเป็นเสียงสูง เริ่มจากเสียง โด สูง ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนิ้วเดิมทุกเสียง แต่เปลี่ยนวิธีเป่าลมให้แรงเพิ่มขึ้นจากปรกตินั่นเอง ขลุ่ยทั่วไปจะผันเสียงสูงถึงเสียง ลา สูง แต่ขลุ่ยบางเลาอาจเป่าเสียงได้สูงกว่านั้นเป็นกรณีพิเศษ
ขลุ่ยชนิดอื่นก็ไล่เสียงเช่นเดียวกับขลุ่ยเพียงออ ต่างกันตรงตำแหน่งของระดับ เสียงต่ำสุดเท่านั้นที่มีระดับไม่เท่ากัน
ตำแหน่งนิ้วและตำแหน่งเสียงตามระดับนี้ อาจเปลี่ยนได้โดยวิธีใช้นิ้วอื่นแทนที่เรียกว่า “นิ้วควง” บางท่านเรียกว่า “นิ้วสลับ” หรือ “นิ้วแทน” ดังนี้
- เปิดนิ้วหัวแม่มือ รูนิ้วค้ำ แทนเสียง โด
- เปิดนิ้วชี้บน รูที่ ๗ (เปิดหมดทุกรู) แทนเสียง เร
- เปิดเฉพาะนิ้วนางบนกับนิ้วก้อย แทนเสียง ซอล
- เปิดเฉพาะนิ้วกลางบนกับนิ้วนางและนิ้วก้อยล่างเป็นเสียง ลา
นอกจากนี้ ยังมีวิธีเป่าลมและวิธีใช้นิ้วโดยพิสดาร เพื่อให้เกิดเสียงพิเศษตามท่วงทำนองและอารมณ์ของเพลงได้อีกด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการประดิษฐ์พลิกแพลงให้เหมาะสม อันเป็นศิลปะเฉพาะตัวของผู้บรรเลง