กล่อมพระบรรทม

การบรรเลงสำหรับกล่อมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าในพระราชพิธีขึ้นพระอู่โดยเฉพาะประกอบด้วยพราหมณ์ไกวบัณเฑาะว์ พนักงานขับร้อง และพนักงานสีซอสามสาย ทำหน้าที่ขับร้องและบรรเลงเพลงชุดกล่อมพระบรรทม

 การกล่อมพระบรรทมมีมาแต่ครั้งสมัยอยุธยา ครั้นล่วงมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในเรื่องวิจารณ์เห่ช้าลูกหลวง ว่า “...ตามการพิธีในชั้นหลังตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มาจนตลอดรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระครูพราหมณ์เชิญองค์พระกุมารขึ้นพระอู่แล้ว ตัว พระครูพราหมณ์เองไกวพระอูและเห่่ กล่อมด้วยมนต์ภาษาสันสกฤตกับพราหมณ์อีกคน ๑ จนครบ ๓ ลา ถ้าพระราชกุมารเป็นชั้นพระองค์เจ้าก็เสร็จพิธีเพียงเท่านั้น ถ้าพระราช- กุมารเป็นเจ้าฟ้า ยังมีพวกขับไม้กล่อมต่อไปอีกพักหนึ่งจะเสร็จพิธี...”

 พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) ได้อธิบายท่วงทำนองของการขับลำนำไว้ว่า เป็นทำนองสรภัญญะใหญ่ หลังจากการกล่อมพระบรรทมในช่วงพระราชพิธีเสร็จสิ้น แล้วยังมีช่วงนอกพระราชพิธีประกอบด้วยเพลงช้าลูกหลวง พร้อมด้วยซอสามสาย สรภัญญะใหญ่ ต่อด้วยเพลงพัดชาหรือเพลงคำหวาน เป็นต้น และยังมีบทกล่อม นอกพระราชพิธีต่อไปอีกหลายบท พระยาภูมีเสวินได้รับการถ่ายทอดการบรรเลงชุดนี้ อย่างสมบูรณ์

 เพลงชุดกล่อมพระบรรทมนี้ พระยาภูมีเสวินได้ถ่ายทอดให้แก่ครูเจริญใจ สุนทรวาทิน ทั้งกระบวนการสีซอสามสายและการขับร้อง ครบสมบูรณ์ทั้งชุด