กลองแขก

กลองชนิดหนึ่ง (ดู กลอง ประกอบ) มีรูปร่างยาวเป็นกระบอก หน้าหนึ่งใหญ่ เรียกว่า “หน้ารุ่ย” กว้างประมาณ ๒๐ เซนติเมตร อีกหน้าหนึ่งเล็ก เรียกว่า “หน้าต่าน” กว้างประมาณ ๑๗ เซนติเมตร หุ่นกลองยาวประมาณ ๕๗ เซนติเมตร ทำด้วยไม้จริง หรือไม้แก่น เช่น ไม้ชิงชัน ไม้มะริด ขึ้นหนัง ๒ หน้าด้วยหนังวัว ใช้เส้นหวายผ่าซีก เป็นสายโยงเร่งเสียง โยงเส้นห่าง ๆ เร่งให้ตึงด้วย “รัดอก” สำรับหนึ่งมี ๒ ลูก ลูกเสียง สูงเรียกว่า “ตัวผู้” ลูกเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” ตีด้วยฝ่ามือทั้ง ๒ หน้าให้เสียงสอด สลับกันทั้ง ๒ ลูก ใช้บรรเลงในเพลงสะระหม่าซึ่งเป็นเพลงมงคล กลองแบบนี้เรียกอีก อย่างหนึ่งว่า “กลองชวา” เพราะสันนิษฐานว่าไทยได้แบบอย่างมาจากชวา ในวงปี่พาทย์ ของชวาก็มีกลอง ๒ ชนิดคล้ายกันนี้ แต่ของชวาหุ่นกลองตอนกลางป่องโตมากกว่า ไทยคงจะนำกลองชนิดนี้มาใช้ในวงดนตรีมาแต่โบราณ ในกฎหมายศักดินามีกล่าวถึง “พนักงานกลองแขก” แต่เดิมคงจะนำเข้าใช้ในกระบวนแห่นำเสด็จพระราชดำเนิน เช่น กระบวนช้าง กระบวนเรือ และใช้บรรเลงร่วมกับปี่ชวาในการรำอาวุธ เช่น รำกระบี่ กระบอง รำกริช รำทวน ต่อมาจึงมาใช้ตีกำกับจังหวะแทนตะโพนในวงปี่พาทย์