ไก่ฟ้า-นก

ชื่อสามัญ
Red Junglefowl

ลักษณะทั่วไป ไก่ฟ้าในประเทศไทยเป็นนกขนาดกลาง วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาว ๕๐-๘๕ เซนติเมตร ปากสั้นแข็งแรง ปลายแหลมโค้งเล็กน้อย ส่วนใหญ่ที่หน้ามีแผ่นหนังคล้ายหน้ากากซึ่งมักมีสีสดโดยเฉพาะตัวผู้ ไก่ฟ้าทุกชนิดมีหงอนเป็นพู่ขน ยกเว้นไก่ฟ้าหางลายขวางไม่มีหงอนทั้งตัวผู้และตัวเมีย คอยาว ลำตัวป้อม หางยาว ลักษณะของกลุ่มขนหางเป็นรูปโค้งลง มีขนหาง ๑๔-๓๒ ขน โดยเฉพาะตัวผู้จะมีหางกะลวยสวยงามเป็นพิเศษ ผลัดขนในช่วงฤดูฝน ขา แข็งแรง ไม่ยาวมากนัก เฉพาะตัวผู้มีเดือยแหลมคมข้างละเดือย และมีสีสดสวยงามกว่าตัวเมีย โดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์สีจะสดยิ่งขึ้น
     ไก่ฟ้ามีลักษณะปราดเปรียว วิ่งและบินได้เร็วแต่มักเป็นระยะทางสั้น ๆ เมื่อตกใจหรือมีภัย จะวิ่งหนี มักพบเป็นคู่หรือเป็นฝูงเล็ก ๆ กินแมลง หนอน สัตว์เล็ก ๆ เมล็ดพืช และผลไม้สุก
     ไก่ฟ้าผสมพันธุ์ระหว่างเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ เมื่อจะผสมพันธุ์ตัวผู้จะยืนตรง ยืดคอ กางและกระพือปีกขึ้นลงเสียงดังพึ่บ ๆ พร้อมทั้งร้องอยู่ในลำคอ ต่อมาจะเอียงตัวตีปีกเข้าหาตัวเมียพร้อมทั้งก้มหัวต่ำ บริเวณหนังที่ใบหน้าจะมีสีเข้มจัด หางจะแผ่ออกในแนวตั้งฉากกับพื้น การทำรังนั้น ตัวเมียจะคุ้ยเขี่ยพื้นดินเป็นแอ่งตื้น ๆ เพื่อวางไข่ โดยจะรองรังด้วยกิ่งไม้แห้งและใบไม้ก่อน วางไข่คราวละ ๔-๑๕ ฟอง ไข่สีน้ำตาลอ่อน ใช้เวลาฟัก ๒๓-๒๕ วัน
     นกในวงศ์ย่อยไก่ฟ้า (Phasianinae) ทั่วโลกมี ๔๗ ชนิด ๑๖ สกุล ซึ่งรวมถึงนกหว้า นกแว่น นกยูง ในประเทศไทยมีนกที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ไก่ฟ้า” รวม ๕ ชนิด คือ
     ๑. ไก่ฟ้าพญาลอ [Lophura diardi (Bonaparte)] ชื่ออื่น ๆ พญาลอ ชื่อสามัญ Siamese Fireback Pheasant ตัวผู้หน้าสีแดง รอบหูสีน้ำเงินดำ พู่ขนหงอนสีน้ำเงินดำโค้งไปทางด้านหลัง 

 


          ลำตัวสีเทาอมน้ำเงิน อกและท้องสีน้ำเงินดำ ลักษณะเด่นคือ หลังมีหย่อมขนสีแดงส้ม ปีกสีน้ำเงินเข้มสลับขาวในแนวขวาง บั้นท้ายมีลายคล้ายเกล็ดปลาสีฟ้าอมเทาขอบน้ำเงินเหลือบแดงเป็นมันวาว หางสีน้ำเงินดำเป็นมัน ขาสีแดง
          ตัวเมียหน้าสีแดง รอบหูสีน้ำตาล พู่ขนหงอนสีน้ำตาลโค้งไปทางด้านหลัง อกและท้องสีน้ำตาลมีลายสีขาวลักษณะคล้ายเกล็ดปลา ปีกสีน้ำตาลมีลายสีน้ำตาลเข้มสลับพาดขวาง หางสีน้ำตาล มีลายดำพาดขวาง ขาสีแดง
          พบทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
     ๒. ไก่ฟ้าหน้าเขียว [Lophura ignita (Shaw et Nodder)] ชื่อสามัญ Crested Fireback Pheasant ตัวผู้หน้าสีฟ้า พู่ขนหงอนสีน้ำเงินเข้มตั้งตรงตอนปลายเป็นกระจุก ลำตัวและอกสีน้ำเงินเข้ม อกตอนล่างมีลายขาว หลังถึงบั้นท้ายสีแดงส้ม ปีกสีน้ำเงิน หัวปีกสีน้ำเงินลายขาว เมื่อกางปีกจะเห็นขนปีกส่วนนอกสีน้ำตาลอมเหลือง บั้นท้ายสีน้ำเงินมีลายสีน้ำเงินเข้ม หางสีน้ำเงินเข้ม หางกะลวยสีขาวมีขนาดใหญ่แผ่กว้าง ตอนกลางโค้งปลายตก ขาสีแดงด้านหลังสีน้ำเงิน


          ตัวเมียหน้าสีฟ้า พู่ขนหงอนสีน้ำตาลโค้งไปทางด้านหลัง ลำตัวสีน้ำตาลดำมีลายคล้ายเกล็ดปลาสีน้ำตาลเข้มสลับขาว อกสีน้ำตาลมีลายสีน้ำตาลเข้มสลับขาว ปีกและหางสีน้ำตาลแดง ขาสีแดง
     พบทางภาคใต้
     ๓. ไก่ฟ้าหลังขาว [Lophura nycthemera (Linn.)] ชื่ออื่น ๆ ไก่ฟ้าหลังเงิน ชื่อสามัญ Silver Pheasant ตัวผู้หน้าสีแดงสด พู่ขนหงอนแน่นสีดำเหลือบน้ำเงินโค้งไปตามแนวของหัว คอด้านหน้า อก ท้อง และก้นสีดำเหลือบน้ำเงิน ด้านข้างลำคอตั้งแต่หูลงมา และด้านบนของลำตัว ปีก จนถึงหางสีขาวมีลายดำรูปง่ามปลายแหลมชี้ไปทางหาง หางกะลวยสีขาวตลอด ขาสีแดง
          ตัวเมียหน้าสีแดง โคนพู่ขนหงอนสีน้ำตาล กึ่งกลางถึงปลายสีดำเรื่อ ๆ ลำตัวด้านบนและหางสีน้ำตาล อกและท้องสีน้ำตาลอ่อนลายขาว ขาสีแดง


          ในประเทศไทยมีไก่ฟ้าหลังขาว ๒ ชนิดย่อย คือ
          ๓.๑ ไก่ฟ้าหลังเงิน [Lophura nycthemera jonesi (Oates)] ชื่ออื่น ๆ ไก่ฟ้าสีเงิน พบทางภาคเหนือ
          ๓.๒ ไก่ฟ้าหลังเงินจันทบูร [Lophura nycthemera lewisi (Delacour et Jabouille)] ชื่ออื่น ๆ ไก่ฟ้าหลังดำ ชนิดย่อยนี้หลังมีสีเข้มกว่าชนิดย่อยแรก พบทางภาคตะวันออก
     ๔. ไก่ฟ้าหลังเทา [Lophura leucomelana (Latham)] ชื่อสามัญ Kalij Pheasant ตัวผู้หน้าสีแดงสด พู่ขนหงอนสีดำเหลือบน้ำเงินชี้ไปทางด้านหลังหรือบางตัวอาจงอนขึ้น แต่ไม่โค้งลงตามแนวของหัวเหมือนไก่ฟ้าหลังขาว คอ อก และท้องสีดำเหลือบน้ำเงินมีลายเส้นสีขาวแซมทางด้านข้างของอกและท้อง โคนหางด้านล่างสีเทา ด้านบนและตอนปลายสีขาว ขามีทั้งสีเทาหรือสีแดง
     ตัวเมียหน้าสีแดง พู่ขนหงอนสีน้ำตาล ลำตัวสีน้ำตาล ตอนบนเข้มกว่าตอนล่าง มีลายรูปง่ามสีขาวที่คอและด้านล่างของลำตัว หางสีน้ำตาลตอนล่างมีลายขาวพาดขวาง ไข่มีจุดขาวเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วฟอง


          ในประเทศไทยมีไก่ฟ้าหลังเทา ๒ ชนิดย่อย คือ
          ๔.๑ ไก่ฟ้าหลังเทาแข้งเทา [Lophura leucomelana lineata (Vigors)] พบตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนไปจนถึงจังหวัดตาก
          ๔.๒ ไก่ฟ้าหลังเทาแข้งแดง [Lophura leucomelana crawfurdii (J.E. Gray)] ชนิดย่อยนี้ สีเข้มกว่าชนิดย่อยแรก พบทางภาคตะวันตก
     ๕. ไก่ฟ้าหางลายขวาง [Syrmaticus humiae (Hume)] ชื่อสามัญ Hume’s Pheasant ตัวผู้หน้าสีแดง คอสีฟ้า ลำตัวสีน้ำตาลแดง ที่ปีกมีลายขาวพาดขวาง ๒ เส้น หางยาวสีน้ำตาลมีลายสีน้ำตาลเข้มพาดขวาง ขาสีเทา
          ตัวเมียหน้าสีน้ำตาล ขนาดเล็กและหางสั้นกว่าตัวผู้ ลำตัวสีน้ำตาลมีลายขาวและน้ำตาล เข้มกระจายทั่วตัว
          พบทางภาคเหนือ ปัจจุบันมีจำนวนน้อยมาก
     ไก่ฟ้าทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชื่อหลัก
ไก่ฟ้า-นก
ชื่อวงศ์
Phasianidae
ชื่อสามัญ
Red Junglefowl
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ
คำสำคัญ
-