ไก่บ้าน

Gallus gallus (Linn.)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Gallus gallus (Linn.) วงศ์ Phasianidae
ชื่ออื่น ๆ
ไก่เลี้ยง
ชื่อสามัญ
Domestic Fowl, Domesticated Fowl

ลักษณะทั่วไป เป็นไก่ที่มีสายพันธุ์มาจากไก่ป่า รูปร่างลักษณะโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับไก่ป่า แต่ที่สังเกตได้ง่ายคือ ไก่บ้านมีแข้งสีแตกต่างกัน เช่น สีเหลือง ขาว แต่ไก่ป่าจะมีสีเดียวเท่านั้นคือ สีเทาเข้มไก่บ้านที่เลี้ยงปล่อยให้หากินเป็นอิสระ เช่น ไก่เตี้ย ไก่แจ้ ไก่อู ไก่ตะเภา อยู่รวมกันเป็นฝูงบนพื้นดินหรือใกล้พื้นดิน ใช้นิ้วตีนคุ้ยเขี่ยอาหาร เช่น เมล็ดพืช แมลง แต่บ่อยครั้งจะพบนอนตะแคง บนดินที่เป็นฝุ่น และคลุกฝุ่นโดยใช้ปีกตีและขาตะกุยดิน ไม่ลงน้ำ ในเวลากลางคืนมักจับคอนหรืออยู่บนต้นไม้เช่นเดียวกับไก่ในวงศ์อื่น ๆ
     ตัวผู้คุมตัวเมียอยู่รวมกันเป็นฝูง ถ้ามีตัวผู้อื่นเข้ามาในบริเวณจะชูคอและส่งเสียงขู่ พร้อมทั้งกระพือปีกแรง ๆ ขณะต่อสู้กันจะก้มหัวลงเกือบติดพื้นพร้อมทั้งพองขนคอออก กระโดดจิกกัน บางครั้งก็ใช้เดือยตี การต่อสู้อาจถึงขั้นดุเดือดเจียนตาย ตัวผู้จะแสดงท่าทางและออกเสียงเตือนและคุ้มภัยให้ฝูงเมื่อมีศัตรู นอกจากนี้ยังคุ้ยเขี่ยหาอาหารและเรียกตัวเมียมากินด้วย ถ้าตัวเมียออกห่างจากฝูงมาก ตัวผู้ก็จะไล่ต้อนกลับมา การต่อสู้เพื่อความเป็นใหญ่ของตัวเมียจะไม่รุนแรงและใช้เวลานานเหมือน ตัวผู้ ตัวเมียที่แพ้มักหลบอยู่รอบนอกฝูง ไม่ค่อยออกมาให้เห็นเด่นชัด ตัวเมียที่แข็งแรงหรือตัวที่ชนะ มักกระพือปีกกระโดดหรือวิ่งไปมาข่มตัวอื่น
     เมื่อจะผสมพันธุ์ตัวผู้จะเข้าป้อตัวเมีย โดยแผ่ปีกลงด้านข้างลำตัวข้างหนึ่งพร้อมทั้งก้าวขาถี่ ๆ ตีวงรอบตัวเมีย หลังผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะหาที่สำหรับวางไข่ ส่วนตัวผู้จะคอยอยู่ห่าง ๆ เมื่อได้ที่เหมาะแล้ว ตัวผู้จะใช้ตีนและปีกคุ้ยปรับดินจนเป็นแอ่ง พร้อมทั้งส่งเสียงเรียกตัวเมีย ถ้าตัวเมียไม่พอใจ ตัวผู้จะนอนคอยให้ตัวเมียหาที่แห่งใหม่ ทำเช่นนี้จนกว่าตัวเมียจะพอใจ ตัวเมียวางไข่คราวละ ๓-๗ ฟอง สีขาวหรือน้ำตาลอ่อน ตัวเมียกกไข่นานประมาณ ๒๑ วัน จึงฟักออกเป็นตัว และจะเลี้ยงลูกตามลำพังโดยมีตัวผู้อยู่ห่าง ๆ แม่ไก่มักกางปีกออกติดพื้นดินแล้วหมอบให้ลูกซุกอยู่ใต้ปีก
     ไก่บ้านซึ่งนำมาเลี้ยงเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ กันนั้นได้มีการปรับปรุงพันธุ์ทำให้รูปร่าง ลักษณะ นิสัย และความเป็นอยู่แตกต่างไปจากไก่บ้านที่เลี้ยงโดยปล่อยเป็นอิสระ เช่น ไก่เบตงซึ่งไม่มีขนหาง ไก่ที่เลี้ยงเพื่อนำไข่และเนื้อมาเป็นอาหารได้พัฒนามาเป็นพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ไก่ดำ ไก่โรดไอแลนด์ เรด ไก่ไวต์ร็อก ไก่เล็กฮอร์นขาว ซึ่งมีวิธีการเลี้ยงแตกต่างกันไป รวมทั้งได้นำกรงตับมาใช้ด้วย ทำให้ การเจริญเติบโตและนิสัยของไก่พวกนี้แตกต่างไปจากเดิม ส่วนไก่แจ้ ไก่เตี้ย ที่เลี้ยงเป็นไก่สวยงามนั้นได้ผสมให้เตี้ยมากขึ้นเพื่อให้มีรูปทรงและขนสวยงาม ไก่โยโกฮามาซึ่งมีหางกะลวยยาวหลายเมตร เป็นต้น สำหรับไก่ชนได้พัฒนาให้มีความอดทน แข็งแรง และปราดเปรียวยิ่งขึ้นเพื่อการต่อสู้.

ชื่อหลัก
ไก่บ้าน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Gallus gallus (Linn.)
ชื่อสกุล
Gallus
ชื่อชนิด
gallus
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
(Linn.)
ชื่อวงศ์
Phasianidae
ชื่ออื่น ๆ
ไก่เลี้ยง
ชื่อสามัญ
Domestic Fowl, Domesticated Fowl
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf