แกะ

ชื่อสามัญ
Sheep

ลักษณะทั่วไป เป็นสัตว์กีบคู่ ขนาดกลาง วัดจากปลายจมูกถึงโคนหางยาว ๑.๔-๑.๕ เมตร สูง ๖๕-๗๒ เซนติเมตร น้ำหนัก ๕๐-๗๐ กิโลกรัม เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง มี ๔ กระเพาะ เขาใหญ่โค้งงอ ปลายบิดชี้ไปข้างหน้า ตั้งแต่โคนเขาถึงประมาณกลางเขามีวงนูนลักษณะคล้ายพาลี แกะส่วนใหญ่มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย ปากแคบ ริมฝีปากบาง ไม่มีสันปลายจมูก (muzzle) ลำตัวป้อมคล้ายแพะแต่ไม่มีเครา ส่วนใหญ่ขนบนลำตัวยาวและอ่อนนุ่มและมักเป็นสีขาวหรือขาวอมน้ำตาล มีนม ๒ คู่ บางชนิดมีต่อมกลิ่นบริเวณแอ่งน้ำตาและระหว่างกีบ สูตรฟัน ๐/๓ ๐/๑ ๓/๓ ๓/๓ * ๒ = ๓๒แกะกินพืช ส่วนใหญ่เป็นพืชคลุมดิน หญ้า ต้นไม้ขนาดเล็ก ใบไม้ อยู่รวมกันเป็นฝูง ผสมพันธุ์เมื่ออายุ ๒ * ๑/๒ - ๓ ปี ตั้งท้องนาน ๑๕๐-๑๘๐ วัน ออกลูกครอกละ ๑-๓ ตัว
     แกะชนิดที่ถือว่าเป็นสัตว์ป่า ได้แก่
     ๑. ชนิด Ovis orientalis Gmelin ชื่อสามัญ Red Sheep, Elburs Urial พบในทวีปเอเชีย
     ๒. ชนิด Ovis musimon (Pallas) ชื่อสามัญ European Moufflon, European Wild Sheep เขาโค้ง ขนสีน้ำตาล มีทั้งพันธุ์ขนสั้นและพันธุ์ขนยาว พบในทวีปยุโรป
     ๓. ชนิด Ovis canadensis Shaw ชื่อสามัญ Bighorn พบในทวีปอเมริกาเหนือ อาศัยอยู่ในบริเวณป่าตามพื้นราบ ปีนป่ายกระโดดตามภูเขาไม่เก่ง
     ๔. ชนิด Ovis ammon Linn. ชื่อสามัญ Altai Argali เป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด สูงประมาณ ๑.๒ เมตร เขามีลักษณะโค้งงอเกือบเป็นวงกลม พบในทวีปเอเชียตอนกลาง
     ส่วนแกะชนิดที่นำมาเลี้ยงกันเป็นสัตว์เศรษฐกิจ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ovis aries Linn. มีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์เมอริโน (Merino) มีขนละเอียดและคุณภาพดีที่สุด ลักษณะของแกะพันธุ์นี้มีหัวสั้น ขนยาวปกคลุมหัวและจมูก หนังที่คอย่นเป็นร่อง มีเขาเฉพาะตัวผู้ ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศ สเปน
     เนื้อและนมแกะใช้บริโภค ขนและหนังใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้ยังนำอวัยวะบางส่วนมาใช้ประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้อีกด้วย เช่น นำสมองมาทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า.

ชื่อหลัก
แกะ
ชื่อสกุล
Ovis
ชื่อวงศ์
Bovidae
ชื่อสามัญ
Sheep
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf