เก้ง

Muntiacus muntjak (Zimmermann)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Muntiacus muntjak (Zimmermann) วงศ์ Cervidae
ชื่ออื่น ๆ
อีเก้ง, ฟาน
ชื่อสามัญ
Common Barking Deer, Muntjac, Muntjak, Indian Muntjac, Indian Muntjak, Rib-faced Deer

ลักษณะทั่วไป เป็นกวางขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ ๑ เมตร สูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร น้ำหนัก ๑๔-๑๘ กิโลกรัม เฉพาะตัวผู้มีเขาสั้น ๆ ยาวประมาณ ๕ เซนติเมตร ตอเขายาว เขามีแขนงเล็ก ๆ ข้างละ ๒ กิ่ง กิ่งคู่หน้าปลายแหลมตรงเรียกว่า “กิ่งรับหมา” กิ่งคู่หลังทอดยาวขึ้นไปไม่แตกกิ่งก้านเหมือนเขาของกวางชนิดอื่น ปลายแหลมงอโค้งเข้าหาลำตัว ลำตัวสีน้ำตาลสดหรือน้ำตาลแดง ขนสั้นแน่นนุ่มและหลุดง่าย หน้าและขาสีน้ำตาล มีแถบดำจากฐานเขามายังสันหน้า ทั้งคาง คอ ท้อง ด้านในของขาหลัง และใต้หางสีขาว มีต่อมขับกลิ่นที่ด้านในของสันหน้า (frontal ridge) ต่อมน้ำตามีขนาดใหญ่และลึก ตัวเมียมีพู่ขนสั้น ๆ บนหัว และตรงตำแหน่งที่เป็นเขาในตัวผู้ มีติ่งเนื้อยาวประมาณ ๓ เซนติเมตรห้อยอยู่ ตัวผู้มีเขี้ยวยาวยื่นออกมานอกริมฝีปาก ใช้เป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้ป้องกันตัว เขี้ยวของเก้งสามารถขยับไปมาได้ ตัวเมียเขี้ยวเล็กกว่าของตัวผู้ เก้งสามารถตวัดลิ้นยื่นยาวออกไปได้ถึงฐานหู เมื่อยืดเต็มที่จะยาวได้ถึง ๒๐-๒๕ เซนติเมตร สูตรฟัน ๐/๓ ๑/๑ ๓/๓ ๓/๓ * ๒ = ๓๔


     ปรกติเก้งมักอยู่ตามลำพังในพงหญ้ารกทึบและตามป่าทั่วไป จะอยู่เป็นคู่เฉพาะในฤดูผสมพันธุ์ในเวลาเช้าตรู่ ตอนเย็น และกลางคืนจะออกหากินตามทุ่งโล่ง พงไม้เตี้ย ๆ หรือชายป่าใกล้บ้านเรือน ป่าไผ่ ป่ารวก และตามป่าละเมาะ เวลากลางวันจะหลบนอนอยู่ตามพุ่มไม้ มีนิสัยปราดเปรียว เมื่อตื่นตกใจจะส่งเสียงร้องดัง “เปิ๊บ เปิ๊บ เปิ๊บ” เป็นระยะ ๆ คล้ายเสียงสุนัขเห่า ได้ยินไปไกล ประสาทหู ตา และจมูกไวมาก ตัวผู้มักต่อสู้กันเพื่อแย่งตัวเมีย
     เก้งกินใบไม้และหน่ออ่อนของต้นไม้มากกว่าหญ้า และกินเปลือกอ่อนของต้นไม้ ลูกไม้ป่าบางชนิด เช่น มะม่วงป่า มะขามป้อม เก้งมักกระหายน้ำบ่อย ต้องลงมากินน้ำทุกเย็น และกินดินโป่งด้วย
     ฤดูผสมพันธุ์ของเก้งอยู่ในช่วงต้นฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม และตกลูกในตอนต้นฤดูฝนพอดี ปรกติเก้งออกลูกคราวละ ๑ ตัว ตั้งท้องนานประมาณ ๑๘๕ วัน เก้งออกลูกตามใต้พุ่มไม้หนา ๆ ลูกเกิดใหม่มีจุดสีขาวตามลำตัว เมื่ออายุประมาณ ๖ เดือนจุดเหล่านี้จะหายไปและมีขนาดลำตัวเท่ากับพ่อและแม่ อายุ ๔-๕ เดือน ลูกจะอดนมและเริ่มกินอาหารเหมือนพ่อแม่ได้ ผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ ปีครึ่ง มีอายุประมาณ ๑๐ ปี
     เก้งพบทั่วไปในประเทศศรีลังกา อินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ในประเทศไทยมี ๒ ชนิดย่อย คือ
     ๑. ชนิดย่อย Muntiacus muntjak vaginalis Boddaert ลำตัวสีน้ำตาลเข้ม ปลายเท้ามีแต้มสีขาวเห็นได้ชัดเจน ตัวผู้มีโครโมโซม ๗ คู่ ตัวเมียมี ๖ คู่ พบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้
     ๒. ชนิดย่อย Muntiacus muntjak peninsulae Lydekker ขนาดใหญ่กว่าชนิดแรก ลำตัว สีน้ำตาลแดง เขาใหญ่กว่าชนิดแรก ตัวผู้มีโครโมโซม ๗ คู่ ตัวเมียมี ๘ คู่ พบทางภาคใต้
     ทั้ง ๒ ชนิดย่อยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย.

 

 

 

ชื่อหลัก
เก้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Muntiacus muntjak (Zimmermann)
ชื่อสกุล
Muntiacus
ชื่อชนิด
muntjak
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
(Zimmermann)
ชื่อวงศ์
Cervidae
ชื่ออื่น ๆ
อีเก้ง, ฟาน
ชื่อสามัญ
Common Barking Deer, Muntjac, Muntjak, Indian Muntjac, Indian Muntjak, Rib-faced Deer
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf