กุย

Saiga tatarica (Linn.)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Saiga tatarica (Linn.) วงศ์ Bovidae
ชื่อสามัญ
Saiga, Saiga Antelope

ลักษณะทั่วไป เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกีบคู่ในกลุ่มกาเซลล์ของทวีปเอเชีย วัดจากปลายจมูกถึงก้นยาว ๑.๑-๑.๔ เมตร หางยาว ๐.๘-๑.๓ เมตร สูง ๖๐-๘๐ เซนติเมตร น้ำหนักตัว ๒๓-๔๐ กิโลกรัม หัวใหญ่และอ้วน มีเขาเฉพาะตัวผู้ รูปคล้ายพิณฝรั่ง ยาว ๒๐-๒๖ เซนติเมตร สีขาวนวลโปร่งแสง มีวงเป็นข้อนูนต่อเนื่องกันขึ้นไปจากโคนเขาเกือบถึงปลาย ปลายแหลม จมูกของกุยลักษณะคล้ายกระเปาะพอง มีสันตามยาว รูจมูกเปิดออกทางด้านล่าง ภายในรูจมูกมีโครงสร้างพิเศษหลายอย่าง กระดูกจมูกเจริญดีมากและเรียงซ้อนเหลื่อมกัน ภายในมีขน ต่อม และร่องเมือก (mucous tract) นอกจากนี้ยังมีถุงที่พองได้ซึ่งไม่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นยกเว้นในพวกปลาวาฬ ภายในบุด้วยเยื่อเมือก จมูกมีหน้าที่ช่วยทำให้อากาศที่หายใจเข้าไปอุ่นและชุ่มชื้น ประสาทจมูกไวมาก ในฤดูร้อนขนบนตัวเกรียน หลังสีน้ำตาลออกแดง จมูกและหน้าผากสีน้ำตาลคล้ำกว่า บนกระหม่อมมีลายสีออกเทา รอบก้น ใต้ท้อง และหางสีขาว ในฤดูหนาวขนยาวและดกกว่าในฤดูร้อนและมีขนรองหนา สีขาวตลอดตัว กุยมีขาเรียวยาว ด้านหลังของกีบกางออกเล็กน้อย หางสั้นมาก ใต้หางไม่มีขน
     กุยเป็นสัตว์ที่เดินทางเคลื่อนย้ายไปตามสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลง ปรกติเดินได้เร็ว ๓-๖ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เวลาวิ่งจะเร็วได้ถึง ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อมีความจำเป็นเช่นมีหิมะตกหนัก สามารถเดินทางไปยังบริเวณที่มีอากาศเหมาะสมกว่าได้ไกล ๑๒๐-๒๐๐ กิโลเมตรภายในเวลาเพียง ๒ วัน ในฤดูใบไม้ร่วง กุยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ เดินทางมุ่งไปหากินยังบริเวณที่เหมาะสมกว่า ในฤดูหนาวหากมีอากาศหนาวจัดและหิมะตกหนัก จะรีบเดินทางอย่างไม่คิดชีวิตมุ่งไปตามทิศทางใต้ลม อาจผ่านหมู่บ้านหลายแห่งโดยไม่คำนึงถึงอันตรายใด ๆ เพราะหากกุยยังอาศัยอยู่ที่เดิมเป็นเวลานานกว่า ๒ สัปดาห์ในขณะที่หิมะตกมีความลึกกว่า ๒๐ เซนติเมตร จะเป็นเหตุให้ กุยตายหมดทั้งฝูง ในฤดูใบไม้ผลิฝูงกุยจะแยกออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มละ ๒-๖ ตัว กุยตัวผู้มุ่งเดินทางขึ้นสู่ทิศเหนือก่อนตัวเมีย ระยะทางระหว่างบริเวณหากินในฤดูร้อนกับฤดูหนาวมักอยู่ห่างกัน ๒๕๐-๔๐๐ กิโลเมตร ปรกติกุยมักเดินตามสบาย เมื่อเห็นศัตรูจึงจะกระโดดขึ้นสูงก่อนแล้ววิ่งหนีไปยังบริเวณที่โล่งและราบเรียบ เช่นก้นทะเลสาบที่แห้ง เมื่อพบสิ่งกีดขวางจะวิ่งวนไปรอบ ๆ ไม่ค่อยกระโดดข้าม กุยมีสายตาดีมากจึงสามารถเห็นศัตรูได้ในระยะทางมากกว่า ๑ กิโลเมตร
     กุยกินพืชหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นไม้พุ่มเตี้ย และหญ้าต่าง ๆ โดยเฉพาะพืชที่สัตว์อื่น ๆ ไม่กิน หากกุยมีพืชสดกินก็จะไม่กินน้ำเลย ในบริเวณที่มีแต่พืชแห้ง กุยต้องเดินทางไกลเพื่อเสาะหาพืชสด เมื่อกินน้ำจะเดินลงในน้ำแล้วก้มลงหันจมูกไปทางด้านข้างด้านใดด้านหนึ่ง ใช้เวลากินน้ำ ๗-๘ นาที


     ฤดูผสมพันธุ์ของกุยเริ่มตอนปลายเดือนพฤศจิกายน เมื่ออากาศเริ่มเย็นและไม่ค่อยเหมาะสม ในระยะแรกนี้กุยตัวผู้ชอบตัวเมียที่มีอายุมากกว่าตัวเมียวัยรุ่น ตัวผู้มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง คือ บริเวณสวาบมีชั้นไขมันหนา ๓-๔ เซนติเมตร จมูกพองโตกว่าปรกติมาก ใต้ตามีกลุ่มขนเป็นกระจุกใหญ่ และมีแผงขนสีน้ำตาลคล้ำตรงด้านข้างลำคอ ใต้ตามีรูเปิดของต่อมน้ำมันผลิตสารเหนียวสีน้ำตาล กลิ่นฉุน ตัวผู้ตัวหนึ่งมีตัวเมียในครอบครอง ๒-๓ ตัว บางตัวมีมากถึง ๕๐ ตัว ในฤดูนี้กุยตัวผู้กินแต่หิมะ และต่อสู้กับตัวผู้อื่น ๆ อยู่เกือบตลอดเวลา ช่วงกลางฤดูผสมพันธุ์ ๗-๘ วัน ตัวผู้จะผสมพันธุ์กับตัวเมียวัยรุ่นที่เกิดในฤดูใบไม้ผลิของปีนี้ ซึ่งมีอายุเพียง ๗-๘ เดือน ขณะที่ตัวเมียอายุมากตั้งท้อง เมื่อหมดฤดูผสมพันธุ์ กุยตัวผู้จะหากินอย่างสงบ ไม่สนใจที่จะต่อสู้กับตัวผู้อื่น ๆ ในเดือนมีนาคม ตัวผู้ซึ่งผ่ายผอมและอ่อนแอจะตายไปเป็นจำนวนมาก ตัวเมียอายุมากประมาณร้อยละ ๑๐ และตัวเมียอายุน้อยประมาณร้อยละ ๘๖ จะตั้งท้อง ซึ่งจำนวนดังกล่าวจะทำให้มีอาหารเพียงพอในฤดูที่อาหารขาดแคลน สำหรับกุยตัวผู้วัยรุ่นของปีนี้ยังไม่โตเต็มวัยดังเช่นตัวเมียและไม่ถูกไล่จากฝูงในฤดูผสมพันธุ์ จะเป็นตัวผสมพันธุ์ได้ในฤดูผสมพันธุ์ปีต่อไป
     กุยส่วนใหญ่ออกลูกครั้งละ ๒ ตัว ระยะตั้งท้องนานประมาณ ๕ เดือน พฤติกรรมการผสมพันธุ์และการมีลูกเป็นจำนวนมากทำให้กุยสามารถดำรงพันธุ์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ กุยมีบริเวณสำหรับตกลูกเฉพาะ โดยเดินทางจากทุ่งราบไปยังพื้นที่เป็นเนินลูกฟูกค่อนข้างเรียบ มีหญ้าสั้น ๆ ปกคลุม ไม่มีพุ่มไม้สำหรับการหลบซ่อนของศัตรูธรรมชาติ ในราวต้นเดือนพฤษภาคม ทั่วท้องทุ่งจะระงมไปด้วยเสียงลูกกุยและแม่กุย ซึ่งบางครั้งอาจมีจำนวนสูงถึง ๒,๐๐๐ ตัว ลูกกุย ดูดนมแม่เป็นครั้งแรกหลังเกิดได้ ๖-๘ ชั่วโมง ในวันแรกลูกกุยจะนอนราบอยู่บนพื้นดิน ลูกดูดนมแม่ใช้เวลาเพียงไม่นาน เพราะต้องรีบลุกตามฝูงไป น้ำนมของกุยมีปริมาณไขมันร้อยละ ๖.๗ ซึ่งสูงกว่าน้ำนมของวัวนม และปริมาณโปรตีนร้อยละ ๕.๔ ลูกกุยเริ่มกินพืชเมื่ออายุ ๓-๔ วัน พออายุได้ ๒-๒.๕ เดือนจะกินหญ้าเพียงอย่างเดียว หลังจากช่วงตกลูกผ่านไปกุยทั้งแม่และลูกจะออกเดินทางไปยังแหล่งหากินในฤดูร้อนต่อไป
     กุยอาศัยอยู่เฉพาะในทุ่งหญ้าโล่งแห้งแล้งและหนาวเย็นที่ไม่มีไม้ยืนต้นหรือพุ่มไม้สูง
     ศัตรูที่สำคัญของกุย ได้แก่ มนุษย์และหมาป่า ซึ่งล่ากุยตัวผู้ที่อ่อนแรงจากฤดูผสมพันธุ์ กุยตัวเมียที่ท้องแก่ และลูกกุยวัยอ่อน เมื่อหมาป่าออกล่าเหยื่อเป็นฝูงบนหิมะหนา ๆ หมาป่าจับกุยกินได้ง่าย ส่วนมนุษย์ล่ากุยเพื่อเอาเขาที่มีราคาสูงมากตั้งแต่ครั้งโบราณ และเอาเนื้อที่อ่อนนุ่มและมีรสดีมาปรุงเป็นอาหาร วิธีการล่าโดยซุ่มยิงตามแหล่งน้ำ ใช้การไล่ราว ล่าโดยใช้สุนัขเกรย์เฮานด์และนกอินทรี ตลอดจนไล่ต้อนฝูงกุยเข้าไปในคอกขนาดใหญ่ ทำให้กุยที่มีจำนวนมากลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วและแยกออกเป็นฝูงเล็ก ๆ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๒ กุยจึงได้รับการคุ้มครองอย่างเข้มงวดและมีการศึกษาชีวิตของกุยอย่างละเอียด ทำให้กุยเพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่า ๑ ล้านตัวในปัจจุบัน
     ในยุคน้ำแข็ง กุยมีเขตแพร่กระจายทั่วไปในทวีปยุโรปและเอเชียตั้งแต่บริเวณประเทศอังกฤษ ไปจนจดแคว้นไซบีเรีย คาบสมุทรคัมชัตกา และมลรัฐอะแลสกา แต่ในปัจจุบันพบกุยในบริเวณตอนล่างของแม่น้ำวอลกา ตั้งแต่ประเทศคาซัคสถานจนถึงแคว้นซุงกาเรียของจีน และมีอีกชนิดย่อยที่มีขนาดลำตัวเล็กกว่าในประเทศมองโกเลีย แต่เขตแพร่กระจายนี้มักไม่ต่อเนื่องกันดังเช่นในอดีต
     เขากุยเป็นเครื่องยาจีนชนิดหนึ่ง ใช้แก้ตัวร้อน แก้โรคซางชักในเด็ก.

 

 

ชื่อหลัก
กุย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Saiga tatarica (Linn.)
ชื่อสกุล
Saiga
ชื่อชนิด
tatarica
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
(Linn.)
ชื่อวงศ์
Bovidae
ชื่อสามัญ
Saiga, Saiga Antelope
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายจารุจินต์ นภีตะภัฏ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf