กาฮัง-นก

Buceros bicornis Linn.

ชื่อวิทยาศาสตร์
Buceros bicornis Linn. วงศ์ Bucerotidae
ชื่ออื่น ๆ
นกกก, นกกะวะ, นกอีฮาก, นกเงือกใหญ่
ชื่อสามัญ
Great Hornbill, Great Indian Hornbill

ลักษณะทั่วไป เป็นนกขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นกเงือกของไทย วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาว ๑๒๕-๑๓๐ เซนติเมตร ลำตัวสีดำ คอสีขาว คางดำ หัวใหญ่ ปากใหญ่ยาว โค้ง หนาและแข็งแรง ปลายแหลม บนหัวมีโหนกแข็งสีเหลืองขนาดใหญ่เห็นได้ชัด ที่ปีกมีแถบสีขาวพาดขวาง เวลาบินจะเห็นได้ชัดเจน ตรงแถบขาวหัวปีกจะเห็นมีน้ำมันสีเหลืองเกาะติดอยู่ (สีเหลืองดังกล่าวนี้จะเห็นเฉพาะตอนสัตว์มีชีวิตอยู่เท่านั้น) เป็นน้ำมันที่สร้างจากต่อมน้ำมันที่โคนหาง นกจะใช้จะงอยปากแตะน้ำมันดังกล่าวไซ้ตามขน หางยาวสีขาวมีแถบดำพาดขวาง ตัวผู้ขนาดใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย ลักษณะทั่วไปคล้ายกัน ที่แตกต่างกันเล็กน้อยคือ ตัวผู้ตาสีแดง หนังรอบตาสีดำ จะงอยปากสีเหลืองจัด โหนกแข็งด้านหน้าและด้านท้ายสีดำ ส่วนตัวเมียตาสีเหลืองหรือสีเทาซีด หนังรอบตาสีแดง โหนก แข็งด้านหน้าและด้านท้ายสีแดงจาง ๆ จะงอยปากบนมีสีแดงจาง ๆ เมื่อเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ จะได้กลิ่นสาบแรงมาก เป็นกลิ่นสาบเฉพาะตัวของนกชนิดนี้


     นกกาฮังอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ ตามป่าดงดิบมีต้นไม้สูง ๆ ซึ่งเป็นที่สูง ๑,๕๐๐-๑,๗๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์จึงจะอยู่กันเป็นคู่ มักกระโดดและส่งเสียงร้องในขณะออกหากิน ร้องเสียงดังมาก เวลาบินจะกระพือปีกและร่อนสลับกัน เสียงกระพือปีกดังคล้ายเสียงหอบ ได้ยินชัดเจน
     นกชนิดนี้กินผลไม้สุก เช่น กล้วย มะละกอ มะเดื่อ ไทร มะปรางป่า และสัตว์เล็ก ๆ เช่น กิ้งก่า หนู แย้ งู โดยจะเอาปากคาบสัตว์ดังกล่าวฟาดกับกิ่งไม้ให้สัตว์ตายเสียก่อน งับตลอดลำตัวให้เนื้อนิ่มและกระดูกแตกแล้วจึงโยนขึ้นไปในอากาศ อ้าปากงับให้สัตว์นั้นเข้าไปในปากแล้วจึงกลืน ลงไป
     นกกาฮังผสมพันธุ์กันในระหว่างฤดูหนาวถึงฤดูร้อน โดยวางไข่ตามโพรงไม้ สูงจากพื้นดิน ๑๘-๒๕ เมตร ซึ่งมักเป็นที่เดิมที่เคยวางไข่เมื่อปีก่อน ๆ ก่อนวางไข่ตัวเมียจะเตรียมหาวัสดุมาทำรัง แล้วเข้าไปอยู่และตบแต่งโพรงโดยตัวผู้จะคาบดินมาผสมกับมูลของตัวเมีย หรือสำรอกอาหารที่กินเข้า ไปออกมาโบกปิดปากโพรง เหลือช่องไว้ตรงกลางแค่พอให้ปากของตัวเมียยื่นออกมาได้ ขณะตัวเมีย กกไข่และเลี้ยงลูกอ่อน ตัวผู้จะเอาอาหารมาเลี้ยงทั้งแม่และลูก นกกาฮังวางไข่คราวละ ๑-๒ ฟอง ใช้เวลาฟัก ๓๑-๓๔ วัน
     ในประเทศไทยพบนกชนิดนี้อยู่แทบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่างประเทศพบในอินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ไปจนถึงมาเลเซียและอินโดนีเซีย
     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย.

 

ชื่อหลัก
กาฮัง-นก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Buceros bicornis Linn.
ชื่อสกุล
Buceros
ชื่อชนิด
bicornis
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
Linn.
ชื่อวงศ์
Bucerotidae
ชื่ออื่น ๆ
นกกก, นกกะวะ, นกอีฮาก, นกเงือกใหญ่
ชื่อสามัญ
Great Hornbill, Great Indian Hornbill
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf