กาฝาก-นก

ชื่อสามัญ
Flowerpecker

ลักษณะทั่วไป เป็นนกขนาดเล็ก วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาวประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ปากค่อนข้างสั้น โค้งลง ขอบปากเป็นหยักคล้ายฟันเลื่อย ช่วยในการกินอาหารจำพวกผลไม้ที่มียางเหนียว ลิ้นเป็นแฉก ขอบลิ้นม้วนจนเกือบเป็นท่อช่วยในการดูดน้ำหวานจากดอกไม้
     ตัวผู้มักมีสีสดใสหลายสีปนกัน เช่น แดง เหลือง น้ำเงิน ส่วนตัวเมียมักมีสีเดียวตลอด คือ เขียวหรือเหลืองอมน้ำตาล ด้านล่างของลำตัวสีจางกว่า สำหรับนกกาฝากชนิดที่ตัวผู้และตัวเมีย คล้ายกันจะมีสีไม่สด
     นกกาฝากกินผลไม้ น้ำหวานจากดอกไม้ และแมลงขนาดเล็กที่มาตอมดอกไม้ มักพบตามลำพังหรือเป็นคู่ แต่ก็มีบางชนิดที่อยู่รวมกันเป็นฝูง ตัวเมียทำรังด้วยเศษหญ้าแห้ง ยึดติดกันด้วยใยดอกหญ้าและใยแมงมุมห้อยอยู่ตามกิ่งไม้ขนาดเล็กที่ทางเข้าอยู่ทางด้านข้าง วางไข่คราวละ ๑-๕ ฟอง ไข่สีขาว กกไข่นาน ๑๐-๑๕ วัน จึงฟักออกเป็นตัว ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันเลี้ยงลูก
     นกกาฝากมีส่วนช่วยในการผสมเกสรดอกไม้หลายชนิด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นพาหะในการแพร่กระจายพันธุ์ต้นกาฝากซึ่งเป็นพืชเบียนต้นไม้อื่น โดยนกกาฝากจะกลืนกินลูกกาฝากทั้งลูก เมื่อถ่ายออกมา เมล็ดซึ่งมียางเหนียวหุ้มอยู่ก็จะยึดติดกับกิ่งไม้ งอกเป็นต้นกาฝากขึ้น อีกวิธีหนึ่งคือ นกกาฝากคาบลูกกาฝากมากินเฉพาะส่วนเนื้อ แล้วป้ายเมล็ดติดไว้กับกิ่งไม้ นอกจากนี้เมล็ดกาฝากที่ติดอยู่ตามตัวนกกาฝากก็ยังถูกถูให้หลุดติดอยู่กับกิ่งไม้ เป็นการแพร่กระจายพันธุ์ได้อีกวิธีหนึ่ง
     ทั่วโลกมีนกกาฝาก ๕๙ ชนิด ๗ สกุล ในประเทศไทยมีนกที่เรียกชื่อว่า นกกาฝาก ๙ ชนิด คือ
     ๑. นกกาฝากอกแดง [Prionochilus thoracicus (Temminck et Laugier)] ชื่อสามัญ Scarlet-breasted Flowerpecker พบเฉพาะทางภาคใต้
     ๒. นกกาฝากคอเหลือง [Prionochilus maculatus (Temminck et Laugier)] ชื่อสามัญ Yellow-breasted Flowerpecker พบเฉพาะทางภาคใต้
     ๓. นกกาฝากอกสีเลือดหมู [Prionochilus percussus (Temminck et Laugier)] ชื่อสามัญ Crimson-breasted Flowerpecker พบเฉพาะทางภาคใต้
     ๔. นกกาฝากปากหนา [Dicaeum agile (Tickell)] ชื่อสามัญ Thick-billed Flowerpecker พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้


     ๕. นกกาฝากก้นเหลือง [Dicaeum chrysorrheum (Temminck et Laugier)] ชื่อสามัญ Yellow-vented Flowerpecker พบทั่วทุกภาค
     ๖. นกกาฝากท้องเหลือง [Dicaeum melanozanthum (Blyth)] ชื่อสามัญ Yellow-bellied Flowerpecker พบเฉพาะเขตภูเขาสูงทางภาคเหนือ เป็นนกอพยพ
     ๗. นกกาฝากท้องสีส้ม [Dicaeum trigonostigma (Scopoli)] ชื่อสามัญ Orange-bellied Flowerpecker พบเฉพาะทางภาคใต้
     ๘. นกกาฝากสีเรียบ [Dicaeum concolor Jerdon] ชื่อสามัญ Plain Flowerpecker พบทางภาคกลางและภาคเหนือ
     ๙. นกกาฝากอกเพลิง [Dicaeum ignipectus (Blyth)] ชื่อสามัญ Fire-breasted Flowerpecker พบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ระดับความสูงตั้งแต่ ๘๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ขึ้นไป
     นอกจากนี้ยังมีนกกาฝากอีกชนิดหนึ่งซึ่งคนไทยเรียกว่า นกสีชมพูสวน [Dicaeum cruentatum (Linn.)] ชื่อสามัญ Scarlet-backed Flowerpecker เป็นนกที่มีผู้นิยมเลี้ยงเป็นนกสวยงาม พบทั่ว ทุกภาค.

 

ชื่อหลัก
กาฝาก-นก
ชื่อวงศ์
Dicaeidae
ชื่อสามัญ
Flowerpecker
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายสุวัช สิงหพันธุ์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf