กาน้ำ-นก

ชื่อสามัญ
Cormorant

ลักษณะทั่วไป เป็นนกน้ำจำพวกหนึ่ง วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาว ๔๘-๙๒ เซนติเมตร ปากสีดำยาวตรง ปลายปากบนแบนงองุ้ม ขอบปากบนและล่างหยักคล้ายฟัน คอยาว กล้ามเนื้อที่หัวและคอแข็งแรงช่วยให้งับเหยื่อได้แน่น ไม่มีรูจมูกภายนอก ขนดำเป็นมัน ปีกสั้น หางกลมมน ตีน มีพังผืดเหมือนตีนเป็ดช่วยในการดำน้ำจับปลา โพรงอากาศในกระดูกมีน้อยกว่านกชนิดอื่น ทำให้ดำน้ำได้ลึก สามารถปรับตัวให้บินและว่ายน้ำได้ดี แต่ถ้าเดินอยู่บนบกจะดูงุ่มง่าม
     นกกาน้ำมีปีกแข็งแรง สามารถบินจากรังไปยังถิ่นหากินได้เป็นระยะทางไกล ๆ ทุกวัน บางครั้งอาจไกลถึง ๑๐๐ กิโลเมตร โดยกระพือปีกบินอย่างช้า ๆ เมื่อบินเป็นฝูงใหญ่จะเกาะกลุ่มเป็นรูปหัวลูกศร มักกินปลา ปู หมึก กบ เขียด โดยดำน้ำตามเหยื่อไปแล้วใช้ปากคาบ ถ้าเหยื่อมีขนาดใหญ่จะนำขึ้นมาบนผิวน้ำ โยนขึ้นไปในอากาศ แล้วงับกลืนทางหัวเข้าไปก่อน บางครั้งพบหากินอยู่ใกล้ฝูงเป็ด เป็นนกล่าเหยื่อที่มีความเชี่ยวชาญมาก เมื่อหากินตามฝั่งทะเลมักรวมฝูงเป็นแถวยาวบนผิวน้ำแล้วดำลงไล่จับปลาพร้อมกัน นกกาน้ำสังเกตเห็นฝูงปลาได้แต่ไกลโดยอาศัยนกนางนวล การล่าและกินเหยื่อใช้เวลาน้อยกว่านกชนิดอื่น คือ ประมาณไม่เกิน ครึ่งชั่วโมง เวลาที่เหลือในวันหนึ่ง ๆ มักใช้ในการพักผ่อน ผึ่งแดด และตบแต่งขน
     นกชนิดนี้สามารถปรับตัวให้ว่ายน้ำอยู่ได้นาน น้ำสามารถแทรกเข้าไปในระหว่างขนของมันได้ อากาศภายในขนจึงถูกไล่ออกมาทำให้ดำน้ำได้ลึก ถ้าดำในน้ำทะเลมันจะกลืนหินเข้าไปช่วยเพิ่มน้ำหนักให้มากขึ้นอีก นกกาน้ำมีเยื่อคลุมตาช่วยป้องกันในขณะลืมตาในน้ำ เนื่องจากขาอยู่ในตำแหน่งค่อนไปทางข้างหลังของลำตัว จึงใช้พุ้ยน้ำได้ดีมาก เมื่อจะขึ้นสู่ผิวน้ำจะใช้ตีนถีบน้ำติด ๆ กันหลายครั้ง เมื่อพ้นน้ำแล้วจึงสลัดขนเอาน้ำออก ขนมีน้ำมันเคลือบอยู่จึงใช้เวลาเพียงเล็กน้อยในการรีดน้ำออกจากขนด้วยการสลัดปีกไปข้างหน้าและข้างหลัง และมักยืนกางปีกหันหน้าเข้าหา ดวงอาทิตย์เพื่อผึ่งแดด ต่อจากนั้นจะหาที่เกาะใกล้ ๆ เพื่อพักย่อยอาหารและถ่ายกากอาหารออก ให้น้ำหนักตัวลดลง แล้วจึงบินกลับรัง เศษอาหารที่ย่อยไม่ได้ เช่น กระดูก เกล็ด จะถูกหุ้มด้วย เยื่อเมือกสีแดงที่ลอกออกมาจากผนังกระเพาะ ซึ่งนกจะสำรอกออกมาก่อนออกบินเป็นการลดน้ำหนักตัวอีกวิธีหนึ่ง และนกนางนวลมักโฉบก้อนเยื่อเมือกนี้ไปกินต่อ บางครั้งชาวประมงเรียกนกกาน้ำว่า “อีกาแห่งท้องทะเล”
     นกกาน้ำส่วนใหญ่ทำรังอยู่บนต้นไม้เป็นกลุ่ม ๆ บางครั้งอาจอยู่ร่วมต้นเดียวกับนกยางและนกกระสา โดยนำเศษไม้แห้งมาขัดกัน หรือทำรังอยู่ตามโขดหินโดยใช้วัสดุอื่นที่หาได้ในแถบนั้น เช่น สาหร่ายทะเล เศษแหอวน นกกาน้ำวางไข่คราวละ ๓-๖ ฟอง ไข่สีขาวอมฟ้า ผิวเปลือกไข่ มีสารพวกหินปูนจับเป็นนวลขาว ใช้เวลา ๒๓-๒๘ วัน จึงฟักออกเป็นตัว
     ในประเทศไทยมีนกกาน้ำ ๓ ชนิด คือ
     ๑. นกกาน้ำใหญ่ [Phalacrocorax carbo (Linn.)] ชื่อสามัญ Large Cormorant, Com-mon Cormorant ขนาด ๘๐-๙๒ เซนติเมตร ตัวผู้หนักประมาณ ๒.๓ กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ ๑.๙ กิโลกรัม ปากสีน้ำตาลอมเหลือง ตาสีฟ้า หน้าสีเหลือง ขนที่ท้ายทอยเป็นสันแหลมยื่นออกมาเล็กน้อย มีถุงคออยู่ระหว่างโคนปากล่างกับคอหอย ด้านหน้าสีเหลือง ด้านหลังสีเทา ลำตัวสีดำอมน้ำตาล ในฤดูร้อนขนบริเวณลำตัวเหนือโคนขาจะมีแต้มสีขาว
          นกกาน้ำใหญ่ออกดำน้ำจับปลาเป็นฝูงเล็ก ๆ อยู่ตามแม่น้ำ หนองน้ำ และชายฝั่งทะเล สามารถดำน้ำได้ลึก ๑-๓ เมตร และไล่จับปลาอยู่ใต้น้ำได้นานถึง ๔๕ วินาที ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน มีการฝึกให้นกชนิดนี้จับปลา โดยเอาห่วงคล้องคอนกไว้แล้วผูกเชือกยาว ๆ โยงไว้กับกราบเรือหรือถือไว้ เมื่อนกจับปลาและกลืนลงไปก็จะติดค้างอยู่แค่คอ พอได้สัก ๑-๓ ตัว เจ้าของ ก็จะดึงนกขึ้นมาบนเรือเพื่อให้คายปลาออก
          ไข่ของนกกาน้ำใหญ่หนักประมาณ ๕๐ กรัม วางไข่คราวละ ๓-๔ ฟอง ตัวผู้และตัวเมียช่วยกันกกไข่ ใช้เวลา ๒๓-๒๕ วัน จึงฟักออกเป็นตัว ลูกนกเกิดใหม่หัวสีชมพู ลำตัวสีดำ ไม่มีขน ลืมตาเมื่ออายุ ๓ วัน หัดบินเมื่ออายุ ๓๕ วัน โดยบินไปเกาะกิ่งไม้ใกล้ ๆ ก่อน บินได้แข็งเมื่ออายุ ๔๒-๖๐ วัน
          นกชนิดนี้พบทางภาคใต้ ภาคกลางตอนกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน
     ๒. นกกาน้ำเล็ก [Phalacrocorax niger (Vieillot)] ชื่อสามัญ Little Cormorant ขนาดประมาณ ๕๒ เซนติเมตร หนัก ๕๐๐-๘๐๐ กรัม เป็นนกกาน้ำขนาดเล็กที่สุดของไทย ปรกติลำตัวสีดำสนิท นอกจากในฤดูร้อนขนที่หัวจะมีสีขาวหรือน้ำตาลแซมเล็กน้อย ในฤดูหนาวขนที่หัวจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ขนบริเวณคอเปลี่ยนเป็นสีขาว


     ไข่ของนกกาน้ำเล็กกว้าง ๒.๘ เซนติเมตร ยาว ๔.๗ เซนติเมตร วางไข่คราวละ ๓-๕ ฟอง ตัวผู้และตัวเมียผลัดกันกกไข่ ใช้เวลาฟักประมาณ ๒๕ วัน
     นกกาน้ำเล็กมักอยู่เป็นคู่หรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ พบทั่วทุกภาคยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในธรรมชาติสามารถพบเห็นได้จำนวนมากที่วัดขนอนใต้ ตำบลคุ้งลาน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาศัยปะปนอยู่กับค้างคาวแม่ไก่
     ๓. นกกาน้ำปากยาว (Phalacrocorax fuscicollis Stephens) ชื่อสามัญ Indian Shag ขนาดประมาณ ๖๔ เซนติเมตร ปากและหัวแคบและยาวเรียวกว่านกกาน้ำใหญ่และนกกาน้ำเล็ก ในฤดูร้อนขนบริเวณหลังตาจะมีแต้มสีขาวเห็นได้ชัด ในฤดูหนาวถุงคอจะเป็นสีเหลือง
          นกกาน้ำปากยาวมักหากินตามลำพังอยู่ตามซอกหลืบหิน ไม่เกาะบนต้นไม้หรือสายไฟ ขณะบินจะยืดหัวและคอเป็นแนวตรงคล้ายหงส์และห่าน มักไม่ทิ้งถิ่นไปที่อื่น
          นกกาน้ำปากยาวทำรังเป็นแอ่งเล็ก ๆ บนพื้นดิน ส่วนมากมักไม่ใช้สิ่งใดปูรองรังเหมือนนกกาน้ำใหญ่และนกกาน้ำเล็ก วางไข่คราวละ ๓-๖ ฟอง ไข่กว้าง ๓.๓ เซนติเมตร ยาว ๕.๑ เซนติเมตร ใช้เวลาประมาณ ๒๘ วัน จึงฟักออกเป็นตัว
          นกชนิดนี้พบเฉพาะตามชายฝั่งทะเลเท่านั้น เคยพบที่จังหวัดสมุทรสาคร ปัจจุบันหาได้ยากมาก
          นกกาน้ำทั้ง ๓ ชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย.

 

 

 

ชื่อหลัก
กาน้ำ-นก
ชื่อวงศ์
Phalacrocoracidae
ชื่อสามัญ
Cormorant
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf