กั้งตั๊กแตน

ชื่ออื่น ๆ
กั้ง
ชื่อสามัญ
Mantis Shrimps

ลักษณะทั่วไป เป็นสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวยาวคล้ายกุ้งแต่แบนลง วัดจากสุดปลายกรีถึงสุดปลายหางยาว ๒๐-๓๔๐ มิลลิเมตร มีเปลือกหัวคลุมถึงอกปล้องที่ ๔ รยางค์อกมี ๘ คู่ ปล้องท้องมี ๖ ปล้อง มักอยู่ตามพื้นท้องทะเลหรือซอกหิน กินสัตว์เป็นอาหาร พบทั่วโลก ต่างถิ่นมักต่างชนิดกัน ในประเทศไทยแพร่กระจายอยู่ทั่วทะเลไทย จัดอยู่ใน Superfamilies ต่าง ๆ ดังนี้
     ๑. Superfamily Squilloidea มี ๒ วงศ์ คือ
          ๑.๑ วงศ์ Harpiosquillidae มี ๑ สกุล คือ
               สกุล Harpiosquilla สีลำตัวแตกต่างกันไปตั้งแต่สีเขียวถึงสีเหลืองอ่อน ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดและการเจริญเติบโต มี ๓ ชนิด คือ


               (๑) ชนิด Harpiosquilla harpax (De Haan) ยาว ๑๐๐-๑๘๐ มิลลิเมตร กรีมีรูปร่างคล้ายกระจัง ปลายยื่นยาวออกไปไม่ถึงข้อโคนก้านตา ด้านหลังปล้องอกปล้องที่ ๕ ไม่มีหนามขอบข้าง ใกล้โคนปลีหางมีจุดรูปไข่สีน้ำตาลเข้มหรือสีเขียวเข้มใกล้สันกลางข้างละจุด แพนนอกของแพนหางสีเหลือง
               (๒) ชนิด Harpiosquilla annandalei (Kemp) ยาว ๒๑๐-๒๙๐ มิลลิเมตร กรีมีรูปร่างคล้ายกระจัง ปลายไม่ยื่นยาวออกไป ด้านหลังปล้องอกปล้องที่ ๕ มีหนามขอบข้างเล็ก ๆ ข้างละ ๑ อัน ใกล้โคนปลีหางมีจุดรูปไข่ยาวรีสีน้ำตาลเข้มขอบสีขาวใกล้สันกลางข้างละจุด ปลายแพนนอกของแพนหางมีสีเหลืองขอบสีน้ำตาลเข้ม
               (๓) ชนิด Harpiosquilla raphidea (Fabricius) ยาว ๒๑๐-๒๙๐ มิลลิเมตร กรีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมมีปลายยื่นยาวออกไปเกือบถึงหรือใกล้ข้อโคนก้านตา ด้านหลังปล้องอกปล้องที่ ๕ มีหนามขอบข้างเล็ก ๆ ข้างละ ๑ อัน ปลีหางมีพื้นสีเหลืองอมเขียวและมีลายสีเหลืองอ่อนหรือสีเกือบขาวเป็นลายลูกปัดเรียงเป็นแถวคล้ายรัศมีรอบ ๆ ปลีหาง ใกล้โคนปลีหางมีจุดรูปวงกลมสีเขียวเข้มหรือสีน้ำตาลเข้มอยู่ตรงกึ่งกลางเป็นจุดเดียว แพนนอกของแพนหางมีสีเหลือง
               กั้งตั๊กแตนทั้ง ๓ ชนิดอาศัยขุดรูอยู่ตามพื้นท้องทะเลที่เป็นโคลน
          ๑.๒ วงศ์ Squillidae มีหลายชนิดใน ๘ สกุล ลำตัวและแพนหางมีสีแตกต่างกัน ทั้งนี้แล้วแต่ชนิด ได้แก่
               ๑.๒.๑ สกุล Oratosquilla หนามขอบข้างปล้องอกปล้องที่ ๕-๗ แยกเป็น ๒ แฉก ตาโตกว่าก้านตา เปลือกหัวและเปลือกตัวไม่มีสันเป็นลายคล้ายตาข่าย สันทางด้านหลังของส่วนท้องตามความยาวลำตัวมีไม่เกิน ๘ สัน ปลายหนามเคียงกลางปลีหางขยับไม่ได้ ชนิดที่พบมีอย่างน้อย ๗ ชนิด คือ
                    (๑) ชนิด Oratosquilla nepa (Latreille) ยาว ๗๕-๑๖๐ มิลลิเมตร ลำตัวมีสีแตกต่างกันไปตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลอมเขียว จนถึงสีเขียวคล้ำ ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดและอายุ ตาโตกว่าก้านตาเล็กน้อยและอยู่เฉียงกับก้านตา สันกลางเปลือกหัวแยกเป็น ๒ แฉกก่อนถึงรูกลางของเปลือกหัวไปทางด้านหน้าของเปลือกหัว ขาก้ามฉกสีอ่อนกว่าลำตัวค่อนไปทางสีขาวขุ่น ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๖ อัน ด้านหลังปล้องท้องปล้องที่ ๒ และ ๕ มีปื้นสีคล้ำจนเกือบดำ สันยาวตามลำตัวสีเขียวเข้มกว่าลำตัว เมื่อยังมีขนาดเล็กปลีหางมีแถบสีเขียวเกือบดำ ๑ แถบคาดตามขวางประมาณกึ่งกลางของปลีหาง แถบนี้จะเล็กลงหรือหายไปเมื่อโตขึ้น ปลีหางสีเขียวขอบปลายสีอ่อนกว่า หนามและหนามละเอียดตามขอบปลีหางสีเขียวเข้ม แพนนอกของแพนหางมีปล้องปลายสีเหลือง ปล้องถัดมาสีเขียวเข้มจนเกือบดำ ประมาณครึ่งหนึ่งของปล้องส่วนที่เหลือสีเหลือง ส่วนแพนในของแพนหางมีปลายสีเขียวเข้มจนเกือบดำ โคนสีเหลือง
                    (๒) ชนิด Oratosquilla quinquedentata (Brooks) ยาวประมาณ ๑๔๐ มิลลิเมตร สีลำตัวค่อนไปทางสีขาวขุ่นจนถึงสีชมพูอมแดง ตาโตกว่าก้านตามากและอยู่เฉียงกับก้านตา สันกลางเปลือกหัวแยกเฉพาะบริเวณรูกลางเปลือกหัวปลายจดกันเป็นเส้นเดียว สันด้านข้างมีสีแดงยาวตลอดและขนานกับสันกลางเปลือกหัว ขาก้ามฉกสีอ่อนกว่าลำตัวค่อนไปทางสีขาวขุ่น ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๕ อัน มุมปลายขอบล่างของปล้องที่ ๔ ของขาก้ามฉกแหลมคล้ายหนาม ด้านหลังระหว่างรอยต่อของปล้องอกและปล้องท้องปล้องที่ ๒-๕ มีสีแดง ด้านข้างสีเหลือง ใกล้โคนปลีหางมีจุดสีขาวรูปค่อนไปทางสี่เหลี่ยมใกล้สันกลางข้างละจุด ปลายหนามละเอียดที่ปลีหางสีแดงโคนสีดำ แพนนอกของแพนหางปล้องปลายสีเหลือง ปล้องโคนสีม่วงไปจนถึงสีขาว หนามแพนนอกสีแดงโคนสีเหลืองปลายใส
                    (๓) ชนิด Oratosquilla gonypetes (Kemp) ยาว ๒๖-๘๐ มิลลิเมตร สันหรือร่องตามลำตัวมีจุดสีเข้ม คือ น้ำตาลแก่หรือน้ำตาลอมแดง ยกเว้นบริเวณขอบด้านข้างท้องมีสีอ่อน ตาโตกว่าก้านตาเล็กน้อยและอยู่เฉียงกับก้านตา ตายาวไม่ถึงปล้องแรกของฐานหนวดคู่ที่ ๑ ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๕ อัน ด้านหลังปล้องท้องปล้องที่ ๒ และ ๕ มีปื้นสีน้ำตาลแก่หรือน้ำตาลอมแดง แต่ปื้นที่ปล้องท้องปล้องที่ ๒ รูปคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่กลางปล้อง ส่วนที่ปล้องท้องปล้องที่ ๕ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ๒ รูป อยู่บริเวณท้ายปล้องตรงสันเคียงกลางตัว สันทางด้านข้างของปลีหางรวมทั้งปลายแพนนอกและแพนในของแพนหางมักมีสีเข้มจนเกือบดำ


                    (๔) ชนิด Oratosquilla interrupta (Kemp) ยาว ๙๐-๑๐๕ มิลลิเมตร ลำตัวโดยทั่วไปมีสีอ่อน ได้แก่ สีเหลืองอ่อน น้ำตาลอ่อน ตาโตกว่าก้านตาเล็กน้อยและอยู่เฉียงกับก้านตา สันกลางเปลือกหัวทอดยาวผ่านรูกลางเปลือกหัวแยกเป็น ๒ แฉกไปทางด้านหน้า แต่บริเวณโคนของแฉกขาดหายไปไม่ต่อเป็นเส้นเดียวทำให้เห็นเป็น ๓ เส้น ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๖ อัน ไม่มีปื้นบนลำตัว สันด้านหลังปล้องท้องปล้องที่ ๕ มีลักษณะเป็นลอน ๒ ลอน สันเคียงกลางตัวมีสีเขียว ใกล้โคนปลีหางมีจุดสีน้ำตาลรูปไข่ที่สันกลาง แพนนอกของแพนหางมีสีเหลืองยกเว้นบริเวณปลายปล้องโคนมีสีเขียว ส่วนแพนในมีปลายสีเหลืองเข้มกว่าบริเวณโคน
                    (๕) ชนิด Oratosquilla perpensa (Kemp) ยาว ๗๕-๙๕ มิลลิเมตร ลำตัวโดยทั่วไปเมื่อยังเล็กสีชมพู เมื่อโตขึ้นสีน้ำตาล ตาโตกว่าก้านตามากและอยู่เฉียงกับก้านตา สันกลางเปลือกหัวมีลักษณะคล้ายกับชนิด O. interrupta (Kemp) กรีสั้นเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมโดยมีด้านยาวยาวกว่าด้านกว้างเล็กน้อย ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๖ อัน ขอบบนปล้องขาปล้องที่ ๖ มีแผงหนามเล็ก ๆ ขอบด้านหลังของปล้องขาปล้องที่ ๕ เรียบ ไม่มีปื้นสีบนลำตัว สันลำตัวสีน้ำตาลอมแดง ใกล้โคนปลีหางมีจุดสีน้ำตาลอมแดงรูปครึ่งวงกลมที่สันกลาง แพนนอกของแพนหางมีสีอ่อนกว่าลำตัวเล็กน้อยยกเว้นบริเวณปล้องปลายมีปื้นสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำบริเวณขอบในประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวปล้อง
                    (๖) ชนิด Oratosquilla woodmasoni (Kemp) ยาว ๙๕-๑๕๐ มิลลิเมตร ลำตัวโดยทั่วไปสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลอมเหลือง เรียบเป็นมันวาว ตาโตกว่าก้านตาเล็กน้อยและอยู่ เฉียงกับก้านตา สันกลางเปลือกหัวเห็นไม่เด่นชัด มีรอยขาดเช่นเดียวกับชนิด O. perpensa (Kemp) ขอบหน้าของเปลือกหัวกว้างมากกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวเปลือกหัว กรียาวมากกว่ากว้างปลายมน ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๖ อัน ขอบบนปล้องขาปล้องที่ ๖ มีแผงหนามเล็ก ๆ ขอบด้านหลังของปล้องขาปล้องที่ ๕ เป็นตุ่มหรือลอน ๒ ลอน ขอบมุมล่างของปลายปล้องขาปล้องที่ ๔ มนคล้ายตุ่ม สันตามลำตัวสีเข้มกว่าลำตัวเล็กน้อย ใกล้โคนปลีหางมีลักษณะคล้ายจุดยาวรี มีเส้นสีน้ำตาลยาวตลอดถึงปลายของปลีหาง แพนนอกของแพนหางมีปล้องปลายสีคราม ปล้องถัดมามีสีเช่นเดียวกันเกือบถึงโคนปล้อง แพนในมีปลายสีคราม ส่วนที่ยื่นออกไปทางด้านข้างคล้ายหนามรูปส้อมสองง่าม เรียก ส่วนยื่นรูปส้อม (forked process) มีสีส้มหรือสีแสดเกือบตลอดยกเว้นบริเวณโคนสีขาว
                    (๗) ชนิด Oratosquilla solicitans Manning ยาว ๓๐-๙๐ มิลลิเมตร ลำตัวโดยทั่วไปเรียบเป็นมัน ตาโตกว่าก้านตามากและอยู่เฉียงกับก้านตา สันตามลำตัวสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ สันกลางเปลือกหัวมีลักษณะเช่นเดียวกับชนิด O. interrupta (Kemp) กรียาวปลายโค้งมน ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๖ อัน ขอบบนปล้องขาปล้องที่ ๖ มีแผงหนามเล็ก ๆ สันด้านหลังของปล้องขาปล้องที่ ๕ เรียบ ด้านหลังปล้องท้องปล้องที่ ๒ มีแถบสีเทาอมเขียวจาง ๆ พาดขวางตรงกลางปล้องค่อนไปทางด้านหน้า ขอบหน้าของเปลือกหัวสั้นกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวเปลือกหัว หลังปลีหางมีแถบยาวสีจาง ๆ อมขาวจากโคนมาถึงกึ่งกลางปลีหาง ๒ แถบ ปล้องปลายแพนนอกของแพนหางมีแถบสีดำพาดตามยาวทางขอบด้านในมาเกือบถึงปลายปล้อง ปลายปล้องปลายแพนในของแพนหางมีสีเหลืองสดใกล้โคนสีอ่อนกว่า
               ๑.๒.๒ สกุล Clorida หนามขอบข้างปล้องอกปล้องที่ ๕-๗ มีปลายไม่แยกเป็นแฉก ตาเล็ก ก้านตามักโป่ง สันทางด้านหลังของส่วนท้องตามความยาวลำตัวมีจำนวนน้อย โดยทั่วไปมี ๒-๔ สัน ปลายหนามเคียงกลางปลีหางขยับได้ ด้านหลังปลีหางทั้ง ๒ ข้างมีตุ่มหรือสันเรียงเป็นลวดลายหรือกระจาย ชนิดที่พบมีไม่น้อยกว่า ๑๐ ชนิดดังนี้
                    (๑) ชนิด Clorida clorida (Brooks) ยาว ๑๙-๖๗ มิลลิเมตร กรีสั้น กว้างมากกว่ายาว เปลือกหัวมีหนามแหลมที่มุมหน้าด้านข้าง ๑ อัน ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๕ อัน ขอบด้านนอกของปล้องขาปล้องที่ ๗ เรียบ หนามขอบข้างปล้องอกปล้องที่ ๕ ชี้ไปทางด้านข้าง ปล้องท้องปล้องที่ ๑-๖ ไม่มีสันเคียงกลางตัว มีสันท้ายรูก้น (post-anal keel)
                    (๒) ชนิด Clorida fallax (Bouvier) ยาว ๒๘-๕๑ มิลลิเมตร กรีรูปคล้ายสามเหลี่ยมปลายมน เปลือกหัวมีหนามแหลมที่มุมหน้าด้านข้าง ๑ อัน ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๔ อัน หนามขอบข้างปล้องอกปล้องที่ ๕ มีปลายชี้ไปทางด้านหน้า ปล้องท้องปล้องที่ ๔-๖ มีสันเคียงกลางตัว และมีสันท้ายรูก้น
                    (๓) ชนิด Clorida merguiensis (Tiwari et Biswas) ยาว ๔๐-๕๙ มิลลิเมตร กรีรูปคล้ายสามเหลี่ยมปลายมน เปลือกหัวมีหนามแหลมที่มุมหน้าด้านข้าง ๑ อัน ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๕ อัน หนามขอบข้างปล้องอกปล้องที่ ๕ มีปลายชี้ไปทางด้านหน้า ปล้องท้องปล้องที่ ๑-๔ ไม่มีสันเคียงกลางตัว มีสันท้ายรูก้นเห็นได้ชัด
                    (๔) ชนิด Clorida malaccensis Manning ยาว ๗๐-๑๐๐ มิลลิเมตร กรีรูปคล้ายสามเหลี่ยมค่อนข้างยาวปลายมน เปลือกหัวมีหนามแหลมที่มุมหน้าด้านข้าง ๑ อัน ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๕ อัน บริเวณโคนขอบด้านนอกของปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกยื่นโป่งเป็นพูคล้ายรูปสามเหลี่ยม ปล้องท้องปล้องที่ ๑-๕ ไม่มีสันเคียงกลางตัว
                    (๕) ชนิด Clorida latispina Manning ยาว ๗๙-๑๐๓ มิลลิเมตร กรีสั้น รูปคล้ายสามเหลี่ยมปลายมน เปลือกหัวมีหนามแหลมที่มุมหน้าด้านข้าง ๑ อัน ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๕ อัน หนามขอบข้างปล้องอกปล้องที่ ๖ และ ๗ มีปลายชี้ไปทางด้านท้ายลำตัว ปล้องท้องปล้องที่ ๑-๖ มีสันเคียงกลางตัว
                    (๖) ชนิด Clorida pelamidae Blumstein ยาวประมาณ ๗๒ มิลลิเมตร กรีสั้นรูปคล้ายสามเหลี่ยมปลายมน เปลือกหัวมีหนามแหลมที่มุมหน้าด้านข้าง ๑ อัน ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๔ อัน หนามขอบข้างปล้องอกปล้องที่ ๖ และ ๗ มีปลายชี้ไปทางด้านท้ายลำตัว ปล้องท้องปล้องที่ ๑-๕ ไม่มีสันเคียงกลางตัว
                    (๗) ชนิด Clorida microphthalma (H. Milne-Edwards) ยาว ๓๘-๗๕ มิลลิเมตร กรีรูปค่อนไปทางสามเหลี่ยมด้านเท่า เปลือกหัวมีหนามที่มุมหน้าด้านข้าง ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๕ อัน ขอบด้านนอกของปล้องขาปล้องที่ ๗ เรียบ หนามขอบข้างปล้องอกปล้องที่ ๕ ชี้ไปทางด้านข้าง ปล้องท้องปล้องที่ ๑-๕ ไม่มีสันเคียงกลางตัว
                    (๘) ชนิด Clorida latreillei (Eydoux et Souleyet) ยาว ๔๕-๗๐ มิลลิเมตร กรีรูปค่อนไปทางสามเหลี่ยมด้านเท่าปลายมน เปลือกหัวมีหนามที่มุมหน้าด้านข้าง ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๕ อัน ปล้องอกปล้องที่ ๖ และ ๗ ไม่มีหนามขอบข้าง ปล้องท้องปล้องที่ ๑-๖ มีสันเคียงกลางตัว
                    (๙) ชนิด Clorida decorata (Wood-Mason) ยาว ๖๑-๑๐๔ มิลลิเมตร กรีรูปค่อนไปทางสามเหลี่ยมด้านเท่าปลายมน เปลือกหัวมีหนามที่มุมหน้าด้านข้าง ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๕ อัน ปล้องอกปล้องที่ ๖ และ ๗ ไม่มีหนามขอบข้าง ปล้องท้องปล้องที่ ๑-๖ มีสันเคียงกลางตัว มีสันท้ายรูก้นและมีตุ่มเล็ก ๆ เรียงเป็นแถวหลายแถวจากปลายปลีหางมาเกือบถึงบริเวณกึ่งกลางทั้ง ๒ ข้าง
                    (๑๐) ชนิด Clorida rotundicauda (Miers) ยาว ๕๐-๙๐ มิลลิเมตร กรีสั้นรูปคล้ายสามเหลี่ยมหน้าจั่วที่มีฐานกว้างกว่าด้านข้างเล็กน้อย กั้งตั๊กแตนชนิดนี้มีลักษณะเปลือกหัวแตกต่างไปจากชนิดอื่น ๆ ข้างต้น คือ เปลือกหัวไม่มีหนามที่มุมหน้าด้านข้าง ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๕ อัน ปล้องท้องปล้องที่ ๑-๕ มีสันเคียงกลางตัว
               ๑.๒.๓ สกุล Cloridopsis หนามขอบข้างปล้องอกปล้องที่ ๕-๗ มีปลายไม่แยกเป็นแฉก หนามปล้องอกปล้องที่ ๕ โค้งและมีปลายแหลม ตาโตกว่าก้านตาเล็กน้อย ปลายหนามเคียงกลางปลีหางขยับไม่ได้ มีสันทางด้านหลังของส่วนท้องตามความยาวลำตัวโดยทั่วไป ๖ สัน ด้านหลังของปลีหางไม่มีตุ่มหรือสันเรียงเป็นลวดลาย ชนิดที่พบมีไม่น้อยกว่า ๓ ชนิดดังนี้
                    (๑) ชนิด Cloridopsis scorpio (Latreille) ยาว ๔๑-๘๘ มิลลิเมตร กรีรูปค่อนไปทางสามเหลี่ยมมุมแหลมปลายมน มีสันจากปลายมาถึงประมาณกึ่งกลางกรี สันข้างเปลือกหัวไม่ยาวตลอดเปลือกหัว คือ ทอดยาวจากด้านหน้าเลยกึ่งกลางของเปลือกหัวเล็กน้อย ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๕ อัน ขอบหน้าด้านข้างปล้องอกปล้องที่ ๕ มีจุดดำใหญ่ข้างละจุด ด้านหลังปล้องท้องปล้องที่ ๒ มีปื้นหรือแถบสีดำเล็ก ๆ พาดขวางค่อนไปทางด้านหน้าของปล้อง สันของส่วนท้องสีน้ำตาลอมแดง ปล้องกลางแพนนอกของแพนหางมีปลายเป็นปื้นสีดำประมาณครึ่งหนึ่งของปล้อง
                    (๒) ชนิด Cloridopsis immaculate (Kemp) ยาว ๓๓-๗๐ มิลลิเมตร กรีเกือบเป็นรูปทรงกระบอกปลายมนกว้างเกือบเท่ากับโคน สันด้านข้างเปลือกหัวยาวตลอด ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๕ อัน ขอบหน้าด้านข้างปล้องอกปล้องที่ ๕ มีปื้นสีจางกว่าชนิด C. scorpio (Latreille) หรือไม่มีเลย แพนนอกของแพนหางมีสีคล้ายคลึงกับชนิดที่กล่าวมาแล้ว
                    (๓) ชนิด Cloridopsis bengalensis (Tiwari et Biswas) ยาวประมาณ ๑๒๐ มิลลิเมตร กรีมีลักษณะคล้ายคลึงกับชนิด C. immaculata (Kemp) สันด้านข้างเปลือกหัวยาวตลอด ขอบหน้าด้านข้างปล้องอกปล้องที่ ๕ ไม่มีปื้นสีดำ ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๖ อัน แพนนอกของแพนหางมีสีคล้ายคลึงกับชนิด C. scorpio (Latreille)
               ๑.๒.๔ สกุล Carinosquilla หนามขอบข้างปล้องอกปล้องที่ ๕-๗ มีปลายแยกเป็น ๒ แฉก ตาโตกว่าก้านตา สันตามยาวเปลือกหัวและลำตัวมีจำนวนมากทำให้มองคล้ายลายไปทั้งตัว เปลือกหัวและเปลือกตัวไม่มีสันเป็นตาข่ายคล้ายสี่เหลี่ยม ชนิดที่พบมีไม่น้อยกว่า ๔ ชนิดดังนี้
                    (๑) ชนิด Carinosquilla multicarinata (White) ยาว ๖๕-๘๕ มิลลิเมตร กรียาวรูปค่อนไปทางสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายมน สันตามยาวเปลือกหัวและลำตัวยาวตลอดและเรียงเป็น ระเบียบ ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๕ อัน ด้านหลังปล้องท้องปล้องที่ ๒ มีปื้นสีดำเป็นวง ๒ วงอยู่ทางด้านหน้าของปล้อง และด้านหลังปล้องท้องปล้องที่ ๕ มีปื้นสีดำเป็นวง ๒ วงอยู่ทางด้านท้ายของปล้อง ปล้องปลายแพนนอกของแพนหางมีปื้นสีดำเป็นวงยาวรีตลอดทั้งปล้อง

 


                    (๒) ชนิด Carinosquilla carinata (Serène) ยาว ๗๐-๑๐๕ มิลลิเมตร กรียาวรูปค่อนไปทางสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีสันกลางกรียาวตลอด สันตามยาวเปลือกหัวและลำตัวบางสันไม่ยาวตลอดทำให้ดูเป็นระเบียบ ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๖ อัน ปล้องท้องไม่มีปื้น ปล้องปลายแพนนอกของแพนหางมีปื้นสีดำบริเวณโคนไม่ตลอดถึงปลายปล้อง ปล้องถัดมามีปลายเป็นปื้นสีดำ
                    (๓) ชนิด Carinosquilla lirata (Kemp et Chopra) ยาว ๗๐-๘๐ มิลลิเมตร กรีเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายมน มีสันกลางกรียาวตลอดและมีตุ่มหรือสันเล็ก ๆ ขนาบข้าง สันตามยาวเปลือกหัวและลำตัวไม่เป็นระเบียบ ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๖ อัน ปล้องท้องไม่มีปื้น ใกล้โคนปลีหางมีจุดค่อนข้างกลมสีน้ำตาลแก่จนเกือบดำและมีวงสีขาวล้อมรอบ ปล้องปลายแพนนอกของแพนหางมีแถบสีดำพาดตามยาวบริเวณขอบในของปล้อง
                    (๔) ชนิด Carinosquilla thailandensis Naiyanetr ยาว ๑๔๐-๑๕๐ มิลลิเมตร รูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกับชนิด C. multicarinata (White) มาก ส่วนที่แตกต่างกันคือ มีสันเล็ก ๆ ขนาบข้างสันกลางกรี ปล้องที่ ๔ ของขาก้ามฉกมีลายนูนหยักคล้ายตัวหนอน สีของปื้นที่ด้านหลังปล้องท้องปล้องที่ ๒ และ ๕ มีสีจางกว่า ปล้องปลายแพนนอกของแพนหางมีปื้นสีดำบริเวณโคนเฉียงขึ้นมาประมาณครึ่งหนึ่งของปล้อง ปลายของปล้องถัดมามีสีเดียวกัน (ชนิดนี้ปัจจุบันพบเฉพาะบริเวณเกาะไผ่ จังหวัดชลบุรี)
               ๑.๒.๕ สกุล Lophosquilla หนามขอบข้างปล้องอกปล้องที่ ๕-๗ มีปลายแยกเป็น ๒ แฉก ตาโตกว่าก้านตา เปลือกหัวและเปลือกตัวไม่มีสันเป็นตาข่ายคล้ายสี่เหลี่ยม สันตามยาวของเปลือกหัวมีไม่เกิน ๗ สัน สันตามด้านหลังของส่วนท้องมีมากกว่า ๘ สัน ชนิดที่พบมีเพียงชนิดเดียว คือ ชนิด L. tiwarii Blumstein
                    ชนิด Lophosquilla tiwarii Blumstein ยาว ๔๑-๖๐ มิลลิเมตร กรียาว รูปค่อนไปทางสี่เหลี่ยมคางหมู สันตามยาวเปลือกหัวและลำตัวเรียงเป็นระเบียบ เปลือกหัวเรียวแคบไปทางด้านหน้า ขอบหน้าสั้นกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวเปลือกหัวและมีตุ่มเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไป ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๖ อัน ด้านหลังปล้องท้องปล้องที่ ๒ มีปื้นเล็ก ๆ สีเข้มอยู่ใกล้ขอบหน้าของปล้อง ๒ ปื้น และปล้องท้องปล้องที่ ๕ มีปื้นเล็ก ๆ สีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำอยู่บริเวณขอบท้ายของปล้อง ๒ ปื้น ปล้องปลายแพนนอกของแพนหางมีขอบด้านในสีน้ำตาลแก่จนเกือบดำหรือสีดำ
               ๑.๒.๖ สกุล Anchisquilla หนามขอบข้างปล้องอกปล้องที่ ๕-๗ มีปลายไม่แยกเป็นแฉก ตาโตกว่าก้านตา เปลือกหัวเรียบและมีสันเล็ก ๆ ทางด้านข้าง เปลือกลำตัวเรียบ มีสันข้างตัว ปลายหนามเคียงสันกลางปลีหางขยับไม่ได้ ด้านหลังปลีหางมีสันเป็นแถวตามยาวเห็นเป็นลวดลาย ชนิดที่พบมีเพียงชนิดเดียว คือ ชนิด A. fasciata (De Haan)

 


                    ชนิด Anchisquilla fasciata (De Haan) ยาว ๖๐-๘๕ มิลลิเมตร เปลือกหัวและลำตัวสีค่อนไปทางสีเขียวหรือชมพูอมม่วง กรีสั้นรูปค่อนไปทางสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๕ อัน ด้านหลังปล้องท้องไม่มีปื้น ปลีหางมีลวดลายสีค่อนข้างเขียว ปล้องปลายแพนนอกของแพนหางสีเทาอมฟ้า ปล้องถัดมามีสีเดียวกันเกือบถึงโคนปล้อง
               ๑.๒.๗ สกุล Dictyosquilla หนามขอบข้างปล้องอกปล้องที่ ๕-๗ มีปลายแยกเป็น ๒ แฉก ตาเล็กกว่าก้านตา ก้านตาโป่ง เปลือกหัวและเปลือกตัวมีสันเป็นตาข่ายคล้ายสี่เหลี่ยม ชนิดที่พบมีเพียงชนิดเดียว คือ ชนิด D. foveolata (Wood-Mason)
                    ชนิด Dictyosquilla foveolata (Wood-Mason) ยาว ๔๖-๘๓ มิลลิเมตร กรีค่อนไปทางสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตาเล็กกว่าก้านตา ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๖ อัน ด้านหลังปล้องท้องไม่มีปื้น มีแถบสีขาว ๒ ข้างของลำตัวจากบริเวณโคนเปลือกหัวไปถึงบริเวณอกและท้อง มีสันท้ายรูก้น แพนนอกของแพนหางสีน้ำตาลแก่จนเกือบดำหรือสีดำจากปล้องปลายจนเกือบถึงโคนของแพนหาง
               ๑.๒.๘ สกุล Levisquilla หนามขอบข้างปล้องอกปล้องที่ ๕-๗ มีปลายไม่แยกเป็นแฉก ส่วนใหญ่ตาเล็กกว่าก้านตา ก้านตาไม่โป่ง เกล็ดตา (ocular scale) แยกแต่ละข้างของตา ลำตัวไม่มีสันกลางและสันเคียงกลางตัว ปลายหนามเคียงกลางปลีหางขยับได้ ด้านหลังปลีหางเรียบ ชนิดที่พบมีเพียงชนิดเดียว คือ ชนิด L. inermis (Manning)
                    ชนิด Levisquilla inermis (Manning) ยาวประมาณ ๓๑ มิลลิเมตร กรีรูปค่อนไปทางสามเหลี่ยมหน้าจั่วปลายมน เปลือกหัวและเปลือกตัวเรียบ ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๖ อัน ด้านหลังปล้องท้องไม่มีปื้น
     ๒. Superfamily Lysiosquilloidea มี ๒ วงศ์ คือ
          ๒.๑ วงศ์ Lysiosquillidae มี ๒ สกุล คือ
               ๒.๑.๑ สกุล Lysiosquilloides ปลายหนามเคียงกลางปลีหางขยับได้ ชนิดที่พบมีเพียงชนิดเดียว คือ ชนิด L. siamensis (Naiyanetr)
                    ชนิด Lysiosquilloides siamensis (Naiyanetr) ยาว ๑๐๒-๑๕๕ มิลลิเมตร กรีลาดลึกจากบริเวณกลางกรีไปถึงปลาย ด้านล่างปล้องอกปล้องที่ ๘ มีสันกลางรูปคล้าย สี่เหลี่ยมมุมมน ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๗-๘ อัน มีลายสีน้ำตาลแก่จนเกือบดำสลับสีเหลืองพาดตามขวางจากเปลือกหัวตลอดถึงปลีหาง รวมทั้งรยางค์ต่าง ๆ ตั้งแต่ขาก้ามฉก จนถึงแพนนอกและแพนในของแพนหาง
               ๒.๑.๒ สกุล Lysiosquilla ลำตัวมีแถบสีน้ำตาลแก่หรือน้ำตาลอมดำสลับสีเหลืองพาดตามขวางจากเปลือกหัวมาถึงปลีหาง ทำให้มองดูคล้ายลายเสือ ปลายหนามเคียงกลางปลีหางขยับไม่ได้ ชนิดที่พบมี ๒ ชนิด ได้แก่
                    (๑) ชนิด Lysiosquilla maculata (Fabricius) ยาว ๒๖-๒๘๕ มิลลิเมตร กรีนูนมีปลายยื่นออกไปเล็กน้อย ด้านล่างปล้องอกปล้องที่ ๘ มีสันกลางรูปค่อนข้างกลม ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๗-๘ อัน
                    (๒) ชนิด Lysiosquilla tredecimdentata Holthius ยาว ๗๒-๒๕๙ มิลลิเมตร กรีมีสันกลาง ด้านล่างปล้องอกปล้องที่ ๘ มีปลายแหลมไปทางด้านท้ายของสัน ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๑๐-๑๓ อัน
          ๒.๒ วงศ์ Nannosquillidae มี ๑ สกุล คือ
               สกุล Acanthosquilla ลำตัวมีแถบสีเข้มสลับสีอ่อนกว่าตามขวางตั้งแต่หัวจดปลีหาง ปลีหางรูปครึ่งวงกลม ด้านบนของปลีหางนอกจากมีหนามตามขอบแล้วยังมีหนามใกล้ขอบด้วย ชนิดที่พบมี ๕ ชนิด คือ
               (๑) ชนิด Acanthosquilla acanthocarpus (Claus) ยาว ๑๑-๗๙ มิลลิเมตร กรีรูปคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมูปลายแหลมยื่นออกไป ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๖-๗ อัน ขอบล่างตอนโคนนูนเป็น ๒ ลอน แต่ละลอนมีขนาดใกล้เคียงกัน หนามใกล้ขอบปลีหางมี ๕ อัน ขนาดไล่เลี่ยกันยกเว้นหนามอันกลางค่อนข้างเล็ก ไม่มีหนามละเอียด
               (๒) ชนิด Acanthosquilla derijardi Manning ยาว ๒๓-๖๒ มิลลิเมตร กรีรูปคล้ายเจดีย์หรือระฆัง ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๕-๖ อัน ขอบล่างตอนโคนนูนเป็น ๒ ลอน ลอนมีขนาดต่างกันมาก หนามใกล้ขอบปลีหางมี ๕ อัน ขนาดไล่เลี่ยกันยกเว้นหนามอันกลางมีขนาดโตกว่าอันอื่น ไม่มีหนามละเอียด
               (๓) ชนิด Acanthosquilla tigrina (Nobili) กรีรูปคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมูที่มีขอบหน้าเว้าเล็กน้อยปลายแหลม ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๑๐-๑๑ อัน ขอบล่างตอนโคนเรียบ ขอบท้ายด้านล่างปล้องท้องปล้องที่ ๖ มีหนามเล็ก ๆ ตามขอบ หนามใกล้ขอบปลีหางมี ๕ อัน ขนาดไล่เลี่ยกัน ไม่มีหนามละเอียด
               (๔) ชนิด Acanthosquilla vicina (Nobili) กรีรูปคล้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีขอบหน้าเว้ามากกว่าชนิด A. tigrina (Nobili) ปลายแหลม ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๑๐-๑๑ อัน ขอบล่างตอนโคนเรียบ ขอบท้ายด้านล่างปล้องท้องปล้องที่ ๖ โค้งเรียบไม่มีหนามตามขอบ หนามใกล้ขอบปลีหางมี ๕ อัน ขนาดไล่เลี่ยกันยกเว้นหนามอันกลางมีขนาดโตกว่าอันอื่น ไม่มีหนามละเอียด
               (๕) ชนิด Acanthosquilla sirindhorn Naiyanetr ยาว ๖๘-๗๓ มิลลิเมตร กรีรูปคล้ายระฆังค่อนข้างยาวปลายแหลม ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๕ อัน ขอบล่างตอนโคนนูนเป็น ๒ ลอน ลอนมีขนาดต่างกันมาก แต่ละลอนมีลักษณะเป็นมุมแหลม ขอบท้ายด้านล่างปล้องท้องปล้องที่ ๖ โค้งเรียบไม่มีหนามตามขอบ หนามใกล้ขอบปลีหางมี ๕ อัน ขนาดไล่เลี่ยกันยกเว้นหนามอันกลางมีขนาดโตกว่าอันอื่น มีหนามละเอียดในระหว่างหนามแต่ละอัน มีร่องระหว่างหนามเคียงกลางปลีหางและหนามเคียงข้างปลีหาง
     ๓. Superfamily Gonodactyloidea มี ๕ วงศ์ คือ
          ๓.๑ วงศ์ Gonodactylidae มี ๑ สกุล คือ
               สกุล Gonodactylus โดยทั่วไปสันกลางกรีสั้น ปล้องที่ ๖ ของขาก้ามฉกมีปลายยื่น ส่วนปลายไม่ต่อกับปล้องที่ ๗ ซึ่งมีโคนโป่ง มีหนามละเอียดเคียงข้างปลีหางข้างละไม่เกิน ๒ อัน มี ๗ ชนิด คือ
               (๑) ชนิด Gonodactylus mutatus Lanchester ยาวประมาณ ๔๐ มิลลิเมตร เกล็ดตาเล็กรูปร่างมนรี กรียาวไล่เลี่ยกับความกว้าง ปลายกรีค่อนข้างสั้น มุมข้างด้านหน้าของกรีมีปลายกว้างและมน ด้านหลังปลีหางมีสันนูน ๕ สัน
               (๒) ชนิด Gonodactylus ternatensis De Man ยาว ๕๐-๕๗ มิลลิเมตร เกล็ด ตาเล็กรูปร่างมนรี กรียาว สันกลางกรีค่อนข้างยาว มุมข้างด้านหน้าของกรีมน ด้านหลังปลีหางมีสันบาง ๆ ๕ สัน
               (๓) ชนิด Gonodactylus affinis De Man ยาวประมาณ ๓๕ มิลลิเมตร เกล็ดตา เล็กมากรูปคล้ายสี่เหลี่ยม กรีกว้าง มุมข้างด้านหน้าของกรีมีปลายมน ด้านหลังปลีหางมีสันนูน ๓ สัน
               (๔) ชนิด Gonodactylus viridis Serène ยาว ๔๕-๕๕ มิลลิเมตร เกล็ดตาเล็กมากรูปคล้ายสามเหลี่ยม มุมข้างด้านหน้าของกรีมีปลายกว้างและมน ด้านหลังปลีหางมีสันนูน ๓ สัน
               (๕) ชนิด Gonodactylus smithii Pocock ยาวประมาณ ๗๐ มิลลิเมตร เกล็ดตาใหญ่ลักษณะคล้ายสี่เหลี่ยม มุมข้างด้านหน้าของกรีมีปลายแหลม ด้านหลังปลีหางมีสันบาง ๆ ๓ สัน หนามตามขอบปลีหางมีปลายค่อนข้างแหลม
               (๖) ชนิด Gonodactylus platysoma Wood-Mason ยาวประมาณ ๙๐ มิลลิเมตร เกล็ดตาใหญ่ลักษณะคล้ายสี่เหลี่ยม มุมข้างด้านหน้าของกรีมน ด้านหลังปลีหางมีสันนูน ๓ สัน สันกลางโตกว่าสันอื่น ๆ ปลายไม่มีติ่ง หนามตามขอบปลีหางมีปลายทู่ ไม่มีหนามข้างปลีหาง
               (๗) ชนิด Gonodactylus chiragra (Fabricius) ยาวประมาณ ๑๐๐ มิลลิเมตร เกล็ดตาใหญ่ลักษณะคล้ายสี่เหลี่ยม มุมข้างด้านหน้าของกรีมน ด้านหลังปลีหางมีสันนูน ๓ สัน สันกลางโตกว่าสันอื่น ๆ และมีติ่ง ๒ ข้างที่ปลายคล้ายสมอเรือ หนามตามขอบปลีหางมีปลายทู่ มีหนามข้างปลีหางข้างละอัน
          ๓.๒ วงศ์ Odontodactylidae มี ๑ สกุล คือ
               สกุล Odontodactylus ลำตัวค่อนข้างโค้งมนเป็นรูปครึ่งวงกลม ตาค่อนข้างโตไม่เเบ่งเป็น ๒ ลอนและอยู่เฉียงกับก้านตา ไม่มีสันกลางกรี ขาก้ามฉกค่อนข้างสั้น ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีโคนโป่งเห็นได้ชัด ปล้องที่ ๖ มีปลายยื่น ส่วนปลายไม่ต่อกับปล้องที่ ๗ ปล้องท้องไม่มีสัน ยกเว้นปล้องท้องปล้องที่ ๖ มีสันกลางและสันเคียงปลีหาง หนามแพนนอกค่อนข้างยาว มี ๓ ชนิด คือ
               (๑) ชนิด Odontodactylus cultrifer (White) ยาวประมาณ ๑๑๐ มิลลิเมตร กรีรูปคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู ปลายบางและงุ้มลง ขอบปลายมีร่องเป็นลอน ขอบข้างเว้าเล็กน้อย ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๒-๔ อัน โดยทั่วไปมี ๓ อัน ด้านหลังปลีหางมีสัน ๕ สัน หนามปลีหางค่อนข้างยาวแหลม หนามกลางปลีหางมีลักษณะเป็นแผ่นบางรูปคล้ายใบไม้อยู่ในแนวตั้งฉากกับปลีหาง
               (๒) ชนิด Odontodactylus scyllarus (Linn.) ยาวประมาณ ๑๗๐ มิลลิเมตร กรี รูปคล้ายสามเหลี่ยมปลายแหลม ขอบข้างโค้งออกเล็กน้อย ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนาม ๒-๓ อัน โดยทั่วไปมี ๓ อัน ด้านหลังปลีหางมีสันนูน ๓ สัน หนามปลีหางค่อนข้างสั้น
               (๓) ชนิด Odontodactylus japonicus (De Haan) ยาวประมาณ ๑๕๐ มิลลิเมตร กรีรูปคล้ายใบโพ ปลายงุ้มลง ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีหนามขนาดเล็ก ๕-๘ อัน โดยทั่วไปมี ๖-๗ อัน ด้านหลังปลีหางมีสัน ๕ สัน หนามปลีหางค่อนข้างสั้น หนามเคียงกลางปลีหางนูนสูงขึ้น
          ๓.๓ วงศ์ Protosquillidae มี ๑ สกุล คือ
               สกุล Haptosquilla กรีรูปคล้ายสามง่าม มุมข้างด้านหน้าของเปลือกหัวยื่นไม่ถึงโคนกรี ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีโคนโป่ง ปลายปล้องที่ ๖ ยื่นเลยโคนปล้องที่ ๗ บริเวณรอยต่อปล้องท้องปล้องที่ ๖ เชื่อมเป็นชิ้นเดียวกับปลีหางทำให้ท้องกับปลีหางขยับไปพร้อมกัน ชนิดที่พบได้แก่ ชนิด H. glyptocercus (Wood-Mason)
               ชนิด Haptosquilla glyptocercus (Wood-Mason) ยาวประมาณ ๓๕ มิลลิเมตร ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกมีโคนโป่งนูนปลายแหลม ไม่มีหนาม ปล้องที่ ๖ รูปคล้ายทรงกระบอกไม่โป่งนูน ปล้องที่ ๔ โตกว่าปล้องอื่น ๆ ปลีหางมีร่องตรงกลาง แบ่งปลีหางออกเป็น ๒ แฉก ปลายปลีหางแต่ละแฉกค่อนข้างมน ด้านหลังมีลายหยักรูปคล้ายใบไม้
          ๓.๔ วงศ์ Pseudosquillidae มี ๑ สกุล คือ
               สกุล Pseudosquilla กรีรูปไข่ปลายโค้งเรียบ ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกตอนโคนไม่โป่ง มีหนาม ๓ อัน ปลายปล้องที่ ๖ ยื่นยาวพอดีกับโคนปล้องที่ ๗ โคนปลีหางมีสันข้างละ ๒ สัน สันด้านในไม่เป็นหนามและสั้นกว่าสันด้านนอก ชนิดที่พบมีเพียงชนิดเดียวคือ ชนิด P. ciliata (Fabricius)
               ชนิด Pseudosquilla ciliata (Fabricius) ยาวประมาณ ๙๖ มิลลิเมตร ตามีขนาด ไล่เลี่ยกับก้านตาและอยู่เฉียงกับก้านตา กรีโค้งรูปร่างเกือบกลม ปล้องที่ ๗ ของขาก้ามฉกเรียวเล็ก มีหนาม ๓ อัน ปล้องที่ ๖ ค่อนข้างยาวโตกว่าปล้องที่ ๗ เล็กน้อย ปล้องท้องปล้องที่ ๑-๕ ไม่มีสัน มีสันบาง ๆ ตรงกลางปลีหาง ด้านหลังปลีหางมีสัน ๓-๔ สันขนาบแต่ละข้าง ไม่มีหนามละเอียดตลอดปลีหาง
          ๓.๕ วงศ์ Eurysquillidae มี ๒ สกุล คือ
               ๓.๕.๑ สกุล Coronidopsis กรีรูปคล้ายสี่เหลี่ยมแต่มีปลายแหลมแยกเป็น ๒ แฉก ขอบหน้าของแฉกกว้างและเว้าลึก ขอบหลังเว้าเล็กน้อย ด้านหลังของกรีโค้งนูนเป็นลอนมองดูคล้าย ปลายปากกาหมึกซึมคู่ สันกลางปลีหางแยกเป็น ๒ แฉก ปลายปล้องท้องปล้องที่ ๖ มีหนาม สันที่โคนปลีหางมีลักษณะไม่เป็นสันแต่เป็นหนามละเอียดเล็ก ๆ ชนิดที่พบ คือ ชนิด C. bicuspis Hansen
                    ชนิด Coronidopsis bicuspis Hansen สันกลางปลีหางแยกเป็น ๒ แฉก ด้านหลังปลีหางมีหนามเล็ก ๆ อยู่เต็ม
               ๓.๕.๒ สกุล Manningia กรีอาจมีรูปคล้ายห้าเหลี่ยม รูปไข่ หรือรูปทรงกระบอกปลายแหลมของกรีไม่แยกเป็นแฉก อาจมีหนามหรือไม่มี สันกลางปลีหางไม่แยกเป็น ๒ แฉก โคนปลีหางมีสันข้างละ ๒ สัน สันด้านในมีลักษณะไม่เป็นสันแต่เป็นหนาม จำนวนหนามแตกต่างกันแล้วแต่ชนิด สันด้านนอกมีลักษณะเป็นสันซึ่งมีแนวยาวกว่าสันด้านใน ชนิดที่พบได้แก่ ชนิด M. pilaensis (De Man)
                    ชนิด Manningia pilaensis (De Man) กรีคล้ายรูปห้าเหลี่ยม ปลายมีหนาม บริเวณโคนหนามปลีหางเรียบไม่เป็นลอน.

 

 

 

 

ชื่อหลัก
กั้งตั๊กแตน
ชื่ออื่น ๆ
กั้ง
ชื่อสามัญ
Mantis Shrimps
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.เฉลิมวิไล ชื่นศรี
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf