กัด-ปลา

Betta splendens Regan

ชื่อวิทยาศาสตร์
Betta splendens Regan วงศ์ Belontiidae (เดิมอยู่ในวงศ์ Anabantidae)
ชื่ออื่น ๆ
ปลากัดป่า, ปลาป่า, ปลากัดลูกทุ่ง, ปลากัดลูกหม้อ, ปลากัดจีน, ปลาจีน, ปลากัดเขมร, ปลาลูกสังกะสี
ชื่อสามัญ
Siamese Fighting Fish

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก ความยาวตลอดตัวไม่เกิน ๖.๕ เซนติเมตร ไม่ปรากฏ ว่ามีการนำมาใช้เป็นอาหาร ลำตัวและครีบมักมีสีน้ำเงิน ฟ้า หรือแดงเข้ม สีเหล่านี้อาจสลับอยู่ในตัวเดียวกันและยังเหลือบสวยสด เฉพาะครีบอกโปร่งแสงและไม่เคยปรากฏว่ามีสีฉูดฉาดใด ๆ ตัวผู้เด่นกว่าตัวเมีย คือ มีนิสัยดุดัน เมื่อพบปลาตัวอื่นจะแสดงอาการต่อสู้ โดยทำตัวเกร็ง ริกรี้ แผ่กางครีบทุกส่วนเต็มที่ ขณะเดียวกันก็พยายามอ้าถ่างแผ่นปิดเหงือกทั้ง ๒ ข้างไปข้างหน้าจนเห็นคล้าย


     เป็นกะบังเนื่องจากแผ่นปิดเหงือกทั้ง ๒ ข้างมีส่วนติดกันด้วยพังผืดสีแดงจนเกือบดำทางด้านล่าง ของหัว พร้อมกับเปล่งสีจนเข้มขึ้นอีกตลอดทั้งตัวและครีบ แล้วเข้ากัดไม่ว่าจะเป็นกับตัวเมียซึ่งทำอาการได้เช่นเดียวกันแต่ด้อยกว่า หรือกับปลาอื่น ๆ ทุกขนาด เพราะมีอุปนิสัยเช่นนี้จึงได้ชื่อว่า “ปลากัด” เป็นชื่อเฉพาะไม่ซ้ำกับปลาชนิดอื่น แม้ที่จัดอยู่ในสกุลเดียวกันและพบในประเทศไทย คือ ปลากริมหัวโม่ง (Betta taeniata Regan) ที่ไม่มีนิสัยเด่นดังกล่าวและเข้าใจว่าเลี้ยงลูกในปาก แต่กลับมีปลาอีกชนิดหนึ่งในสกุลใกล้เคียง คือ ปลากริม [Trichopsis vittatus (Valenciennes)] มีรูปร่างคล้ายปลากัดและพบบ่อยกว่า มากกว่า ในแหล่งน้ำเดียวกัน จึงพบเรียกชื่อซ้ำกันว่า ปลากัดป่า แต่ไม่เด่นและน่าสนใจเท่าปลากัดแม้บางครั้งจะกัดกันบ้าง

     ปลาในสกุล Betta มีประมาณ ๑๐ ชนิด แพร่พันธุ์อยู่ในเขตเกาะบอร์เนียว สุมาตรา ชวา คาบสมุทรอินโดจีน ที่พบในประเทศไทยมีเพียง ๒ ชนิด ชนิดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีในท้องถิ่นจนถึงทั่วโลก คือ ชนิด B. splendens Regan แม้จะพบปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ในเขตอื่น ๆ รอบประเทศไทย แต่เนื่องจากในประเทศไทยมีปลาชนิดนี้ชุกชุม จึงกล่าวได้ว่าปลากัดมีศูนย์กลางการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้ประวัติที่คนไทยนำปลาชนิดนี้มาแข่งขันกัดกันจนถึงขั้นพนัน ก็สามารถสืบสาวได้ว่าได้ทำกันมานานหลายร้อยปีแล้ว ทั้งยังมีการคัดเลือกเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย ปลากัดที่รู้จักกันจึงมีรูปร่าง สัดส่วน และสีสันแตกต่างลดหลั่นกันมาก ประมาณ ๕๐ ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้มีการนำปลากัดไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงามจนทั่วโลก และแพร่หลายมากกว่าการเลี้ยงเป็นพันธุ์เพื่อใช้ต่อสู้กันอย่างในท้องถิ่น
     เนื่องจากปลากัดได้รับความนิยมจนมีการเพาะเลี้ยงคัดเลือกพันธุ์ในท้องถิ่นกันมาหลายชั่วคน ปลาเลี้ยงจึงแพร่ลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติมานานแล้ว ทำให้เกิดมีปัญหาอยู่เสมอว่า ปลาชนิดนี้มีรูปร่างดั้งเดิมตามธรรมชาติเป็นอย่างไร เพราะเมื่อมีการยกรูปพรรณขึ้นเพื่อตั้งชื่อวิทยาศาสตร์กันใน พ.ศ. ๒๔๕๓ ตัวอย่างที่ใช้เป็นต้นแบบเป็นปลาที่ได้ไปจากเขตเลี้ยงในกรุงเทพมหานคร และก็เป็น ที่รู้กันว่าปลากัดที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติมีขนาดเล็กกว่าคือ ตัวผู้ยาวเต็มที่เพียง ๕ เซนติเมตร และ ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าอีกเล็กน้อย ส่วนปลากัดที่ได้จากการเพาะเลี้ยงมีลำตัวเป็นสัดส่วนที่ป้อมกว่า ตัวผู้ยาวถึง ๖.๕ เซนติเมตร
     ในธรรมชาติปลากัดอยู่ในน้ำจืดสนิท ซึ่งปรกติจะเป็นบริเวณน้ำตื้นหรือตื้นมาก และเป็นน้ำใส นิ่ง สงบ หรืออาจเป็นเขตใกล้ฝั่งของสายน้ำไหลเอื่อย มีพรรณพืชน้ำที่มีใบปกผิวน้ำประปราย มีที่ว่างบนผิวน้ำและแสงแดดส่องถึงรำไร บริเวณดังกล่าวอาจอยู่ในแหล่งน้ำใหญ่เล็กทุกประเภท เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง บ่อ แอ่ง จนกระทั่งในทะเลสาบหรืออ่างเก็บน้ำทั่วไป รวมทั้งไร่ นา สวนทั่วประเทศ เพราะเหมาะที่จะใช้เป็นที่หลบซ่อนพรางตัวของมันซึ่งมีสีเด่นและยังสะท้อนแสง เล็กน้อย นอกเหนือจากเป็นที่เหมาะสำหรับสร้างหวอดให้คงทนไว้สำหรับการวางไข่และเลี้ยงดูลูกปลา หลายครั้งอาจพบอยู่ในแหล่งน้ำเขตภูเขา เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในที่เหล่านี้มีอาหาร คือ สัตว์เล็ก ๆ และตัวอ่อนของแมลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกน้ำชุกชุม
     ลำตัวของปลากัดพอสังเกตได้ชัดว่าแบนข้าง หัวเล็ก หลิม และเชิดขึ้นเล็กน้อยไปทางด้านปาก ปากมีขนาดไม่กว้างนักจึงช่วยในการกินอาหารขนาดเล็กที่อยู่บริเวณผิวน้ำและการพ่นหวอด สร้างรัง รวมทั้งการฮุบอากาศที่ผิวน้ำและการฮุบไข่ตลอดจนลูกของมันเพื่อนำกลับรัง ปลากัดมีคอดหางกว้างมากแต่ก็ยังแคบกว่าบริเวณกลางลำตัว แนวสันหลังโค้งมากกว่าแนวสันท้อง มีเกล็ดคลุมตัวและหัวเป็นแบบเกล็ดหนามลักษณะสากมือ ไม่ปรากฏว่ามีเส้นข้างตัวเด่นชัดแต่อาจเห็นเป็นเส้นเลือนรางอยู่ตอนหน้าตรงบริเวณถัดจากมุมบนของแผ่นปิดเหงือก จัดเป็นปลาขนาดเล็กเมื่อเทียบกับปลาอื่น ๆ ที่มีอวัยวะพิเศษใช้ช่วยหายใจที่บริเวณเหนือเหงือก ทำนองเดียวกันกับปลาช่อน ปลาชะโด ซึ่งอยู่ในวงศ์ Channidae ปลาหมอในวงศ์ Anabantidae หรือ ปลาสลิด ปลากระดี่ และปลากริมซึ่งอยู่ในวงศ์ Belontiidae ด้วยกัน สำหรับปลากริม [Trichopsis vittatus (Valenciennes)] ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก มีข้อแตกต่างตรงที่กระดูกหน้าเบ้าตาของปลากัดมีขอบเรียบ ส่วนของปลากริมเป็นจักฟันเลื่อย และครีบหลังของปลากัดซึ่งอยู่ตรงข้ามเหนือแนวกลางครีบก้นมีก้านครีบแข็งอยู่ตอนหน้าเพียง ๑ ก้าน ตามด้วยก้านครีบแขนงอีก ๗-๙ ก้าน และขอบครีบด้านบนไม่ยื่นเป็นยอดแหลมอย่างปลากริม นอกจากนั้นปลากัดยังมีก้านครีบแข็งตอนหน้าครีบก้นเพียง ๒-๔ ก้านเท่านั้น ตามด้วยก้านครีบแขนงอีก ๒๑-๒๔ ก้าน ฐานครีบก้นจึงยาวมากโดยเริ่มจากครีบท้องไปสุดที่โคนครีบหาง แต่ในปลากริมมีก้านครีบแข็ง ๔-๘ ก้าน ตามด้วยก้านครีบแขนงอีก ๒๔-๒๘ ก้าน ครีบหางของปลากัดเป็นรูปพัด ไม่ยาวแหลมอย่างในปลากริม ครีบอกเป็นรูปพัดเช่นเดียวกันแต่มีขนาดเล็กที่สุดเมื่อเทียบกับครีบอื่น ๆ ส่วนครีบท้องมีขนาดยาวและกว้างกว่าคือ ไม่เป็นเส้นอย่างปลากริม ปลากัดมีสีสดสวยกว่าปลากริมอย่างเห็นได้ชัด ครีบต่าง ๆ อาจมีริ้วหรือแถบสีฟ้า หรือขาวนวล บ้างก็แดง เป็นแนวขนานกับก้านครีบ เฉพาะครีบหลังมีจุดสีดำประอยู่บริเวณโคนครีบ และไม่ปรากฏว่ามีจุดสีทึบบนลำตัวเหนือครีบอก หรือแถบสีทึบข้างลำตัว ๒-๓ แถบอย่างในปลากริม อย่างไรก็ตาม ปลากัดตัวเมียในบางขณะเช่นตื่นตกใจจะมีแถบสีทึบทำนองเดียวกันเกิดขึ้น ๒ แถบ แต่ก็จะจางหายไปเมื่อคืนสู่อาการปรกติ ปลากัดมีหลายประเภท บ้างก็เรียกกันเป็นพันธุ์ ที่สำคัญคือ ปลากัดป่า ปลาป่า หรือปลากัดลูกทุ่ง เป็นปลากัดดั้งเดิมจากแหล่งน้ำธรรมชาติ มีลำตัวบอบบาง สีหม่นค่อนไปทางเขียว มีแถบคล้ำข้างตัวในบางครั้ง ปลากัดพวกนี้มีประวัติใช้แข่งขันกันมาหลายร้อยปีจนมีการคัดเลือกเลี้ยงกันให้มีคุณสมบัติเฉพาะที่จะใช้ในการต่อสู้ ปลากัดป่ามีปากคมแต่รูปร่างไม่บึกบึนเท่าปลาที่ได้มาจากการคัดเลือกพันธุ์ สีสันก็ด้อยกว่า แต่ปลากัดป่าก็ยังเป็นที่นิยมเลี้ยงและใช้แข่งขันกันอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทั่วไปแล้วในปัจจุบันปลากัดพันธุ์นี้ไม่ได้รับความสนใจมากเท่าปลากัดพันธุ์อื่น ๆ เพราะมีลักษณะไม่สอดคล้องกับความประสงค์ที่จะเลี้ยงเพื่อความสวยงามหรือการแข่งขัน
     ส่วน ปลากัดลูกหม้อ เป็นพันธุ์ที่เลี้ยงคัดเลือกพันธุ์มาจากปลากัดป่า เมื่อประมาณ ๑๕๐ ปีมาแล้ว นิยมเลี้ยงไว้แข่งขัน โดยขุนไว้ในหม้อ ไห หรือตุ่ม บ้างก็ในบ่อลึก ต่อเนื่องกันมาหลายชั่วอายุปลาและหลายชั่วอายุคน มีคุณสมบัติหรือลักษณะพิเศษในเชิงต่อสู้โดยมีความอดทน รูปร่างล่ำสันขึ้นแต่ทะมัดทะแมง แสดงความบึกบึนและปราดเปรียวในเวลาเดียวกัน ทั้งยังมีสีสดสวยเหลือบ เข้มเป็นประกายสดใสมาก จนจัดได้ว่าเป็นปลาที่มีสีสวยที่สุดในบรรดาปลาน้ำจืดทั้งหมดของไทย ปลาพันธุ์นี้ถูกเพาะฟักขุนเลี้ยงกันในบ่อหรือภาชนะพิเศษต่อเนื่องกันมาเพื่อรักษาเอกลักษณ์ของพันธุ์ ไว้ โดยมีพื้นเพของพันธุ์และความนิยมดั้งเดิมอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผู้เลี้ยงที่มีปลากัดลูกหม้อพันธุ์ดีจะซุ่มเลี้ยงกันมาหลายชั่วคนโดยไม่ยอมให้พันธุ์โดยเฉพาะเพศเมียแก่ผู้อื่น ทั้งยังพยายามรักษาพันธุ์ไว้มิให้กลายหรือด้อยไป โดยมีการเลือกลูกปลาที่มีคุณสมบัติสมบูรณ์ที่สุดไว้ ในปัจจุบันปลากัดแปดริ้วคือปลากัดที่เพาะเลี้ยงกันในเขตจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นปลากัดลูกหม้อที่ สนใจกันมากที่สุดในระหว่างผู้เลี้ยงและผู้ค้าปลากัด
     สำหรับ ปลากัดจีน หรือ ปลาจีน ซึ่งบางคนเรียกว่า ปลากัดเขมร มีประวัติเริ่มพบเลี้ยงกันเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นปลากัดพันธุ์เดียวเท่านั้นที่มีครีบต่าง ๆ ยกเว้นครีบอกยื่นยาวเป็นพวง โดยเฉพาะครีบหางซึ่งอาจยาวพอ ๆ กับความยาวของลำตัวและหัวรวมกัน และมักมีสีเด่นเพียงสีเดียวบนพื้นลำตัวและครีบ เช่น อาจเป็นสีแดง ส้ม นวล ฟ้า หรือระหว่างสีเหล่านี้ แต่ปัจจุบันมีการพยายามคัดเลือกพันธุ์ให้มีสีแตกต่างออกไปอีกมาก ทั้งยังมีประกายเหลือบสีเงินหรือทองซึ่งจะพบเป็นปรกติ (ซึ่งสีเหล่านี้รวมทั้งสีเงินจะพบสลับกันมากน้อยต่างกันในปลากัดลูกหม้อ เฉพาะปลากัดลูกหม้อจะยังมีสีขาวอมฟ้าซึ่งมักเห็นอยู่บริเวณปลายครีบท้อง) แม้ปลากัดจีนจะมีพฤติกรรมการต่อสู้เช่นเดียวกับปลากัดพันธุ์อื่น แต่ครีบต่าง ๆ จะถูกกัดขาดได้ง่าย ในปัจจุบันปลากัดจีนเป็นพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุดในประเภทปลาสวยงามเพราะมีสีสดสวย ครีบยาวพลิ้วสวยงาม และยังคงมีคุณสมบัติในเชิงต่อสู้เพิ่มความตื่นเต้นแก่ผู้เลี้ยง ทั้งยังมีพฤติกรรมในการสร้างหวอดและแพร่พันธุ์ได้ง่าย ตลอดจนมีราคาค่อนข้างถูก ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงมากนัก จึงมีการซื้อขายกันเป็น สินค้าไปทั่วโลก ถึงกับมีสถาบันระหว่างชาติเกิดขึ้น เช่น International Anabantoids Association, International Betta Congress
     ยังมีปลากัดอีกพันธุ์หนึ่งที่เรียกกันเป็นชื่อเฉพาะว่า ปลาลูกสังกะสี ปลาพวกนี้เป็นพันธุ์ผสมระหว่างปลากัดลูกหม้อกับปลากัดป่า ปรกติสีลำตัวและครีบออกแดง รูปร่างก้ำกึ่งระหว่างปลาทั้ง ๒ พันธุ์ดังกล่าวสามารถนำมากัดแข่งกันได้ดี เข้าใจกันว่า แม้ปากหรือฟันจะไม่คมเท่าปลากัดป่า แต่พบว่าอดทนไม่แพ้ปลากัดลูกหม้อ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติในด้านความทะมัดทะแมงและสีสันตลอดจนชั้นเชิงในการต่อสู้ จึงไม่ค่อยนิยมเลี้ยงกัน และผู้ชำนาญในการเล่นปลากัดสามารถบอกความแตกต่างของปลาลูกสังกะสีกับปลากัดลูกหม้อได้โดยไม่ยากนัก
     โดยที่ปลากัดมีอวัยวะพิเศษเพื่อช่วยการหายใจดังกล่าวแล้ว ในการหายใจด้วยอวัยวะนี้ปลาจำเป็นต้องโผล่ขึ้นฮุบอากาศที่ผิวน้ำอยู่เสมอ เพราะลำพังเหงือกอย่างเดียวไม่ช่วยให้ปลาได้รับแก๊สออกซิเจนสำหรับร่างกายได้เพียงพอ และเนื่องจากเป็นปลาขนาดเล็กจึงต้องอาศัยอยู่ในเขตน้ำตื้นมาก ปรกติปลากัดจึงว่ายน้ำเชื่องช้า อ้อยอิ่งใกล้ผิวน้ำ แต่ในภาวะคับขันก็สามารถโผล่ขึ้นสู่ผิวน้ำและกลับลงน้ำลึกได้อย่างรวดเร็ว หรือเมื่อตัวผู้ขนาดเต็มวัยพบตัวเมียขนาดพอ ๆ กัน จะว่ายน้ำคึกคัก จนบางครั้งกระโดดขึ้นเหนือผิวน้ำ หรือถ้าเป็นปลาอื่นขนาดไล่เลี่ยกันก็จะว่ายน้ำลุกลนแสดงอาการต่อสู้ขับไส
     เกี่ยวเนื่องกับนิสัยและถิ่นที่อยู่อาศัยดังกล่าว ในสภาพที่เหมาะสมในทุกฤดูกาลโดยเฉพาะ ในระยะต้นฤดูฝน ปลากัดตัวผู้ที่ถึงขั้นเจริญพันธุ์และพร้อมสืบพันธุ์จะเริ่มฮุบอากาศมาพ่นเป็นฟองขนาดเล็ก แผ่เป็นแพไว้ที่ผิวน้ำติดไว้กับพืชน้ำโดยเฉพาะบริเวณส่วนขอบใบไม้ที่แช่น้ำ รูปร่างของแพไม่แน่นอนแต่มักมีขนาดของแพประมาณ ๒๐ ตารางเซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่พอจะคลุมตัวปลา ๒ ตัวได้พอดี ฟองอากาศตอนกลางของแพมักซ้อนกันหลายชั้น จนอาจมียอดสูงถึงประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร ฟองชั้นบนจะเก่ากว่าชั้นล่างและมักมีสีน้ำตาลอ่อนขมุกขมัวจนบางครั้งดูสกปรก ส่วนชั้นล่างและรอบแพมักเป็นฟองใหญ่ บรรดาฟองอากาศที่อยู่ใต้แพจะมีจำนวนหนึ่งที่จมอยู่ใต้ผิวน้ำ อากาศที่ปลาฮุบจากผิวน้ำข้างที่สร้างรังในแต่ละครั้งจะค่อย ๆ ถูกพ่นเป็นจังหวะติดต่อกันได้มากถึง ๑-๔ ฟอง ฟองใหม่มักมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ ๐.๕-๓.๐ มิลลิเมตร และฟองเก่าอาจรวมกันและ มีขนาดใหญ่กว่านี้มาก โดยเมือกในโพรงปากและหลอดคอของปลามีส่วนช่วยในการเพิ่มแรงประสานกันของฟองอากาศ อย่างไรก็ตาม ฟองอากาศที่อยู่บริเวณกลางใต้แพจะถูกคุ้มกันโดยฟองอื่น ๆ ที่อยู่รอบด้าน และเกือบจะไม่มีโอกาสเสียไป แม้จะถูกปลาใช้ครีบหลังโบกปัดทำให้เคลื่อนไหวเสมอ แพฟองอากาศหรือที่เรียกกันว่า “หวอด” นี้ คือ สิ่งที่จะเป็นรังสำหรับไข่และลูกปลานั่นเอง ขณะที่ปลาสร้างรังมักเรียกกันว่า “ก่อหวอด”
     ปลากัดตัวผู้ใช้หวอดและพฤติกรรมในขณะสร้างรังเป็นสื่อล่อตัวเมียตัวใดตัวหนึ่งซึ่งอยู่ในวัยเจริญพันธุ์และมีไข่ให้เข้ามาเคียงข้าง โดยมันจะขยับตัว กางครีบ ทำท่าลุกลน แผ่แผ่นปิดเหงือกเกร็งออกกว้าง พร้อมทั้งขับสีให้เข้มขึ้นมีลักษณะคล้ายในขณะต่อสู้ แต่ที่จริงเป็นขั้นตอนของการเกี้ยวพาราสีซึ่งจะมีส่วนกระตุ้นให้ตัวเมียมีไข่แก่โดยไข่ที่โผล่คาอยู่ที่ช่องเพศซึ่งเรียกว่า “ไข่นำ” เริ่ม มีสีเหลือง จนกระทั่งสุกและหลุดออกมาภายนอก ในขณะเดียวกันตัวผู้จะทำหน้าที่ปกป้อง ดูแลและซ่อมแซมรังอยู่เสมอ พร้อมกับขับไล่ศัตรูไปพร้อมกันด้วย แต่ก็มีบ้างที่พบว่าปลาตัวผู้และตัวเมียจับคู่กันก่อนแล้วจึงก่อหวอดโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ปรกติปลาจะซุ่มทำรังในเวลากลางคืนเพื่อเป็นการหลบหลีกศัตรู หากทำในเวลากลางวันก็มักเป็นวันที่อากาศขมุกขมัวหรือในที่มีกำบังที่เหมาะ ขณะสร้างรังปลาตัวผู้อาจหยุดพักนิ่งอยู่ใต้หวอดชั่วครู่โดยไม่มีอาการขยับเขยื้อนใด ๆ ยกเว้นการโบกพัดของครีบอก เมื่อก่อหวอดเสร็จตัวผู้จะพองตัว กางครีบ แล้วต้อนตัวเมียเข้าไปอยู่ใต้หวอด อาการนี้ยังเกิดขึ้นขณะที่สร้างหวอด พอได้โอกาสก็จะโอบรัดรอบท้องตัวเมีย อาการเช่นนี้เรียกว่า “รัดกัน” จนไข่พรูออกมาทีละน้อย แล้วติดตามฉีดน้ำอสุจิผสมไปพร้อมกัน เมื่อไข่ค่อย ๆ จมลงสู่พื้น ปลาตัวผู้หรือบางครั้งตัวเมียด้วยจะตามลงไปอ้าปากบรรจงดูดเก็บไข่ที่ ถูกผสมแล้วทีละฟองจนเต็มปาก แล้วกลับขึ้นมาพ่นออกพร้อมฟองอากาศใหม่ติดไว้ใต้หวอด ทำ ซ้ำสลับกับการโผล่ขึ้นฮุบอากาศจนเก็บไข่หมด
     การเล้าโลมโอบรัดตัวเมียจนต้องทยอยวางไข่ แล้วมันเองฉีดน้ำอสุจิผสมตามด้วยการใช้ปากดูดเก็บไข่พ่นไว้ที่หวอด รวมทั้งการผุดขึ้นฮุบอากาศ และการพ่นซ่อมแซมหรือขยายรัง จะทำต่อเนื่องกันเป็นเวลานับชั่วโมง จนกระทั่งไข่สุกของตัวเมียหมดท้อง ซึ่งจะมีจำนวน ๒๐๐-๗๐๐ ฟอง ต่อรัง หรือเฉลี่ย ๔๐๐-๕๐๐ ฟองต่อตัวเมียขนาดกลาง ๑ ตัว อย่างไรก็ตาม พ้นจาก ๑ เดือนหลังการผสมพันธุ์ครั้งหนึ่ง ๆ ตัวเมียก็สามารถให้ไข่ที่พร้อมจะผสมพันธุ์ได้อีก ฉะนั้น ในรอบปีปลาตัวเมีย ๑ ตัว จะสามารถให้ไข่ได้ถึง ๒,๕๐๐-๕,๐๐๐ ฟอง อย่างไรก็ตาม พ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุประมาณ ๑ ปี จะเป็นขนาดที่เหมาะที่จะนำมาผสมพันธุ์
     หลังการวางไข่ครั้งหนึ่ง ๆ หน้าที่ของตัวเมียซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพียงวางไข่ก็หมดลง ปลาตัวผู้จะเป็นผู้ดูแลคุ้มกันไข่ในรังแต่เพียงลำพัง ส่วนตัวเมียซึ่งกลับจะกินไข่ที่ถูกผสมแล้วและลูกอ่อนที่ จะถูกฟักในเวลาต่อมา ก็จะโดนตัวผู้ไล่ทำร้ายให้พ้นไปจากรัง ในภาวะปรกติที่อุณหภูมิของน้ำ ๒๗-๓๐ องศาเซลเซียส ไข่ที่ผสมแล้วและมีตัวผู้ดูแลใกล้ชิดจะฟักเป็นตัวภายใน ๓๐-๔๐ ชั่วโมง แต่อาจล่าจนถึง ๕ วัน การที่ตัวผู้ว่ายวนเวียนสอดส่ายคุ้มกันดูแลรัง หรือหยุดนิ่งอยู่ใต้รังโดยมี ครีบอกเท่านั้นที่ยังโบกพัดอยู่ ยังเป็นการช่วยให้น้ำในบริเวณนั้นถ่ายเทและทำให้ตะกอนหลุดไปจากรังด้วย งานเหล่านี้ปลาตัวผู้ทำได้ดีไม่มีการย่อท้อเบื่อหน่ายทั้งสิ้น การที่จะต้องมีพ่อปลาเฝ้าดูแลรัง จึงนับเป็นความจำเป็นต่อการอยู่รอดและการฟักมาก หากไม่อยู่เฝ้ารัง ไข่ทั้งหมดหรือทั้งแพจะไม่ฟักเป็นตัว ที่หลุดจากหวอดจะไม่มีอากาศหายใจ ส่วนที่ยังค้างอยู่กับหวอดจะค่อย ๆ เสียไปเพราะมีการถ่ายเทอากาศและของเสียไม่เพียงพอหรือมีศัตรูมารบกวน
     ลูกปลาที่เริ่มทยอยฟักออกเป็นตัวและเริ่มเคลื่อนไหวจะยังอาศัยติดตัวเองอยู่กับหวอดหรือใต้รัง จนกระทั่งถุงอาหารสะสมยุบไป ขณะเดียวกันครีบต่าง ๆ ก็เริ่มเกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่ลูกปลายังเล็กมาก หากพลัดห่างรังออกไป พ่อปลาจะตามไปค่อย ๆ ฮุบไว้ในปากทีละตัวแล้วนำกลับมาพ่นไว้ ใต้รังพร้อมกับฟองอากาศใหม่เพื่อช่วยในการหายใจและพยุงลูกปลาไว้ เคยมีผู้ทดลองนำลูกปลากัดขนาดไล่เลี่ยกันจากครอกอื่นปนลงไป พ่อปลาจะยอมรับเลี้ยงรวมไปเหมือนลูกของมันเอง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไม่รู้ความแตกต่าง หรืออาจยินยอมโดยไม่รู้สึกเป็นอย่างอื่น แต่ในขั้นที่ลูกปลาโตจน เกือบจะพ้นจากการอยู่ใต้รังซึ่งเป็นระยะที่พอจะช่วยตัวเองได้ หากเอาพ่อปลาออกเพียงไม่กี่วันแล้วนำกลับไปที่รังเดิมพ่อปลากลับจำไม่ได้และจะกินลูกของมันเอง ในภาวะปรกติที่พ่อปลาไม่กินไข่หรือลูกของมัน มิใช่เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของระบบทางเดินอาหารหรืออื่น ๆ อย่างที่เกิดขึ้นกับปลาบางชนิด เพราะปรากฏว่าพ่อปลายังหาอาหาร เช่น ลูกน้ำ กินตลอดเวลาที่ดูแลลูกและรัง
     ในช่วงระยะเวลา ๑๐-๑๒ วัน หลังจากที่ถุงอาหารสะสมของลูกปลายุบไปแล้ว ลูกปลา จะเริ่มช่วยตัวเองได้โดยกินไรน้ำขนาดเล็กมากซึ่งมีอยู่เสมอในแหล่งน้ำที่ลูกปลาเกิด ต่อจากนั้น ปากและระบบย่อยอาหารจะเหมาะพอที่จะกินลูกน้ำซึ่งเป็นอาหารหลักตามธรรมชาติ แม้ในการ เพาะเลี้ยงก็ค่อนข้างเข้าใจกันทั่วไปว่า อาหารที่เหมาะที่สุดสำหรับปลากัดคือ ลูกน้ำ ในชีวิตปรกติปลากัดจะกินอาหารพวกสัตว์มีชีวิตและเคลื่อนไหว แต่ในภาวะที่ไม่มีให้เลือก มันกินอาหารที่ไม่มีชีวิตหรือไม่เคลื่อนไหวด้วย แม้แต่เศษเนื้อจนกระทั่งอาหารเม็ดที่ทำขึ้นใช้เลี้ยงสัตว์
     เนื่องจากปลากัดมีอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติแทบทุกสภาพท้องถิ่นในประเทศไทย ซึ่งในที่เหล่านั้นเป็นที่อยู่อาศัยแพร่พันธุ์ของยุงหลายชนิดที่เป็นพาหะนำเชื้อโรค เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออก และโรคเท้าช้าง มาสู่คนและสัตว์เลี้ยง ฉะนั้น มันจึงเป็นสัตว์ในท้องถิ่นตามธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง ที่ช่วยในการปราบยุง และมีส่วนในการรักษาดุลทางธรรมชาติได้เป็นอย่างดี โดยที่ปลากัดชอบกินลูกน้ำเป็นอาหารหลัก และมีระบบทางเดินอาหารสั้นที่ย่อยอาหารประเภทดังกล่าวได้รวดเร็วมาก มันจึงกินได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะในเวลากลางวัน มีการศึกษาพบว่า ปลากัดป่าที่มีขนาดปานกลางสามารถกินลูกน้ำได้เฉลี่ยถึง ๑๐,๐๐๐-๑๕,๐๐๐ ตัว ในรอบ ๑ ปี
     โดยที่ปลากัดมีนิสัยดุดัน ก้าวร้าว หวงรัง และหวงลูก โดยพยายามเกร็งโก่งตัว กางครีบและแผ่นปิดเหงือก พร้อมทั้งทำสีเข้มจนเต็มที่กับสิ่งเคลื่อนไหวผิดปรกติ โดยเฉพาะกับปลาด้วยกันหรือสัตว์น้ำอื่นเป็นการเตรียมเพื่อการต่อสู้หรือแม้ขณะเกี้ยวพาราสีกัน แต่โดยทั่วไปจะมีอาการ เชื่องช้าในบางครั้ง นิสัยข่มขู่ดังกล่าวจะเริ่มแสดงเมื่อปลามีอายุได้เพียงประมาณ ๒ เดือน ซึ่งเป็นอายุที่สังเกตแยกเพศได้พอดี หากเป็นการเลี้ยงเพื่อธุรกิจจึงเป็นระยะที่จะต้องแยกเลี้ยงภาชนะละ ๑ ตัว อาการที่เกิดขึ้นเพื่อการต่อสู้เช่นนี้อาจเป็นความเครียดที่ปลากัดต้องมีอยู่เป็นประจำ กระบวนการทางสรีรวิทยาของร่างกายจึงถูกเร่งปฏิกิริยาอยู่มิได้ขาด เหล่านี้จึงอาจเป็นสาเหตุให้ปลากัดมีอายุสั้นเพียง ๑ หรือไม่เกิน ๒ ปีเท่านั้น โดยเฉพาะในปลาที่นำมากักขังไว้ในที่คับแคบ เช่น ขวดใสขนาดเล็ก แต่มันก็กลับอยู่ได้ดีทั้ง ๆ ที่เป็นการเพิ่มความดุให้แก่ปลา แต่ก็เป็นความประสงค์ของผู้เลี้ยง ทั้งยังพยายามยั่วยุมันอีกโดยการนำปลากัดต่างภาชนะกันมาประชิดกัน หรือแม้การใช้กระจกเงาสะท้อนให้มันแสดงอาการต่อสู้กับเงาของตัวเองแม้บางครั้งกับปลายนิ้วมือของผู้เลี้ยง พบกันว่าอากัปกิริยาต่อสู้ระหว่างปลากัดในกรณีเช่นว่านี้จะมีไม่หยุดหย่อน แต่จะเป็นผลให้ปลาเหนื่อยล้ามาก ฉะนั้น ผู้เลี้ยงปลาแยกขวดจำนวนมาก หากไม่สามารถตั้งที่เลี้ยงให้ห่างจากกันได้ ก็จะต้องมีสิ่งกั้นมิให้ ปลาเห็นกัน อย่างไรก็ตาม ชีวิตของปลากัดในบางสภาพ เช่น ในธรรมชาติจริง ๆ อาจมีอายุมากกว่า ๒ ปี
     เป็นที่น่าสังเกตว่า ปลากัดป่าจะแสดงนิสัยในการต่อสู้มากขึ้นเมื่อถูกนำมาเลี้ยงไว้ในที่กักขังคับแคบเพียงไม่กี่วัน ด้วยเหตุนี้ปลากัดลูกหม้อซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีชื่อเสียงในการนำมาใช้ต่อสู้กันจึงเป็นปลาที่ได้จากการคัดเลือกเลี้ยงมาในที่กักขังติดต่อกันนานหลายชั่วอายุปลาและชั่วอายุคน เป็นการเพิ่ม คุณสมบัติในเชิงต่อสู้ รวมทั้งได้ขนาดโตขึ้นและมีสีเข้มขึ้น เป็นที่รู้กันว่า หากนำปลากัดที่อยู่ในแหล่ง น้ำธรรมชาติมาต่อสู้กัน มันจะหมดสภาพการต่อสู้หลังจากเริ่มพันตูกันเพียงไม่กี่นาที แต่อาจมีบ้างบางครั้งเท่านั้นที่จะต่อสู้กันได้นานมากกว่า ๑๕-๒๐ นาที
     ประเทศไทยมีประวัติจนเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในเรื่องที่คนไทยใช้ปลามาต่อสู้กัน โดยมีปลากัดเป็นปลาสำคัญและยังมีคุณสมบัติที่น่าสนใจอื่น ๆ รวมอยู่ในตัวเดียวกันอีกด้วยดังได้กล่าวมาแล้ว ปลาชนิดอื่นที่พบว่านำมาต่อสู้กันได้ ก็คือ ปลากระทุงเหวปลากระทุงเหว (Dermogenys pusillus van Hasselt) ปลาหัวตะกั่ว [Aplocheilus panchax (Hamilton)] และปลากริม [Trichopsis vittatus (Valenciennes)] แต่เพราะปลากัดมีคุณสมบัติพิเศษมากมาย ทั้งยังหามาได้ง่าย เพาะเลี้ยงง่าย และอยู่ได้ดีในที่เลี้ยง ผู้ที่ไม่มีความเข้าใจในการเพาะเลี้ยงก็สามารถทำได้ดีแม้การคัดเลือกพันธุ์และฝึกให้ต่อสู้ อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติในการต่อสู้ก็มีความแตกต่างกันได้ในปลาจากต่างแหล่งหรือต่างครอก เช่น บ้างชอบ กัดที่โคนหาง หรือเฉพาะหัว บ้างกัดนัยน์ตา ท้อง หรือครีบ นักเลี้ยงปลากัดอาชีพจึงพยายามคัดเลือกพันธุ์เพื่อรักษาและปรับปรุงคุณสมบัติดีที่ตนสนใจไว้ แล้วเลือกนำไปต่อสู้กับปลาของผู้อื่น ซึ่งถ้าสามารถสืบรู้ปมเด่นและปมด้อยได้ ก็จะพยายามหาช่องทางหรือหลีกเลี่ยงเพื่อประโยชน์ของตน
     การคัดเลือกฟูมฟักพันธุ์ปลากัดเพื่อใช้ในการต่อสู้แข่งขันจนกระทั่งพนันกันซึ่งทำกันแพร่หลาย ในสมัยก่อนจนถึงขั้นได้เก็บภาษีอากรบ่อนเบี้ยเข้าท้องพระคลังได้เป็นจำนวนมาก มักเริ่มโดยคัดหาปลากัดตัวผู้จากฝูงปลากัดลูกหม้อขนาดอายุประมาณ ๒ เดือน ซึ่งสังเกตเพศได้แล้ว คือ เลือกตัวที่มีร่างกายสมบูรณ์ หน่วยก้านดี ทะมัดทะแมง และจะเป็นการดีมากขึ้นถ้าเป็นลูกปลาจากพ่อแม่พันธุ์ที่มีประวัติดี ได้รับการคัดเลือกเลี้ยงบำรุงพันธุ์มาหลายชั่วอายุปลา ลูกปลาดังกล่าวจะถูกนำมาแยกเลี้ยงเดี่ยวตลอดไป โดยเริ่มในภาชนะแคบ ๆ เช่น ขวด ไม่ให้มีโอกาสเห็นปลาตัวอื่น แล้วเริ่ม “ซ้อม” คือ ให้ทดลองกัดกันเพื่อตรวจดูชั้นเชิง รวมทั้งความคมของปากหรือฟัน ที่มักเรียกกันว่า “มีเขี้ยว” หากมีคุณสมบัติตามที่ต้องการก็จะนำไป “หมัก” เลี้ยงในหม้อดินขนาดเล็กที่ใส่โคลนสะอาดพร้อมใบไม้บางชนิด เช่น ใบตองแห้งที่ฉีกเป็นฝอย ว่านใบพาย หญ้าคา เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วแต่ประสบการณ์ โดยเชื่อกันว่าจะมีส่วนทำให้เกล็ดและผิวหนังลำตัว “เหนียว” จากนั้นก็จะนำมา เลี้ยงดูในขวดใสหรือโหลแก้วสี่เหลี่ยม กว้างยาวประมาณ ๑๐ เซนติเมตร และสูงประมาณ ๓๐ เซนติเมตร โดยมีส่วนฐานแคบกว่าส่วนบนและมีปากกลมที่มักเรียกกันว่า “เหลี่ยม” ในเวลากลางวัน ส่วนในเวลากลางคืนจะนำไปเลี้ยงในหม้อดิน การให้อาหารจะทำในเวลากลางวันตามกำหนดเวลาที่แน่นอนโดยตลอด ในช่วงเวลาเช้าหรือบ่ายจะเริ่มมีการนำปลามา “ไล่” หรือ “พาน” กับตัวเมียที่เลือกมาเป็น “ลูกไล่” ในโถแก้วขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มความดุดันฮึกเหิมนอกเหนือจากการที่ถูกจัดให้อยู่ในที่แคบ มืด และน้ำเย็นในเวลากลางคืน การนำมา “ไล่” นี้ยังเป็นการให้ออกกำลัง และช่วยให้สามารถตรวจดูคุณสมบัติอื่น ๆ พร้อมทั้งสุขภาพของปลาไปพร้อมกัน กล่าวกันว่า นักเลี้ยงปลากัดอาชีพสามารถสังเกตสุขภาพปลาได้โดยพิจารณาอาการอ้าปากที่เรียกกันว่า “หาว” ในน้ำและลักษณะของมูลที่มันขับถ่ายออกมา
     ปลาที่อยู่ในขั้นพร้อมที่จะใช้ต่อสู้จะดูสงบ แต่จะแฝงไว้ด้วยความบึกบึน ปราดเปรียว การเลี้ยงดูในตอนนี้จะพบว่ามีการดูแลให้เข้มงวดแตกต่างกันไปตามความเชื่อและเข้าใจ เช่น อาจขุนด้วยยุงที่เพิ่งกินเลือดคนมาใหม่ ๆ หรือให้อดอาหารเพื่อเพิ่มความดุดันแก่ปลาก่อนนำไปบ่อนหรือบ้างก็เรียก “สังเวียน”
     การขนย้ายนำปลาไปบ่อนมักใส่ไว้ในขวดสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ทรงเตี้ย ปากแคบ ทาสีทึบ ด้าน หนึ่งเว้นเป็นช่องกลมขนาดพอมองเห็นตัวปลา ซึ่งให้ความสะดวกในการขนย้ายและ “เปรียบ” กันระหว่างคู่ต่อสู้ เพื่อตกลงในการเดิมพันต่อรองกัน ปรกติคู่กัดจะเป็นปลาขนาดไล่เลี่ยกัน หากปลาทั้งคู่ต่างปรี่เข้าหากันพร้อมกับแสดงท่าทางต่อสู้ แสดงว่ามันมีความพร้อมที่จะกัดกัน จากนั้นปลา ทั้งคู่จะถูกใส่ลงในขวดใสทรงเหลี่ยมที่ตั้งอยู่กลางบ่อน ในสมัยโบราณนิยมใช้อ่างเคลือบหรือกะละมัง เป็นภาชนะสำหรับใส่ปลาให้ต่อสู้กัน
     ปลาแต่ละตัวจะโก่งเกร็งตัว แผ่ครีบ กางแผ่นปิดเหงือกจนเต็มที่ พร้อมกับเปล่งสีเข้มจัดขึ้น มันจะเริ่มเข้าประชิดกันทางด้านข้างโดยหันหัวไปทางเดียวกันแต่มักเหลื่อมกันเพียงเล็กน้อยเอาหางกระทบกัน การประกบกันในลักษณะนี้จะกินเวลาตั้งแต่ไม่กี่วินาทีจนถึง ๒-๓ นาที จากอากัป- กิริยานี้โดยฉับพลันปลาทั้งคู่จะโถมเข้ากัดกันอย่างรวดเร็วเกินที่จะสังเกตได้ด้วยสายตา และการ ต่อสู้จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ
     ปลากัดลูกหม้อที่ผ่านการคัดเลือกมาเป็นอย่างดีจะกัดกันอย่างไม่หยุดหย่อนนานเกิน ๑ ชั่วโมง เป็นส่วนใหญ่ แต่ส่วนมากจะไม่เกิน ๓ ชั่วโมงโดยตลอด แต่ก็มีกล่าวกันว่ามันอาจต่อสู้กันทั้งวันทั้งคืนโดยยังไม่รู้แพ้รู้ชนะ ตลอดการต่อสู้จะมีเพียงการหยุดแยกจากกัน แล้วทั้งคู่จะว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อฮุบอากาศหายใจเท่านั้น นอกจากนี้ก็เป็นในระหว่างที่ปลาจดจ้องจะเข้าต่อสู้กัน โดยยังถมึงทึงต่อกันอยู่ตลอดเวลา
     จุดสำคัญที่ปลาคู่ต่อสู้มักเข้ากัดทำลายกัน คือ ครีบก้น ครีบหาง และครีบหลัง เพราะปรากฏ อยู่เสมอว่า ครีบอกและครีบท้องมักยังอยู่ดีภายหลังการต่อสู้ แต่ก็มีบ้างที่ถูกกัดแหว่งตั้งแต่เริ่มต่อสู้กัน อาจกล่าวได้ว่าครีบเดี่ยวจะต้องบอบช้ำเสมอในการต่อสู้ จึงดูเหมือนว่าครีบเป็นจุดแรกที่ปลา คู่ต่อสู้จ้องกัดทำลายกัน ขณะที่การต่อสู้ดำเนินไปครีบของปลาแต่ละตัวจะขาดวิ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ปลาคู่ต่อสู้ที่เก่งด้วยกันทั้งคู่ เมื่อกัดกันไปนาน ๆ ครีบจะวิ่นแทบหมด ซึ่งการสูญเสียเช่นนี้จะมีผลต่อการบังคับตัวในการว่ายน้ำ แต่สำหรับปลาที่มีความสามารถในการต่อสู้ทัดเทียมกัน กรณีนี้จะยังไม่ถึงจุดสิ้นสุดของการนับว่าแพ้หรือชนะ
     ตำแหน่งอื่นที่มักเป็นที่หมายของการต่อสู้ คือ บริเวณข้างลำตัว เกล็ดบางเกล็ดหรือเป็นกระจุก จะถูกทึ้งหลุดออกมา แต่บาดแผลเช่นว่านี้จะไม่พบบ่อยครั้งนัก ที่สำคัญกว่าก็คือ เมื่อแผ่นปิดเหงือกถูกกัดอย่างรุนแรง กรณีนี้ส่วนของเหงือกที่อยู่ภายในซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญจะได้รับอันตรายไปพร้อมกัน ยังมีการกัดกันจนเกิดบาดแผลที่ท้องหรือสันหลังซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อน ก็มักทำให้แพ้ง่าย โดยปลา จะว่ายน้ำหนีและสีซีดลง เกิดอาการที่เรียกกันว่า “ถอดสี”
     ชั้นเชิงการต่อสู้ของปลากัดมีท่าทางต่าง ๆ แต่ที่นับว่าน่าตื่นเต้นที่สุดก็คือ เมื่อปลาคู่ต่อสู้พุ่งเข้าหากัน แล้วเอาปากต่อปากกัดงัดกันจนแน่นโดยทิ้งส่วนลำตัวให้คลาย ลักษณะนี้เรียกกันว่า “ติดบิด” ปลาทั้งคู่จะอยู่ในสภาพที่อึดอัด ลำบาก และมีอาการม้วนตัวบางส่วนไปทางใดทางหนึ่งด้วยกัน หรือม้วนตลบในแนวแกนลำตัว อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ที่เป็นไปในลักษณะนี้จะกินเวลาสั้น โดยจะสิ้นสุดเมื่อปลาทั้งคู่ซึ่งอยู่ในอาการ “ติดบิด” จะค่อย ๆ จมลงเพราะน้ำหนักตัว จนถึงก้นพื้นภาชนะ และอาจสงบนิ่งอยู่ตรงนั้นเป็นเวลา ๑๐-๒๐ วินาที จากนั้นปลาทั้งคู่จะคลายปากออกจากกันพร้อมกับรีบทะลึ่งขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อฮุบอากาศมาช่วยหายใจแล้วจะกลับลงมาเริ่มต่อสู้กันอีก ฉะนั้น การ “ติดบิด” หรือการกัดกันในแต่ละครั้งหรือแต่ละยกจึงกินเวลานานไม่เกินช่วงระยะที่ปลาปรกติอยู่ใต้น้ำแล้วจะต้องโผล่ขึ้นฮุบอากาศมาหายใจครั้งหนึ่ง ๆ โดยปรกติไม่เคยปรากฏว่า มีปลาที่ไม่ขึ้นฮุบอากาศพร้อมกับปลาอีกตัวหนึ่ง แต่คอยรอจังหวะเข้าทำร้ายปลาคู่ต่อสู้ จึงกล่าวได้ว่า ช่วงขึ้นฮุบอากาศเป็นเสมือนสัญญาณพักการต่อสู้
     การแพ้ชนะในการแข่งกัดปลาจะตัดสินกันที่การถอยหนีคู่ต่อสู้ หรือการหมดสภาพในเชิงต่อสู้มากกว่าดูที่บาดแผลหรือเพียงอาการหยุดเฉย เพราะในขั้นสุดท้ายของการต่อสู้ ปลาตัวที่ไม่ สามารถต่อสู้อีกต่อไปได้ จะว่ายน้ำหนีในอาการหันหางให้อีกตัวหนึ่งที่กำลังทำท่าติดตามจะต่อสู้ ต่อไปอีก เมื่อถึงขั้นนี้การต่อสู้ก็จะสิ้นสุดลง ปลาจะถูกแยกออกจากกัน มีน้อยครั้งมากเท่านั้นที่อาจมีการตกลงให้ปลาต่อสู้กันอีกในวันรุ่งขึ้น
     หลังการต่อสู้ปลาทั้งคู่มักมีสภาพไม่น่าดู เพราะครีบจะฉีกขาดวิ่นหรือกุด เกล็ดและผิวหนัง เยินหรือถลอก แต่มันก็ดูจะไม่รู้สึกต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะด้วยการประคบประหงมเลี้ยงดูด้วยความเอาใจใส่จากเจ้าของ ครีบต่าง ๆ ที่ขาดวิ่นก็จะสามารถงอกเจริญขึ้นอย่างเดิมได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับการเลือนไปของร่องรอยอื่น ๆ ถ้ามี และในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ปลาก็จะคืนสภาพสมบูรณ์ดังเดิม โดยไม่มีร่องรอยของบาดแผลใด ๆ ที่เคยได้รับจากการต่อสู้ปรากฏให้เห็นอีกต่อไป เฉพาะการฉีกขาดของผิวหนังและเกล็ดอาจให้ผลรุนแรงเพราะอาจก่อให้เกิดการเข้าทำลายของเชื้อรา
     สำหรับปลากัดตัวที่ชนะมักถูกนำไปเลี้ยงดูให้อยู่อย่างสงบเป็นการพักฟื้นในหม้อดิน และหากการต่อสู้ของมันได้แสดงให้เจ้าของเห็นคุณสมบัติเด่นเป็นพิเศษในเชิงต่อสู้ มันก็จะถูกบำรุงให้เป็นพ่อพันธุ์ต่อไป ปลากัดที่เคยผ่านการต่อสู้มาแล้ว แม้จะเคยชนะในลักษณะที่เป็นที่พอใจแต่โดยปรกติจะไม่ถูกนำมาใช้ต่อสู้อีก เพราะเชื่อกันว่าความคมของฟันหรือปากจะเสื่อม และไม่สามารถ ดูแลรักษาซ่อมแซมให้ดีดังเดิมได้
     ในปัจจุบันการเพาะเลี้ยงปลากัดเริ่มเป็นธุรกิจที่สำคัญขึ้นตามลำดับ แตกต่างจากในสมัยก่อน คือ เป็นการเพาะเลี้ยงเพื่อซื้อขายกันเป็นปลาสวยงาม โดยมีปลากัดจีนซึ่งให้คุณสมบัตินี้เด่นกว่าพันธุ์ อื่น ๆ ทั้งยังคงพฤติกรรมการต่อสู้และอื่น ๆ ซึ่งคนที่ไม่คุ้นเคยแต่ได้ยินกิตติศัพท์อยากรู้อยากเห็น เป็นอย่างมาก จึงเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศโดยทั่วไป เป็นผลให้ประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละหลายสิบล้านบาท อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงปลากัดที่ผ่านมาผู้เลี้ยงสามารถทำให้ลูกปลาอยู่รอด ได้เพียงร้อยละ ๓๐-๔๐ เท่านั้น ในจำนวนนี้ยังพบว่า เป็นปลาเพศผู้ซึ่งเป็นความต้องการของตลาด เพียงร้อยละ ๓๐-๔๐ ส่วนที่เหลือเป็นปลาเพศเมียซึ่งมีราคาถูกมากเพราะไม่เป็นที่ต้องการของผู้เลี้ยงดูเล่นนอกจากเลือกใช้เป็นแม่ปลา จึงมีผู้ทดลองใช้สารฮอร์โมนชื่อ Fluoxymesterone ในระดับความเข้มข้นประมาณ ๒๐๐ ส่วนในล้าน ในที่เลี้ยงกับลูกปลาที่มีอายุเพียงประมาณ ๓ วัน พร้อมกับให้กินไร (Moina spp.) ในวงศ์ Daphnidae คลุกฮอร์โมนดังกล่าวที่บดละเอียด ตลอดระยะเวลาประมาณ ๑๔ วัน ผลปรากฏว่าสามารถเปลี่ยนเฉพาะลักษณะภายนอกของปลาเพศเมียขณะเติบโตให้มีครีบและสีสันดูเป็นเพศผู้ได้ทั้งหมด แต่ลักษณะดังกล่าวนี้จะคืนสภาพหากนำไปเลี้ยงอย่างปรกติ.

 

 

 

ชื่อหลัก
กัด-ปลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Betta splendens Regan
ชื่อสกุล
Betta
ชื่อชนิด
splendens
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
Regan
ชื่อวงศ์
Belontiidae (เดิมอยู่ในวงศ์ Anabantidae)
ชื่ออื่น ๆ
ปลากัดป่า, ปลาป่า, ปลากัดลูกทุ่ง, ปลากัดลูกหม้อ, ปลากัดจีน, ปลาจีน, ปลากัดเขมร, ปลาลูกสังกะสี
ชื่อสามัญ
Siamese Fighting Fish
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ทศพร วงศ์รัตน์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf