กะรัง-ปลา

Epinephelus spp., Cephalopholis spp., Plectopomus spp., Variola spp., Gracila spp., Cromileptes altivelis (Valenciennes), Promicrops lanceolatus (Bloch), Anyperodon leucogrammicus (Valenciennes) และ Acthaloperca rogaa (Forsskaํl )

ชื่อวิทยาศาสตร์
Epinephelus spp., Cephalopholis spp., Plectopomus spp., Variola spp., Gracila spp., Cromileptes altivelis (Valenciennes), Promicrops lanceolatus (Bloch), Anyperodon leucogrammicus (Valenciennes) และ Acthaloperca rogaa (Forsskaํl ) วงศ์ Serranidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลาเก๋า, ปลาตุ๊กแก (ปลากะรังขนาดเล็กที่มีจุดด่างดวง ก็อาจมีเรียก กันในชื่อนี้), ปลาหมอทะเล [โดยเฉพาะสำหรับชนิด Promicrops lanceolatus (Bloch) และบางครั้งอาจหมายถึงชนิดในสกุล Epinephelus ที่มีสีใกล้เคียงกัน และมีขนาดโตประมาณว่ายาวกว่า ๖๐ เซนติเมตร ขึ้นไป], ปลาราปู (เขตจังหวัดชายทะเลใกล้ประเทศมาเลเซีย สำหรับ ปลากะรังที่มีสีฉูดฉาด และชนิดที่มีขนาดเล็กซึ่งอยู่ตามพืดหินปะการัง)
ชื่อสามัญ
Grouper, Seabass, Rockcod, Reefcod, Hind (สำหรับชนิดในสกุล Cephalopholis และ Gracila), Coral-trout (สำหรับชนิดในสกุล Plectopomus) Lyretail (สำหรับชนิดในสกุล Variola) และ Jewfish [เฉพาะสำหรับชนิด Promicrops lanceolatus (Bloch)] ส่วนชื่อ Rockfish ที่เคยปรากฏว่าใช้เรียกปลาพวกนี้ ในปัจจุบันต่างประเทศบางเขตได้มี ประกาศให้ยกเลิก และสงวนไว้ใช้เรียกปลากะรังหัวโขน ในวงศ์ Scorpaenidae ซึ่งก็มีหลายชนิดที่พบในทะเลน่านน้ำไทย

​​​​​​

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาที่มีรูปร่างยาวป้อม แบนข้างเล็กน้อย สันหลังและสันท้องมนกลม เกือบทุกชนิดทางหัวป้อมกว่าทางหาง คอดหางใหญ่แข็งแรง แนวสันหลังโค้งมากกว่าแนวสันท้องเพียงเล็กน้อย ปากกว้างแข็งแรงอยู่ในแนวเฉียง ยืดหดได้เล็กน้อย โดยเฉพาะขากรรไกรบนจะมีส่วนขอบเผยอเด่นจากข้างหัว ส่วนขากรรไกรล่างมีปลายสุดยื่นล้ำขากรรไกรบนเล็กน้อย ทำให้ปากมีลักษณะเชิดขึ้น ที่ขากรรไกรทั้งบนและล่างต่างมีฟัน ๒ แนว ส่วนใหญ่เป็นซี่เล็กคล้ายเขี้ยวโอนเอนได้และชี้ไปทางข้างหางเฉพาะแนวนอกซึ่งมีฟันแถวเดียวจะมีฟันบริเวณส่วนหน้าสุดของขากรรไกรทั้งบนและล่างที่ขยายขนาดขึ้นจนคล้ายเขี้ยวอยู่ ๑-๓ ซี่ ส่วนแถวในเป็นฟันซี่เล็กทัดเทียมกันเรียงเป็นแถบ เฉพาะปลากะรังบางชนิดในสกุล Epinephelus และปลาหมอทะเล [Promicrops lanceolatus (Bloch)] จะมีเขี้ยวดังกล่าวสั้นทู่กว่าชนิดอื่น ซึ่งสภาพเช่นนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับชนิดอาหารที่ปลาดังกล่าวกิน คือส่วนใหญ่จะเป็น กุ้ง กั้ง เพรียงประเภทที่มีเปลือกหนา ปลากะรังส่วนใหญ่จะมีฟันที่เพดานปากเป็นกลุ่ม ๆ โดยเฉพาะที่กระดูกฐานจมูก (vomer) และกระดูกหน้าเพดานปาก (palatine) บ้างก็ยังมีฟันที่บนกระดูกท้ายเพดานปาก (pterygoid) รวมทั้งบริเวณคอหอยและบนลิ้น ไม่ปรากฏว่าปลากะรังมีฟันแบบใช้ขบหรือตัดที่บริเวณใดของปาก
     ช่องเหงือกมีขนาดใหญ่ กระดูกแผ่นปิดเหงือกชิ้นหน้ามีขอบทางด้านท้ายเผยอชัดเจนและมีลักษณะจักเป็นฟันเลื่อย ส่วนกระดูกแผ่นปิดเหงือกชิ้นหลังประกอบด้วยหนาม ๓ อันเรียงขนานอยู่ในแนวดิ่งตอนใกล้ขอบบน ปลายชี้ไปทางหาง หรือบางชนิดมีเพียง ๒ อัน แผ่นเนื้อที่ขอบแผ่นปิดเหงือกทั้ง ๒ ด้านแยกจากกันเกือบตลอด แต่จะติดต่อกันเพียงเล็กน้อยทางด้านหน้าสุดเท่านั้น ซึ่งที่บริเวณนั้นก็ยังต่อกับคอดคอ แผ่นเนื้อดังกล่าวมีซี่กระดูกปิดช่องเหงือก (branchiostegal ray) อยู่ข้างละ ๗ ซี่
     ตามีขนาดปานกลาง ไม่กลมนัก มีขอบชัดเจน อยู่ค่อนไปทางปลายหัว และชิดหรือเกือบชิดกับแนวสันบนของหัว ช่องว่างระหว่างตามักโค้งเล็กน้อย แต่ในปลากะรังบางชนิดเมื่อโตมากรวมทั้งในปลาหมอทะเล บริเวณนี้จะแบนราบหรือเว้าเล็กน้อย รูจมูกในแต่ละข้างมี ๒ รูเปิดชัดเจน และเรียงอยู่ในแนวตากับปลายจะงอยปาก โดยอยู่ค่อนไปทางตามากกว่า โดยทั่วไปรูหลังจะใหญ่กว่ารูหน้าเล็กน้อย ระหว่างคู่รูจมูกในแต่ละข้างมีแผ่นหนังขนาดเล็กขวางอยู่


     ปลาพวกนี้มีซี่กรองเหงือกจำนวนน้อยและมีขนาดไม่ยาวนัก ซี่กรองเหงือกบนโครงเหงือกอันนอกสุดมีจำนวนและขนาดแตกต่างกันไม่มากก็น้อย ในปลากะรังบางชนิดจะเห็นเป็นเพียงก้านสั้น ๆ หรือตุ่มที่มีหนามเล็กกระจายอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่จึงมีซี่กรองเหงือกอยู่ระหว่าง ๓-๑๔ ซี่ที่ตอนบน และ ๗-๓๐ ซี่ที่ตอนล่างของโครงเหงือกอันดังกล่าว
     เกล็ดมีขนาดเล็กและยึดติดแน่นกับผิวหนัง คลุมอยู่ทั่วตัวรวมทั้งหัว และล้ำไปบนบางส่วนของครีบต่าง ๆ ยกเว้นครีบท้อง เกล็ดบนหัวยังคลุมถึงขากรรไกรบน ยกเว้นบริเวณริมฝีปาก และบางชนิดก็ไม่มีเกล็ดที่บริเวณจะงอยปาก ปลากะรังส่วนใหญ่มีเกล็ดแบบเกล็ดหนามลักษณะสากมือ แต่ก็มีบ้างที่เป็นแบบเกล็ดเรียบทั้งตัว หรือสลับดัวยเกล็ดเรียบที่บริเวณท้อง ทั้งยังมีที่เปลี่ยนเป็นเกล็ดเรียบเมื่อปลามีขนาดโต เส้นข้างตัวมีข้างละ ๑ เส้น พาดโค้งอยู่ตลอดแนวจากมุมแผ่นปิดเหงือกไปจดตอนกลางทางด้านข้างโคนครีบหาง โดยเฉพาะตอนหน้าจะพาดอยู่ในแนวเหนือแกนลำตัวเล็กน้อย ตลอดเส้นข้างตัวมีเกล็ดเรียงอยู่ ๖๓-๑๕๐ เกล็ด โดยแตกต่างกันมากน้อยทั้งนี้แล้วแต่ชนิด
     ครีบต่าง ๆ ของปลากะรังทุกชนิดมีขนาดและรูปร่างเด่น ก้านครีบที่เป็นหนามแข็งจะมีลักษณะเป็นกระดูกชิ้นเดียวโดยตลอด (simple spine) และไม่จักเป็นฟันเลื่อย ครีบหลังมีฐานยาวเห็นเป็นตอนเดียว โดยเริ่มในแนวเหนือมุมแผ่นปิดเหงือกไปจดที่บริเวณส่วนหน้าของคอดหาง ตอนหน้าของครีบนี้มีก้านครีบเดี่ยวเป็นหนามแข็ง ๗-๑๒ ก้าน และมีความสูงเสมอกันหรืออาจต่ำกว่าครีบส่วนหลังที่ประกอบด้วยก้านครีบอ่อนที่แตกแขนง ๑๐-๑๙ ก้านเล็กน้อย ขนาดและจำนวนที่แตกต่างกันเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสกุลและชนิดของปลา ครีบก้นตั้งอยู่ในแนวตรงข้ามกับครีบหลังส่วนท้ายและยังมีรูปร่างคล้ายกัน ตัวครีบประกอบด้วยก้านครีบเดี่ยวที่เป็นหนามแข็ง ๓ ก้านในปลากะรังทุกชนิด และตามด้วยก้านครีบแขนง ๗-๑๐ ก้าน (ปลายก้านครีบก้านสุดท้ายของทั้งครีบหลังและครีบก้นแยกเป็น ๒ ก้าน โดยมีโคนเดียวกันจึงนับเป็นก้านเดียว) ครีบอกมีฐานกว้าง และตั้งอยู่ในแนวระหว่างมุมแผ่นปิดเหงือกและครีบท้องแต่ค่อนต่ำลงมาเล็กน้อย ตัวครีบบานกว้าง และมีขอบกลมคล้ายพัด ประกอบด้วยก้านครีบอ่อนและก้านครีบที่แตกแขนงรวม ๑๖-๒๐ ก้าน โคนครีบด้านนอกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็ก ครีบท้องมีขนาดเล็กกว่าครีบอกเล็กน้อยและตั้งอยู่ประมาณใต้หรือคล้อยไปทางแนวหน้าครีบอกเล็กน้อย ตัวครีบในปลาทุกชนิดประกอบด้วยก้านครีบเดี่ยวที่เป็นหนามแข็ง ๑ ก้าน และตามด้วยก้านครีบแขนงอีก ๕ ก้าน ขอบในสุดของครีบนี้มีแผ่นหนังเป็นพังผืดบางยึดติดต่อระหว่างตลอดก้านครีบแขนงก้านในสุดกับส่วนท้องที่ประชิดกันอยู่ ไม่ปรากฏว่ามีเกล็ดที่ยื่นแหลมอยู่ที่โคนครีบนี้ ปลายครีบหางของปลากะรังส่วนใหญ่กลมหรือเป็นแนวตัดตรง แต่ก็ยังมีบางชนิดที่เว้ามากหรือน้อย โดยทุกชนิดจะมีก้านครีบแขนงรวม ๑๕ ก้าน
     ปลากะรังมีสีและลวดลายแตกต่างกันมาก ทั้งในสภาพหรือกรณีที่ต่างสกุล ต่างชนิด ต่างเขต และต่างขนาดกัน ส่วนความแตกต่างที่เป็นเพราะต่างเพศกันยังไม่พบว่ามีเด่นชัดอย่างปลาบางพวก แบบรูปลวดลายของสีปลากะรังมักเป็นลักษณะที่คละกันในปลาตัวเดียวกันระหว่างเป็นจุด เป็นปาน เป็นแถบ เป็นเส้น เป็นรูปเหลี่ยมหรือตาข่าย ทั้งแนวนอน แนวตั้ง โดยปรกติจะมีทั้งบนลำตัวและครีบ แต่ก็มีอีกเช่นกันที่เป็นสีเดียวโดยมีความเข้มจางคละกัน บางชนิดมีสีสดที่บริเวณผนังในโพรงปากและแผ่นปิดเหงือก หลายชนิดสามารถเปลี่ยนสีได้มากหรือน้อยอย่างฉับพลัน ปลากะรังบางชนิดมีสีแตกต่างกันมากน้อยขึ้นอยู่กับระดับความลึกของน้ำหรือเมื่อมีอาการตกใจ การศึกษาจำแนกชนิดปลากะรังจึงต้องอาศัยข้อมูลทางด้านสีเป็นกรณีพิเศษ
     ปลากะรังบางชนิดมีพฤติกรรมที่น่าสนใจคืออาจใช้สี ลวดลายบนตัวและครีบเป็นเครื่องช่วยปกป้องคุ้มกันตัวเอง โดยคิดว่าคงจะไม่มีอันตรายใด ๆ เกิดขึ้น มีรายงานเสมอ ๆ จากนักดำน้ำและผู้ถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีว่า พบปลากะรังขนาดไม่เล็กนักหลบอยู่ในโพรง โดยไม่มีอากัปกิริยาตกใจหรือเปลี่ยนสีอย่างใดแม้จะถูกกระทบกระทั่งหลายครั้ง เพียงแต่จะหลีกหรือเคลื่อนตัวลึกเข้าไปในที่ซ่อน ซึ่งโดยปรกติปลากะรังหลายชนิดจะว่ายเข้าที่กำบังทันทีเมื่อมีสิ่งมารบกวน แต่เมื่อได้อยู่ในที่ดังกล่าวแล้ว แม้จะถูกเข้าใกล้และรบเร้าอีกก็ไม่สะทกสะท้าน ยังเคยมีผู้พบว่าปลากะรังหลายชนิดที่ศึกษาสามารถทำเสียงดังต่อเนื่องกันได้เมื่อถูกรบกวน โดยพอจะสืบได้ว่าเสียงดังกล่าวเกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อบางส่วนทางด้านหน้าของลำตัวควบคู่ไปกับกระเพาะลม นอกจากนี้ก็ยังมีผู้เคยสังเกตและพบว่าปลากะรังบางชนิดทำอาการอ้าปากและถ่างแผ่นปิดเหงือกออกกว้าง เผยให้เห็นสีแดงภายในโพรงปากและเส้นเหงือก ซึ่งก็เชื่อกันว่ามันใช้ปรามศัตรูของมัน นอกเหนือจากการเปิดให้ปลาขนาดเล็กบางชนิดซึ่งมีอยู่เสมอในเขตพืดหินปะการังเข้าไปทำความสะอาดโดยเก็บกินสิ่งที่แฝงหรือตกค้างอยู่ในบริเวณดังกล่าว
     ปลากะรังส่วนใหญ่มีลักษณะเพศเป็นกะเทยแบบ protogynous hermaphrodite คือ เมื่อถึงขั้นเจริญพันธุ์ ปลาจะเริ่มมีเพศเป็นเพศเมียก่อน และทำหน้าที่ให้ไข่เมื่อถึงระยะผสมพันธุ์ แต่ต่อมาจะเกิดการเปลี่ยนเพศ คือปลาตัวเดียวกันจะกลายเป็นเพศผู้และทำหน้าที่ให้น้ำอสุจิ อย่างไรก็ตาม ยังมีปลากะรังเพียงบางชนิดที่เป็นกะเทยแบบ synchronous hermaphrodite คืออวัยวะเพศมีทั้งส่วนที่ทำหน้าที่สร้างไข่ และส่วนที่ทำหน้าที่สร้างน้ำอสุจิอยู่ในตัวเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การสุกของไข่และน้ำอสุจิจะไม่เคยพร้อมกันเลย ฉะนั้น การผสมพันธุ์จึงต้องอาศัยปลาต่างตัวต่างเพศที่พร้อมจะสืบพันธุ์ได้ในขณะนั้น นอกจากนี้ก็ยังมีปลากะรังที่มีเพศแยกจากกันอย่างสมบูรณ์ด้วย
     การสืบพันธุ์ของปลากะรังเป็นปัญหาทางวิชาการที่ยังไม่มีผลการค้นคว้าซึ่งให้ข้อมูลพื้นฐานอย่างเพียงพอ เข้าใจกันว่าในทะเลเขตร้อนรวมทั้งประเทศไทย ปลากะรังมีการสืบพันธุ์ตลอดทั้งปี สำหรับชนิด Epinephelus merra Bloch ซึ่งมีแพร่หลายทั่วเขตอินโด-แปซิฟิก มีผู้เคยสังเกตและพบว่าวางไข่เป็นช่วง ๆ โดยมีระยะชุกที่สุดประมาณ ๒-๓ วัน ก่อนวันพระจันทร์เต็มดวง
     แม้ทั่วไปจะเป็นที่รู้กันว่าปลากะรังไม่มีการจับคู่กันในระยะสืบพันธุ์ แต่ในสภาพที่อยู่อาศัยโดยทั่วไป ซึ่งมักเป็นพื้นท้องน้ำในเขตพืดหินปะการังและบริเวณใกล้เคียง หรือในที่ซึ่งมีที่กำบังลักษณะต่าง ๆ ปลาชนิดเดียวกันจึงสามารถออกันอยู่ในลักษณะเป็นหมู่ขณะสืบพันธุ์ ไข่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มิลลิเมตร หรือเล็กกว่า เช่น ปลากะรังชนิด Epinephelus coioides (Hamilton) ที่พบในน่านน้ำไทย และมีการศึกษาหาทางเพาะพันธุ์ มีไข่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๐.๙ มิลลิเมตร ปลากะรังตัวเมียตัวหนึ่ง ๆ มีไข่จำนวนหลายแสนหรือนับล้านฟองขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของปลา ไข่จะถูกปล่อยให้หลุดลอยไปในแหล่งน้ำแล้วถูกผสมจากน้ำอสุจิของตัวผู้ทันที เมื่อพ้นจากระยะนี้แล้วปลาก็ไม่มีพฤติกรรมดูแลไข่และลูก สำหรับปลากะรังบางชนิดที่เคยมีการนำมาเลี้ยงในตู้เพื่อความเพลิดเพลินหรือการศึกษาก็มีพฤติกรรมที่บันทึกกันไว้ว่า ปลาตัวผู้ใช้หัวชนท้องตัวเมียครั้งแล้วครั้งเล่าอยู่ ๒-๓ วันก่อนที่ตัวเมียดังกล่าวจะวางไข่ได้ โดยไข่จะถูกปล่อยออกทีละน้อย ๆ เป็นจังหวะ ๆ ในเวลากลางคืน อาจเป็นเวลาหลายคืนติดต่อกันแล้วได้รับการผสมและลอยกระจัด กระจายอยู่ทั่วไป ภายในระยะเวลาประมาณ ๔๐ ชั่วโมงไข่จะฟักออกเป็นตัว ลูกปลาจะค่อย ๆ ลอยขึ้นมาอยู่บริเวณผิวน้ำเพื่อให้รับแสงได้เต็มที่ ลูกปลาขนาดยาวไม่เกิน ๒ เซนติเมตรจะมีก้านครีบแข็งก้านที่ ๒ ของครีบหลังและก้านครีบแข็งของครีบท้องรวมทั้งบางซี่ของจักฟันเลื่อยบนกระดูกแผ่นปิดเหงือกชิ้นหน้ายื่นยาวมากซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นรยางค์ที่จะเพิ่มคุณสมบัติสำคัญในการลอยตัวของลูกปลาบริเวณผิวน้ำหรือใกล้ผิวน้ำ
     ปลากะรังที่พ้นวัยอ่อนจะเริ่มลงมาอยู่อาศัยหากินตามพื้นท้องน้ำและมีพฤติกรรมอยู่โดดเดี่ยว แต่หากบริเวณใดที่มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม มีอาหารสมบูรณ์ แม้จะเป็นบริเวณไม่กว้างนักก็อาจพบหลายตัวอยู่รวมกัน ปลาตัวหนึ่งอาจอยู่ในแอ่ง ช่อง หรือโพรงเฉพาะที่นานพอสมควร แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีการหวงที่อยู่จนเกิดการต่อสู้กันอย่างปลาอื่นหลายชนิด จึงมีผู้พบว่า ในที่จำกัดที่หนึ่ง ๆ อาจมีปลากะรัง ๒ ตัวหรือมากกว่าอาศัยอยู่ด้วยกัน
     ปลากะรังทุกชนิดเป็นปลาล่าเหยื่อ อาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ สัตว์พวกปลา สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น กุ้ง ปู หนอนต่าง ๆ ฟันของปลากะรังมีลักษณะแหลม เพื่อใช้จับสัตว์ที่สามารถเคลื่อนตัวในน้ำได้คล่องดังกล่าว แต่มีปลากะรังที่มีชื่อเฉพาะว่า ปลาหมอทะเล [Promicrops lanceolatus (Bloch)] ที่ยังหากินสัตว์พวกมีเปลือกแข็ง เช่น กุ้งมังกรหรือกุ้งหัวโขน กั้ง เพรียง และหอย ฟันเขี้ยวของปลาชนิดนี้จึงมีลักษณะสั้นทู่เพื่อใช้ขบก่อนกลืน และยังมีไส้ติ่ง (pyloric caecum) จำนวนมากจึงเป็นการเพิ่มพื้นที่ และมีน้ำย่อยที่สามารถละลายเปลือกสัตว์เหล่านั้น เพราะนิสัยการล่าเหยื่อดังกล่าวและไม่มีปัญหาในเรื่องที่อยู่ประจำนัก ปลากะรังจึงหาเหยื่อตามพื้นท้องน้ำในเขตพืดหินปะการังและกองหิน หรือตามหลืบพรรณไม้น้ำได้เป็นอย่างดี โดยอาศัยจมูกช่วยรับสัมผัสและเลือกอาหาร เครื่องมือดักปลาที่มีการเลือกเหยื่อล่อที่เหมาะจึงสามารถล่อปลากะรังจากทั่วบริเวณโดยรอบได้เป็นระยะทางไกล ปรกติปลาพวกนี้จะกลืนกินอาหารทั้งตัวโดยอ้าปากฮุบเหยื่อเต็มที่ ขณะเดียวกันก็ขย้ำเพื่อกลืนเหยื่อ หรือมิฉะนั้นก็เป็นการงับเหยื่อแล้วสะบัดพร้อมอาการดึงด้วยน้ำหนักตัวทำให้เหยื่อขาดในขนาดที่ปลาจะกลืนได้
     แม้ปลากะรังจะมีการแพร่กระจายอยู่ทั่วโลกดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ก็ปรากฏว่าเขตอินโด-แปซิฟิกเป็นแหล่งสำคัญที่พบว่ามีปลาเหล่านี้อยู่ชุกชุม คือรวมแล้วมีกว่า ๑๐๐ ชนิด ประมาณ ๑๒ สกุล เมื่อประกอบกับสภาพสิ่งแวดล้อมซึ่งมีหมู่เกาะและพืดหินปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ทำให้เชื่อกันว่าเขตนี้เป็นแหล่งกำเนิดหรือเขตวิวัฒนาการของปลากลุ่มนี้ของโลก แล้วได้แพร่พันธุ์ไปยังส่วนอื่นของโลกรวมทั้งทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้ตั้งแต่สมัยเมื่อประมาณ ๗ ล้านปีมาแล้ว โดยมีข้อสันนิษฐานว่า ไข่และตัวอ่อนของปลาพวกนี้ซึ่งมีจำนวนมากมายจะถูกอิทธิพลของกระแสน้ำและสภาพที่เหมาะสมตั้งแต่สมัยโบราณพาให้มันแพร่กระจายไปเป็นบรรพบุรุษของปลารุ่นปัจจุบันในบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ่งแวดล้อมเริ่มจำกัดขึ้นและถึงจุดอิ่มตัวหรือมีความสมดุล เหตุการณ์ที่เคยมีมาในครั้งก่อนก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเดิมอีก
     ปลากะรังส่วนใหญ่เป็นปลาที่อาศัยหากินอยู่ตามพืดหินปะการัง หรืออาจเป็นหลืบเป็นโพรง บริเวณหินหรือกองหินใต้น้ำใกล้ชายฝั่งหรือเกาะแก่ง จึงมีผู้ผนวกปลาพวกนี้ทุกชนิดเข้าไว้ในกลุ่มปลาตามพืดหินปะการัง (coral reef fish) อย่างไรก็ตาม คำนี้มักจะมีความหมายถึงปลาทะเลที่มีผลของการวิวัฒนาการทางรูปร่างร่างกาย รวมทั้งสีสันและพฤติกรรมตลอดชีวิต จนเป็นลักษณะที่เหมาะจะอยู่ในบริเวณนั้นดังเช่น ปลาผีเสื้อ (วงศ์ Chaetodontidae) ปลานกแก้ว (วงศ์ Scaridae) ปลานกขุนทอง (วงศ์ Labridae) ปลาสลิดหิน (วงศ์ Pomacentridae) ปลาจิ้มฟันจระเข้ (วงศ์ Syngnathidae) และปลาวัว (วงศ์ Monacanthidae) แต่สำหรับปลากะรังมีการพัฒนาสภาพคือ ใช้วิธีปรับตัวและพฤติกรรมในการเข้าหากินอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวขณะที่โตขึ้นเรื่อย ๆ จึงยังพบปลากะรังนอกบริเวณพืดหินปะการัง หรือในที่ลึกซึ่งไม่มีปะการังเกิดอยู่
     ปลากะรังมีพฤติกรรมเหมือนกับปลาที่อาศัยอยู่ตามพื้นท้องน้ำอื่น ๆ คือ เคลื่อนที่เชื่องช้า จึงพบปลาพวกนี้ขนาดโตลอยตัวเองนิ่งเกือบตลอดเวลาอยู่ตามที่รก ที่กำบัง แต่ไม่อับ และมีปริมาณแก๊สออกซิเจนสูง มีกระแสน้ำพอเหมาะ อย่างไรก็ตาม ในหลายกรณีที่พบมันอยู่นอกที่ดังกล่าวเมื่อถึงภาวะคับขันโดยเฉพาะเมื่ออาจมีภัย มันจะว่ายเข้าหาที่หลบทันที แม้ปลากะรังจะมีพฤติกรรมชอบลอยตัวช้า ๆ อยู่เหนือพื้นท้องน้ำดังกล่าว แต่จากประสบการณ์ของผู้ล่อตกปลา ก็เคยพบกันเสมอว่า ปลากะรังอาจว่ายขึ้นมากินเหยื่อใกล้ผิวน้ำ แต่ปรกติแล้วการตกปลากะรังที่ได้ผลดีจะทำโดยการหย่อนเบ็ดเกี่ยวเหยื่อลงไปจนถึงพื้นท้องน้ำในบริเวณพืดหินปะการัง ไม่เคยพบกันว่าปลากะรังไชชอนหรือมุดพื้นท้องน้ำไม่ว่าจะมีสภาพเช่นใดหรือเพื่อการใด
     ปลากะรังขนาดเล็กหลายชนิดชอบอยู่ตามที่สุมทุม เช่น กอพืชน้ำ บ่อยครั้งจะพบอยู่ตามป่าชายเลน หรือใกล้ปากแหล่งน้ำที่ไหลลงทะเล ดังจะเห็นได้จากการรวบรวมลูกปลากะรังจุดสีน้ำตาล หรือบ้างก็เรียก ปลากะรังปากแม่น้ำ [Epinephelus coioides (Hamilton)] ซึ่งมีชื่อสามัญว่า Estuary Grouper ขนาด ๑.๕-๒.๕ เซนติเมตรตามอ่าวหรือปากแหล่งน้ำในอ่าวไทย เพื่อนำมาเลี้ยงให้โตในกระชังหรือบ่อสำหรับซื้อขายเพื่อบริโภค ก็ทำโดยสร้างซั้งขนาดเล็กด้วยกิ่งไม้ทิ้งแช่ไว้ในบริเวณชายฝั่งเขตน้ำกร่อย ที่น้ำลึกประมาณไม่เกิน ๒ เมตร ในระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม เพื่อล่อให้ลูกปลาเข้าเกาะอาศัย แล้วใช้สวิงตาถี่สอดช้อนขึ้นทั้งซั้งเพื่อจับลูกปลา
     ปลากะรังโดยเฉพาะชนิดที่อยู่ในสกุล Epinephelus มีชุกชุม และจัดได้ว่าเป็นปลาอาหารที่มีราคาและนิยมกันมาก เครื่องมือที่ใช้จับปลาเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นลอบ เบ็ด อวน และฉมวก โดยมีการทำกันทั่วน่านน้ำไทย แต่ที่นับว่าชุกมากคือตลอดชายฝั่งด้านทะเลอันดามันซึ่งมีสภาพสิ่งแวดล้อมที่ปลาต้องการอยู่มาก เฉพาะชนิด E. coioides (Hamilton) และ E. areolatus (Forsskal) เคยมีการจับได้จากผลการทดลองอวนลากที่ระดับน้ำลึกประมาณ ๑๐๐ เมตรในทะเลอันดามัน
     ในด้านการนำมาเป็นอาหาร แม้จะมีรายงานจากเขตอื่นในบริเวณอินโด-แปซิฟิกว่าปลาเหล่านี้ก่อให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษเมื่อบริโภค แต่ปลาชนิดเดียวกันเหล่านั้นจากเขตน่านน้ำไทยยังไม่เคยปรากฏว่ามีปัญหาต่อผู้บริโภคแต่อย่างใด นอกจากนั้นปลากะรังในสภาพที่อยู่ตามธรรมชาติและนิสัยการกินเหยื่อของมัน ยังสามารถก่อให้เกิดประโยชน์อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาตกปลาและการดำน้ำในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างดี หลายชนิดยังเป็นปลาประเภทสวยงาม มีความทนทานในสภาพที่กักขัง และกินอาหารที่ใช้เลี้ยงได้ดี จึงซื้อขายกันด้วยราคาแพง
     ปลากะรังในน่านน้ำไทย แบ่งออกเป็นสกุลต่าง ๆ ตามลำดับความมากน้อยของชนิดที่มีอยู่และความชุกชุมรวมทั้งความคุ้นเคย และมีลักษณะเด่นพอจะใช้จำแนกสกุลออกจากกันโดยแต่ละสกุลยังมีชนิดที่พบกันดังต่อไปนี้ คือ
     ๑. สกุล Epinephelus มีหัวและลำตัวแบนข้าง ในน่านน้ำไทยมีประมาณ ๓๐ ชนิด ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง ๑๑ ก้าน และตามด้วยก้านครีบแขนง ๑๔-๑๙ ก้าน ส่วนครีบก้นมีก้านครีบแข็ง ๓ ก้านและก้านครีบแขนงเพียง ๘ ก้านในเกือบทุกชนิด ขอบครีบหางมีลักษณะกลมยกเว้นบางชนิดเช่น E. areolatus (Forsskaํl), E. bleekeri (Vaillant) และ E. chlorostigma (Valenciennes) จะมีปลายครีบหางตัดตรงหรือเว้าเล็กน้อย ปลาในสกุลนี้ยังมีฟันบนเพดานปากบริเวณกระดูกหน้าเพดานปาก ชนิดที่มีอยู่มีความยาวเมื่อโตเต็มที่แตกต่างกันตั้งแต่ ๒๕-๒๐๐ เซนติเมตร ชนิดอื่น ๆที่พบในน่านน้ำไทย คือ E. coioides (Hamilton), E. fuscoguttatus (Forsskal), E. melanostigma Schultz, E. sexfasciatus (Valenciennes), E. corallicola (Valenciennes), E. quoyanus (Valenciennes), E. morrhua (Valenciennes), E. undulosus (Quoy et Gaimard), E. latifasciatus (Temminck et Schlegel), E. caeruleopunctatus (Bloch), E. malabaricus (Schneider), E. merra Bloch, E. ongus Bloch, E. summana (Forsskaํl), E. fasciatus (Forsskaํl), E. microdon (Bleeker), E. moara (Temminck et Schlegel), E. amblycephalus (Bleeker), E. epistictus (Temminck et Schlegel), E. flavocaeruleus (Lacep’de), E. radiatus (Day), E. septemfasciatus (Thunberg), E. spilotoceps Schultz, E. tukula Morgans, E. miliaris (Valenciennes), E. poecilonotus (Temminck et Schlegel), E. rivulatus (Valenciennes), E. hexagonatus (Schneider) และ E. faveatus (Valenciennes)
     ๒. สกุล Cephalopholis เป็นปลากะรังที่มีหัวยาวแหลม วัดได้ ๑ ใน ๒.๓-๒.๘ เท่าของความยาวหัวและลำตัวรวมกัน ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง ๙ ก้าน และตามด้วยก้านครีบแขนง ๑๔-๑๗ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง ๓ ก้านและก้านครีบแขนง ๙ ก้าน ปลายครีบหางมีขอบกลม จมูกรูหลังเป็นช่องตีบรูปรี มีฟันที่เพดานปากบนกระดูกหน้าเพดานปาก เกล็ดหนามลักษณะสากมือ ทุกชนิดมีสีค่อนข้างฉูดฉาด เช่นมีพื้นสีส้มหรือแดง หรือน้ำตาลเข้ม ส่วนใหญ่จะมีจุดสีต่าง ๆ กัน หรือด่างดวงหรือริ้วสีสวยงามมากซึ่งลักษณะของสีของปลาแต่ละชนิดสามารถใช้เป็นรูปพรรณบ่งบอกและจำแนกชนิดได้เป็นอย่างดี ขนาดยาวสุดตั้งแต่ ๒๐-๕๗ เซนติเมตร ชนิดที่พบในน่านน้ำไทยมีดังต่อไปนี้ คือ C. boenack (Bloch), C. miniatus (Forsskaํl), C. argus (Schneider), C. formosa (Shaw), C. sonnerati (Valenciennes), C. aurantia (Schneider) และ C. sexmaculatus (Rüppell)
     ๓. สกุล Plectopomus เป็นสกุลที่มีก้านครีบหลังส่วนที่เป็นหนามแข็งสั้นกว่าของปลากะรังสกุลอื่น และมีเพียง ๗-๘ ก้าน ตามด้วยก้านครีบแขนง ๑๐-๑๑ ก้าน ปลายครีบหางมีลักษณะตัดตรงหรือเว้าเล็กน้อย ขากรรไกรล่างส่วนท้ายมีฟันเขี้ยวแข็งแรง ๑-๓ ซี่ เป็นปลากะรังสกุลเดียวในน่านน้ำไทยและเขตอินโด-แปซิฟิกที่มีขอบล่างของกระดูกแผ่นปิดเหงือกชิ้นหน้าจักเป็นฟันเลื่อย ๔-๕ ซี่ และชี้ไปทางข้างหน้า แต่ละชนิดมีสีระหว่างแสดกับชมพูและประกอบด้วยจุดสีลักษณะต่าง ๆ จึงเป็นลักษณะสำคัญในการใช้จำแนกชนิด มีขนาดยาวสุดแตกต่างกันระหว่าง ๗๐-๑๐๐ เซนติเมตร ทั้งยังมีรูปร่างโดยเฉพาะส่วนหัวและสีสันใกล้เคียงกับปลาเทราต์ ทุกชนิดจึงมีชื่อสามัญว่า Coral-trout ชนิดที่พบในน่านน้ำไทยคือ P. maculatus (Bloch), P. truncatus Fowler et Bean, P. leopardus (Lacepède) และ P. laevis (Lacepède)
     ๔. สกุล Promicrops ในน่านน้ำไทยและตลอดเขตอินโด-แปซิฟิก มีชนิดเดียวในสกุลคือ P. lanceolatus (Bloch) เป็นตัวแทนปลากระดูกแข็งชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ของโลก คือ โตยาวได้ถึง ๒.๗ เมตร และหนักกว่า ๔๐๐ กิโลกรัม ลักษณะหัวและลำตัวค่อนข้างจะแบนข้างน้อยกว่าปลากะรังอื่น ๆ ทั้งหมด ทำให้หัวมีลักษณะแบนเมื่อมองจากด้านบน ตามีขนาดเล็ก ช่องว่างระหว่างตาเว้าเล็กน้อย มีฟันที่เพดานปากบนกระดูกหน้าเพดานปาก ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง ๑๑ ก้าน และตามด้วยก้านครีบแขนง ๑๔-๑๖ ก้าน ปลายครีบหางมีขอบกลม เกล็ดเรียบ รูบนเส้นข้างตัวมีลักษณะแตกแขนง ด้วยรูปพรรณที่แตกต่างจากปลากะรังอื่น ๆ ทั้งหมด โดยเฉพาะเมื่อปลาชนิดนี้โตเลยขนาดปลากะรังทั่ว ๆ ไปทำให้ได้ชื่อเป็นเฉพาะว่า “หมอทะเล” ปลาในสกุลเดียวกันนี้ มีอีกชนิดหนึ่งคือ P. itajara (Lichtenstein) ซึ่งพบทั้ง ๒ ฝั่งของทวีปอเมริกา แต่ทางด้านมหาสมุทรแอตแลนติกชุกชุมกว่ามาก มีขนาดเล็กกว่าปลาหมอทะเลเพียงเล็กน้อย
     ๕. สกุล Variola เป็นปลากะรังที่มีลักษณะเด่นมากตรงที่มีครีบหางเว้าลึก โดยมีปลายของครีบหางทั้งบนและล่างยื่นยาวโค้งเป็นรูปเคียว รวมทั้งมีปลายครีบหลังและครีบก้นที่ยื่นยาวเป็นยอดแหลม ซึ่งลักษณะเหล่านี้จะไม่พบในปลากะรังสกุลอื่น ๆ เลย ครีบหลังประกอบด้วยก้านครีบแข็ง ๙ ก้าน และตามด้วยก้านครีบแขนง ๑๓-๑๕ ก้าน ปลายหน้าสุดของขากรรไกรล่างมีฟันเขี้ยวลักษณะโค้งเล็กน้อย ๑-๒ ซี่ ซี่กรองเหงือกมีลักษณะเป็นเพียงปุ่มปมขนาดเล็ก เกล็ดหนามลักษณะสากมือและมีขนาดเล็ก ประกอบกับยังมีสีฉูดฉาด คือจะมีสีพื้นของลำตัว หัว และครีบเป็นสีแสดเข้มมากหรือน้อย และยังมีจุดสีฟ้าอ่อนทั่วไป พบ ๒ ชนิด คือ V. louti (Forsskal) ซึ่งมีขอบครีบหลัง ครีบหาง และครีบก้นเป็นสีเหลือง โตยาวได้ถึง ๘๐ เซนติเมตร และชนิด V. albimarginatus Baissac มีขอบครีบหางสีขาว หรือมิฉะนั้นก็จะมีสีบนครีบต่าง ๆ เป็นสีเดียวกับลำตัวโดยตลอด ยกเว้นครีบอกจะเป็นสีเหลือง พบน้อยกว่าชนิดแรกและโตได้ยาวเพียง ๔๐ เซนติเมตร
     ๖. สกุล Anyperodon ปลากะรังในสกุลนี้มีเพียงชนิดเดียวคือ A. leucogrammicus (Valenciennes) มีลักษณะเด่นคือมีลำตัวแบนข้างและเรียวยาวกว่าปลากะรังอื่น ๆ ทั้งหมด โดยมีความกว้างของลำตัวเป็น ๑ ใน ๓.๒-๓.๕ เท่าของความยาวหัวและลำตัวรวมกัน ส่วนหัวมีความยาวมากกว่าความกว้างของลำตัว ไม่มีฟันบนเพดานปาก ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง ๑๑ ก้าน และตามด้วยก้านครีบแขนง ๑๔-๑๖ ก้าน ปลายครีบหางมีขอบกลมตลอดลำตัวและครีบมีสีเทาอมเขียว และมีจุดสีน้ำตาลแดงกระจายทั่วไป ข้างหัวและลำตัวมีลายยาวสีขาวอมฟ้า ๔-๕ แถบ พาดตามยาวเกือบตลอด ปลาขนาดเล็กจะมีแถบสีฟ้าและแดงสลับกันอยู่ข้างลำตัว พร้อมกับมีจุดสีดำ ๑-๒ จุดที่โคนหาง ปลากะรังชนิดนี้โตยาวได้ถึงประมาณ ๕๓ เซนติเมตร
     ๗. สกุล Acthaloperca ในสกุลนี้มีเพียงชนิดเดียวคือ A. rogaa (Forsskaํl) เป็นปลากะรังหนึ่งในไม่กี่ชนิดที่มีลำตัวสั้นมากคือ ๑ ใน ๒.๑-๒.๔ เท่าของความยาวหัวและลำตัวรวมกันปลาชนิดนี้มีก้านครีบแข็งบนครีบหลัง ๙ ก้าน และตามด้วยก้านครีบแขนง ๑๗-๑๘ ก้าน ปลายครีบหางมีขอบตัดตรง พื้นลำตัว หัว และครีบมีสีน้ำตาลเข้ม รอบโพรงปากมีสีแดงส้ม บนลำตัวเหนือแนวสันท้องระหว่างครีบท้องและครีบก้นมีแถบสีขาวหม่นพาดอยู่ในแนวตั้งจนเกือบถึงเส้นข้างตัว ในปลาขนาดเล็กจะมีลายสีขาวรูปพระจันทร์เสี้ยวพาดอยู่ในแนวตั้งที่ส่วนปลายของครีบหาง ขอบครีบหลังส่วนท้ายก็มีสีขาว พบน้อยมาก โตยาวได้ถึงประมาณ ๖๐ เซนติเมตร
     ๘. สกุล Cromileptes เป็นอีกสกุลหนึ่งที่มีเพียงชนิดเดียวคือ C. altivelis (Valenciennes) และมีลักษณะเด่นมากที่สุด เพราะมีแนวสันหัวบริเวณเหนือตาที่แอ่นลงมากจนทำให้เห็นปลายหัวส่วนจะงอยปากแหลมเชิดไปข้างหน้า ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง ๑๐ ก้าน และตามด้วยก้านครีบแขนง ๑๗-๑๙ ก้าน ทั้งขากรรไกรบนและล่างไม่มีฟันเขี้ยว จมูกรูหลังมีลักษณะเป็นช่องตีบอยู่ในแนวตั้ง มีหนามแหลมบนกระดูกแผ่นปิดเหงือกเพียง ๒ อัน เกล็ดเรียบ พื้นสีทั่วไปออกเขียวนวลหรือน้ำตาลอ่อน และมีจุดสีดำกระจายห่างกันอยู่ทั่วไป โตยาวได้ถึงประมาณ ๗๐ เซนติเมตร เพราะมีลักษณะเด่นที่บริเวณหัวดังกล่าวข้างต้น จึงได้ชื่อเป็นเฉพาะว่า “กะรังหน้างอน” โดยไม่สับสนกับปลากะรังอื่น ๆ ทั้งสิ้น มีการนำมาซื้อขายเป็นปลาสวยงามที่มีราคาแพงชนิดหนึ่ง
     ๙. สกุล Gracila เนื่องจากปลาในสกุลนี้ทั้ง ๒ ชนิดคือ G. polleni (Bleeker) และ G. albomarginatus (Fowler et Bean) มีรายงานว่าพบทั่วไป แต่น้อยมากในมหาสมุทรอินเดีย ตลอด ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคลุมถึงเขตตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งหมดรวมทั้งญี่ปุ่น ฉะนั้น ปลาในสกุลนี้จึงน่าจะพบในน่านน้ำไทยเช่นกัน ปลาดังกล่าวมีหัวขนาดเล็กที่ยาวเพียง ๑ ใน ๓.๐-๓.๑ เท่าของความยาวหัวและลำตัวรวมกัน ที่เพดานปากมีกลุ่มฟันบนกระดูกหน้าเพดานปาก มีก้านครีบแข็งบนครีบหลัง ๙ ก้าน และตามด้วยก้านครีบแขนงอีก ๑๔-๑๕ ก้าน ครีบหางมีขอบตัดตรงหรืออาจเว้าเล็กน้อย เกล็ดหนามลักษณะสากมือ ยกเว้นบริเวณท้องเป็นเกล็ดเรียบ มีสีฉูดฉาดอาจเป็นสีน้ำตาลแดงแล้วมีลายสีฟ้าพาดขวางลำตัว ๑๒-๑๔ แถบ หรือเป็นสีเหลืองแล้วมีลายเส้นสีฟ้าม่วงหลายแถบพาดตามยาวลำตัว
     กะรังเป็นชื่อรวมที่ใช้กันมากที่สุด เป็นที่รู้จักกันดีในทุกชุมชนชายทะเลและผู้ซื้อขายสัตว์น้ำ ปลาในวงศ์นี้ของโลกมีกว่า ๓๐๐ ชนิด ประมาณ ๑๓ สกุล และมีขนาดแตกต่างกันมาก บางชนิดโตยาวสุดได้เพียงประมาณ ๒๐ เซนติเมตร แต่ปลาหมอทะเลโตยาวได้ถึง ๒.๗ เมตร จัดเป็นปลากระดูกแข็งที่โตมากชนิดหนึ่งของโลก และแพร่กระจายอยู่ทั่วโลกตามชายฝั่งทะเลและเกาะแก่ง โดยเฉพาะในเขตร้อนรวมทั้งเขตอบอุ่น มีน้อยชนิดมากที่อาจอยู่ในน้ำลึกเกิน ๒๐๐ เมตร ทุกชนิดเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามพื้นท้องทะเล และพบบริเวณพืดหินปะการังเป็นส่วนใหญ่หรือเขตใกล้เคียงที่มีลักษณะเป็นโขดหิน แต่บ้างก็พบบริเวณซึ่งมีที่หลบซ่อนและแหล่งอาหารในเขตที่มีพรรณไม้น้ำอาจเป็นป่าไม้ชายเลน หรือบริเวณน้ำกร่อยเขตปากแม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบที่เปิดสู่ทะเล และอาจเป็นในกอหรือดงสาหร่าย ขณะเดียวกันบางชนิดก็ยังพบอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำเหนือพื้นทรายหรือทรายปนโคลน ฉะนั้น ปลากะรังส่วนใหญ่จึงมีพฤติกรรมการอยู่อาศัยที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมากกับบริเวณหรือความลึก และคุณสมบัติของน้ำ ตลอดจนประชาคมของสัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ของบริเวณพืดหินปะการัง การมีชื่อว่าปลากะรังนั้นพอจะสืบได้ว่า คำว่า กะรัง (Karang) เป็นภาษามลายู ซึ่งคนในท้องถิ่นตลอดชายฝั่งของประเทศมาเลเซียใช้เรียกปลาหลายชนิดในวงศ์ Serranidae ส่วนคำว่า “Ke๙rapu” เป็นชื่อในภาษามลายูเช่นกัน ใช้เรียกปลาในวงศ์นี้ทั้งหมดซึ่งคนไทยลดคำเหลือเพียง “ราปู”.

 

 

ชื่อหลัก
กะรัง-ปลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Epinephelus spp., Cephalopholis spp., Plectopomus spp., Variola spp., Gracila spp., Cromileptes altivelis (Valenciennes), Promicrops lanceolatus (Bloch), Anyperodon leucogrammicus (Valenciennes) และ Acthaloperca rogaa (Forsskaํl )
ชื่อสกุล
Epinephelus, Cephalopholis, Plectopomus, Variola, Gracila, Cromileptes, Promicrops, Anyperodon, Acth
ชื่อชนิด
spp., altivelis, lanceolatus, leucogrammicus, rogaa
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
(Valenciennes),(Bloch),(Valenciennes),(Forsskal)
ชื่อวงศ์
Serranidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลาเก๋า, ปลาตุ๊กแก (ปลากะรังขนาดเล็กที่มีจุดด่างดวง ก็อาจมีเรียก กันในชื่อนี้), ปลาหมอทะเล [โดยเฉพาะสำหรับชนิด Promicrops lanceolatus (Bloch) และบางครั้งอาจหมายถึงชนิดในสกุล Epinephelus ที่มีสีใกล้เคียงกัน และมีขนาดโตประมาณว่ายาวกว่า ๖๐ เซนติเมตร ขึ้นไป], ปลาราปู (เขตจังหวัดชายทะเลใกล้ประเทศมาเลเซีย สำหรับ ปลากะรังที่มีสีฉูดฉาด และชนิดที่มีขนาดเล็กซึ่งอยู่ตามพืดหินปะการัง)
ชื่อสามัญ
Grouper, Seabass, Rockcod, Reefcod, Hind (สำหรับชนิดในสกุล Cephalopholis และ Gracila), Coral-trout (สำหรับชนิดในสกุล Plectopomus) Lyretail (สำหรับชนิดในสกุล Variola) และ Jewfish [เฉพาะสำหรับชนิด Promicrops lanceolatus (Bloch)] ส่วนชื่อ Rockfish ที่เคยปรากฏว่าใช้เรียกปลาพวกนี้ ในปัจจุบันต่างประเทศบางเขตได้มี ประกาศให้ยกเลิก และสงวนไว้ใช้เรียกปลากะรังหัวโขน ในวงศ์ Scorpaenidae ซึ่งก็มีหลายชนิดที่พบในทะเลน่านน้ำไทย
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ทศพร วงศ์รัตน์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf