กะตัก-ปลา

Encrasicholina spp. , Stolephorus spp.

ชื่อวิทยาศาสตร์
Encrasicholina spp. , Stolephorus spp. วงศ์ Engraulidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลาไส้ตัน, ปลาหัวอ่อน, ปลาหัวไม้ขีด, ปลามะลิ; ปลาเส้นขนมจีน (ปลากะตักขนาดเล็ก ความยาวตลอดตัวไม่เกิน ๔ เซนติเมตร); ปลากล้วย [เฉพาะชนิด Stolephorus indicus (van Hasselt) ที่มีความยาวตลอดตัวมากกว่า ๙ เซนติเมตรขึ้นไป]
ชื่อสามัญ
Whitebait, Anchovy

ลักษณะทั่วไป ปลากะตักเป็นชื่อรวมใช้เรียกปลาทุกชนิดในสกุล Encrasicholina และ Stolephorus ปลาในวงศ์ Engraulidae มีวิวัฒนาการมาสายเดียวกับปลาในวงศ์ Clupeidae เช่น ปลาหลังเขียว และปลากุแลต่าง ๆ โดยมีลักษณะสำคัญที่นำมาใช้เป็นข้อแสดงความแตกต่างอย่างเด่นชัดที่รูปร่าง ขนาด และสัดส่วนของโครงกระดูกบริเวณปากซึ่งมีลักษณะกว้างมาก และมีส่วนท้ายของขากรรไกรบนที่ยาวเลยแนวขอบด้านท้ายของตาในปลาวงศ์ Engraulidae แต่จะไม่ถึงแนวดังกล่าวในปลาวงศ์ Clupeidae
     ปลากะตักมีหัวและลำตัวแบนข้างมากหรือน้อยแล้วแต่ชนิด สำหรับชนิดในสกุล Encrasicholina มักมีลำตัวและหัวเกือบเป็นรูปทรงกระบอก สันหลังและสันท้องมนกลมพอ ๆ กัน แต่ชนิดในสกุล Stolephorus มีทั้งชนิดที่มีรูปร่างคล้ายกับชนิดในสกุล Encrasicholina และชนิดที่มีหัวและลำตัวแบนข้างมากขึ้นตามลำดับจนใกล้เคียงกับปลาแมว (Thryssa spp.) ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกัน
     บริเวณปลายทางด้านหน้าของหัวมีลักษณะโค้งมนตั้งแต่แนวตาและลู่แหลมจนยื่นล้ำปลายขากรรไกรล่างมากหรือน้อยแล้วแต่ชนิด ลักษณะนี้เห็นได้ชัดในปลากะตักทุกชนิดของสกุล Encrasicholina แต่สั้นทู่แตกต่างกันในชนิดของสกุล Stolephorus ทางส่วนท้ายของขากรรไกรบนของปลาในสกุล Encrasicholina หรือค่อนไปทางท้ายของขากรรไกรบนของปลาในสกุล Stolephorus มีกระดูกเหนือขากรรไกรบน (supramaxilla) ๒ ชิ้นในแต่ละข้าง บนขอบขากรรไกรที่ทำหน้าที่เป็นขอบของปากมีฟันขนาดเล็กมากเรียงเป็นแถวเดี่ยวโดยตลอด ฟันที่เพดานปากมีขนาดเล็กเช่นเดียวกันและเรียงเป็นแถวเดียวตามยาวอยู่ ๒ ข้างของเพดานปาก กระดูกแผ่นปิดเหงือกแต่ละชิ้นบางมาก ทั้ง ๒ ข้างแยกจากกันโดยตลอด ช่องเหงือกจึงสามารถเปิดได้กว้าง
     ปลากะตักมีตากลมและใหญ่ อยู่ในแนวแกนหัวแต่ค่อนไปทางด้านหน้า ไม่มีเยื่อใสคลุมซี่กรองเหงือกเป็นแผ่นบางแต่แคบและไม่ยาวนัก ทางด้านบนของโครงเหงือกอันนอกสุดมี ๑๕-๒๗ ซี่ และทางด้านล่างมี ๑๙-๓๓ ซี่ ซี่กรองเหงือกดังกล่าวมีจำนวนน้อยในปลาขนาดเล็กและมากขึ้นตามลำดับในปลาชนิดเดียวกันที่โตขึ้น แต่ก็มีแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับชนิดของปลาแม้จะอยู่ในสกุลเดียวกัน
     เกล็ดของปลากะตักกลม บาง ขอบเรียบ ขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดของปลา บนครีบไม่มีเกล็ดคลุมยกเว้นโคนครีบอกและครีบหาง บริเวณส่วนหัวก็ไม่มีเกล็ดคลุมเช่นเดียวกัน ไม่มีเส้นข้างตัว แถวเกล็ดในแนวแกนลำตัวมีแตกต่างกันระหว่าง ๓๔-๔๔ เกล็ด เกล็ดมักหลุดได้ง่ายทำให้เห็นตัวปลาขุ่นหรือโปร่งแสง
     ปลากะตักทุกชนิดที่พบในทะเลน่านน้ำไทยมีสันหนาม (scute) ๑-๘ อัน แต่ส่วนใหญ่มี ๓-๖ อัน เรียงห่าง ๆ อยู่ในแนวสันท้องระหว่างแนวโคนครีบอกและครีบท้อง สันหนามดังกล่าวแหลม มีวิวัฒนาการเกี่ยวเนื่องกับเกล็ดที่มีกำเนิดในบริเวณเดียวกัน มีลักษณะตลอดจนการเรียงตัวและจำนวนที่สามารถใช้จำแนกปลากะตักจากปลาแมวได้ โดยเฉพาะที่ยังมีขนาดเล็กและคล้ายปลากะตักมากทั้งในด้านรูปร่างและสีสัน ในการจับปลากะตักมักมีปลาแมวขนาดเล็กปะปนมาด้วยเสมอแต่มีจำนวนน้อย
     ก้านครีบของปลากะตักเป็นก้านครีบอ่อนทั้งหมด แต่ละครีบมีขนาดเล็กและลู่พับติดลำตัวเมื่อตายแล้ว ครีบหลังมีตอนเดียว ตั้งเด่นอยู่ประมาณกึ่งกลางระหว่างหัวและครีบหาง ตัวครีบหลังมีลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม มีก้านครีบ ๑๓-๑๗ ก้าน ประมาณก้านที่ ๓-๔ เป็นก้านที่ยาวที่สุดและสั้นลงตามลำดับ ครีบอกอยู่บนลำตัวใกล้แนวสันท้องบริเวณถัดจากหัวเพียงเล็กน้อยและมีก้านครีบรวม ๑๒-๑๗ ก้าน ครีบท้องอยู่ชิดสันท้องในแนวระหว่างปลายครีบอกและหน้าครีบหลัง เป็นครีบที่มีขนาดเล็กที่สุด และมีก้านครีบ ๗ ก้าน ครีบก้นมีขนาดและรูปร่างใกล้เคียงกับครีบหลัง ตัวครีบตั้งอยู่ในแนวสันท้องระหว่างครีบท้องและครีบหาง มีก้านครีบ ๑๔-๒๓ ก้าน ซึ่งน้อยกว่าปลาแมวที่มี ๒๗-๔๙ ก้าน แม้รูปร่างจะคล้ายกันดังกล่าวแล้ว ครีบหางเป็นครีบใหญ่ที่สุดมีปลายแยกเป็นแฉกรูปส้อม และยาวพอ ๆ กัน เฉพาะมุมบนของครีบอกและครีบท้องมีเกล็ดเรียวยาว ๑ เกล็ด
     ตลอดหัวและลำตัวโดยทั่วไปมีสีเงินหรือเงินยวง เฉพาะส่วนหลังมักมีสีอมฟ้า อมเขียว หรือคล้ำ บริเวณส่วนกลางสันหัวชิดกับท้ายทอยมักมีกลุ่มจุดสีดำเด่นมากน้อยแตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับชนิดและระยะการเติบโต ทุกชนิดในทั้ง ๒ สกุลมีแถบสีเงินยวงขนาดกว้างพอ ๆ กับเส้นผ่านศูนย์กลางตา พาดตลอดแนวแกนลำตัวจากช่องเหงือกถึงโคนหาง เมื่อเกล็ดในบริเวณนี้หลุดไปจะพบเป็นแถบสีเทาหรือคล้ำพาดอยู่แทนแต่เป็นที่เนื้อของลำตัว โดยเฉพาะชนิดในสกุล Encrasicholina จะเห็นเป็นแถบสีดังกล่าวแต่เข้มกว่าที่พบในชนิดของสกุล Stolephorus มาก ครีบต่าง ๆ ไม่มีสีเด่นใด ๆ ปรากฏ นอกจากสีอมเหลืองที่บางครั้งจะพบเลือนรางอยู่บนครีบเดี่ยว โดยเฉพาะครีบหางของปลาในสกุล Stolephorus ซึ่งปรกติครีบหางนี้จะหม่นคล้ำในปลากะตักทุกชนิด ส่วนเกล็ดรูปร่างยาวที่อยู่เหนือครีบอกและครีบท้องมีสีเงินยวงเด่นมาก และเกล็ดนี้มักไม่หลุดไปโดยง่ายไข่ของปลากะตักทุกชนิดเป็นประเภทไข่ลอย รูปร่างกลมรี ขนาดเล็กประมาณ ๐.๗ * ๑.๓ มิลลิเมตร มีจำนวนมาก
     อาหารของปลากะตักส่วนใหญ่เป็นลูกกุ้ง เคอย ไรน้ำ ไข่ปลา และลูกปลา รวมทั้งตัวอ่อนของสัตว์น้ำอื่น ๆ และสาหร่ายขนาดเล็กหรือไดอะตอม ซึ่งประเภทหลังมักพบเป็นปริมาณมากในกระเพาะของปลาในสกุล Encrasicholina
     ปลากะตักเป็นปลาฝูง อาศัยอยู่ใกล้ผิวน้ำ สำหรับทุกชนิดในสกุล Encrasicholina มักพบอยู่เป็นฝูงใหญ่ห่างฝั่งหรือบริเวณรอบเกาะที่มีน้ำลึกและใส เช่น ในเขตทะเลอันดามัน ปรกติจับได้เป็นชนิดใดชนิดหนึ่งล้วน ๆ ในแต่ละครั้ง ครั้งละมาก ๆ ส่วนชนิดในสกุล Stolephorus มักพบเป็นฝูงเล็ก ๆ อยู่ใกล้ฝั่งที่มีความเค็มน้อยกว่า โดยเฉพาะที่มีน้ำกร่อยแม้ในบริเวณส่วนลึกเข้าไปจากปากแม่น้ำลำคลองหรือทะเลสาบ รวมทั้งในนากุ้ง ปรกติจับได้ปะปนกันครั้งละหลายชนิดหรือพร้อม กับลูกปลาอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปลาที่เรียกซ้ำซ้อนกันว่า ปลาไส้ตัน บ้างก็เรียก ปลาเกล็ดขาว ซึ่งเป็นชนิด Escualosa thoracata (Valenciennes) ในวงศ์ Clupeidae ที่มีขนาด รูปร่าง และสีสัน รวมทั้งการอยู่เป็นฝูง ใกล้เคียงกันอยู่มากหรือพร้อมกับปลาหัวแข็งชนิด Allanetta forskali (Rüppell) และ Stenatherina temmincki (Bleeker) วงศ์ Atherinidae ซึ่งเป็นปลาฝูงผิวน้ำอยู่ใกล้ฝั่งเช่นเดียวกัน
     เครื่องมือจับปลากะตักที่ใช้ในท้องถิ่นทั้งด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามันส่วนใหญ่จะเป็นประเภทอวน เช่น อวนลอยล้อมจับ อวนเข็น อวนยอ อวนเคอย อวนทับตลิ่ง อวนรุน แม้การใช้แสงไฟล่อประกอบอวนยกและอวนซั้ง ตลอดจนรั้วไซมานและโป๊ะก็จับปลากะตักได้ไม่น้อย ปรกติการจับปลากะตักด้วยอวนจะทำกันในเวลากลางคืนจนถึงเช้า
     ปลากะตักเป็นปลาขนาดเล็ก โตเต็มที่ความยาวตลอดตัวไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร ปริมาณที่จับได้ในน่านน้ำไทยแต่ละปีมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับปลาอื่น ๆ โดยมีระยะชุกชุมที่สุดประมาณในช่วงฤดูฝน ปลากะตักขนาดใหญ่ซึ่งมักเป็นชนิดในสกุล Stolephorus ที่มีคุณสมบัติคงสภาพสดได้นานกว่าชนิดในสกุล Encrasicholina จะมีการคัดแล้วนำมาซื้อขายบริโภคสดเพราะปลาในสกุลหลังส่วนท้องและอวัยวะภายในจะเปื่อย สลายตัว ทำให้ขาดสภาพสดหรือที่เรียกกันว่า ลุ่มเนื้อ ได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่จะนำปลาเหล่านี้มาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำน้ำปลาที่มีคุณภาพดีหรือทำปลาแห้ง หากเป็นปลาขนาดเล็กมากก็มักใช้ทำกะปิกันในท้องถิ่น
     ในการล่อตกปลาทูน่าที่เป็นปลาหลายชนิดในวงศ์ Scombridae ด้วยเบ็ดตวัด ได้มีการทดลองจนประสบผลในขั้นหนึ่งในน่านน้ำไทยทางด้านทะเลอันดามัน คือพบว่า ปลากะตักที่ถูกจับและขังไว้ให้ยังมีชีวิตครั้งละจำนวนมาก ๆ จัดเป็นเหยื่อล่อปลาทูน่าที่มีคุณภาพดีสำหรับการประมงประเภทนี้ และก่อนหน้านี้ตลอดมาจนถึงปัจจุบันก็มีการใช้กันแพร่หลายในหลายประเทศเขตอินโด-แปซิฟิกด้านตะวันตก สำหรับประเทศไทย ปลากะตักที่จับได้มากด้วยอวนยกประกอบด้วยไฟล่อในงานทดลองดังกล่าวคือ ชนิด Encrasicholina devisi (Whitley) และ E. heterolobus (Rüppell)
     ชนิดปลากะตักที่เคยสำรวจพบในน่านน้ำไทยมีอยู่เพียงใน ๒ สกุลดังกล่าว ซึ่งแต่เดิมเคยจัดรวมไว้ในสกุลเดียวกันคือ Stolephorus ปลาที่คาดว่าน่าจะพบในเขตทะเลของไทยอีกชนิดหนึ่งคือ Engraulis japonicus (Temminck et Schlegel) มีลักษณะภายนอกใกล้เคียงกับปลากะตักในสกุล Encrasicholina มาก แต่คงจะอยู่ห่างฝั่งที่มีความเค็มสูงมาก ซึ่งการประมงพื้นบ้านในการจับปลาผิวน้ำเหล่านี้ยังไปไม่ถึง ปลากะตักใน ๒ สกุล มีลักษณะเด่นที่ใช้จำแนกออกจากกัน โดยแต่ละสกุลยังมีชนิดและลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้ คือ


     ๑. สกุล Encrasicholina มีคอดคอซึ่งเห็นเป็นท่อนกล้ามเนื้ออยู่ส่วนล่างของหัวระหว่างแผ่นปิดเหงือกทั้ง ๒ ข้างสั้น โดยคลุมไม่ถึงปลายทางด้านหน้าของกระดูกใต้คาง นอกจากนี้เป็นลักษณะอื่น ๆ ของระบบกระดูกและประสาทที่เด่นแต่ค่อนข้างซับซ้อนในทางวิชาการ กระเพาะลมของปลากะตักในสกุลนี้โป่งพองตลอดความยาว ทุกชนิดมีหัวยาวมากกว่ากว้างหรือสูงอย่างเห็นได้ชัด ลำตัวเรียวยาวมีหน้าตัดขวางค่อนข้างกลม รูปร่างจึงคล้ายทรงกระบอก ครีบก้นเริ่มต้นในแนวตรงข้าม กับท้ายสุดของฐานครีบหลังหรือห่างออกไปอีก ปลาที่ถูกจับและเกล็ดหลุดไปโดยง่ายมักมีแถบข้างตัวเป็นสีคล้ำแต่เด่นมาก ไข่ปลาในสกุลนี้มีลักษณะรีและไม่มีส่วนยื่นเป็นตุ่มคล้ายหัวนมที่ปลายด้านหนึ่งอย่างไข่ปลาบางชนิดในสกุล Stolephorus
     ปลาในสกุล Encrasicholina ทั้ง ๕ ชนิดของโลกแพร่กระจายอยู่ในทะเลหรือเขตน้ำกร่อยบริเวณอินโด-แปซิฟิกด้านตะวันตก พบในน่านน้ำไทยรวม ๓ ชนิด คือ
          ๑.๑ ชนิด Encrasicholina devisi (Whitley) ชื่ออื่น ๆ ปลากะตักหัวแหลม ชื่อสามัญ Devis’ Anchovy ตอนหน้าสุดของครีบหลังและครีบก้นมีก้านครีบเดี่ยวขนาดเล็กมาก ๓ ก้าน เฉพาะ ครีบก้นมีก้านครีบแขนงอีก ๑๕-๑๗ ก้าน ครีบก้นเริ่มต้นในแนวตรงข้ามกับท้ายสุดของฐานครีบหลัง บนกระดูกใต้คางที่อยู่ระหว่างแผ่นปิดเหงือกมีส่วนของขอบด้านล่างที่ขยายตัวแผ่เป็นแผ่นกระดูกขนาดเล็กมาก ซี่กรองเหงือกบนส่วนล่างของโครงเหงือกอันนอกสุดมี ๒๐-๒๗ ซี่ ปลาชนิดนี้แพร่กระจายเป็นบริเวณกว้างตั้งแต่หมู่เกาะฟิจิ ฝั่งตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย รอบหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงเกาะไต้หวัน รอบคาบสมุทรอินโดจีน ทะเลอันดามันจนถึงอ่าวเปอร์เซียและอ่าวเอเดน พบชุกชุมและจับได้มากตลอดเขตน่านน้ำไทย บริเวณห่างเขตน้ำกร่อยเล็กน้อย โตเต็มที่ยาวได้ถึง ๗.๗ เซนติเมตร ปลาเพศเมียขนาดยาวประมาณ ๔ เซนติเมตรจะเริ่มวางไข่ได้
          ๑.๒ ชนิด Encrasicholina heterolobus (Rüppell) ชื่ออื่น ๆ ปลากะตักหัวแหลม ชื่อสามัญ Shorthead Anchovy ส่วนหน้าสุดของครีบหลังและครีบก้นมีก้านครีบเดี่ยวขนาดเล็กมากเพียง ๒ ก้าน เฉพาะครีบก้นมีก้านครีบแขนงอีก ๑๔-๑๖ ก้าน ครีบก้นเริ่มต้นในแนวตรงข้ามกับท้ายสุดของฐานครีบหลัง บนกระดูกใต้คางที่อยู่ระหว่างขอบล่างของแผ่นปิดเหงือกทั้ง ๒ ด้านมีส่วนของกระดูกที่ขยายตัวแผ่เป็นแผ่นกระดูกขนาดเล็กมาก ซี่กรองเหงือกที่ส่วนล่างของโครงเหงือกอันนอกสุดมี ๒๒-๓๐ ซี่ ปลาชนิดนี้มีเขตแพร่กระจายกว้างกว่าชนิดแรกเล็กน้อย คือ คลุมจากทะเลตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นจนถึงทะเลแดงและฝั่งด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกาในแนวเกาะมาดากัสการ์ พบชุกชุมพอ ๆ กับชนิดแรก และมักจับได้ในบริเวณเดียวกันแต่มักแยกฝูงกันอยู่ โตเต็มที่ยาวได้ถึง ๘ เซนติเมตร ปลาเพศเมียขนาดยาวประมาณ ๔ เซนติเมตรจะเริ่มวางไข่ได้
          ๑.๓ ชนิด Encrasicholina punctifer Fowler ชื่อวิทยาศาสตร์อื่น Stolephorus buccaneeri Strasburg ชื่อสามัญ Buccaneer Anchovy ตอนหน้าสุดของครีบหลังและครีบก้นมีก้านครีบเดี่ยว ๓ ก้าน เฉพาะครีบก้นมีก้านครีบแขนง ๑๓-๑๔ ก้าน ครีบก้นมีจุดเริ่มต้นห่างจากแนวท้ายครีบหลังเห็นได้ชัด ส่วนท้ายของขากรรไกรบนสั้นและทู่มากจึงต่างจาก ๒ ชนิดแรกที่ยื่นยาวกว่าเล็กน้อย และมีปลายแหลม บนกระดูกใต้คางตรงส่วนที่ไม่มีกล้ามเนื้อคลุมถึงมีส่วนที่ขยายตัวเป็นปุ่มขนาดเล็กมากและคลุมด้วยเนื้อเยื่อ ซี่กรองเหงือกที่ส่วนล่างของโครงเหงือกอันนอกสุดมี ๒๓-๒๖ ซี่ เขตแพร่กระจายของปลาชนิดนี้กว้างกว่าอีก ๒ ชนิดแรก คือ พบตั้งแต่หมู่เกาะแปซิฟิกตอนใต้ ฝั่งตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย ถึงเกาะฮาวาย ประเทศญี่ปุ่น หมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาบสมุทรมลายู ฝั่งทะเลของภูมิภาคเอเชียใต้ อ่าวเปอร์เซีย ทะเลแดง และตลอดฝั่งด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกา ปลากะตักชนิดนี้เป็นชนิดเดียวของไทยที่พบในเขตห่างฝั่งมากที่สุดจึงรู้จักกันน้อย เพราะสภาพการประมงของประเทศทำกันใกล้ฝั่งและเน้นทางด้านปลาหน้าดินที่จับได้จากอวนลาก โตเต็มที่ยาวได้ถึง ๘.๕ เซนติเมตร ปลาเพศเมียขนาดประมาณ ๕ เซนติเมตรจะเริ่มวางไข่ได้ ปลาขนาด ๕.๐-๕.๕ เซนติเมตรมีไข่ประมาณ ๗,๕๐๐-๑๓,๐๐๐ ฟอง

 


     ๒. สกุล Stolephorus มีคอดคอยาว คือเห็นเป็นกล้ามเนื้อคลุมกระดูกใต้คางโดยตลอด และยังมีความแตกต่างที่ซับซ้อนทางวิชาการด้านระบบกระดูกและระบบประสาท กระเพาะลมของปลากะตักในสกุลนี้มีทั้งที่แสดงเค้าคล้ายที่พบในชนิดของสกุล Encrasicholina แต่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะตีบเป็นท่อเล็กมากทางครึ่งแรก ส่วนครึ่งหลังโป่งพอเห็นได้ชัดเจน ปลาสกุล Stolephorus นี้มีอยู่ถึง ๑๙ ชนิด และแพร่กระจายอยู่ในเขตอินโด-แปซิฟิกด้านตะวันตกทั้งสิ้น ลักษณะรูปร่างหัวและลำตัวรวมทั้งตำแหน่งของครีบแตกต่างลดหลั่นกัน ตั้งแต่ที่ใกล้เคียงกับชนิดในสกุล Encrasicholina จนกระทั่งชนิดที่มีส่วนหัวและลำตัวแบนข้างมากจนคล้ายปลาแมว ซึ่งเป็นปลาสกุลใกล้เคียงกันมากในทางวิวัฒนาการ โดยเฉพาะส่วนหัวของปลากะตักหลายชนิดในสกุล Stolephorus นี้มีความยาวของหัวพอ ๆ กับความกว้างหรือสูง และครีบก้นมีจุดเริ่มต้นอยู่ในแนวใต้ฐานครีบหลัง แถบสีข้างตัวของปลาในสกุลนี้เป็นสีเงินหรือเงินยวง สีในบริเวณเดียวกันเมื่อเกล็ดหลุดไปหลังถูกจับจะเห็นเป็นแถบสีเทาอ่อนหรือน้ำตาลอ่อนแตกต่างกันแล้วแต่ชนิดและสภาพหลังจับ ไข่กลมรี แต่บางชนิดยังมีปลายข้างหนึ่งยื่นเป็นตุ่มคล้ายหัวนม
     ในเขตน่านน้ำไทยสำรวจพบปลากะตักในสกุลนี้รวม ๙ ชนิด เนื่องจากมีจำนวนมากและทุกชนิดยังมีขนาดเล็ก และมีสีรวมทั้งลักษณะทั่วไปที่ใกล้เคียงกันมาก ซ้ำยังมีส่วนจับได้ปะปนกันในเครื่องมือเดียวกันหรือรวบรวมมาจำหน่ายพร้อม ๆ กัน การจำแนกชนิดปลากะตักในสกุลนี้จึงต้องอาศัยความชำนาญ ความละเอียดถี่ถ้วน เพื่อค้นหาลักษณะรูปพรรณหรือข้อมูลต่าง ๆ มาพิจารณาในเชิงเปรียบเทียบระหว่างชนิดมากกว่า ๑ ลักษณะ และมีขั้นตอนเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ข้อมูลทางด้านการแพร่กระจายก็มีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการตัดสินปัญหาทางอนุกรมวิธานของปลาเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ปลากะตักทั้ง ๙ ชนิดในสกุล Stolephorus มีชนิดและลักษณะที่ควรทราบดังนี้ คือ
          ๒.๑ ชนิด Stolephorus indicus (van Hasselt) (ดู กล้วย-ปลา) ชื่ออื่น ๆ ปลากะตักควาย ชื่อสามัญ Indian Anchovy เป็นปลากะตักในสกุล Stolephorus ที่มีลักษณะทางอนุกรมวิธานใกล้เคียงกับปลากะตักในสกุล Encrasicholina มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบลักษณะของกระดูกบริเวณแผ่นปิดเหงือก ขากรรไกรบน และเส้นประสาท ตลอดจนลักษณะของอวัยวะภายในที่สำคัญ คือ กระเพาะอาหาร กระเพาะลม และท่อเชื่อมระหว่างอวัยวะทั้งสองที่เรียกว่า pneumatic duct ปลาชนิดนี้โตเต็มที่ยาวได้ถึง ๑๕.๓ เซนติเมตร ส่วนใหญ่พบขนาด ๑๐-๑๒ เซนติเมตร ปลาขนาด ๑๒-๑๔ เซนติเมตรมีไข่ ๙,๐๐๐-๑๔,๐๐๐ ฟอง ปลายข้างหนึ่งของไข่ยื่นเป็นตุ่มขนาดเล็ก
          ๒.๒ ชนิด Stolephorus commersonii Lacepède ชื่อสามัญ Commerson’ Anchovy มีขอบทางด้านท้ายของกระดูกแผ่นปิดเหงือกชิ้นหน้าโค้งมนเช่นเดียวกับชนิดแรก ชนิดที่ ๓ และ ๔ รวมทั้งชนิดที่ ๗-๙ ซี่กรองเหงือกบนส่วนของกระดูกโครงเหงือกอันนอกสุดมี ๒๓-๒๘ ซี่ จึงใกล้เคียงกับชนิด S. chinensis (Günther) มาก แต่แตกต่างจากชนิดดังกล่าวคือ มีจุดสีคล้ำเรียงอยู่เป็นเส้นคู่ในแนวกลางสันหลังจากบริเวณท้ายทอยถึงครีบหลัง และมีปลายครีบท้องที่ยื่นถึงแนวใต้ก้านครีบหลังก้านแรก ๆ ปลาเพศเมียขนาดประมาณ ๕ เซนติเมตรจะเริ่มวางไข่ครั้งแรก ปลาขนาด ๘.๒-๘.๗ เซนติเมตรมีไข่ ๕,๔๐๐-๑๐,๐๐๐ ฟอง ปลายข้างหนึ่งของไข่ยื่นเป็นตุ่มขนาดเล็ก ปลากะตักชนิดนี้มีเขตแพร่กระจายกว้างมาก ตั้งแต่รอบเกาะนิวกินี หมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ถึงเกาะฮ่องกง รอบคาบสมุทรมลายู ตลอดฝั่งตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดีย อ่าวเอเดนถึงฝั่งด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกาในแนวเหนือของเกาะมาดากัสการ์ พบเสมอตลอดทั้งปีแต่ชุกชุมที่สุดประมาณเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม โตเต็มที่ยาวได้ถึง ๑๐ เซนติเมตร
          ๒.๓ ชนิด Stolephorus chinensis (Günther) ชื่อสามัญ China Anchovy (ดูข้อเปรียบเทียบดังที่กล่าวไว้ในชนิด S. commersonii Lacepède) ชนิดนี้มีซี่กรองเหงือก ๒๔-๒๘ ซี่ และหน้าครีบหลังไม่มีร่องรอยของจุดสี ส่วนปลายครีบท้องเมื่อลู่แนบกับแนวสันท้องทอดไปไม่ถึงแนวใต้จุดเริ่มต้นครีบหลัง พบอยู่ใกล้ฝั่งโดยเฉพาะในเขตน้ำกร่อยตั้งแต่ประเทศจีนจนถึงอ่าวไทยแต่ไม่ปรากฏว่ามีชุกชุม โตเต็มที่ยาวได้ถึง ๙ เซนติเมตร
          ๒.๔ ชนิด Stolephorus waitei Jordan et Seale ชื่อสามัญ Spotty-face Anchovy คล้ายชนิด S. chinensis (Günther) ในลักษณะที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่มีซี่กรองเหงือกเพียง ๑๙-๒๕ ซี่ และบริเวณใต้ตากับส่วนจะงอยปากล่างมีจุดสีดำกระจายอยู่ทั่วไป พบแพร่กระจายอยู่ตั้งแต่ทะเลนอกฝั่งรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ตอนใต้ของเกาะนิวกินี ประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ อ่าวไทย ทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล ถึงด้านตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย เป็นปลากะตักชนิดหนึ่งที่ชุกชุม โตเต็มที่ยาวได้ถึง ๙.๔ เซนติเมตร ปลาเพศเมียขนาดประมาณ ๔.๖ เซนติเมตรจะเริ่มวางไข่
          ๒.๕ ชนิด Stolephorus andhraensis Baber et Rao ชื่อสามัญ Andhra Anchovy เป็นปลากะตักในน่านน้ำไทยที่ด้านท้ายของกระดูกแผ่นปิดเหงือกชิ้นหน้ามีขอบเว้า แต่มีซี่กรองเหงือกที่ส่วนล่างของโครงเหงือกอันนอกสุดเพียง ๒๐-๒๑ ซี่ ไม่มีหนามแหลมที่หน้าจุดเริ่มต้นของครีบหลังซึ่งมีก้านครีบรวมทั้งสิ้น ๒๐-๒๑ ก้าน และไม่มีร่องรอยของจุดสีดำที่เรียงเป็นเส้นคู่อยู่ในแนวกลางสันหลังระหว่างครีบหลังและครีบหาง พบน้อยมากและเป็นครั้งคราวในเขตอ่าวปาปัว ทะเลชวา อ่าวไทยตอนล่าง และทะเลด้านตะวันออกของประเทศอินเดีย โตเต็มที่ยาวไม่เกิน ๕ เซนติเมตร
          ๒.๖ ชนิด Stolephorus insularis Hardenberg ชื่อสามัญ Hardenberg’ Anchovy เป็นชนิดเดียวในน่านน้ำไทยที่เหมือนชนิดที่ ๕ แต่มีซี่กรองเหงือกที่ส่วนล่างของโครงเหงือกอันนอกสุด มากถึง ๒๓-๒๗ ซี่ และยังพบว่าปลาชนิดนี้บางฝูงมีหนามแหลมขนาดเล็กมาก ๑ อันอยู่ที่หน้าจุดเริ่มต้นของครีบหลัง แต่หนามแหลมนี้มักหลุดหายไปในปลาขนาดโตหรือเมื่อถูกจับด้วยเครื่องมือประมง ครีบหลังมีก้านครีบ ๑๗-๒๐ ก้าน พบแพร่กระจายในทะเลชายฝั่งตั้งแต่เขตเกาะไต้หวัน ฮ่องกง อ่าวไทย ทะเลชวา ทะเลอันดามัน ตลอดชายฝั่งของประเทศอินเดียถึงอ่าวเอเดน แม้เป็นปลาขนาดเล็ก โตเต็มที่ยาวไม่เกิน ๖.๔ เซนติเมตร แต่ก็ชุกชุมมาก
          ๒.๗ ชนิด Stolephorus dubiosus Wongratana ชื่ออื่น ๆ ปลากะตักหัวป้าน, ปลากะตักเกล็ดมะลิ, ปลาลูกเมะ ชื่อสามัญ Thai Anchovy เป็นปลากะตักในน่านน้ำไทยที่มีหัวและลำตัวแบนข้างหรือกว้างมากกว่าชนิดอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด แต่คล้ายกันมากกับอีก ๒ ชนิดที่จะกล่าวต่อไป ที่สำคัญคือเป็น ๑ ใน ๓ ชนิดหลังนี้ที่มีหนามเล็กแต่แข็งแรงอยู่หน้าจุดเริ่มต้นของครีบหลัง และที่ระหว่างครีบท้องแห่งละ ๑ อัน และต่างก็มีขอบทางด้านท้ายของกระดูกแผ่นปิดเหงือกชิ้นหน้าโค้งมน ที่ปลายครีบหางด้านในต่างก็มีขอบสีดำ ขณะยังสดโดยทั่วไปจะเป็นสีเหลืองอ่อนทั้ง ๓ ชนิด แต่ชนิดนี้มีซี่กรองเหงือกที่ส่วนล่างของโครงเหงือกอันนอกสุดมากถึง ๒๕-๓๑ ซี่ โดยส่วนใหญ่มี ๒๖-๒๘ ซี่ มีจุดสีดำเรียงเป็นเส้นคู่ในแนวกลางสันหลังระหว่างครีบหลังถึงครีบหาง พบแพร่กระจายอยู่ในอ่าวไทยถึงทะเลชวาจนถึงฝั่งตอนเหนือของอ่าวเบงกอล อาศัยในน้ำกร่อย พบครั้งละเล็กน้อยและเป็นครั้งคราว โตเต็มที่ยาวได้ถึง ๗.๕ เซนติเมตร
          ๒.๘ ชนิด Stolephorus baganensis Hardenberg ชื่ออื่น ๆ ปลากะตักหัวป้าน, ปลากะตักเกล็ด, ปลามะลิ, ปลาลูกเมะ ชื่อสามัญ Bagan Anchovy คล้ายชนิดที่ ๗ แต่มีซี่กรองเหงือกบนส่วนล่างของโครงเหงือกอันนอกสุดเพียง ๒๐-๒๓ ซี่ แพร่กระจายอยู่ในเขตน้ำกร่อยของทะเลจีนตอนใต้ อ่าวไทย จนถึงฝั่งด้านตะวันออกของประเทศอินเดีย พบเสมอแต่เป็นครั้งละเล็กน้อย โตเต็มที่ยาวได้ถึง ๖.๘ เซนติเมตร ปลาเพศเมียเริ่มวางไข่เมื่อมีขนาดประมาณ ๔ เซนติเมตร ไข่มีลักษณะกลมรีสม่ำเสมอ
          ๒.๙ ชนิด Stolephorus tri (Bleeker) ชื่ออื่น ๆ ปลากะตักหัวป้าน, ปลากะตักเกล็ด, ปลามะลิ, ปลาลูกเมะ ชื่อสามัญ Spined Anchovy คล้ายชนิดที่ ๗ และ ๘ มากที่สุด แต่มีซี่กรองเหงือกบนส่วนล่างของโครงเหงือกอันนอกสุดน้อยกว่าคือ มีเพียง ๑๘-๒๒ ซี่ ที่สำคัญคือมีจุดสีดำเรียงเป็นเส้นคู่อยู่ในแนวกลางสันหลังจากท้ายทอยถึงครีบหาง แพร่กระจายอยู่ในเขตน้ำกร่อยบริเวณอ่าวไทยถึงทะเลระหว่างเกาะสุมาตรา ชวา และบอร์เนียว พบเสมอครั้งละเล็กน้อย โตเต็มที่ยาวได้ถึง ๙.๕ เซนติเมตร.

 

 

 

 

ชื่อหลัก
กะตัก-ปลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Encrasicholina spp. , Stolephorus spp.
ชื่อสกุล
Encrasicholina, Stolephorus
ชื่อชนิด
spp.
ชื่อวงศ์
Engraulidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลาไส้ตัน, ปลาหัวอ่อน, ปลาหัวไม้ขีด, ปลามะลิ; ปลาเส้นขนมจีน (ปลากะตักขนาดเล็ก ความยาวตลอดตัวไม่เกิน ๔ เซนติเมตร); ปลากล้วย [เฉพาะชนิด Stolephorus indicus (van Hasselt) ที่มีความยาวตลอดตัวมากกว่า ๙ เซนติเมตรขึ้นไป]
ชื่อสามัญ
Whitebait, Anchovy
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ทศพร วงศ์รัตน์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf