กอ-หนอน

ชื่ออื่น ๆ
หนอนกอข้าว, หนอนเจาะต้นข้าว
ชื่อสามัญ
Purple-lined Stem Borer, Striped Rice Borer, Yellow Rice Borer, Pink Stem Borer

ลักษณะทั่วไป เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืนที่เจาะลำต้นข้าว กัดกินภายในลำต้นข้าวในระหว่างที่ข้าวแตกกอ ยังผลให้ต้นข้าวมีอาการยอดเหี่ยว (dead heart) และแห้งตาย หากข้าวอยู่ในระหว่างตั้งท้อง เมื่อข้าวออกรวงเมล็ดข้าวจะลีบ มีแต่เปลือกหุ้มสีขาว ซึ่งชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “ข้าวหัวหงอก” หนอนกอมีหลายชนิด ที่พบเห็นกันเสมอ ๆ มี ๕ ชนิด คือ
     ๑. หนอนกอสีม่วง [Chilo polychrysus (Meyrick) ชื่อวิทยาศาสตร์อื่น Chilotraea polychrysa Meyrick] วงศ์ Pyralidae ชื่ออื่น ๆ หนอนกอแถบลายสีม่วง ชื่อสามัญ Top Borer, Dark-headed Stem Borer, Purple-lined Stem Borer หัวหนอนสีน้ำตาลแก่เกือบดำ และมีแถบสีเดียวกันพาดตามขวางใกล้หัว แถบสีม่วงอมน้ำตาลอ่อน ๕ แถบพาดไปตามความยาวของลำตัว โดยแถบกลางซึ่งพาดอยู่บนสันหลังมีสีเหลืองอมน้ำตาล เมื่อโตเต็มที่ยาว ๒-๓ เซนติเมตร ดักแด้ระยะแรกสีขาวหม่นและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในเวลาไม่นานนัก ส่วนหัวเหนือตามีโหนกยื่นออกไปข้างละโหนก ปลายสุดของท้องค่อนข้างแหลม เมื่อออกจากดักแด้เป็นตัวเต็มวัยจะเป็นผีเสื้อ ตัวผู้เล็กกว่าตัวเมียเล็กน้อย กางปีกวัดจากปลายปีกข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งได้ยาว ๒.๐-๒.๕ เซนติ-เมตร ลำตัววัดจากหัวไปถึงปลายหางประมาณ ๑.๒ เซนติเมตร ตัวเมียวัดเมื่อกางปีกยาว ๒.๔-๓.๐ เซนติเมตร ลำตัวยาวประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีเกล็ดสีน้ำตาลอมแดงหรือน้ำตาลอมเหลืองปกคลุมที่หัว อก และปีก ตัวเมียมีจุดสีน้ำตาลแก่หรือน้ำตาลอมแดงเหมือนสีสนิมเหล็กกระจายอยู่ประปรายตามปีก ส่วนตัวผู้จุดเหล่านี้จะเรียงรายเป็นรูปง่ามอยู่กลางปีก ปีกคู่หลังของผีเสื้อชนิดนี้สีค่อนข้างขาวตลอดและมีขนรอบปลายปีก แม่ผีเสื้อวางไข่เป็นแถว ๒-๔ แถว ไข่แบนราบเรียงซ้อนกันคล้ายเกล็ดปลา ไม่มีขนหรือใยปกคลุม
     ๒. หนอนกอลาย [Chilo suppressalis (Walker)] วงศ์ Pyralidae ชื่ออื่น ๆ หนอนกอแถบลาย ชื่อสามัญ Striped Rice Borer, Striped Stalk Borer, Striped Stem Borer, Rice Chilo, Asian Rice Chilo หนอน ดักแด้ ผีเสื้อ และไข่ มีรูปร่างลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับหนอนกอสีม่วงมาก แต่จะสังเกตเห็นความแตกต่างได้ที่หัวซึ่งเป็นสีน้ำตาลอ่อน ไม่มีแถบสีน้ำตาลแก่พาดที่อก แถบลาย ๕ แถบที่พาดตามความยาวลำตัวเป็นสีน้ำตาล ด้านหน้าของดักแด้มีปลายแหลม หนามที่ปลายส่วนท้องทู่ ที่ส่วนหัวของผีเสื้อมีอวัยวะของปากยื่นออกไปเป็น ๒ แฉก ตามปีกคู่หน้ามีจุดดำเล็ก ๆ คล้ายฝุ่นกระจายอยู่ทั่วไป และที่ขอบปีกมีจุดดำขนาดใหญ่กว่าเรียงอยู่ข้างละ ๗ จุด ปีกคู่หลังสีน้ำตาลอ่อน แม่ผีเสื้อวางไข่เป็นกลุ่มลักษณะเป็นแพ ไข่แบนราบเรียงซ้อนกันคล้ายเกล็ดปลา สีขาวขุ่นเป็นมัน ไม่มีขนหรือใยปกคลุม
     ๓. หนอนกอสีครีม [Scirpophaga incertulas (Walker) ชื่อวิทยาศาสตร์อื่น Tryporyza incertulas (Walker)] วงศ์ Pyralidae ชื่อสามัญ Paddy Borer, Yellow Rice Borer, Yellow Stem Borer มีขนาดเล็กกว่าหนอนกอสีม่วงและหนอนกอลายเล็กน้อย หัวหนอนสีน้ำตาลหรือส้มอมเหลือง ลำตัวสีขาวหรือขาวนวล ไม่มีแถบลาย ดักแด้สีขาวหรือขาวนวล มีจุดดำคล้ายตา ๒ จุดที่หัว ขาหลังยื่นยาวออกมาเกือบจดปลายลำตัว ผีเสื้อมีอวัยวะของปากยื่นยาวออกไปเป็นคู่ ตัวเมียมีปีกคู่หน้าสีเหลืองอ่อนหรือสีขาวนวลจนเกือบขาว และมีจุดดำตรงกลางปีกข้างละ ๑ จุด ชาวบ้านมักเรียกผีเสื้อของหนอนกอชนิดนี้ว่า แมลงชีปะขาวหรือชีผ้าขาว ตัวผู้มีปีกคู่หน้าสีขาวอมเทาและมีจุดละเอียดสีน้ำตาลแก่กระจายทั่วไป ปลายขอบปีกมีจุดสีดำเรียงเป็นแถว ๑-๒ แถว แม่ผีเสื้อวางไข่เป็นกลุ่ม ไข่โค้งนูนคล้ายหลังเต่า มีขนสีขาวนวลหรือน้ำตาลอ่อนคล้ายเส้นใยปกคลุม
     ๔. หนอนกอสีขาว [Scirpophaga inotata (Walker)] วงศ์ Pyralidae ชื่อสามัญ White Stem Borer ตัวหนอนมีลักษณะคล้ายคลึงกับหนอนกอสีครีมมาก แต่ผีเสื้อสีต่างกัน ตัวเมียและตัวผู้มีปีกคู่หน้าสีขาวตลอด ไม่มีจุดสีดำตรงกลาง หลังอกมีขนสีขาวยาวเป็นกระจุกตั้งชันคล้ายพู่ ชาวบ้านเรียกแมลงชีปะขาวหรือชีผ้าขาวเช่นเดียวกัน แต่ชนิดนี้พบน้อยกว่าชนิดที่ ๓ ไข่มีลักษณะเดียวกับชนิดที่ ๓
     ๕. หนอนกอสีชมพู [Sesamia inferens (Walker)] วงศ์ Phaelaenidae ชื่อสามัญ Pink Stem Borer, Violet Stem Borer หนอนชนิดนี้มีนิสัยเหมือนหนอนกอ จึงถูกเรียกว่าหนอนกอไปด้วยทั้ง ๆ ที่จัดอยู่ในวงศ์ Phaelaenidae ซึ่งหนอนส่วนใหญ่ในวงศ์นี้มีนิสัยเหมือนหนอนกระทู้ ตัวหนอนเมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ มีหัวสีน้ำตาลแก่ ลำตัวสีชมพูอ่อน มีขนประปราย เมื่อโตมากขึ้นลำตัวจะเป็นสีชมพูเข้มขึ้น บางตัวมีสีอมเหลือง ข้างลำตัวไม่มีลาย แต่จะมีเส้นราง ๆ ผ่านจุดดำซึ่งเป็นรูหายใจอยู่ข้างลำตัว ดักแด้รูปร่างป้อมกว่าหนอนกอชนิดอื่น ๆ สีน้ำตาลแก่หรือน้ำตาลอมเหลือง และมักมีฝุ่นสีเทาอมน้ำเงินติดอยู่ที่หัวและอก ปลายสุดของท้องมีปุ่มเล็ก ๆ ยื่นออกมา ๒ ปุ่ม ตรงกลางมีปุ่มเป็นง่ามยื่นออกมาให้เห็น แม่ผีเสื้อวัดเมื่อกางปีกยาว ๓.๐-๓.๕ เซนติเมตร ลำตัววัดจากหัวถึงปลายสุดของท้องยาวประมาณ ๑.๒ เซนติเมตร สีของลำตัวทั่ว ๆ ไปเป็นสีน้ำตาล ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลอมเหลือง มีเส้นสีน้ำตาลแก่หรือน้ำตาลอมแดงจากกลางปีกแผ่เต็มขอบของปลายปีก พื้นปีกมีเกล็ดเล็ก ๆ เหมือนฝุ่นสีดำกระจายเป็นจุดอยู่ทั่วไป ปีกคู่หลังสีขาวนวลอ่อนจนเกือบขาวตลอด แม่ผีเสื้อวางไข่เรียงเป็นแถว ๒-๓ แถว ไข่เป็นเม็ดกลม ไม่มีขนหรือใยปกคลุม

 


     หนอนกอเหล่านี้มีนิสัยและความเป็นอยู่หลายประการที่คล้ายคลึงกัน เช่น เมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ มักกัดกินกาบใบพืชก่อน เมื่อโตขึ้นจึงเจาะเข้าไปในลำต้นบริเวณที่เป็นข้ออ่อนของต้นข้าวเหนือระดับน้ำในนา แล้วเจาะกินใจกลางของต้นข้าวลงไปเรื่อย ๆ และถ่ายมูลให้เห็นที่ปากรูนั้น ผลของการเจาะกินทำให้ต้นข้าวมียอดเหี่ยวหรือเป็นข้าวหัวหงอกดังได้กล่าวไว้ในตอนแรก หากต้นข้าวนั้นตายไปก่อนที่หนอนจะเจริญเต็มที่ หนอนอาจคลานโยกย้ายไปสู่ต้นใหม่ในบริเวณใกล้เคียงได้ หนอนกอลายมักปล่อยเส้นใยออกมาจากต่อมใกล้ปาก แล้วทิ้งตัวตามเส้นใยลงมา เมื่อต้นข้าวถูกลมพัดก็จะแกว่งไกวพาเอาตัวหนอนไปติดต้นข้าวต้นอื่น ๆ ที่อยู่ไกลออกไปได้ ทำให้สามารถเจาะทำลายต้นข้าวต้นใหม่ได้กว้างขวางออกไป สำหรับหนอนกอสีขาวนั้น นอกจากใช้วิธีปล่อยตัวตามใบแล้ว ยังสามารถลอยน้ำได้โดยอาศัยฟองอากาศที่อยู่ตามผิวลำตัวเป็นตัวช่วย การเปลี่ยนเป็นดักแด้จะเข้าในลำต้นข้าวโดยอยู่ใกล้รูที่หนอนทำเป็นทางออกไว้ มีใยบาง ๆ ปกคลุมที่ปากรู การเปลี่ยนแปลงรูปร่างในแต่ละระยะของหนอนกอทุกชนิดค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยทั่วไประยะไข่ฟัก เป็นตัวหนอนนาน ๕-๗ วัน ระยะหนอน ๓๕-๔๕ วัน ระยะดักแด้ ๖-๑๐ วัน สำหรับพืชอาหารนั้น หนอนกอสีขาวกินข้าวอย่างเดียว ส่วนหนอนกอสีม่วงและหนอนกอลายกินข้าวและธัญพืชตลอดไปจนถึงอ้อยและหญ้า หนอนกอสีชมพูกินพืชอาหารทั้งธัญพืชและหญ้าได้มากกว่าหนอนกอชนิดอื่น
     หนอนกอเหล่านี้มีแพร่หลายทั่วไป ตั้งแต่ประเทศจีนจนจดบริเวณภูมิภาคเอเชียใต้และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.

 

 

ชื่อหลัก
กอ-หนอน
ชื่อวงศ์
Pyralidae
ชื่ออื่น ๆ
หนอนกอข้าว, หนอนเจาะต้นข้าว
ชื่อสามัญ
Purple-lined Stem Borer, Striped Rice Borer, Yellow Rice Borer, Pink Stem Borer
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.สุธรรม อารีกุล
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf