กวางป่า

Cervus unicolor Kerr

ชื่อวิทยาศาสตร์
Cervus unicolor Kerr วงศ์ Cervidae
ชื่ออื่น ๆ
กวางม้า
ชื่อสามัญ
Sambar, Sambar Deer

ลักษณะทั่วไป เป็นกวางขนาดใหญ่ ลำตัวสูง ๑๒๐-๑๕๕ เซนติเมตร น้ำหนัก ๑๘๕-๒๖๐ กิโลกรัม ขนยาวหยาบสีน้ำตาลเข้ม ขนบริเวณคอจะยาวและขึ้นหนาแน่นกว่าที่อื่น ๆ ซึ่งจะเห็นได้ชัดในตัวผู้ ลูกกวางป่าเกิดใหม่ไม่มีจุดสีขาวบนลำตัวเหมือนลูกเนื้อทรายและกวางดาว แต่บางตัวอาจมีจุดสีขาวราง ๆ ที่ตะโพก หางค่อนข้างสั้น แอ่งน้ำตาที่หัวตา ทั้ง ๒ ข้างมีขนาดใหญ่มาก ยื่นออกมาเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์แอ่งนี้จะมีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นอีกและจะขับสารที่มีกลิ่นแรงมากออกมาเป็นประโยชน์ในการดมกลิ่นตามหากัน ประสาทหู ตา และจมูกไวมาก สูตรฟัน ๐/๓ ๐/๑ ๓/๓ ๓/๓ * ๒ = ๓๒
     กวางป่าตัวผู้มีเขา โดยจะเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ ๑*๑/๒ ปี มีเพียงข้างละกิ่ง เรียกว่า “เขาเทียน” เมื่อเขาเทียนหลุด เขาที่ขึ้นใหม่ครั้งที่ ๒ เมื่ออายุ ๒*๑/๒ - ๓ ปี มีข้างละ ๒ กิ่ง เมื่อเขา ๒ กิ่งหลุดจะมีเขาขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุประมาณ ๔ ปี มี ๓ กิ่ง ต่อจากนั้นจะผลัดเขาทุกปี แต่จะมีเพียง ๓ กิ่งเท่านั้น ไม่เพิ่มมากกว่านี้
     กวางป่ามักอยู่ลำพังตัวเดียวตามป่าทั่วไปรวมทั้งป่าทึบ เวลากลางวันจะนอนนิ่งอยู่ในที่รกทึบ หรือนอนเกลือกแช่ปลักโคลนเหมือนควายเพื่อป้องกันแมลงมาดูดเลือด ว่ายน้ำเก่งและปราดเปรียว ออกหากินในเวลาเย็นหรือพลบค่ำจนถึงเช้าตรู่ตามริมทาง ลำธาร และทุ่งโล่ง กินยอดอ่อนของต้นไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ เปลือกไม้ หญ้า เถาวัลย์อ่อน ๆ และผลไม้แทบทุกชนิด

 

 

 


     ในฤดูผสมพันธุ์ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ตัวผู้จะดุร้ายและหวงตัวเมียมาก มีการต่อสู้กันอย่างดุร้ายเพื่อแย่งตัวเมีย หลังฤดูผสมพันธุ์ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะแยกกันไปหากินตามลำพัง กวางป่าตั้งท้องนาน ๘-๘ เดือน ตกลูกครั้งละ ๑ ตัวในช่วงต้นฤดูฝน แม่กวางจะพาลูกอ่อนไปหลบซ่อนไว้ในพุ่มไม้หรือกอหญ้าทึบ ๆ เมื่อถึงเวลาให้นมจึงจะเดินมาให้นมลูก ลูกหย่านมเมื่ออายุ ๗-๘ เดือน และเริ่มแยกจากแม่ไปหากินตามลำพังเมื่ออายุ ๑-๑ ปี ผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ ๑ -๒ ปี กวางป่ามีอายุ ๑๘-๒๐ ปี
     กวางป่าเป็นกวางขนาดใหญ่ที่สุดของไทย พบตามป่าดงดิบทั่วทุกภาคทั้งป่าสูงและป่าต่ำ ต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เนปาล พม่า จีนตอนใต้ ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย.

 

ชื่อหลัก
กวางป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cervus unicolor Kerr
ชื่อสกุล
Cervus
ชื่อชนิด
unicolor
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
Kerr
ชื่อวงศ์
Cervidae
ชื่ออื่น ๆ
กวางม้า
ชื่อสามัญ
Sambar, Sambar Deer
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf