กล้วย-ปลา

Stolephorus indicus (van Hasselt)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Stolephorus indicus (van Hasselt) วงศ์ Engraulididae หรือ Engraulidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากะตัก, ปลากะตักควาย, ปลาไส้ตัน, ปลาหัวอ่อน, ปลามะลิ, ปลาหัวไม้ขีด, ปลาชิงชัง, ปลาเก๋ย; ปลาเส้นขนมจีน (เป็นปลาขนาดเล็ก ความยาวตลอดตัวไม่เกิน ๔ เซนติเมตร)
ชื่อสามัญ
Indian Anchovy

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำเค็มขนาดเล็ก ความยาวตลอดตัวไม่เกิน ๑๕.๓ เซนติเมตร ปรกติพบยาว ๑๐-๑๒ เซนติเมตร หรือสั้นกว่าหากจับได้ขณะรวมฝูงกับปลาชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกันซึ่งในน่านน้ำไทยมีรวม ๙ ชนิด หรือกับชนิดในสกุล Encrasicholina ที่อยู่ในวงศ์เดียวกันซึ่งในน่านน้ำไทยมี ๓ ชนิด โดยล้วนมีขนาดเล็กกว่า และทั้งหมดมี ๒๓ ชนิดในเขตอินโด-แปซิฟิก ครีบต่าง ๆ ประกอบด้วยก้านครีบอ่อนทั้งสิ้น พบอยู่ห่างฝั่งได้มากกว่าชนิดอื่น ๆ ลำตัวเรียวยาวเป็นรูปกระสวย ค่อนข้างกลม แบนข้างน้อยมากเมื่อเทียบกับชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกัน ท้องมน มีหนามเล็ก ๒-๖ อัน (ปรกติมี ๓-๕ อัน แต่ส่วนใหญ่มี ๔ อัน) อยู่ที่แนวสันท้องในช่วงระหว่างครีบอกและครีบท้องเท่านั้น
     หัวมีความยาวมากกว่าส่วนสูง และลู่หลิมไปทางปลายซึ่งกลมมน ปากอยู่ต่ำใต้ส่วนปลายของหัวซึ่งยื่นล้ำปลายขากรรไกรล่างที่มีลักษณะบอบบางทำนองเดียวกับขากรรไกรบน โดยขากรรไกรบนมีส่วนท้ายยื่นโผล่ไปสุดที่บริเวณขอบหน้าของกระดูกแผ่นปิดเหงือกชิ้นหน้าที่มีปลายขอบล่างโค้งกลม ฟันที่ขากรรไกรทั้งบนและล่างเล็กมากและเป็นแถวเดียวโดยตลอด ตากลมโตอยู่ในส่วนครึ่งแรกของหัวตามแนวแกนลำตัว โดยขอบบนของตาอยู่ต่ำกว่าแนวสันหัวเล็กน้อย กระดูกใต้คาง (urohyal bone) ที่เป็นโครงของกล้ามเนื้อทางด้านล่างของส่วนหัวบริเวณระหว่างแผ่นปิดเหงือกทั้ง ๒ ด้าน เรียบสม่ำเสมอโดยตลอด ซี่กรองเหงือกบนโครงเหงือกอันแรกด้านบนมี ๑๖-๑๘ ซี่ ด้านล่างมี ๒๑-๒๔ ซี่ โดยมีจำนวนน้อยในปลาขนาดเล็ก และมากขึ้นตามลำดับในปลาที่โตขึ้น


     ครีบหลังมีเพียงครีบเดียว ตั้งอยู่ประมาณกึ่งกลางของความยาวตลอดตัว โดยประกอบด้วยก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๓ ก้าน ที่อยู่ชิดกันมากทางตอนหน้าของครีบ ตามด้วยก้านครีบแขนงอีกประมาณ ๑๓ ก้าน โดยก้านทางด้านหน้ายาวที่สุด แล้วลดระดับตามลำดับไปทางด้านท้าย ครีบก้นมีฐานยาวกว่าขอบครีบหลังเล็กน้อย ตัวครีบเริ่มประมาณใต้กึ่งกลางครีบหลัง โดยประกอบด้วยก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๓ ก้าน ที่อยู่ชิดกันทางตอนหน้า ตามด้วยก้านครีบแขนงอีก ๑๖-๑๘ ก้าน ครีบอกอยู่ต่ำจนใกล้แนวสันท้องประกอบด้วยก้านครีบเดี่ยว ๑ ก้านและก้านครีบแขนงอีก ๑๓-๑๔ ก้าน ครีบท้องเล็กกว่าครีบอก ประกอบด้วยก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๑ ก้านและก้านครีบแขนงอีก ๖ ก้าน เมื่อแนบครีบนี้ไปกับแนวสันท้องจะยังมีปลายครีบยื่นไปสุดที่บริเวณหน้าแนวจุดเริ่มต้นของครีบหลังอีกเล็กน้อย ครีบหางเป็นแฉกลึก ครีบหางตอนบนและล่างยาวพอ ๆ กัน และมีปลายแหลม
     เกล็ดเรียบ (cycloid scale) บอบบางมาก ตลอดส่วนหัวไม่มีเกล็ด เกล็ดตามลำตัวมีขนาดปานกลาง เรียงเป็นแถวเป็นแนวแต่หลุดง่ายมาก ปลาที่ถูกจับด้วยเครื่องมือประมงจึงมักไม่มีเกล็ดหลงเหลืออยู่ ยกเว้นเกล็ดเสริมโคนครีบ (axillary scale) ที่อยู่เหนือครีบอกและครีบท้อง ทุกครีบไม่มีเกล็ดปกคลุมยกเว้นครีบหาง ไม่มีเส้นข้างตัว เกล็ดในแถวตลอดแกนลำตัวมี ๓๘-๔๑ เกล็ด และในแนวทแยงจากหน้าครีบก้นไปทางหน้าครีบหลังมีประมาณ ๑๑ เกล็ด เกล็ดในแถวบนแนวกลางสันหลังจากหน้าครีบหลังไปถึงรอยต่อกับหัวมี ๑๙-๒๑ เกล็ด ในแนวรอบคอดหางมี ๑๒ เกล็ด
     เช่นเดียวกับปลาชนิดอื่นในสกุลเดียวกันอีก ๑๒ ชนิด ที่พบในน่านน้ำไทย ปลากล้วยก็มีแถบสีเงินยวงพาดตลอดแนวกลางข้างลำตัวจากมุมแผ่นปิดเหงือกไปจดโคนครีบหาง แต่ความกว้างของแถบน้อยกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางตา บริเวณขากรรไกรและแผ่นปิดเหงือกมีสีเงิน สีในบริเวณเหล่านี้จะคงอยู่แม้ในปลาที่ถูกจับและไม่มีเกล็ดบนลำตัวหลงเหลืออยู่เลย ส่วนเนื้อหนังนอกบริเวณสีเงินจะเห็นเป็นสีเนื้อเกือบใส ทั้งนี้รวมทั้งบริเวณปลายหัวทางด้านหน้าตาและด้านบนของหัว นอกจากนี้เกล็ดที่อยู่เหนือโคนครีบอกและครีบท้องซึ่งมักหลงเหลืออยู่ก็จะมีสีเงินเช่นกัน ในบางครั้งที่ขอบบนของแถบสีเงินทางด้านท้ายลำตัวตั้งแต่บริเวณใต้แนวครีบหลังไปจนถึงโคนครีบหางจะมีเส้นสีเหลืองอมน้ำตาลบาง ๆ แซมอยู่ โดยทางปลายด้านท้ายสุดจะต่อเนื่องกับบริเวณสีเหลือง อ่อนซึ่งเป็นสีของครีบอันกลาง ๆ ของครีบหาง และในบางครั้งเช่นกันก็จะมีจุดสีดำอยู่ใกล้คอดหางตรงบริเวณโคนก้านครีบหางอันบน ๆ ที่ปลายสุดของหัวตั้งแต่บริเวณหน้ารูจมูก และที่ด้านบนของหัวระหว่างตารวมไปถึงบริเวณรอยต่อของหัวและลำตัวจะเป็นบริเวณที่มีประสีดำกระจายอยู่ ครีบต่าง ๆ โปร่งแสง หรือเฉพาะครีบเดี่ยวที่อาจมีสีเหลืองอ่อน ครีบหางมักคล้ำหม่น ทั้งนี้อาจรวมทั้งครีบหลังซึ่งมักจางกว่า โคนครีบหลังและครีบก้นตลอดจนแนวกลางสันหลังไม่ปรากฏว่ามีร่องรอยของจุดสีดำอย่างปลาอีกหลายชนิดในสกุลเดียวกัน
     ปลาชนิดนี้อยู่รวมกันเป็นฝูงแต่ไม่ใหญ่เท่าฝูงของปลาอื่น ๆ ในสกุลเดียวกัน เช่น Stolephorus waitei Jordan et Seale และ S. insularis Hardenberg เป็นปลาผิวน้ำเขตชายฝั่งทำนองเดียวกันทั้งสิ้น และพบเข้าอาศัยในเขตน้ำกร่อยได้ เช่น ตอนในของปากแม่น้ำและทะเลสาบ หากินสัตว์ทะเลขนาดเล็กจำพวกแพลงก์ตอนในบริเวณนั้น ขณะสืบพันธุ์ (ซึ่งมักเป็นปลาที่มีขนาดยาวประมาณ ๙ เซนติเมตรขึ้นไป) จะย้ายฝูงไปห่างฝั่ง และจะกลับมาใหม่ทันทีเมื่อเสร็จสิ้นการผสมพันธุ์ ไข่กลมรี เฉพาะทางด้านแหลมกว่าจะมีปลายโป่งยื่นเป็นตุ่มขนาดเล็ก จับได้ด้วยเครื่องมืออวนประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะที่มีแสงไฟล่อ เช่น อวนล้อมซั้ง อวนยก แม้แต่อวนทับตลิ่ง โป๊ะ หรือโพงพาง ซึ่งปรกติจะจับปลาชนิด Encrasicholina devisi (Whitley) และ E. heterolobus (Rüppell) ได้เป็นจำนวนมาก
     ปลาชนิดนี้พบอาศัยอยู่เป็นอาณาบริเวณกว้างมาก ตั้งแต่เขตหมู่เกาะทะเลใต้ในมหาสมุทรแปซิฟิก ฝั่งตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย เกาะนิวกินี ทะเลรอบประเทศในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงไต้หวัน ทะเลอันดามัน ตลอดอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย ถึงอ่าวเปอร์เซีย ทะเลแดง และตลอดฝั่งด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกา
     เนื่องจากเป็นปลาที่มีรสชาติและรูปร่างดี ทั้งเกล็ดยังหลุดหมดเมื่อถึงตลาด และมีขนาดใหญ่กว่าชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกัน จึงพบว่ามีการคัดแยกขายต่างหาก ชื่อปลากล้วยจึงน่าจะเป็นปลาชนิดนี้ที่มีขนาดใหญ่จนดูแตกต่างจากชนิดอื่นในสกุลเดียวกันดังที่กล่าวแล้ว แต่หากเป็นปลาขนาดเล็กซึ่งมีชื่อปะปนกับชนิดอื่น มักพบทำเป็นปลาแห้งรวมกับปลาจำพวกเดียวกัน ส่วนใหญ่ถูกนำไปหมักเกลือทำน้ำปลาคุณภาพดี แต่ในหลายเขตดังกล่าวข้างต้นรวมทั้งที่เคยมีการทดลองในประเทศไทย ปลาชนิดนี้ถูกจับไว้ในลักษณะเป็นปลามีชีวิตรวมกับชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน และชนิดในสกุล Encrasicholina เพื่อใช้เป็นเหยื่อที่มีคุณภาพดีมากในการล่อตกปลาทูน่า แต่ยังต้องปรับปรุงการขังและขนส่งก่อนนำไปใช้ในบริเวณที่ต้องการกันอีกมากเพราะตายง่าย
     เข้าใจว่าเพราะปลากล้วยมีรูปลักษณะค่อนข้างกลม ยาวพอเหมาะ และเกล็ดมักหลุดหมดเมื่อจับได้ จนเห็นมีสีเนื้อคล้ายกล้วยดิบต้ม จึงน่าจะเป็นที่มาของชื่อ ปลากล้วย ให้แตกต่างจากชนิดอื่นเมื่อโตเลยขนาดทั่วไปของปลากะตักปลาไส้ตัน หรือปลาหัวอ่อนทั้งหลาย.

 

 

 

ชื่อหลัก
กล้วย-ปลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Stolephorus indicus (van Hasselt)
ชื่อสกุล
Stolephorus
ชื่อชนิด
indicus
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
(van Hasselt)
ชื่อวงศ์
Engraulididae หรือ Engraulidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากะตัก, ปลากะตักควาย, ปลาไส้ตัน, ปลาหัวอ่อน, ปลามะลิ, ปลาหัวไม้ขีด, ปลาชิงชัง, ปลาเก๋ย; ปลาเส้นขนมจีน (เป็นปลาขนาดเล็ก ความยาวตลอดตัวไม่เกิน ๔ เซนติเมตร)
ชื่อสามัญ
Indian Anchovy
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ทศพร วงศ์รัตน์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf