กริม-ปลา

Trichopsis vittatus (Valenciennes)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Trichopsis vittatus (Valenciennes) วงศ์ Belontiidae (เดิมอยู่ในวงศ์ Anabantidae)
ชื่ออื่น ๆ
ปลากริมควาย, ปลากริมข้างลาย; ปลาหมัด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); ปลากัดป่า (จันทบุรี)
ชื่อสามัญ
Talking Gourami, Croaking Gourami

​​

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก ความยาวตลอดตัวไม่เกิน ๗ เซนติเมตร ลักษณะใกล้เคียงกับปลากัด (Betta splendens Regan) ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกัน ทั้งในด้านรูปร่าง พฤติกรรมในการโผล่ขึ้นฮุบอากาศที่ผิวน้ำเพราะต้องใช้อวัยวะพิเศษช่วยหายใจที่บริเวณเหนือเหงือก การพ่นฟองอากาศหรือสร้างหวอดเป็นรัง การดูแลไข่หลังจากได้รับการผสม และลูกปลา รวมทั้งการต่อสู้ ตลอดจนธรรมชาติที่อยู่อาศัย จึงมีชื่อซ้ำกันว่า “ปลากัดป่า” แต่ปลากริมมีคุณสมบัติในการต่อสู้ด้อยกว่าปลากัดมาก และมีสีซีดกว่า แม้จะมีการนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอยู่บ้างแต่ก็อยู่ในวงแคบมาก และไม่มีการคัดเลือกบำรุงพันธุ์เพื่อใช้แข่งขันในเชิงต่อสู้กัน พบในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไปจนถึงเขตภูเขา มีชุกชุมมากกว่าปลากัด สามารถอยู่ได้ดีแม้ในที่มีพืชน้ำหนาแน่น ทั้งในน้ำใสและน้ำขุ่น
     ปลากริมมีลำตัวเรียวพอ ๆ กับปลากัด แต่แบนข้างตั้งแต่หัวถึงคอดหางมากกว่า แนวสันท้องโค้งพอ ๆ กับแนวสันหลังและลู่แหลมไปทางปลายหัว ตากลมอยู่ในแนวด้านข้างของหัว โดยอยู่ต่ำกว่าแนวสันหัวซึ่งลาดเว้าเล็กน้อย ปากอยู่ปลายแหลมของหัว เป็นช่องเงยขึ้นจนทำให้คางล้ำไปข้างหน้า มีขนาดกว้างพอประมาณและยืดหดได้บ้าง ฟันซี่เล็กรูปคล้ายกรวยเรียงชิดกันเป็นแผง แถวนอกขนาดใหญ่กว่าแถวใน ไม่มีฟันบนเพดานปาก กระดูกหน้าเบ้าตา (preorbital bone) และขอบล่างของกระดูกแผ่นปิดเหงือกชิ้นหน้าหยักเป็นฟันเลื่อย ต่างจากปลากัดซึ่งเรียบตลอด เกล็ดหนามที่บริเวณหัวตอนหน้าของตาไม่มีเกล็ดปกคลุม เกล็ดตามแนวเส้นข้างตัวมี ๒๘-๓๒ เกล็ด รูที่เรียงเป็นเส้นข้างตัวมีขนาดเล็กและไม่ชัดเจน ทำให้เห็นเส้นข้างตัวขาดเป็นห้วง ๆ แต่ตอนที่อยู่ใกล้โคนหางจะพอมองเห็นได้ชัด มีแผงเกล็ดขนาดเล็กคลุมต่อจากบนลำตัวไปในแนวตลอดโคนครีบก้น
     ครีบเดี่ยวมีขนาดใหญ่ ครีบหลังมีฐานครีบสั้น ตัวครีบประกอบด้วยก้านครีบแข็ง ๒-๔ ก้าน และตามด้วยก้านครีบแขนงอีก ๖-๘ ก้าน ทั้งหมดอยู่ประมาณเหนือกึ่งกลางครีบก้นซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดและประกอบด้วยก้านครีบแข็ง ๗-๘ ก้าน ตามด้วยก้านครีบแขนงอีก ๒๔-๒๘ ก้าน ตัวครีบเริ่มตั้งแต่ใกล้ครีบท้องเรื่อยไปจนชิดโคนครีบหาง ทุกครีบเหล่านี้มีขอบยาวเป็นยอดแหลมซึ่งเห็นได้ชัดมากในปลาตัวผู้ และเป็นลักษณะที่ทำให้ดูแตกต่างจากปลากัด ส่วนครีบอกซึ่งเป็นครีบคู่มีลักษณะสั้นแผ่เป็นรูปพัดประกอบด้วยก้านครีบแขนง ๙-๑๑ ก้าน ครีบท้องตั้งอยู่ในแนวล้ำหน้าครีบอก มีก้านครีบแขนง ๕ ก้าน โดยครีบแขนงก้านแรกจะยาวมาก ตัวครีบจึงดูแคบยาวทำนองเดียวกับปลากัด


     ปลากริมมีสีบนหัว ลำตัว และครีบไม่สดใสเท่าปลากัดจนดูเหมือนซีด นอกจากรอบนอกของตามีสีแดงสดสลับกับสีน้ำเงินแกมเขียวเป็นประกายที่ใกล้ตาดำ โดยทั่วไปปลากริมจะมีพื้นสีบนลำตัว และลายแตกต่างกันไปทั้งในปลาจากต่างถิ่นหรือแม้ปลาในเขตเดียวกัน โดยพื้นสีอาจเป็นสีน้ำตาลอ่อนคล้ายสนิมเหล็ก บ้างก็เป็นสีฟ้าอ่อน เขียวอ่อน หรือเหลืองอ่อนอมเทาด้านหลังสีเข้มคล้ำกว่า ส่วนใกล้ท้องเป็นสีจางหรือออกเหลืองเรื่อ ๆ และยังมีแถบสีคล้ำหรือดำหม่น ๓-๔ แนว พาดเป็นแถวตามยาวตลอดส่วนหัวและลำตัวไปสุดบริเวณคอดหาง (ซึ่งในปลากัดจะไม่มี หรืออาจมีเพียงเส้นเดียวที่เลือนรางมาก โดยมักปรากฏในขณะที่ตกใจ) แถบที่พาดผ่านตามีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจนที่สุด เหนือแถบนี้จะมีอีก ๑-๒ แถบ และต่ำลงไปมีอีก ๑ แถบ หากทั้งหมดมีเพียง ๓ แถบ แถบบนสุดของกรณีที่กล่าวมาจะไม่มี เหลือเพียงแถบเด่นที่ผ่านตาและอีก ๒ แถบที่ขนาบข้างเท่านั้น ที่บริเวณเหนือครีบอกอาจมีจุดสีเข้มออกดำหรือน้ำเงินขนาดประมาณนัยน์ตาของปลาอยู่บนแถบที่ผ่านบริเวณนั้น ในบางตัวอย่างจะพบเป็นจุด ๒ จุดแฝดติดกัน เคยมีผู้ทำการศึกษาโดยการผ่าตัดตรวจเทียบดูจุดสีดังกล่าวกับลักษณะเพศจากภายใน แล้วให้ข้อวินิจฉัยว่า เป็นลักษณะภายนอกที่พบในปลาตัวผู้เท่านั้น
     สีที่ปรากฏบนครีบหลัง ครีบก้น และครีบหาง อาจพบเป็นสีน้ำตาลคล้ำ บ้างก็เป็นสีแดงจาง ๆ หรือฟ้าอ่อน ขอบครีบหลังและครีบก้นมีสีฟ้า ขณะเดียวกันก็มีประสีน้ำตาลแดงแซมด้วยประสีเขียวหรือดำกระจายอยู่ทั่วไประหว่างก้านครีบแขนง ทั้งนี้โดยรวมทั้งในครีบหางด้วย ครีบอกและครีบท้องไม่มีสีเด่น ยกเว้นบางกรณีจะเห็นครีบท้องมีสีออกดำคล้ำ และส่วนที่ยื่นยาวเป็นเส้นมีสีน้ำตาลอ่อน แต่ยังอาจมีปลาที่ครีบทั้งสองนี้เป็นสีนวล อย่างไรก็ตาม สีเหล่านี้มีผิดเพี้ยนกันมาก เช่น ปลากริมตัวผู้อาจมีจุดสีเข้มกระจายอยู่ที่โคนครีบก้น และมีขอบครีบเป็นสีน้ำตาลแดง
     ปลาชนิดนี้มีการแพร่กระจายอยู่ในเขตเกาะชวา บอร์เนียว สุมาตรา คาบสมุทรอินโดจีน โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง และพบในทุกภาคทุกบริเวณที่มีปลากัด สำหรับปลากริมที่พบในเขตเกาะชวา มีรายงานว่า มีแถบข้างตัวอยู่เพียง ๒ แถบเท่านั้น ขณะที่ปลาจากเขตเกาะบอร์เนียวมีถึง ๔ แถบ
     ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับชนิดของปลากริมที่พบในประเทศไทย ทั้งนี้เนื่องจากมีผู้ให้ข้อพิจารณา ทางด้านรูปพรรณ สีสัน และเข้าใจว่า ผิดกันจนสามารถถือว่าเป็นชนิดที่แตกต่างไปจากชนิดที่พบแพร่หลายดังกล่าวข้างต้น ปลาที่มีผู้กล่าวถึงนั้นคือ
     ๑. ปลากริมแคระ [Trichopsis pumilus (Arnold)] ชื่ออื่น ๆ ปลากริมทับทิม ชื่อสามัญ Pygmy Purring Gourami, Green Croaking Gourami ขนาดยาวเพียง ๓.๕ เซนติเมตร พบครั้งแรกในเขตประเทศเวียดนามตอนใต้ ต่อมาพบที่เกาะสุมาตรา เคยมีผู้ส่งเข้าไปจำหน่ายเป็นปลาสวยงามในประเทศเยอรมนีด้านตะวันตก สำหรับประเทศไทยมีรายงานว่า พบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง ตามหนอง บึง และนาข้าว ที่หนองหาน จังหวัดสกลนคร บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และพิจิตร ปลาชนิดนี้มีแถบข้างตัวเป็นสีน้ำเงินคล้ำ ที่แตกเป็นจุดหรือเป็นท่อนอยู่ ๒ แถว ไม่ปรากฏว่ามีจุดบนข้างตัวที่เหนือครีบอก ในบริเวณข้างเคียงกับแถบจะมีประสีฟ้าอ่อนหรือเขียวอยู่ทั่วไป ตั้งแต่ปลายสุดของหัวจนจดโคนหาง ครีบหลัง ครีบก้น และครีบหางมีพื้นสีออกเขียวหรือออกเหลือง มีประสีน้ำตาลแดงกระจายทั่วครีบ ขอบครีบสีเหลืองหรือแดงเข้ม ส่วนครีบอกไม่มีสีจึงดูใส ครีบท้องสีออกเหลืองนวล มีผู้พบว่าในบางครั้งปลากริมชนิดนี้อาจวางไข่ที่พื้นท้องน้ำในบริเวณน้ำตื้นที่มีพืชน้ำปกคลุม ไข่มีจำนวนน้อยและฟักออกเป็นตัวหลังการผสมพันธุ์ประมาณ ๓๖ ชั่วโมง
     ๒. ปลากริมสี [Trichopsis schalleri (Ladiges)] ชื่อสามัญ Three Striped Gourami ขนาดยาวถึง ๖ เซนติเมตร พบครั้งแรกในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร เข้าใจว่าเป็นเขตจังหวัดนครราชสีมา พบอาศัยในแหล่งน้ำนิ่งที่หนองหาน จังหวัดสกลนคร และบริเวณบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ข้างตัวมีแถบสีดำ ๓ แนว ไม่ปรากฏว่ามีจุดดำบนข้างตัวที่บริเวณเหนือครีบอก ตาสีฟ้าอ่อน ทุกครีบมักมีขอบสีแดง
     เคยมีผู้ยกรูปพรรณของปลากริมจากเขตภาคใต้ของประเทศไทยแล้วให้ชื่อเป็นชนิดใหม่ว่า Trichopsis harrisi Fowler โดยให้ข้อแตกต่างจาก T. vittatus (Valenciennes) ตรงที่มีก้านครีบแข็งที่ส่วนต้นของครีบก้นถึง ๘ ก้าน แทนที่จะเป็น ๖-๗ ก้าน ตามที่ผู้ตั้งชื่อเข้าใจ และยังมีความแตกต่างในเรื่องของสี แต่เมื่อมีการตรวจสอบกับตัวอย่างจำนวนมาก ปรากฏว่าข้อพิจารณาเหล่านั้นไม่แสดงความแตกต่างอย่างใดกับความผันแปรของจำนวนก้านครีบและสีที่พบในปลากริมที่รู้จักกันทั่วไป
     แม้ว่าปลากริมจะมีสีไม่เด่นสดสวยเท่าปลากัดซึ่งจัดเป็นปลาที่มีคุณสมบัติทางด้านสีสวยที่สุดในบรรดาปลาน้ำจืดของไทยหรือรวมทั้งเขตอื่นของโลก แต่ก็นับว่าปลากริมมีสีที่น่าสนใจมากกว่าปลาสวยงามอีกหลายชนิด ประกอบกับมีความทนทานในที่กักขัง และสามารถอยู่รวมกันได้หลายตัวในที่เดียวกันไม่เหมือนปลากัดที่จำเป็นต้องแยกเลี้ยงเดี่ยว จึงมีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอยู่บ้าง แม้ปลากริมจะเลือกกินอาหาร แต่ลูกน้ำก็เป็นอาหารที่ปลากริมชอบมากที่สุด
     ยังมีข้อที่น่าสนใจอีกคือ ปลากริมขนาดโตเต็มวัย ทั้งตัวผู้และตัวเมียสามารถทำเสียงแหลมเป็นจังหวะติดต่อกันได้ โดยเฉพาะในช่วงการสืบพันธุ์ จึงเป็นข้อแตกต่างจากปลากัดอีกประการหนึ่ง เข้าใจกันว่า อวัยวะพิเศษใช้ช่วยหายใจที่บริเวณเหนือเหงือกมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำเสียงดังกล่าว เพราะคุณสมบัติเช่นนี้จึงทำให้ได้ชื่อสามัญดังกล่าวข้างต้น.

 

 

 

ชื่อหลัก
กริม-ปลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Trichopsis vittatus (Valenciennes)
ชื่อสกุล
Trichopsis
ชื่อชนิด
vittatus
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
(Valenciennes)
ชื่อวงศ์
Belontiidae (เดิมอยู่ในวงศ์ Anabantidae)
ชื่ออื่น ๆ
ปลากริมควาย, ปลากริมข้างลาย; ปลาหมัด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); ปลากัดป่า (จันทบุรี)
ชื่อสามัญ
Talking Gourami, Croaking Gourami
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ทศพร วงศ์รัตน์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf