กราย-ปลา

Notopterus chitala (Hamilton-Buchanan)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Notopterus chitala (Hamilton-Buchanan) วงศ์ Notopteridae
ชื่ออื่น ๆ
ปลาหางแพน, ปลาตองกราย, ปลาสะตือ
ชื่อสามัญ
Spotted Featherback, Spotted Knife Fish, Clown Knife Fish

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำจืด รูปร่างแปลกทำนองเดียวกับปลาสลาด มีรายงานจากประเทศอินเดียว่า เคยพบมีความยาวตลอดตัวกว่า ๑ เมตร ในประเทศไทยเคยพบยาวประมาณ ๑ เมตร แต่ทั่วไปขนาด ๕๐-๗๕ เซนติเมตร รูปร่างแบนข้างและกว้างมาก สันหลังมน สันท้องแหลมคมดูคล้ายใบมีดขนาดใหญ่ ปลายหัวแหลมมน ในปลาขนาดใหญ่จะมีแนวสันหลังเหนือหัวลาดเว้าขึ้นไปทางท้ายทอยมากกว่าปลาขนาดเล็ก แล้วเลยไปจนเป็นโหนกโค้งกว้าง และเริ่มลาดลงที่บริเวณก่อนถึงครีบหลัง เป็นแนวลาดเรื่อยไปจนถึงครีบหาง ส่วนแนวสันท้องโค้งน้อยมากจนดูเกือบตรง
     ตาอยู่ต่ำกว่าแนวสันหัวเล็กน้อยและค่อนไปทางปลายด้านหน้า ปากกว้าง เฉียงขึ้นเล็กน้อย ส่วนท้ายของขากรรไกรบนยื่นล้ำเลยแนวขอบหลังของตา ปลายปากบนอาจยื่นล้ำปลายปากล่างเล็กน้อยหรือเสมอกัน มีฟันที่ขากรรไกรบน ลิ้น และกระดูกเพดานปากบริเวณต่าง ๆ กระดูกแผ่นปิดเหงือกชิ้นล่างข้างท้ายมีขนาดเล็กและขอบจักเป็นฟันเลื่อย ส่วนชิ้นล่างข้างหน้าไม่จัก ชิ้นหลังมีแผ่นเนื้อขนาดกว้างยื่นต่อจากขอบใช้ช่วยปิดป้องแผ่นปิดเหงือกให้ทำงานดีขึ้น
     ทุกครีบไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหลังมีขนาดเล็ก ปลายมน รูปคล้ายขนนก ประกอบด้วยก้านครีบ ๙ ก้าน ตั้งอยู่ค่อนไปทางข้างหางเพียงเล็กน้อย ครีบอกมีลักษณะคล้ายกันแต่ใหญ่กว่าครีบหลัง ประกอบด้วยก้านครีบ ๑๕-๑๖ ก้าน ส่วนครีบท้องมีขนาดเล็กมากจนต้องเพ่งสังเกต และเป็นคู่ครีบที่ติดต่อกันตรงโคน ประกอบด้วยก้านครีบข้างละ ๖ ก้าน ครีบก้นมีฐานยาวกินที่เกือบตลอดแนวสันท้อง ประกอบด้วยก้านครีบประมาณ ๑๑๗-๑๒๗ ก้าน และติดต่อกับครีบหางซึ่งมีขนาดเล็ก ปลายมนกลมประกอบด้วยก้านครีบ ๑๕ ก้าน
     เกล็ดของปลากรายมีขนาดเล็ก ละเอียดเรียบ และมีขนาดเท่า ๆ กันโดยตลอดทั้งบนหัวและลำตัว เกล็ดที่เรียงอยู่ตามแนวเส้นข้างตัวมีประมาณ ๒๐๐ เกล็ด ที่อยู่ในแนวเฉียงบนกระดูกแผ่นปิดเหงือกชิ้นหน้ามีประมาณ ๒๐-๒๒ เกล็ด ตลอดแนวสันท้องหน้าครีบท้องมีหนามแหลมเป็นแถวคู่ซ้ายขวา ๓๗-๔๕ คู่ เข้าใจว่าเปลี่ยนแปลงมาจากเกล็ด
     หัวและลำตัวทั่วไปเป็นสีเทาเงินซึ่งอาจสะท้อนแสงให้เห็นเหลือบเป็นสีน้ำเงินอมเทา โดยเฉพาะที่แนวสันหลังซึ่งมักเห็นเป็นสีคล้ำมากกว่าบริเวณใกล้สันท้อง ในปลาขนาดเล็กที่ยาวไม่เกิน ๕ เซนติเมตร จะมีแถบสีดำคล้ำพาดเอนหลังเล็กน้อยขวางลำตัวอยู่ ๑๐-๑๕ แถบ ความกว้างของแถบมีขนาดใกล้เคียงกับช่องว่างระหว่างแถบปลายล่างของแถบแคบกว่าปลายบน และจะจางหรือเลือนหายไปในตอนหน้าตั้งแต่บริเวณเหนือก้านครีบก้นก้านแรก ๆ ขณะที่ปลาโตขึ้นจนเริ่มมีขนาดยาว ๗-๘ เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะที่มีอายุประมาณ ๒ เดือนเศษ แถบสีดำคล้ำที่บริเวณเหนือครีบก้นช่วงท้ายติดกับครีบหางจะค่อย ๆ จางไป ขณะเดียวกันจะเกิดมีแต้มกลมหรือรีในแนวตั้งขึ้นแทนที่ตรงบริเวณปลายล่างของแถบสีดังกล่าว เรียงอยู่เหนือฐานครีบก้นเพียงเล็กน้อย โดยมีสีน้ำตาลดำซึ่งจะค่อย ๆ เข้มขึ้น เมื่อปลาโตขึ้นอีกแถบสีจะจางหายไปจนหมด ส่วนแต้มสีจะมีมากขึ้นโดยเกิดในส่วนล่างของแถบอื่น ๆ และต่อเนื่องกันจนรวมได้ ๕-๑๐ แต้ม แล้วเปลี่ยนเป็นสีดำเข้มมีวงแหวนสีขาวล้อมรอบ โดยจะปรากฏอยู่เช่นนี้ตลอดไป แต้มที่ปลายแถวทั้ง ๒ ข้าง มักมีขนาดเล็กกว่าแต้มที่อยู่บริเวณกลางแถว ความเด่นของแต้มหรือจุดดำนี้เป็นลักษณะสำคัญของปลากราย แต่จำนวนแต้มทั้ง ๒ ข้างของปลาอาจแตกต่างกันได้ ๑-๒ แต้ม
     ปลากรายเป็นปลาน้ำจืดที่รู้จักกันดีในประเทศไทย พบอาศัยทั้งในเขตน้ำไหลเอื่อย หรือน้ำนิ่ง ตามแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึงทั่วไป ซึ่งน้ำไม่ใสนัก โดยเฉพาะในเขตภาคกลางรวมทั้งแม่น้ำโขง เคยปรากฏว่า มีชุกชุมในแหล่งน้ำเขตจังหวัดปทุมธานี (ลาดปลากราย) สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และนครสวรรค์ ในต่างประเทศพบที่เกาะชวา บอร์เนียว สุมาตรา ประเทศอินเดีย บังกลาเทศ พม่า และมาเลเซีย ซึ่งในเขตเหล่านั้นบางบริเวณปลาจะมีแต้มดำเพียง ๔-๕ แต้ม เรียงอยู่ใกล้หางเท่านั้น หรืออาจไม่มีเลย เช่นที่พบในประเทศอินเดียและบังกลาเทศ


     ปลาชนิดนี้อยู่รวมกันเป็นหมู่เล็ก ๆ ปรกติจะมีนิสัยชอบว่ายน้ำเชื่องช้า วนเวียนกรีดกราย พร้อมกับขยับครีบก้นเป็นคลื่น พบอาศัยอยู่ตามตอ เสา ขอน หรือพงกิ่งไม้ใหญ่ โดยหลบมุม บังเงาอยู่ตามวัตถุเหล่านั้น หรืออาจหลบซ่อนตัวอยู่ตามโพรงไม้ใหญ่ที่จมน้ำ เนื่องจากเป็นปลาที่ไม่ชอบแสงสว่างมากนัก จึงออกหากินในเวลากลางคืน หรือในขณะที่ไม่ค่อยมีแสงสว่าง ปรกติพบกินแมลงและตัวอ่อนของแมลงในน้ำ รวมทั้งกุ้ง ปลาเล็ก และลูกปลาอื่น ๆ โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ตามผิวน้ำ เช่น ปลากระทุงเหว ปลาเสือ ปลาซิว ปลากระดี่ปลาตะเพียน ไม่พบว่ากินพืชน้ำ มักผุดขึ้นฮุบอากาศทำเสียงที่ผิวน้ำเป็นระยะ ๆ โดยมีการเอี้ยวม้วนตัวตีน้ำ ทำให้ข้างลำตัวโผล่ขึ้นเห็นเป็นประกายสีเงิน อากาศที่ฮุบได้ส่วนหนึ่งนำไปเก็บไว้ในถุงลมซึ่งมีส่วนช่วยในการหายใจ
     นิสัยในการวางไข่และฟักไข่ของปลาชนิดนี้เริ่มรู้กันเป็นครั้งแรกจากผลการศึกษาที่บริเวณบึง บอระเพ็ด ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ปรกติปลากรายจะวางไข่ผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวในรอบปี ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม โดยไข่จะเจริญจนสุกจากฝักไข่เพียงข้างเดียวซึ่งมักเป็นข้างซ้าย แม่ปลาจะวางไข่ติดไว้กับตอ เสา หรือวัตถุอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในน้ำลึก ๑.๕-๒ เมตร ความดกของไข่ขึ้นอยู่กับขนาดของปลา โดยปรกติจะมีอยู่ราว ๓,๔๐๐ ถึงกว่า ๑๐,๐๐๐ ฟอง พ่อปลาจะทำหน้าที่ดูแลไข่โดยว่ายวนเวียนอยู่อย่างใกล้ชิด การเคลื่อนไหวของพ่อปลาจะช่วยโบกพัดให้น้ำไหลผ่านไข่ และเป็นการกำจัดตะกอนที่อาจคลุมไข่อยู่ให้หลุดออกไป ไข่ฟักออกเป็นตัวภายใน ๔-๖ วัน ที่อุณหภูมิน้ำ ๓๒-๓๓ องศาเซลเซียส ในระหว่างที่อยู่ดูแลพ่อปลาจะดุและหวงไข่มาก จนมีผู้คิดตกปลาชนิดนี้ด้วยการหย่อนเบ็ดเปล่า หรือเบ็ดที่เกี่ยวด้วยแมลงหรือกุ้งลงไปที่แพไข่ บ้างก็ถึงกับเอาเหยื่อไปจิ้มที่แพไข่แล้วเอามาเกี่ยวเบ็ด เป็นการยั่วยุให้พ่อปลารุกไล่งับจนติดเบ็ดทันที
     ปลากรายจัดเป็นปลาที่มีการซื้อขายกันเป็นอาหารสำคัญและเป็นที่ต้องการของตลาด ปรกติมีการเตรียมเป็นอาหารโดยแล่เนื้อปลาติดกับหนังออกจากตัวปลาแล้วใช้ช้อนขูดแยกเอาแต่เนื้อหรืออาจบั้งถี่ ๆ ก่อนทำให้สุก เพราะมีก้างละเอียดแทรกอยู่มากมาย ถือได้ว่าเป็นปลาที่มีคุณภาพดีที่สุดในการทำอาหารประเภททอดมันหรือลูกชิ้นปลา เคยพบว่าก่อนที่จะทำเป็นอาหาร บางแห่งมีการสับหางแล้วแขวนทิ้งไว้ให้เลือดไหลออกจากตัวปลา นัยว่าเพื่อลดกลิ่นคาว ในสมัยก่อนเมื่อเริ่มมีการจับปลาชนิดนี้ด้วยอวนที่บึงหรือหนองน้ำเขตจังหวัดนครสวรรค์สามารถจับได้คราวละมาก ๆ แล้วขนส่งเข้ามากรุงเทพฯ โดยใช้เรือบรรทุกข้าวขังน้ำแล้วใส่ปลาเป็น ๆ เดินทางมาคราวละมากกว่า ๓,๐๐๐ ตัว
     ปัจจุบันมีการรวบรวมปลากรายขนาดเล็กจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อส่งขายเป็นปลาสวยงามตามความต้องการส่วนใหญ่ของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะปลาที่มีแถบขวางข้างลำตัวเริ่มเปลี่ยนเป็นจุดดำซึ่งเป็นปลาที่มีขนาดยาว ๗-๘ เซนติเมตร
     ปลากรายมีชื่อปรากฏมากว่า ๒๐๐ ปี ในกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง เจ้าฟ้าธรรม-ธิเบศร์ (พ.ศ. ๒๒๗๕-๒๓๐๑) ทรงนิพนธ์ไว้ว่า
               “ปลากรายว่ายเคียงคู่ เคล้ากันอยู่ดูงามดี
               แต่นางห่างเหินพี่ เห็นปลาเคล้าเศร้าใจจร”.

 

 

 

 

ชื่อหลัก
กราย-ปลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Notopterus chitala (Hamilton-Buchanan)
ชื่อสกุล
Notopterus
ชื่อชนิด
chitala
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
(Hamilton-Buchanan)
ชื่อวงศ์
Notopteridae
ชื่ออื่น ๆ
ปลาหางแพน, ปลาตองกราย, ปลาสะตือ
ชื่อสามัญ
Spotted Featherback, Spotted Knife Fish, Clown Knife Fish
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ทศพร วงศ์รัตน์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf