กระโทงแทง-ปลา

ชื่ออื่น ๆ
ปลากะโทงแทง, ปลาอินทรีช้าง
ชื่อสามัญ
Sailfish (Istiophorus spp.); Spearfish (Tetrapturus spp. และหลายชนิด ในสกุล Mukair); Marlin (Makaira spp.); Swordfish หรือ Broadbill เฉพราะชนิด Xiphias gladius (Linn.)

ลักษณะทั่วไป เป็นปลากระดูกแข็ง ขนาดยาวถึง ๔.๕-๗.๐ เมตร หนักถึงประมาณ ๖๔๐ กิโลกรัม ลำตัวกลมยาว หัวท้ายเรียวคล้ายกระสวย ขากรรไกรยื่นยาวโดยเฉพาะขากรรไกรบนยื่นยาวและแข็งมาก คอดหางมีสันด้านข้าง ข้างละ ๑-๒ สัน ครีบหลังและครีบก้นมี ๒ ตอน อยู่เรียงกัน ครีบหางแฉกลึกและแข็งแรง ด้านหลังสีน้ำเงินเข้มจนเกือบดำ ด้านท้องสีขาวเงิน ชนิดที่อยู่ในวงศ์ปลากระโทงแทง (Istiophoridae) ลักษณะขากรรไกรบนคล้ายทรงกรวย มีเกล็ดเล็ก ๆ แทรก อยู่ในผิวหนัง มีครีบท้อง และมีสันคอดหางด้านข้าง ข้างละ ๒ สัน ส่วนปลาในวงศ์ปลากระโทงแทงปากยาว (Xiphiidae) มีลักษณะขากรรไกรบนยาวตรงแบนราบขนานกับผิวน้ำ มีสันคอดหางด้าน ข้างเพียงข้างละ ๑ สัน
     ปลากระโทงแทงกินปลาที่มีขนาดเล็ก พบลอยหรือโจนเล่นน้ำเป็นแหล่ง ๆ ตามบริเวณไกลฝั่งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น จับได้ด้วยเบ็ด เบ็ดราว เบ็ดลาก เบ็ดราวน้ำลึก อวนลอย และโป๊ะ ปรกติปลาลอยหรือโจนเล่นน้ำโดยไม่รบกวนใคร แต่เมื่อติดเบ็ดจะสู้เบ็ดนานหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน และอาจพุ่งชนเรือด้วย แต่ก่อนชาวประมงมักเกรงปลากระโทงแทงเพราะมันสามารถพุ่งชนไม้โอ๊ก หนา ๑๐ เซนติเมตร ทะลุ ทำให้เรือรั่วและจมได้ เนื้อปลารสอร่อย นิยมทำเป็นปลาดิบ ปลาสวรรค์ ปรุงอาหารได้เช่นเดียวกับเนื้อปลาอินทรี
     ในประเทศไทยมีรายงานปลาในวงศ์ปลากระโทงแทง (Istiophoridae) อยู่ ๓ สกุล รวม ๖ ชนิด ดังนี้คือ
     ๑. สกุลปลากระโทงแทงร่ม (Istiophorus หรือ Histiophorus) ครีบหลังตั้งสูงกว่าความกว้างของลำตัวมาก ครีบท้องยาวมากและก้านครีบท้องไม่รวมเป็นก้านเดียวกัน แต่แยกเป็น ๒-๓ ก้าน ครีบอกสั้น ขากรรไกรบนยาว มีรายงานอยู่ ๒ ชนิด คือ
          ๑.๑ ปลากระโทงแทงร่ม [Istiophorus gladius (Broussonet)] ชื่ออื่น ๆ ปลากะโทงแทงร่ม, ปลากระโทงแทงใบเรือ, ปลากระโทงแทงกล้วย, ปลาอินทรีช้าง ชื่อสามัญ Indian Sailfish, Banana Sailfish, Kansegan ขนาดยาวได้ถึง ๔.๕ เมตร มีกลุ่มหนามแข็ง ๆ สั้น ๆ ๖ กลุ่มอยู่ระหว่างครีบหลังตอนหน้ากับครีบหลังตอนท้าย ลำตัวยาวประมาณ ๓.๕ เท่าของความยาวจากปลายปากบนถึงตา ไม่มีลายพาดขวาง ครีบหลังตอนหน้ามีก้านครีบเดี่ยว ๔๐-๕๐ ก้าน ตอนท้ายมี ๗ ก้าน ครีบหลังตอนหน้ามีก้านครีบหลังก้านแรกยาวกว่าก้านที่ ๒ และก้านครีบลำดับต่อไป จะสั้นลงเรื่อย ๆ จนถึงก้านที่ ๗ ครีบอกยาวประมาณ ๑.๔ เท่าของก้านครีบหลังก้านที่ ๗ ก้าน ครีบหลังตั้งแต่ก้านที่ ๘ ยาวขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงก้านที่อยู่กลาง ๆ ครีบซึ่งยาวที่สุด ต่อจากนั้นจะสั้นลง ๆ จนถึงก้านสุดท้ายซึ่งยาวประมาณกึ่งหนึ่งของก้านครีบหลังก้านแรก ท้ายครีบหลังมีลักษณะเว้าเล็กน้อย ครีบอกยาวกว่าขากรรไกรล่างวัดถึงตาเล็กน้อย ครีบท้องยาวกว่าครีบอกประมาณ ๑ เท่าและมีก้านครีบ ๓ ก้าน ครีบก้นตอนหน้ามีก้านครีบเดี่ยว ๑๐-๑๒ ก้าน ตอนท้ายมี ๖-๗ ก้าน ครีบต่าง ๆ สีออกดำ ครีบหลังมีประสีน้ำเงิน พบในมหาสมุทรอินเดีย ขนาดต่ำกว่า ๓.๖ เมตร
          ๑.๒ ปลากระโทงแทงร่มลาย [Istiophorus orientalis (Temminck et Schlegel)] ชื่ออื่น ๆ ปลากะโทงแทงร่ม ชื่อสามัญ Banana Sailfish, Basho-Kajiki ขนาดยาว ๓-๔ เมตร หนักได้ถึง ๑๐๐ กิโลกรัม สันด้านหลังระหว่างครีบหลังตอนหน้าและครีบหลังตอนท้ายเรียบ ไม่มีกลุ่มหนาม วัดจากปลายปากบนถึงตายาวประมาณ ๔.๒ เท่าของความยาวลำตัว ลำตัวยาวประมาณ ๓ เท่าของความยาวหัว มีลายพาดขวางเป็นจุดสีน้ำเงินอ่อน ๔-๖ จุด จำนวน ๑๗ แถว ครีบหลังตอนหน้ามีก้านครีบเดี่ยว ๔๑ ก้านและสูงประมาณ ๑.๕ เท่าของความยาววัดจากปลายปากบนถึงตา ก้านครีบหลังก้านแรก ๆ ยาวกว่าครีบอกเล็กน้อย ครีบอกยาวประมาณ ๑.๓ เท่าของความกว้างลำตัว ก้านครีบหลังก้านที่ ๒ ถึงก้านที่ ๕ สั้นกว่าก้านครีบหลังก้านแรกเล็กน้อย ก้านครีบหลังก้านที่ ๖ ถึงก้านที่ ๑๓ ค่อย ๆ ยาวขึ้น ๆ และตั้งแต่ก้านที่ ๑๔ ถึงก้านที่ ๔๑ กลับค่อย ๆ สั้นลงตามลำดับ ก้านครีบหลังก้านที่ ๑๓ ยาวเป็น ๒ เท่าของก้านครีบหลังก้านแรก ก้านครีบหลังก้านสุดท้ายยาวประมาณ ๒ เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางตา ครีบหลังตอนท้ายอยู่ห่างจากครีบหลังตอนหน้า ประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวของก้านครีบหลังก้านแรก หรือประมาณเท่ากับระยะห่างระหว่างครีบหลังตอนท้ายกับโคนครีบหาง ครีบท้องยาวประมาณ ๐.๖ เท่าของหัวโดยวัดจากปลายปากบนถึงช่องเปิดเหงือก ลำตัวสีเทาอมม่วงโดยทั่วไป ท้องสีขาวอมเทา ครีบหลังสีม่วงอมน้ำเงิน ครีบต่าง ๆ สีอมม่วงจาง ๆ ครีบหลังมีประเล็ก ๆ สีดำ พบแถบบ้านเพ จังหวัดระยอง เกาะช้าง จังหวัดตราด และย่านสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพบไปจนถึงในน่านน้ำตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น ในทะเลเปิดตามข้างเกาะหรือหินกลางน้ำลึก ๆ มักจับได้เป็นคู่ ๆ มากกว่าชนิดอื่น เมื่อตัวเมียติดเบ็ดตัวผู้จะว่ายตามจึงมักถูกจับได้อีกตัวหนึ่ง
     ๒. สกุล Makaira ขากรรไกรบนยาวปานกลางถึงยาวมาก ลำตัวกว้างมากกว่าความสูงของครีบหลัง ก้านครีบหลังก้านแรก ๆ ยาวและหนาแล้วค่อย ๆ สั้นและบางลง ก้านครีบหลังก้านกลางยาวไม่ถึงครึ่งหนึ่งของก้านครีบหลังก้านที่ยาวที่สุด ก้านครีบหลังก้านแรกสั้นมาก อยู่ชิดติดรวมกับก้านที่ ๒, ๓ และบ้างก็ถึงก้านที่ ๔ ทำให้มีขนาดใหญ่และหนากว่าก้านครีบก้านอื่น ๆ ขอบบนของก้านครีบหลังโค้งลาดลงมาก ครีบอกยาวและยาวกว่าครีบท้อง ในประเทศไทยมีรายงานอยู่ ๔ ชนิด คือ
          ๒.๑ ปลากระโทงแทงดำ [Makaira mazara (Jordan et Snyder)] ชื่ออื่น ๆ ปลากะโทงแทงดำ ชื่อสามัญ Black Marlin, Karokajiki (Black Spearfish), Mazaara (Real Swordfish), Kuroka (Black Marlin) ขนาดยาว ๓-๗ เมตร หนักได้มากกว่า ๖๐๐ กิโลกรัม โดยทั่วไปพบขนาด ๔๐-๗๐ เซนติเมตร นับเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ ลำตัวอ้วนกลม ยาวประมาณ ๔.๕ เท่าของความยาวจากปลายปากบนถึงตา มีลายพาดขวางลำตัวจาง ๆ ๑๖ ลาย ครีบหลังตอนหน้ามีก้านครีบ ๔๐-๔๘ ก้าน ตอนท้ายมี ๗ ก้าน ก้านครีบหลังก้านกลางยาวประมาณ ๑ ใน ๔ ของก้านครีบก้านที่ยาวที่สุด ครีบอกสีดำ ยาวมากกว่าความกว้างของลำตัว ๑.๓ เท่าหรือยาวประมาณเท่ากับความยาวของปลายปากบนวัดถึงตา ครีบอกยาวกว่าครีบท้องประมาณ ๑.๖ เท่า เมื่อตายครีบอกลู่แนบกับลำตัวได้ มีสันที่คอดหางข้างละ ๒ สัน หนังหนาด้านหลังสีน้ำเงินเข้มเกือบดำ และค่อย ๆ จางลงไปทางด้านข้าง ท้องสีขาวอมดำ พบตามบริเวณเกาะคราม จังหวัดชลบุรี เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ย่านสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และแถบจังหวัดภูเก็ต สงขลา พบไปจนถึงทะเลญี่ปุ่น และมหาสมุทรแปซิฟิก
          ๒.๒ ปลากระโทงแทงขาว [Makaira marlina Jordan et Hill] ชื่ออื่น ๆ ปลากะโทงขาว, ปลาอินทรีช้าง ชื่อสามัญ White Marlin, Giant Black Marlin ขนาดยาวได้ถึง ๔.๒ เมตร หนักได้ถึง ๒๓๐ กิโลกรัม ลักษณะคล้ายปลากระโทงแทงดำ ลำตัวยาวประมาณ ๔.๗ เท่าของความกว้างหรือประมาณ ๒.๘ เท่าของความยาวหัว ลำตัวไม่มีลายพาดขวาง ครีบหลังตอนหน้ายาวมากกว่าครึ่งหนึ่งของความกว้างลำตัวไม่มากนักแต่สั้นกว่าครีบอก ครีบอกยาวประมาณ ๑.๕ เท่าของก้านครีบหลังก้านที่ยาวที่สุด ก้านครีบหลังก้านกลางยาว ๐.๑-๐.๒ เท่าของก้านครีบหลังที่ ยาวที่สุด เมื่อตายครีบอกกางแผ่แข็งตั้งฉากกับลำตัว ไม่ลู่แนบไปกับลำตัวเหมือนปลากระโทงแทงดำ วัดปลายปากบนถึงตาได้ยาวประมาณ ๒ เท่าของระยะวัดจากตาถึงช่องเปิดเหงือก ลำตัวโดยทั่วไป สีตองอ่อนจาง ๆ ด้านหลังสีเขียวอมน้ำเงินอ่อน ครีบหางสีออกดำ ไม่มีจุดขาวบนครีบต่าง ๆ กลืนปลาทูน่าขนาดกลางได้ทั้งตัว พบตามบริเวณเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง เกาะช้าง จังหวัดตราด ย่านสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดสงขลา และฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของประเทศเม็กซิโก
          ๒.๓ ปลากระโทงแทงลาย [Makaira mitsukurii (Jordan et Snyder)] ชื่ออื่น ๆ ปลากะโทงลาย, ปลากระโทงบั้ง ชื่อสามัญ Striped Marlin, Mitsukuri’s Marlin, Makajiki (True Spearfish), Kajiki Maguro (Spearfish Tunny), Nairage, Baisen, Bakudo ขนาดยาว ๔-๕ เมตร หนักได้ถึง ๓๕๐ กิโลกรัม ทั่วไปพบขนาด ๒-๓ เมตร ลำตัวเพรียว แบนข้าง มีลายพาดขวางหรือบั้งจากด้านหลังถึงด้านท้อง ลายพื้นสีน้ำเงินจาง ๆ จุดสีน้ำเงินดำ ๑๒-๒๐ แถว ปรกติมี ๑๕-๑๗ แถว ลำตัววัดจากช่องเปิดเหงือกถึงโคนหางยาวประมาณ ๔ เท่าของความกว้าง ปลายปากบนถึงตายาว ๒.๒-๒.๔ เท่าของระยะจากตาถึงช่องเปิดเหงือก ลำตัวกว้างน้อยกว่าความยาวของก้านครีบหลังเล็กน้อย ครีบหลังตอนหน้ามีก้านครีบ ๔๑-๔๘ ก้านและครีบหลังตอนท้ายมีก้านครีบ ๖ ก้าน ครีบอกยาวกว่าครีบท้อง ๑.๓-๑.๔ เท่า ครีบท้องยาวพอ ๆ กับครีบหลัง ครีบก้นตอนหน้ามีก้านครีบ ๑๔ ก้าน ตอนท้ายมี ๗ ก้าน ด้านหลังสีน้ำเงินเข้มออกดำ ข้างตัวสีเทาเงิน ท้องสีขาวเงิน ครีบอกสีเทาขอบดำ บั้งขาวจุดดำ เมื่อขึ้นจากน้ำใหม่ ๆ สีเข้มชัดเจน พบบริเวณเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ย่านสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ฝั่งทะเลอันดามัน ทะเลญี่ปุ่น และเขตร้อนของมหาสมุทรแปซิฟิก
          ๒.๔ ปลากระโทงแทงแขก [Makaira indica (Cuvier)] ชื่ออื่น ๆ ปลากระโทงแทงดำ, ปลากระโทงแทงอินเดีย, ปลามาร์ลินอินเดีย ชื่อสามัญ Joo-Hoo, Indian Spearfish, Indian Marlin ขนาดยาวประมาณ ๒.๗ เมตร หนักได้ถึง ๙๐๐ กิโลกรัม ลำตัววัดถึงโคนหางยาวประมาณ ๕ เท่าของความยาวจากปลายปากบนถึงตา หรือประมาณ ๖ เท่าของความกว้าง ลายตามลำตัวมองไม่เห็น ครีบหลังตอนหน้าไม่ยาวกว่าความกว้างของลำตัว มีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๓ ก้านและก้านครีบ แขนงอีก ๓๓-๓๕ ก้าน ก้านครีบหลังก้านกลางยาวประมาณ ๑ ใน ๔ ของก้านที่ยาวที่สุด ครีบหลังตอนท้ายมีก้านครีบเดี่ยว ๑ ก้านและก้านครีบแขนง ๖ ก้าน ความยาวหัวยาวประมาณ ๑.๕ เท่าของครีบอก ด้านหลังสีน้ำเงินมีจุดสีดำประบ้าง โดยทั่วไปสีน้ำเงินออกเทา ครีบอกและครีบหางสีดำ ครีบก้นตอนหน้ามีก้านครีบ ๑๓-๑๔ ก้าน ตอนท้ายมี ๗ ก้าน ครีบท้องยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความกว้างลำตัว พบบริเวณเกาะคราม จังหวัดชลบุรี และมหาสมุทรอินเดีย
     ๓. สกุล Tetrapturus ก้านครีบแรก ๆ ของครีบหลังตอนหน้ายาวประมาณความกว้างของลำตัวและก้านต่อ ๆ ไปสั้นลง ก้านครีบหลังก้านกลางยาวมากกว่าครึ่งหนึ่งของก้านครีบหลังก้านที่ยาวที่สุด ครีบท้องยาวพอประมาณและมีก้านครีบรวมเป็นก้านเดียวกันคล้ายหนวด ครีบอกสั้น ขากรรไกรบนยาว มีรายงานอยู่เพียงชนิดเดียว คือ
     ปลากระโทงแทงจมูกสั้น [Tetrapturus brevirostris (Playfair)] ชื่ออื่น ๆ ปลาแหลนปากสั้น ชื่อสามัญ Short-nosed Spearfish ขนาดยาวประมาณ ๓.๙ เมตร ลำตัวด้านข้างไม่มีลายพาดขวาง ลำตัววัดถึงโคนหางยาวประมาณ ๔.๕ เท่าของความยาวจากปลายปากบนวัดถึงตา ความยาวของขากรรไกรบนวัดถึงปลายหน้าของขากรรไกรล่างยาวประมาณเท่ากับความยาวของขากรรไกร ล่างวัดถึงมุมปาก ครีบอกมีก้านครีบ ๑๙ ก้าน ไม่มีกลุ่มหนาม ระหว่างที่ว่างของครีบหลังหรือครีบก้นทั้ง ๒ ตอน ลำตัวยาวกว่าความกว้างประมาณ ๕.๖ เท่า ครีบหลังตอนหน้ามีก้านครีบ ๓๖-๓๙ ก้าน ตอนท้ายมี ๖ ก้าน ครีบหลังก้านที่ยาวที่สุดจะสั้นกว่าความยาวของครีบอก ก้านครีบก้านกลาง ๆ ยาวประมาณ ๒ ใน ๓ ของก้านครีบก้านที่ยาวที่สุด ก้านครีบหลังตอนกลาง ๆ ยาวไล่เลี่ย กันจนเกือบเป็นเส้นตรงและหักลาดลงตอนท้ายที่เกือบถึงครีบหลังตอนท้าย ครีบท้องสั้นกว่าครีบอก ด้านหลังลำตัวสีเทาถึงสีน้ำเงินเข้ม ด้านข้างและด้านท้องสีขาวเงิน ขอบครีบหลังตอนหน้าและครีบอกสีดำ พบบริเวณทะเลสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จังหวัดเพชรบุรี และในมหาสมุทรอินเดีย
     ปลากระโทงแทงในวงศ์ปลากระโทงแทงปากยาว (Xiphiidae) เท่าที่มีรายงานการศึกษาในขณะนี้มีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น คือ
     ปลากระโทงแทงปากยาว [Xiphias gladius (Linn.)] ชื่ออื่น ๆ ปลากะโทงดาบ, ปลาดาบ ชื่อสามัญ Swordfish, Broadbill, Espadon ขนาดยาวได้ถึง ๔.๕ เมตรและหนักได้มากกว่า ๔๕๐ กิโลกรัม ลำตัวยาวกว่าขากรรไกรบน ๓ เท่าและยาวกว่าความกว้าง ๖ เท่า ครีบหลังยาวประมาณความกว้างของลำตัว ครีบหลังตอนหน้ามีก้านครีบ ๔๐ ก้าน ตอนท้ายมี ๔ ก้าน เมื่อยังเล็กก้านครีบทั้ง ๒ ตอนนี้มีขนาดยาวใกล้เคียงกันและติดต่อกันโดยตลอด เมื่อโตขึ้นก้านครีบช่วงกลาง ๆ ค่อย ๆ หดสั้นเข้า ๆ จนกลายเป็นมีครีบหลัง ๒ ตอน ครีบอกยาวกว่าลำตัวและยาวประมาณเท่า ๆ กับครีบหลัง ครีบอกมีก้านครีบ ๑๖ ก้าน ไม่มีครีบท้อง ครีบก้นตอนหน้ามีก้านครีบ ๑๘ ก้าน ตอนท้ายมี ๔ ก้าน มีสันที่โคนหางด้านข้าง ข้างละ ๑ สัน ด้านหลังลำตัวสีเทาออกม่วงทอง ด้านท้อง สีจางกว่า จับได้จากทางฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอลในบริเวณนอกเขตไหล่ทวีป และอยู่ได้ทั่ว ๆ ไปถึงในเขตหนาว.

ชื่อหลัก
กระโทงแทง-ปลา
ชื่อวงศ์
Istiophoridae หรือ Histiophoridae ,Xiphiidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากะโทงแทง, ปลาอินทรีช้าง
ชื่อสามัญ
Sailfish (Istiophorus spp.); Spearfish (Tetrapturus spp. และหลายชนิด ในสกุล Mukair); Marlin (Makaira spp.); Swordfish หรือ Broadbill เฉพราะชนิด Xiphias gladius (Linn.)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.เฉลิมวิไล ชื่นศรี
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf