กระเรียน-นก

Grus antigone (Linn.)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Grus antigone (Linn.) วงศ์ Gruidae
ชื่ออื่น ๆ
นกเขียน, นกกาเรียน
ชื่อสามัญ
Sarus Crane, Eastern Sarus Crane

ลักษณะทั่วไป เป็นนกขนาดใหญ่ วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาวประมาณ ๑.๒๕ เมตร โตเต็มที่อาจสูงได้ถึง ๑.๕ เมตร ขนสีเทาตลอด คอยาว หัวและลำคอตอนบนไม่มีขนแบบขนนกทั่วไป มีแต่หนังและขนเส้นเล็ก ๆ สีแดง เมื่อมองดูไกล ๆ จึงเห็นหัวและคอตอนบนเป็นสีแดง มีจุดด่างขาวบนหัวและที่กกหู ตาสีแดง สายตาไวมาก ปากเรียวแหลมแต่ไม่ยาวนัก ปีกกว้างและยาว หางสั้น ขายาวสีแดง ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน ขณะบิน หัว คอ ลำตัว และขา จะยืดเป็นแนวตรง
     นกกระเรียนหากินเป็นคู่หรือกลุ่มเล็ก ๆ ตามทุ่งหรือดงหญ้า หนอง บึง แต่ละคู่จะหากินอยู่ใกล้ ๆ กันและบินตามกันไป ไม่เปลี่ยนคู่หรือแยกจากกัน เมื่อคู่ได้รับอันตรายก็จะไม่ทอดทิ้ง จึงมักถูกล่าด้วยกันเสมอ มักร้องเสียง “แกร๋ แกร๋” ในเวลาเช้าและเย็น
     อาหารของนกชนิดนี้ ได้แก่ สัตว์เล็ก ๆ เช่น ลูกกบ ลูกเขียด งู หนู จิ้งเหลน กิ้งก่า กุ้ง หอย บางครั้งก็กินปลาด้วย พืชต่าง ๆ เช่น ยอดไม้ ไม้น้ำ ยอดหญ้าแห้วหมู เมล็ดพืช ข้าวเปลือก
     นกกระเรียนผสมพันธุ์ในฤดูฝน โดยทั้งคู่จะเกี้ยวพาราสีกันก่อน ตัวผู้จะกระพือปีกแล้ววิ่ง กระโดด หรือบินอยู่ใกล้ ๆ คู่ของมัน รังวางไข่มีขนาดใหญ่ทำด้วยต้นไม้เล็ก ๆ กิ่งไม้แห้ง ใบหญ้า นำมาขัดสานกันเป็นรูปกระทะเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ เมตร มักอยู่บนกอหญ้าหรือบริเวณน้ำตื้น ๆ ลึกไม่เกิน ๑ เมตร วางไข่คราวละ ๑-๓ ฟอง ใช้เวลาฟัก ๒๘-๓๔ วัน ตัวเมียทำหน้าที่กกไข่มากกว่าตัวผู้ ผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ ๓ ปี มีอายุ ๕๐-๖๐ ปี
     นกชนิดนี้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศอินเดีย พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย ออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ในฤดูผลัดขนนกกระเรียนจะผลัดขนจนบินแทบไม่ได้ทำให้ถูกจับได้ง่าย ปัจจุบันจึงเป็นนกที่หาได้ยากมาก ชนิดที่พบในประเทศไทยและมาเลเซียมีขนาดเล็กกว่าที่พบในประเทศอินเดีย
     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย.

ชื่อหลัก
กระเรียน-นก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Grus antigone (Linn.)
ชื่อสกุล
Grus
ชื่อชนิด
antigone
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
(Linn.)
ชื่อวงศ์
Gruidae
ชื่ออื่น ๆ
นกเขียน, นกกาเรียน
ชื่อสามัญ
Sarus Crane, Eastern Sarus Crane
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf