กระสือ-หนอน

Lamprophorus spp., Photuris spp., Photinus spp., etc.,

ชื่อวิทยาศาสตร์
Lamprophorus spp., Photuris spp., Photinus spp., etc., วงศ์ Lampyridae
ชื่ออื่น ๆ
ผ้ำ (ภาคเหนือแถบจังหวัดน่าน เชียงใหม่ เชียงราย)
ชื่อสามัญ
Glow Worms

ลักษณะทั่วไป หนอนกระสือเป็นตัวอ่อนของแมลงพวกหิ่งห้อย และหิ่งห้อยตัวเมียอันเป็นตัวเต็มวัยซึ่งไม่มีปีก สามารถทำแสงกะพริบได้ โดยความเข้มของแสงอาจแตกต่างกันไปในระหว่างตัวอ่อน ตัวผู้ และตัวเมีย แต่โดยมากตัวเมียมักทำแสงได้เข้มกว่า หนอนกระสือที่ได้แก่หิ่งห้อยตัวเมียซึ่งไม่มีปีกนั้นมีรูปร่างลักษณะคล้ายตัวอ่อน คือเป็นตัวหนอนที่มีเปลือกลำตัวแข็ง ยาว และแบน ตาเล็ก ที่จะพบเห็นได้บ่อยในประเทศไทยและมีขนาดโตนั้นได้แก่พวกที่อยู่ในสกุล Lamprophorus พวกนี้บางชนิดเมื่อโตเต็มที่อาจยาวถึง ๖-๗ เซนติเมตร มีสีน้ำตาลอมแดงหรือน้ำตาลเข้ม ตัวแบนกว้าง ๑.๒-๑.๕ เซนติเมตร มีขา ๓ คู่ เช่นเดียวกับแมลงทั่วไป ยื่นยาวออกมาข้าง ๆ มองเห็นได้เมื่อเวลาคลานไปตามพื้นดิน หนวดสั้นมากแทบมองไม่เห็น ซึ่งผิดกับตัวผู้มากเพราะตัวผู้เป็นหิ่งห้อยมีปีก มีหัว อก และท้องเห็นได้ชัดเจน แต่ตัวเล็กกว่าตัวเมียมาก คือยาว ๑.๕-๒.๐ เซนติเมตร และกว้าง ๐.๕-๐.๗ เซนติเมตร หนอนกระสือมีอวัยวะทำแสงในท้อง ปล้องที่ทำแสงอาศัยเซลล์พิเศษซึ่งอาจเรียกว่า เซลล์แสง (light cells) ที่รวมกลุ่มกันอยู่ในบริเวณดังกล่าว และเซลล์กลุ่มนี้ต่อกับเส้นประสาทและท่ออากาศที่ส่งแก๊สออกซิเจนจำนวนมาก ภายในเซลล์เต็มไปด้วยอนุภาคที่มีรูปร่างกลมหรือยาว อนุภาคเหล่านี้แต่เดิมเข้าใจกันว่าเป็นพวกแบคทีเรียที่ทำแสง แต่ปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าเป็นไมโทคอนเดรีย (mitochondria) ของเซลล์ และเป็นตัวให้พลังงานในการทำแสงโดยอาศัยปฏิกิริยาของสารเคมีที่ผลิตออกมาและทำปฏิกิริยาทางเคมีที่สลับซับซ้อนจนทำ ให้เกิดแสงกะพริบขึ้น พื้นผนังที่รองรับเซลล์แสงเหล่านี้ทำหน้าที่สะท้อนแสงได้และมีลักษณะเป็นเซลล์พิเศษเช่นกันเพราะภายในโพรโทพลาซึม (protoplasm) เต็มไปด้วยผลึกเล็ก ๆ ของกรดยูริก (uric acid) ที่อัดกันแน่นเป็นตัวสะท้อนแสง ส่วนที่ปิดอยู่ด้านบนของเซลล์แสงนั้นเป็นผนังท้องซึ่งบางใสปราศจากเม็ดสี ทำให้เห็นแสงกะพริบที่ผลิตออกมาได้ดี แสงที่ผลิตปราศจากความร้อน ไม่มีรังสีอินฟราเรดหรืออัลตราไวโอเลต และเห็นเป็นสีเขียวอมเหลืองอ่อน จังหวะการกะพริบของแสงอาจแตกต่างกันในระหว่างตัวเมียและตัวผู้ แต่ต่างฝ่ายสามารถเรียนรู้ได้ว่าเป็นชนิดเดียวกันหรือไม่จากจังหวะและความเข้มของแสงที่กะพริบออกมา อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีหนอนกระสือบางชนิดเช่นพวกที่อยู่ในสกุล Photuris ที่ทำแสงกะพริบเลียนแบบหิ่งห้อยชนิดอื่นเพื่อล่อให้ตัวผู้คือหิ่งห้อยชนิดนั้นบินเข้ามาหาแล้วจับกินเป็นอาหาร


     นอกจากหนอนกระสือจะกินแมลงแล้วยังกินหอยทาก และสัตว์เล็ก ๆ อื่น ๆ อีกด้วย ออกหากินและผสมพันธุ์ในเวลากลางคืน ตัวอ่อนมักกินจุ และในระยะที่เป็นตัวอ่อนปากจะเจริญโผล่ยื่นยาวออกมาให้เห็น มีลักษณะเป็นเขี้ยว กินอาหารโดยใช้เขี้ยวจับเหยื่อแล้วพ่นน้ำย่อยออกมาให้เหยื่อยุ่ยแล้วจึงดูดกินอีกทีหนึ่งจนกระทั่งเปลี่ยนเป็นดักแด้จึงหยุดกินอาหาร เมื่อออกจากดักแด้เป็นหนอนกระสือที่โตเต็มที่จะกินอาหารน้อยมากหรือไม่กินเลย หลังจากผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่ซุกซ่อนอยู่ตามดิน ไข่ของหนอนกระสือบางชนิดก็เรืองแสงได้.

 

 

 

 

ชื่อหลัก
กระสือ-หนอน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Lamprophorus spp., Photuris spp., Photinus spp., etc.,
ชื่อสกุล
Lamprophorus, Photuris, Photinus
ชื่อชนิด
spp.
ชื่อวงศ์
Lampyridae
ชื่ออื่น ๆ
ผ้ำ (ภาคเหนือแถบจังหวัดน่าน เชียงใหม่ เชียงราย)
ชื่อสามัญ
Glow Worms
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ.ดร.สุธรรม อารีกุล
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf