กระสาคอดำ-นก

Ephippiorhynchus asiaticus (Latham)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Ephippiorhynchus asiaticus (Latham) วงศ์ Ciconiidae
ชื่อสามัญ
Black-necked Stork

ลักษณะทั่วไป เป็นนกขนาดใหญ่ วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาวประมาณ ๑.๓๕ เมตร สูงประมาณ ๑.๗๐ เมตร น้ำหนัก ๓-๕ กิโลกรัม ปากใหญ่สีดำปลายแหลม หัวและคอสีดำเหลือบเขียว ตรงกลางกระหม่อมออกสีเหลือบม่วง ขนบนหลังและโคนปีกตอนหน้าสีขาว ตอนหลังถึงหางสีดำ อก ท้อง และโคนขาสีขาว ขายาวสีแดง ตัวผู้ตาสีน้ำตาล ตัวเมียตาสีเหลือง ขณะบินจะยืดปาก หัว ลำตัว หาง และขาเป็นเส้นตรง เห็นหัวปีกสีขาว มีแถบดำสลับขาวอยู่กลางปีก ขอบปีกสีดำ
     นกกระสาคอดำมักอยู่ตามลำพังหรืออยู่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ พ่อแม่ลูก หากินตามแม่น้ำ ทุ่งนา หนองน้ำ และทะเลสาบ กินปลา ปู และสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กบ เขียด งู ขณะจับเหยื่อจะกระโดดกางปีกและวิ่งสลับฟันปลาเพื่อไล่เหยื่อให้จนมุมแล้วใช้ปากงับ
     ในฤดูผสมพันธุ์จะจับคู่และมีการต่อสู้แบ่งเขตแดนกัน ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันคาบกิ่งไม้แห้งมาทำรังบนยอดไม้ สูงจากพื้นดิน ๒๐-๒๕ เมตร วางไข่คราวละ ๓-๕ ฟอง ไข่สีขาว ตัวผู้และตัวเมียผลัดกันกก นานประมาณ ๓๓ วัน จึงฟักออกเป็นตัว ในระยะนี้นกกระสาคอดำจะดุมากไม่ค่อยยอมให้สัตว์อื่นเข้าใกล้ ทั้งพ่อและแม่นกจะช่วยกันเลี้ยงลูก
     นกกระสาคอดำพบในประเทศอินเดีย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะนิวกินี และทวีปออสเตรเลีย ในประเทศไทยปัจจุบันมีเหลืออยู่น้อยมากในธรรมชาติ พบทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้
     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และเป็นนกกระสาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีขนาดใหญ่เป็นที่ ๒ ของโลก.

 

ชื่อหลัก
กระสาคอดำ-นก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ephippiorhynchus asiaticus (Latham)
ชื่อสกุล
Ephippiorhynchus
ชื่อชนิด
asiaticus
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
(Latham)
ชื่อวงศ์
Ciconiidae
ชื่อสามัญ
Black-necked Stork
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf