กระพาก-ปลา

Puntius daruphani H.M. Smith

ชื่อวิทยาศาสตร์
Puntius daruphani H.M. Smith วงศ์ Cyprinidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลาตะพาก, ปลาปีก, ปลาปากคำ
ชื่อสามัญ
Daruphan’s Barb

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาจำพวกปลาตะเพียน แต่เห็นได้ชัดว่า มีลักษณะแตกต่างจากปลาชนิดอื่น ๆ ในจำพวกเดียวกัน จึงมีชื่อเรียกโดยเฉพาะ ความยาวตลอดตัวยาวได้ถึง ๔๐ เซนติเมตร รูปร่างลักษณะของปลาชนิดนี้คล้ายกับปลาตะเพียนขาวซึ่งพบแพร่หลายและชุกชุมกว่า แต่แตกต่างที่มีหัวเล็กและบริเวณท้ายทอยแอ่นลงเล็กน้อย ลำตัวแบนข้างและกว้างมาก ที่สำคัญคือ ก้านครีบแข็ง ก้านสุดท้ายของครีบหลังมีลักษณะจักเป็นฟันเลื่อย มีหนวด ๒ คู่ อยู่ที่บริเวณใกล้ด้านหน้าของริมฝีปากบนและที่ด้านบนของมุมปาก หนวดคู่แรกยาวเท่า ๆ กับเส้นผ่านศูนย์กลางของตา คู่หลังยาวกว่าคู่แรกเล็กน้อย เกล็ดใหญ่ ที่เรียงอยู่ตามแนวเส้นข้างตัวมีประมาณ ๒๗ เกล็ด ที่อยู่ในแนวเฉียงข้างตัวจากหน้าครีบก้นมี ๘-๙ เกล็ด ที่อยู่บนสันหลังจากหน้าครีบหลังมี ๘-๑๐ เกล็ด และที่อยู่รอบคอดหางมีประมาณ ๑๔ เกล็ด ครีบก้นมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๓ ก้าน ก้านครีบแขนง ๕ ก้าน 


     สีของปลาชนิดนี้อาจแตกต่างกันตามแหล่งน้ำที่พบ แต่ทั่วไปมักมีพื้นลำตัวสีเหลืองเรื่อ ๆ เหลือบทอง หรืออาจจางจนเห็นเป็นสีน้ำเงินอมเขียว บริเวณกลางเกล็ดที่เรียงอยู่ในแนวตอนบนของลำตัวจนถึงแนวสันหลังและขอบเกล็ดบริเวณเดียวกันมีจุดดำคล้ำ ครีบหลังและครีบหางมีประสีดำทำให้เห็นครีบเป็นสีเทา เฉพาะปลายครีบหางอาจเห็นเป็นสีชมพู ครีบอกและครีบท้องสีเหลืองหรือส้ม ส่วนหน้าของครีบก้นสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนม ส่วนท้ายสีส้มสด
     ปลาชนิดนี้พบเสมอตามแม่น้ำสายใหญ่ ในภาคกลางและภาคเหนือรวมทั้งในแม่น้ำโขง แต่ไม่ชุกชุมนัก มักจับได้พร้อมปลาสร้อยซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน มีประวัติว่าสามารถนำมาผสมข้ามพันธุ์กับปลาตะเพียนขาวได้ และลูกปลาอยู่รอดได้ดีจนโต แต่เชื่อว่าไม่สามารถสืบพันธุ์ได้.

 

ชื่อหลัก
กระพาก-ปลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Puntius daruphani H.M. Smith
ชื่อสกุล
Puntius
ชื่อชนิด
daruphani
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
H.M. Smith
ชื่อวงศ์
Cyprinidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลาตะพาก, ปลาปีก, ปลาปากคำ
ชื่อสามัญ
Daruphan’s Barb
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ทศพร วงศ์รัตน์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf