กระบอก-ปลา

Liza spp., Mugil cephalus Linn., Oedalechilus labiosus (Valen- ciennes) และ Valamugil spp.

ชื่อวิทยาศาสตร์
Liza spp., Mugil cephalus Linn., Oedalechilus labiosus (Valen- ciennes) และ Valamugil spp. วงศ์ Mugilidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากระเมาะ, ปลากะเมาะ, ปลาเมาะ, ปลาละเมาะ, ปลาลาเมาะ (ภาคใต้ใช้เรียก ปลากระบอกขนาดเล็ก ประมาณความยาวไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร); ปลายะ (สงขลาใช้เรียกปลากระบอกขนาดใหญ่ ประมาณ ความยาวมากกว่า ๑๕ เซนติเมตร); ปลาลำลวด (สุราษฎร์ธานีใช้เรียก ปลากระบอกท่อนไต้); ปลามก, ปลาหมก(ภาคใต้ใช้เรียกปลากระบอกขนาดใหญ่ ประมาณความยาวมากกว่า ๑๕ เซนติเมตร)
ชื่อสามัญ
Mullet

​​

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำตื้นเขตชายทะเล มักพบในบริเวณน้ำกร่อย และบางชนิดยังพลัดเข้าอาศัยได้ในเขตน้ำจืดต่อเนื่อง ในประเทศไทยพบปลาพวกนี้รวม ๑๓ ชนิด ใน ๔ สกุล มีขนาด แตกต่างกัน แต่ลักษณะทั่วไปรวมทั้งสีใกล้เคียงกันมาก มีแนวสันท้องโค้งพอ ๆ กันหรือมากกว่าแนวสันหลังเพียงเล็กน้อย หัวมีกระดูกค่อนข้างแข็งแรง มองหัวทางด้านข้างจะเห็นปลายหลิม แต่ถ้ามองจากด้านบนจะเห็นมนกลม สันหัวค่อนข้างแบน แต่หากมองในภาคตัดขวางจะเห็นด้านล่างเป็นมุมโค้ง หลังและท้องเป็นสันกลม ข้างหางแบนข้าง เมื่อมองรวม ๆ จะเห็นว่า มีรูปร่างกลมยาวเป็นท่อนคล้าย “กระบอก” ปลาพวกนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “ปลากระบอก” กันโดยทั่วไป
     ปลากระบอกมีปากขวางอยู่ปลายสุดของหัว แต่หลบต่ำเล็กน้อย ร่องปากซ้ายขวาบรรจบกันเป็นมุมกว้าง ปากอ้าได้ไม่กว้างนักหรือเพียงยืดหดได้บ้าง ริมฝีปากล่างมีขอบเป็นสันบาง ฟันบนปาก บนเพดานปาก และบนลิ้น มีขนาดเล็กมาก ตากลมโต อยู่ค่อนไปข้างหน้าต่ำกว่าแนวสันหัวเล็กน้อย มีเยื่อไขมันใสคลุมอยู่มากหรือน้อยตามชนิดของปลา
     ครีบหลังของปลากระบอกมี ๒ ครีบ แยกห่างจากกัน และมีขนาดพอ ๆ กัน ครีบหลังครีบแรกตั้งอยู่ในแนวประมาณกึ่งกลางของความยาวลำตัว ประกอบด้วยก้านครีบแข็ง ๔ ก้าน ครีบ หลังครีบที่ ๒ ประกอบด้วยก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๗ ก้าน ครีบนี้ตั้งอยู่ประมาณแนวตรงข้ามกับครีบก้นและมีรูปร่างคล้ายกัน ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง ๓ ก้านและก้านครีบแขนง ๘-๙ ก้าน ครีบอกอยู่ในแนวระดับตา ประกอบด้วยก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๒-๑๖ ก้าน ครีบท้องอยู่ประมาณใต้ครีบอก ประกอบด้วยก้านครีบแข็ง ๑ ก้านและก้านครีบแขนง ๕ ก้าน ครีบหางมีขอบข้างท้ายครีบเป็นแฉกตื้น เว้าตื้น หรือเกือบตัดตรง มาก หรือน้อยตามชนิดหรือขนาดของปลา
     หัวและลำตัวมีเกล็ดแข็งขนาดใหญ่ยึดติดแน่นปกคลุมอยู่ บริเวณขอบเกล็ดมีลักษณะเป็นแผง ซี่แหลมเล็กมากและมีเป็นจำนวนมาก ไม่มีเส้นข้างตัว เกล็ดตลอดแนวแกนลำตัวมี ๒๖-๔๑ เกล็ด มากหรือน้อยแล้วแต่ชนิด ครีบต่าง ๆ ยกเว้นครีบหลังครีบแรกและครีบท้องมีเกล็ดขนาดเล็กคลุมอยู่ อย่างน้อยก็บริเวณฐานของครีบ
     ซี่กรองเหงือกมีจำนวนมาก ลักษณะเป็นเส้นยาวเรียงชิดกัน ปรกติในปลาที่มีขนาดประมาณ ๑๐ เซนติเมตร จะมีซี่กรองเหงือกบนแกนบนของโครงเหงือกอันแรก ๗๕-๙๐ ซี่ และบนแกนล่างอีก ๖๕-๘๕ ซี่ ในปลาขนาด ๒๐ เซนติเมตรจะเพิ่มขึ้นเป็น ๙๕-๑๒๐ ซี่ และ ๙๕-๑๕๐ ซี่ตามลำดับ และจะเพิ่มมากขึ้นอีกตามการเจริญเติบโตของปลา
     เนื่องจากอาหารของปลากระบอกเป็นสาหร่ายขนาดเล็กและจุลินทรีย์ที่ปะปนอยู่ในโคลนและเลน ซึ่งปลากระบอกจะกินเข้าไปพร้อมกัน กระเพาะของปลากระบอกจึงเป็นกล้ามเนื้อหนามาก มีลักษณะเป็นก้อนกลมคล้ายกึ๋น ทำนองเดียวกับกระเพาะของปลาโคก ปลาตะเพียนน้ำเค็ม ปลามงโกรย และปลาตะลุมพุก แต่ปลายถุงกระเพาะของปลากระบอกมีส่วนยื่นแหลมแตกต่างจากปลาอื่น ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น
     ปลาพวกนี้ไม่มีสีสันฉูดฉาด ส่วนใหญ่จะเป็นสีขาวเงินทั่วทั้งลำตัวและหัว ด้านหลังและส่วน บนของข้างตัวเป็นสีฟ้าอมเขียวหรือฟ้าอมเทา จนถึงน้ำตาลอมเทาในบางครั้ง บริเวณแผ่นปิดเหงือกมักมีร่องรอยหรือประกายสีเหลือง ปรกติตามแนวกลางเกล็ดข้างตัวจะเห็นเป็นลายคล้ายเส้นข้างตัวหลายแถว เข้มบ้างจางบ้างแล้วแต่ชนิดและขนาด ครีบต่าง ๆ มีสีคล้ำหรือหม่น อาจมีสีเหลืองแซมบ้างแล้วแต่ชนิดและขนาดเช่นกัน ครีบท้องและครีบก้นมักมีสีขาวขุ่น ในปลาขนาดใหญ่มากอาจมีกระสีดำ ปลากระบอกหลายชนิดมีจุดดำหรือทึบที่มุมบนของครีบอก
     ปลากระบอกว่ายน้ำได้รวดเร็ว เมื่อตกใจหรือในขณะหลบหลีกภัยสามารถกระโดดพ้นผิวน้ำ ได้ อาศัยอยู่เป็นกลุ่มหรือฝูงใหญ่บ้างเล็กบ้างตามบริเวณน้ำตื้น ปลาขนาด ๑๐ เซนติเมตร อาจมีจำนวนฝูงละ ๕๐-๑๐๐ ตัว หรือมากกว่านั้นถ้าอยู่ในบริเวณที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำชายทะเลที่มีพื้นดินเป็นโคลนเลน มักเป็นบริเวณน้ำขุ่นในแหล่งน้ำ เขตปากแม่น้ำลำคลองที่ไหลลงสู่ทะเล แต่ก็พบอยู่ตามเกาะแก่งและโขดหิน หรือชายทะเลที่มีพื้นเป็นกรวดทรายและน้ำใสกว่า หรือบางชนิดในบางโอกาสยังพบเข้าอาศัยหากินตามแนวปะการัง บางครั้งอาจพบฝูงปลากระบอกขนาดเล็กในแอ่งน้ำตื้นชายทะเลที่น้ำมีอุณหภูมิสูงมาก ปลากระบอกบางชนิดสามารถอยู่ได้ในเขตน้ำจืดต่อเนื่อง จัดเป็นปลาที่สามารถปรับตัวได้ดีในแหล่งน้ำชายฝั่งหลายสภาพ
     ปลากระบอกมักวางไข่ในบริเวณห่างฝั่ง แต่หลายชนิดก็สามารถวางไข่ในแม่น้ำลำคลองใกล้ปากแม่น้ำได้ ไข่เป็นแบบไข่ลอย การวางไข่แต่ละครั้งจึงมีไข่จำนวนมาก ปรกติไข่จะฟักเป็น ตัวในเวลา ๑๕-๒๐ ชั่วโมง ลูกปลาจะเริ่มว่ายน้ำได้ดีและมีรูปร่างใกล้เคียงกับปลาโตเมื่ออายุ ๒๐-๔๐ วัน แล้วแต่ชนิดและสิ่งแวดล้อม ลูกปลาจะว่ายเข้าหาชายฝั่งโดยเฉพาะบริเวณซึ่งมีที่กำบัง เช่น ป่าชายเลน หรือปากแหล่งน้ำที่เปิดสู่ทะเลซึ่งเป็นแหล่งที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์
     ปลากระบอกเป็นปลาเศรษฐกิจ ใช้เป็นอาหารซึ่งรู้จักกันดีในทุกเขตที่พบ ในประเทศไทยมีการจับปลาชนิดนี้ตลอดชายฝั่งทั้งด้านอ่าวไทยและด้านทะเลอันดามัน และมีการเลี้ยงกันทั่วไป เพราะสามารถรวบรวมลูกปลาได้มากและสะดวก เป็นปลาโตเร็ว เลี้ยงง่าย กินอาหารที่มีในธรรมชาติเช่นที่เรียกว่า “ขี้แดด” แต่เนื่องจากมีชุกชุมมาก ส่วนใหญ่จึงเป็นการเลี้ยงโดยเป็นผลพลอย ได้จากการเลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการทำนากุ้งที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมแก่การหากินและการเจริญเติบโตของปลากระบอกซึ่งแพร่พันธุ์อยู่มากในแหล่งน้ำใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม ปลากระบอกเหล่านี้มักมีขนาดเล็กกว่าที่จับได้ด้วยเครื่องมือประเภทอวนลอย อวนทับตลิ่ง อวนล้อมติด แห โป๊ะ และโพงพาง เครื่องมืออื่น ๆ ที่ใช้จับปลากระบอกยังมี ยอยก ร้านบาม รวมทั้งลอบ นอกจากจะมีการซื้อขายปลากระบอกกันในลักษณะเป็นปลาสดแล้ว ยังนิยมทำเป็นปลา ตากแห้งและนึ่งเค็มทั้งตัว ที่สำคัญคือ การรวบรวมคู่ฝักไข่มาทำเค็มและตากแห้ง จัดเป็นอาหารที่มี คุณค่าเป็นที่นิยม มีราคาสูง เขตภาคใต้รู้จักกันในชื่อ “ไข่ปลาหมก” ในหลายเขตของโลก เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ปลากระบอกเป็นปลาพวกหนึ่งที่เหมาะสำหรับตกเป็นกีฬาได้ดี
     การหาชื่อวิทยาศาสตร์ประจำชนิดของปลากระบอกที่มีความยาวน้อยกว่า ๕ เซนติเมตรทำได้ยาก นอกจากชนิดที่มีลักษณะเด่นมาก ในบรรดาปลากระบอกที่มีอยู่ประมาณ ๖๔ ชนิด ใน ๑๔ สกุล กระจายอยู่ทั่วเขตอบอุ่นและเขตร้อนของโลก พบในน่านน้ำไทย ๑๓ ชนิด ใน ๔ สกุล เฉพาะชนิดในสกุล Liza และ Valamugil จะคล้ายกันมาก และต่างก็มีชนิดที่ชุกชุมอยู่มากจนเห็นปะปนกันเสมอ แต่ในทางอนุกรมวิธานพอจะยกรูปพรรณให้ใช้พิจารณาความแตกต่างกันได้ง่าย ๆ ดังนี้
     ชนิดในสกุล Liza มีปลายลิ้นแยกโผล่พ้นพื้นปาก ขอบท้ายเกล็ดเป็นแผงของซี่แหลมละเอียด เกล็ดบนหัวคลุมถึงหรือเลยแนวรูจมูกคู่หน้า ยกเว้นชนิด L. vaigiensis (Quoy et Gaimard) ซึ่งเกล็ดคลุมไม่ถึงแนวรูจมูกคู่หลัง ครีบอกสั้น ปลายจดไม่ถึงแนวใต้จุดเริ่มต้นของครีบหลังครีบแรก และที่มุมบนไม่มีเกล็ดรูปยาวเรียวประกอบอยู่ ทั้งนี้ยกเว้นชนิด L. macrolepis (Smith) และทุกชนิดไม่มีจุดดำที่มุมบนของครีบอก
     ส่วนในสกุล Valamugil ปลายลิ้นไม่โผล่แยกพ้นพื้นปาก ขอบท้ายเกล็ดคลุมต่อด้วยเยื่อบาง ๆ เกล็ดบนหัวคลุมถึงแค่แนวรูจมูกคู่หลัง ยกเว้นชนิด V. engeli (Bleeker) ซึ่งคลุมจนถึงแนวรูจมูกคู่หน้า ครีบอกเรียวแหลมจนส่วนปลายยื่นเกือบถึงหรือเลยตำแหน่งแนวใต้จุดเริ่มต้นของครีบหลังครีบแรก ที่มุมบนของครีบอกมีเกล็ดรูปยาวเรียวประกบอยู่ และที่ตำแหน่งเดียวกันนี้ยังมีจุดสีดำอีกด้วย ในกรณีหลังจะไม่พบในปลาชนิด V. engeli (Bleeker)
     ปลากระบอกที่พบในน่านน้ำไทยทั้ง ๑๓ ชนิด พอจะจำแนกชนิดตามลำดับความชุกชุมโดยพิจารณาจากจำนวนที่พบนำมาซื้อขายบริโภคกันในสภาพต่าง ๆ ได้ ในจำนวนนี้ ๗ ชนิดแรกนับว่ามีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากที่สุด
     ๑. ปลากระบอกดำ [Liza parsia (Hamilton-Buchanan)] ชื่ออื่น ๆ ปลากระบอกหัวลิ่ว (ปัตตานี), ปลากระบอกหัวเสี้ยม (ตราด) ชนิดนี้มีเยื่อไขมันคลุมตาใหญ่ ขณะหุบปากส่วนท้ายของกระดูกขากรรไกรบนยังโผล่อยู่ภายนอกแผ่นหนังบริเวณมุมปาก เกล็ดตลอดแนวแกนลำตัวมี ๒๙-๓๔ เกล็ด ครีบก้นมีก้านครีบแขนง ๘-๙ ก้าน และมีจุดเริ่มของครีบอยู่ในแนวหน้าต้นครีบหลังครีบที่ ๒ เพียงเล็กน้อย เป็นปลากระบอกชนิดที่ชุกชุมที่สุดของไทย พบทั่วไป เคยพบแม้ในบริเวณน้ำจืดของแม่น้ำบางปะกง เขตจังหวัดนครนายก มีการเลี้ยงกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นผลพลอยได้จาก การทำนากุ้ง มีราคาปานกลางหรืออาจสูงในบางครั้ง โดยทั่วไปพบยาว ๑๕-๒๐ เซนติเมตร แต่ก็เคยมีรายงานว่า มีขนาดยาวได้ถึง ๓๐ เซนติเมตร ปลาตัวเมียขนาดยาว ๑๕ เซนติเมตร จะเริ่มมีไข่ เป็นที่น่าสังเกตว่า ปลาชนิดนี้มักมีการยกรูปพรรณ แล้ววิเคราะห์กันเป็นในชื่อชนิด Mugil tade (Forsskal) หรือ M. dussumieri Valenciennes
     ๒. ปลากระบอกดำ [Liza subviridis (Valenciennes)] ชื่ออื่น ๆ ปลากระบอกเกล็ดหยาบ (ระนอง) ลักษณะทั่วไปคล้ายชนิดแรก เว้นแต่มีข้างหัวป้อมหรือหนากว่า และมีส่วนท้ายของเยื่อไขมันคลุมตาที่ใหญ่กว่าเล็กน้อย เกล็ดตลอดแนวแกนลำตัวมี ๒๗-๓๑ เกล็ด เป็นปลากระบอกขนาดเล็กอีกชนิดหนึ่งที่ชุกชุม พบตลอดชายฝั่ง แม้ในน้ำจืดที่มีส่วนติดต่อกับทะเล มีการเลี้ยงกันแม้จะราคาต่ำ ขนาดที่พบทั่วไป ยาว ๑๐-๑๕ เซนติเมตร แต่มีรายงานว่า มีขนาดยาวได้ถึง ๓๐ เซนติเมตร
     ๓. ปลากระบอกท่อนไต้ [Liza vaigiensis (Quoy et Gaimard)] ชื่ออื่น ๆ ปลากระบอกหูดำ, ปลาหมก, ปลาลำลวด (สุราษฎร์ธานี) เป็นปลากระบอกชนิดเดียวที่มีสีน้ำตาลคล้ำทั้งบนหัว ลำตัว และครีบ โดยเฉพาะครีบอกจะเข้มจนดำ มีแถบสีน้ำตาลอ่อนหรือเข้มพาดตลอดกลางเกล็ดข้างตัวรวม ๔-๖ แถบ นอกจากนี้ยังมีขอบปลายครีบหางตัดตรงหรือเว้าเพียงเล็กน้อย เยื่อไขมันคลุมตามีขนาดเล็ก ขณะหุบปากส่วนท้ายของขากรรไกรบนยังโผล่อยู่ ภายนอกแผ่นหนังบริเวณมุมปาก เกล็ดตลอดแนวแกนลำตัวมีเพียง ๒๔-๒๘ เกล็ด ครีบก้นมีก้านครีบแขนง ๘ ก้าน พบตามชายฝั่งทั่วไป แต่มีชุกชุมทางด้านทะเลอันดามัน ขนาดทั่วไปยาว ๑๕-๓๕ เซนติเมตร แต่มีบันทึกว่ามีขนาดยาวได้ถึง ๑๐๐ เซนติเมตร จึงนับเป็นปลากระบอกขนาดใหญ่ที่สุด มีราคาถูกเมื่อเทียบกับ ปลากระบอกชนิดอื่น แต่ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากฝักไข่มีราคาสูงทัดเทียมและขายรวมกันกับชนิดอื่น ๆ
     ๔. ปลาละเมาะหัวกลม [Valamugil cunnesius (Valenciennes)] ชนิดนี้มีเยื่อไขมันคลุมตาขนาดใหญ่ ขณะหุบปากส่วนท้ายสุดของขากรรไกรบนจะซ่อนมิดอยู่ใต้แผ่นหนังที่มุมปาก เกล็ดตลอดแนวแกนลำตัวมีจำนวน ๓๒-๓๗ เกล็ด ครีบก้นมีก้านครีบแขนง ๙ ก้าน ครีบอกสีเหลืองหม่น พบมากตามปากแหล่งน้ำที่ติดต่อกับทะเล และมีหลงเข้าไปในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำตลอดชายฝั่ง เช่นเดียวกับชนิดอื่น ๆ เนื่องจากมีชุกชุมจึงมีการเลี้ยงกัน แต่ราคาไม่ดีนักเพราะมีขนาดเล็ก ทั่วไปมีขนาดยาว ๑๐-๑๖ เซนติเมตร แต่มีรายงานว่ายาวได้ถึง ๔๑ เซนติเมตร
     ๕. ปลาละเมาะเกล็ดถี่ [Valamugil speigleri (Bleeker)] ชนิดนี้มีเยื่อไขมันคลุมตาขนาดใหญ่ ขณะหุบปากส่วนท้ายสุดของกระดูกขากรรไกรบนจะยังมีส่วนโผล่จากแผ่นหนังบริเวณมุมปาก เกล็ดตลอดแนวแกนลำตัวมีจำนวน ๓๗-๔๓ เกล็ด ครีบก้นมีก้านครีบแขนง ๙ ก้าน ครีบต่าง ๆ ทางด้านบนลำตัวมักมีสีฟ้าคล้ำอมเหลือง ขอบบนของครีบหลังครีบแรกเป็นสีดำ แม้จะจับได้มากตลอดชายฝั่งทั้งด้านอ่าวไทยและด้านทะเลอันดามัน แต่ราคาซื้อขายไม่ดีนัก เพราะมีขนาดเล็ก ที่พบทั่วไปยาวเพียง ๑๐-๑๖ เซนติเมตร ขนาดใหญ่ที่สุดที่มีรายงานไว้ ยาวเพียง ๒๐ เซนติเมตร
     ๖. ปลากระบอกขาว [Valamugil seheli (Forsskal)] ชื่ออื่น ๆ ปลากระบอกหางสีฟ้า ชนิดนี้มีเยื่อไขมันคลุมตาขนาดเล็ก ขณะหุบปากส่วนปลายสุดของขากรรไกรบนจะซ่อนมิดอยู่ใต้แผ่นหนังบริเวณมุมปาก เกล็ดตลอดแนวแกนลำตัวมี ๓๗-๔๒ เกล็ด ครีบก้นมีก้านครีบแขนง ๙ ก้าน และมีจุดเริ่มต้นอยู่หน้าครีบหลังครีบที่ ๒ เล็กน้อย ครีบหาง ครีบก้น และครีบอกสีเหลืองคล้ำ ที่มุมบนของครีบอกมีจุดดำเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยมคว่ำ พบตลอดชายฝั่ง จัดเป็นปลากระบอกขนาดใหญ่และมีราคาดี จึงเป็นชนิดหนึ่งที่เลี้ยงกัน โดยทั่วไปมีขนาดยาว ๒๐-๓๕ เซนติเมตร แต่มีรายงานว่ายาวได้ถึง ๕๔ เซนติเมตร
     ๗. ปลากระบอกขาว [Valamugil buchanani (Bleeker)] ชื่ออื่น ๆ ปลากระบอกหางเขียว ลักษณะทั่วไปคล้ายชนิด V. seheli (Forsskal) มาก เว้นแต่มีเกล็ดตลอดแนวแกนลำตัวเพียง ๓๔-๓๘ เกล็ด ส่วนครีบหลังครีบที่ ๒ และครีบก้นมีสัดส่วนโค้งยาวเรียวกว่า ทำให้ยังเห็นครีบทั้งสองมีขอบนอกเว้าลึก จุดเริ่มต้นของครีบทั้งสองนี้อยู่ในแนวเกือบตรงข้ามกัน ครีบอกสีเหลืองหรือส้ม จุดที่มุมบนของครีบนี้มีลักษณะค่อนข้างกลม เป็นปลากระบอกขนาดใหญ่ ที่พบทั่วไปยาว ๒๕-๓๕ เซนติเมตร แต่มีรายงานว่ายาวได้ถึง ๔๘ เซนติเมตร
     ๘. ปลากะเมาะ [Liza oligolepis (Bleeker)] ชื่ออื่น ๆ ปลาละเมาะ เป็นปลากระบอกชนิดเดียวที่มีรูปร่างสั้นป้อมและแบนข้างมากที่สุด มีเยื่อไขมันคลุมตาขนาดเล็ก ขณะหุบปากส่วนท้าย ของกระดูกขากรรไกรบนจะหลบเข้าไปอยู่ใต้แผ่นหนังบริเวณมุมปาก เกล็ดตลอดแนวแกนลำตัวมี เพียง ๒๓-๒๗ เกล็ด ครีบก้นมีก้านครีบแขนง ๙ ก้าน พบประปรายทั่วไป ปรกติอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำลำคลองที่มีป่าชายเลน ซื้อขายกันในราคาต่ำเพราะเป็นปลากระบอกที่มีขนาดเล็กที่สุด โดยทั่วไปยาวเพียง ๖-๘ เซนติเมตร แต่ก็มีที่พบยาวได้ถึง ๓๐ เซนติเมตร
     ๙. ปลากระบอกหิน [Oedalechilus labiosus (Valenciennes)] เป็นปลากระบอกชนิดเดียวในสกุล Oedalechilus ที่พบในน่านน้ำไทย ลักษณะเด่น คือ มีริมฝีปากบนอวบหนา รอบริมฝีปากบนและล่างมีติ่งเนื้อขนาดเล็กเรียงเป็นแถวเดี่ยวตลอดแนว มีเยื่อไขมันคลุมตาขนาดเล็กมาก ขอบหน้าของกระดูกหัวตา (lachrymal bone) หวำลึกรับกับส่วนท้ายของกระดูกขากรรไกร ปลายลิ้นโผล่พ้นพื้นปาก เกล็ดบนหัวคลุมเกือบถึงแนวรูจมูกคู่หลัง เกล็ดตลอดแนวแกนลำตัว มี ๓๔-๓๗ เกล็ด ที่มุมบนของครีบอกมีเกล็ดยาวเรียวประกบอยู่ ครีบก้นมีก้านครีบแขนง ๙ ก้าน ซี่กรองเหงือกมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับปลากระบอกชนิดอื่น ๆ คือ ในปลาขนาด ๑๑-๒๐ เซนติเมตร จะมีจำนวนซี่กรองเหงือกบนโครงเหงือกอันแรกเพียง ๕๕-๗๐ ซี่ หัวและลำตัวโดยทั่วไปสีน้ำตาล คล้ำอมม่วง มุมบนของครีบอกมีจุดสีคล้ำ พบประปรายและน้อยครั้งมากในบริเวณชายทะเลภาคใต้ทั้งด้านอ่าวไทยและด้านทะเลอันดามัน ขนาดทั่วไปยาว ๑๕-๒๐ เซนติเมตร แต่มีรายงานว่า ในต่างประเทศเคยพบยาวได้ถึง ๔๐ เซนติเมตร
     ๑๐. ปลากระบอกขาว (Mugil cephalus Linn.) เป็นปลากระบอกชนิดเดียวในสกุล Mugil ที่พบในน่านน้ำไทย มีลักษณะสำคัญ คือ มีเกล็ดขนาดเล็กมากแซมซ้อนอยู่ทั่วไปบนเกล็ดปรกติตามลำตัวและหัว ใต้คางตอนหน้ามีเกล็ดขนาดเล็ก ๑ หย่อม มีเยื่อไขมันคลุมตาขนาดใหญ่และหนามากกว่าชนิดอื่น ๆ ทั้งหมด ขณะหุบปากส่วนท้ายของกระดูกขากรรไกรบนยังโผล่อยู่นอกแผ่นหนังบริเวณมุมปาก เกล็ดบนหัวคลุมถึงแนวรูจมูกคู่หน้า เกล็ดตลอดแนวแกนลำตัวมี ๓๙-๔๒ เกล็ด ครีบอกสั้นคล้ายปลาในสกุล Liza และที่มุมบนไม่มีเกล็ดรูปยาวเรียวประกบอยู่ ครีบก้นมีก้านครีบแขนง ๘ ก้าน มุมบนของครีบอกมีจุดสีดำ เป็นชนิดที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วโลก ทั้งเขตอบอุ่นและเขตร้อน และมีการเลี้ยงกันในหลายประเทศ แต่กลับพบน้อยมากในน่านน้ำไทย เคยพบที่เขต จังหวัดสงขลาและชุมพร โดยทั่วไปมีขนาด ๓๐-๔๖ เซนติเมตร แต่มีรายงานจากต่างประเทศว่า ยาวได้ถึง ๙๐ เซนติเมตร จึงจัดเป็นปลากระบอกที่ใหญ่มากชนิดหนึ่ง
     ๑๑. ปลากระบอกหิน [Liza macrolepis (Smith)] เยื่อไขมันคลุมตาของชนิดนี้มีขนาดเล็กกว่าของชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน ขณะหุบปากส่วนท้ายของขากรรไกรบนจะยังโผล่อยู่นอกแผ่นหนังบริเวณมุมปาก เกล็ดตลอดแนวแกนลำตัวมี ๓๑-๓๔ เกล็ด ครีบก้นมีก้านครีบแขนง ๙ ก้าน เป็นปลากระบอกชนิดเดียวที่มีฐานครีบเป็นสีทองเรื่อ ๆ พบแพร่กระจายอยู่ในเขตอินโด-แปซิฟิก แต่พบน้อยมากในน่านน้ำไทย โดยเคยได้ตัวอย่างมาจากเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และฝั่งทะเลอันดามัน โดยทั่วไปมีขนาด ๑๗-๒๐ เซนติเมตร แต่มีรายงานจากต่างประเทศว่า ยาวได้ถึง ๓๐ เซนติเมตร


     ๑๒. ปลากะเมาะ [Valamugil engeli (Bleeker)] ชื่ออื่น ๆ ปลาละเมาะ ชนิดนี้มีเยื่อไขมันคลุมตาขนาดใหญ่ ขณะหุบปากส่วนท้ายของขากรรไกรบนจะซ่อนมิดอยู่ใต้หนังบริเวณมุมปาก เกล็ดตลอดแนวแกนลำตัวมี ๓๓-๓๔ เกล็ด ครีบก้นมีก้านครีบแขนง ๙ ก้าน เป็นปลากระบอกอีกชนิดหนึ่งที่พบน้อยมากในน่านน้ำไทย เคยพบทางฝั่งทะเลอันดามันเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น มีขนาดเพียง ๑๐-๑๕ เซนติเมตร แต่มีรายงานจากต่างประเทศว่า ยาวได้ถึง ๓๐ เซนติเมตร

 


     ๑๓. ปลากระบอกดำ [Liza tade (Forsskal) เป็นปลากระบอกที่พบน้อยที่สุดในน่านน้ำไทย แต่มีความสับสนในการยกรูปพรรณทางการวิเคราะห์ชนิด จนเคยมีการใช้ชื่อชนิดนี้แทนชนิด L. parsia (Hamilton-Buchanan) ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากและมีลักษณะใกล้เคียงกันที่สุด จนเข้าใจว่าชื่อสามัญก็คงจะเหมือนกัน แต่ก็มีข้อแตกต่างกันทางอนุกรมวิธาน คือ ปลาชนิดนี้มีครึ่งแรกของ ลำตัวซึ่งรวมทั้งหัวที่แบนมากทางด้านบนลู่แหลมมากกว่า เยื่อไขมันคลุมตามีสัดส่วนใหญ่กว่า และมีเกล็ดตลอดแนวแกนลำตัว ๓๔-๓๕ เกล็ด ครีบก้นมีก้านครีบแขนง ๙ ก้าน นอกจากนี้ยังมีจุดเริ่มของครีบหลังครีบที่ ๒ อยู่ประมาณเหนือแนวกึ่งกลางฐานของครีบก้น เคยพบตัวอย่างทางทะเลอันดามันขนาด ๒๙-๓๐ เซนติเมตร แต่ก็มีบันทึกจากนอกน่านน้ำไทยว่า ยาวได้ถึง ๗๐ เซนติเมตร.

 

 

 

ชื่อหลัก
กระบอก-ปลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Liza spp., Mugil cephalus Linn., Oedalechilus labiosus (Valen- ciennes) และ Valamugil spp.
ชื่อสกุล
Liza, Mugil, Oedalechilus, Valamugil
ชื่อชนิด
spp. ,cephalus ,labiosus
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
Linn.,(Valen- ciennes)
ชื่อวงศ์
Mugilidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากระเมาะ, ปลากะเมาะ, ปลาเมาะ, ปลาละเมาะ, ปลาลาเมาะ (ภาคใต้ใช้เรียก ปลากระบอกขนาดเล็ก ประมาณความยาวไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร); ปลายะ (สงขลาใช้เรียกปลากระบอกขนาดใหญ่ ประมาณ ความยาวมากกว่า ๑๕ เซนติเมตร); ปลาลำลวด (สุราษฎร์ธานีใช้เรียก ปลากระบอกท่อนไต้); ปลามก, ปลาหมก(ภาคใต้ใช้เรียกปลากระบอกขนาดใหญ่ ประมาณความยาวมากกว่า ๑๕ เซนติเมตร)
ชื่อสามัญ
Mullet
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ทศพร วงศ์รัตน์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf