กระทุงเหว-ปลา

ชื่ออื่น ๆ
ปลากระทุง, ปลาทุง, ปลาเข็ม
ชื่อสามัญ
Garfish, Needlefish เฉพาะในวงศ์ Hemirhamphidae เรียก Halfbeak

ลักษณะทั่วไป เป็นปลากระดูกแข็ง มีเกล็ดแบบขอบเรียบและหลุดง่าย ความยาวตลอดตัว ๐.๑๘-๑.๕๐ เมตร หัวแบนข้าง บ้างมีลำตัวยาว บ้างก็คล้ายกระสวย เมื่อผ่าขวางลำตัวแล้วส่วนมากจะมีลักษณะค่อนข้างกลม มีเหลี่ยมมนทางด้านล่าง ชนิดที่ขากรรไกรบนและล่างยื่นยาวและมีฟัน ที่ขากรรไกรทั้งสองเป็นปลาในวงศ์ปลากระทุงเหว (Belonidae) ชนิดที่ขากรรไกรล่างยื่นยาวและ ขากรรไกรบนเป็นแผ่นรูปสามเหลี่ยมเป็นปลาในวงศ์ปลาเข็ม (Hemirhamphidae) หนังหุ้มแผ่นปิดเหงือกไม่ติดกับคอดคอ เหงือกมักไม่มีซี่กรองเหงือก เส้นข้างตัวเรียบและอยู่ต่ำค่อนไปทางเกือบริมขอบท้อง มีครีบหลัง ๑ ครีบอยู่ค่อนไปทางส่วนท้ายของลำตัวและอยู่ในแนวระดับตรงข้ามกับครีบก้น ครีบอกอยู่ในส่วนครึ่งบนของลำตัวด้านข้าง ครีบท้องอยู่ประมาณกึ่งกลางลำตัวมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๑ ก้านและก้านครีบแขนง ๖ ก้าน ครีบหางมีทั้งปลายตัด ปลายแฉก และปลายกลม ด้านหลังโดยทั่วไปสีน้ำเงินเข้มหรือเขียวเข้ม ด้านข้างและด้านท้องสีเทาเงิน
     ปลากระทุงเหวกินสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่า บางชนิดอยู่ในน้ำจืด บางชนิดอยู่ได้ทั้งน้ำกร่อยและน้ำเค็ม ชนิดที่มีขนาดใหญ่อยู่ในทะเลห่างฝั่ง ปลากระทุงเหวมักว่ายน้ำอยู่เดี่ยว ๆ หรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ตามผิวน้ำ งับอาหารได้รวดเร็วมาก
     นิยมนำปลากระทุงเหวขนาดใหญ่ ๆ มาปรุงแกงส้ม ทอด ย่าง และนึ่ง ปลากระทุงเหวพบแพร่หลายในน่านน้ำหลายประเทศในเขตร้อน ในประเทศไทยมีรายงานรวม ๒๔ ชนิด ๗ สกุล ที่รู้จักกันในวงศ์ปลากระทุงเหว (Belonidae) มี ๖ ชนิด ๔ สกุล ดังนี้
     ๑. สกุล Ablennes มีรายงานเพียงชนิดเดียว คือ ปลากระทุงเหวบั้ง [Ablennes hians (Valenciennes) ชื่อวิทยาศาสตร์อื่น Athlennes hians (Valenciennes)] ชื่ออื่น ๆ ปลากระทุงเหวข้างแบน ชื่อสามัญ Barred Needlefish ขนาดยาวได้ถึง ๑.๒ เมตร พบโดยทั่วไปขนาดยาว ๔๕-๙๐ เซนติเมตร เป็นชนิดที่มีลำตัวแบนข้างมากที่สุด โดยกว้างเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของความหนา เกล็ดเล็กมาก ตามเส้นข้างตัวมี ๔๕๐-๔๙๐ เกล็ด หัวด้านบนแบน มีร่องกว้างกลางหัวซึ่งมีเกล็ดตอนหน้าและมีสันจากตอนกลางถึงตอนท้ายทอย บริเวณเหนือตาแบนราบเช่นเดียวกับกระพุ้งแก้มปิดเหงือก ขากรรไกรบนยื่นยาวพอ ๆ กับขากรรไกรล่างหรือขากรรไกรบนสั้นกว่าขากรรไกรล่างเล็กน้อย มีร่องสำหรับรองฟันตามริมขากรรไกรด้านใน ฟันรูปกรวยเรียว ๆ สั้น ๆ แหลมคม ไม่มีฟันที่เพดานปาก ลิ้นเรียบ มีฟันที่ตำแหน่งคอหอย ๓ คู่ ขากรรไกรล่างยื่นโป่งเล็กน้อย ครีบอกยาวเป็น ๑.๒-๑.๔ เท่าของครีบท้อง มีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๑ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๓-๑๔ ก้าน ครีบก้นเริ่มต้นก่อนแนวเริ่มต้นของครีบหางเล็กน้อย มีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๒๓-๒๔ ก้าน ครีบหลังมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้าน และก้านครีบแขนง ๒๑-๒๔ ก้าน ก้านครีบอ่อนเดี่ยวของทั้งครีบหลังและครีบก้นยาวไม่เท่ากัน โดยตอนหน้ายาวที่สุดและตอนท้ายครีบยาวรองลงไป โคนสันหางแบนข้างเล็กน้อยและไม่มีสันที่โคนหาง ครีบหางหนาและแข็งแรง ปลายแฉกล่างยื่นยาวกว่าปลายแฉกบน ลำตัวด้านหลังสีน้ำเงินเข้มเหลือบเขียว ตอนกลางลำตัวและส่วนท้องสีเงินวาว มีแถบดำพาดขวางลำตัวเป็นระยะ ๖-๘ แถบ ในปลาขนาดเล็กพบมีได้ถึง ๒๒ แถบ บ้างมากหรือน้อยกว่านี้ ครีบหลังและครีบหางสีออกดำ ครีบอกและครีบท้องสีออกเหลือง ปลายครีบออกสีดำ

 
     ปลากระทุงเหวบั้งพบแพร่หลายทั่วโลกในทะเลเขตร้อนและบริเวณใกล้เคียง ในประเทศไทยจับได้ตามทะเลที่ห่างฝั่งมาก ๆ หรือตามรอบ ๆ เกาะ
     ๒. สกุล Strongylura ลำตัวค่อนข้างกลมเมื่อตัดขวาง เกล็ดใหญ่ ปลายหางกลมหรือตัด มีรายงานอยู่ ๓ ชนิด คือ
          ๒.๑ ปลากระทุงควาย [Strongylura strongylura (van Hasselt) ชื่อวิทยาศาสตร์อื่น Tylosurus strongylurus (van Hasselt)] ชื่ออื่น ๆ ปลากระทุงเหวหางจุด, ปลากระทุงเหว ชื่อสามัญ Common Needlefish ขนาดยาว ๒๐-๕๐ เซนติเมตร ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ช่วงหางแบนข้างมากกว่า เกล็ดตามเส้นข้างตัวมีประมาณ ๑๗๐ เกล็ด ครีบหลังมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๑ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๐-๑๓ ก้าน ครีบอกมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๑ ก้านและก้านครีบแขนง ๙-๑๐ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๓-๑๕ ก้าน ปลายครีบหางกลม และมีจุดสีดำใหญ่อยู่กลางครีบ พบแพร่หลายอยู่ในทะเลเขตร้อน

 


          ๒.๒ ปลากระทุงเหวหูดำ [Strongylura leiura (Bleeker) ชื่อวิทยาศาสตร์อื่น Tylosurus leiurus (Bleeker)] ชื่อสามัญ Yellowfin Needlefish ขนาดยาว ๔๐-๑๑๐ เซนติเมตร ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ช่วงคอดหางแบนข้างมากกว่า มีเกล็ดตามเส้นข้างตัว ๑๘๕-๒๐๐ เกล็ด ครีบหลังมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๖-๑๘ ก้าน ครีบอกมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๑ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๐-๑๑ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๒๑-๒๓ ก้าน ครีบหลังเริ่มต้นอยู่ประมาณแนวก้านครีบอ่อนก้านที่ ๗ ของครีบก้น ปลายครีบหางเว้าตื้น ตอนล่างของครีบอกมีปื้นสีดำ พบแพร่กระจายอยู่ในทะเลเขตร้อนตั้งแต่ประเทศศรีลังกา อินเดีย ไต้หวัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออก หมู่เกาะมาร์แชล และเกาะกวม

 


          ๒.๓ ปลากระทุงเหวชนิด Strongylurus incisus (Valenciennes) ชื่อวิทยาศาสตร์อื่น Tylosurus incisus (Valenciennes) ชื่อสามัญ Incisus Needlefish ขนาดยาวประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย คอดหางแบนลงเล็กน้อย มีเกล็ดตามเส้นข้างตัว ๑๘๐-๑๙๐ เกล็ด ครีบหลังเริ่มต้นในแนวประมาณก้านครีบอ่อนก้านที่ ๒ ของครีบก้น ครีบหลังมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๗-๑๘ ก้าน ครีบอกมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๑ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๐-๑๑ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๙-๒๐ ก้าน ปลายครีบหางเว้าตื้น แพร่กระจายอยู่ในเขตอินโด-แปซิฟิก
     ๓. สกุล Tylosurus ลำตัวค่อนข้างกลมเมื่อตัดขวาง มีเกล็ดเล็กมาก ครีบหางแฉกลึก คอดหางด้านข้างยกเป็นสันคมข้างละ ๑ สัน มีรายงานอยู่ ๒ ชนิด คือ
          ๓.๑ ปลากระทุงแทง [Tylosurus annulatus (Valenciennes) ชื่อวิทยาศาสตร์อื่น Strongylura annulata (Valenciennes)] ชื่ออื่น ๆ ปลากระทุงเหวทะเล ชื่อสามัญ Agujon Garfish ขนาดยาวได้ถึง ๑.๕ เมตร ทั่วไปพบขนาดยาว ๖๐-๑๐๐ เซนติเมตร ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย มีเกล็ดบางตามเส้นข้างตัวประมาณ ๓๕๐ เกล็ด ฟันแข็งแรงและฟันบนโค้งไปข้างหน้า ครีบหลังมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๒๐-๒๒ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๘-๒๐ ก้าน ลิ้นสาก บนลิ้นมีฟันเป็นเม็ดเล็ก ๆ สันหางสีดำ ปลายครีบหางแฉกเล็กน้อยโดยแฉกล่างยื่นยาวกว่าแฉกบน ครีบต่าง ๆ สีขาวหรือขาวอมเทา พบแพร่กระจายอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ทะเลจีน ไต้หวัน ประเทศญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์

 


          ๓.๒ ปลากระทุงเหวทะเล [Tylosurus crocodilus (Le Sueur) ชื่อวิทยาศาสตร์อื่น Strongylura crocodila (Le Sueur)] ชื่ออื่น ๆ ปลาอ้ายแซด, ปลาอ้ายแรด ชื่อสามัญ Crocodile Needlefish ขนาดยาวได้มากกว่า ๑ เมตร ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย เกล็ดเล็กและถี่มาก ฟันแข็งแรงและเอียงไปข้างหน้าเล็กน้อย ครีบหลังมีก้านครีบแขนง ๒๒-๒๓ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบแขนง ๑๙-๒๑ ก้าน ลิ้นสาก บนลิ้นมีฟันเป็นเม็ดเล็ก ๆ ครีบอกมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๑ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๓ ก้าน คอดหางมีสัน ปลายครีบหางแฉกเล็กน้อยโดยแฉกล่างยื่นยาวกว่าแฉกบน พบแพร่กระจายอยู่ในทะเลเขตอินโด-แปซิฟิก ไต้หวัน ประเทศญี่ปุ่น และหมู่เกาะซามัว

 


          ๓.๓ ปลากระทุงเหวดำ [Tylosurus acus melanotus (Bleeker) หรือ T. melanotus (Bleeker)] ชื่อสามัญ Dark Brown Needlefish ขนาดยาวประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ลำตัวแบนข้าง เล็กน้อย มีเกล็ดตามเส้นข้างตัว ๓๓๕-๓๕๐ เกล็ด ฟันแข็งแรง ฟันกรามบนตั้งดิ่งตรง ครีบหลังมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๒๓-๒๔ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๒๐-๒๑ ก้าน ครีบอกมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๑ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๑-๑๒ ก้าน ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลดำ ครีบอกมีปื้นสีดำ ครีบหลังสีออกดำ ครีบก้นมีขอบดำแพร่กระจายตั้งแต่เขตร้อนของมหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก จนถึงหมู่เกาะฮาวาย
     ๔. สกุล Xenentodon มีรายงาน ๒ ชนิด ที่พบมากคือ ปลากระทุงเหวเมือง [X. cancila (Hamilton-Buchanan)] ชื่ออื่น ๆ ปลากระทุงเหวน้ำจืด, ปลาเข็มแม่น้ำ ชื่อสามัญ Freshwater Garfish, Round-tail Garfish อยู่ในน้ำจืด ขนาดยาว ๑๐-๓๐ เซนติเมตร ลำตัวแบนข้างประมาณ ๒ ใน ๓ ของความหนา ครีบอกยาวกว่าความหนา ไม่มีเกล็ดที่กระพุ้งแก้มปิดเหงือก ไม่มีซี่กรองเหงือกมีฟันที่คอหอยด้านบน ๑ คู่ เกล็ดเล็กและบาง ครีบหลังอยู่ตรงข้ามกับครีบก้น มีก้านครีบแขนง ๑๕-๑๘ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน ๑๖-๑๘ ก้าน คอดหางแบนข้างไม่มีสัน ปลายครีบหาง ตัด ด้านหลังลำตัวสีเขียว พบในแม่น้ำทั่วทุกภาคของประเทศไทย

 


     ปลากระทุงเหวที่จัดอยู่ในวงศ์ปลาเข็ม (Hemirhamphidae) มีชื่อสามัญว่า Halfbeak ขากรรไกร บนสั้นกว่าขากรรไกรล่างมาก เป็นแผ่นสามเหลี่ยมแบนแผ่อ้าได้ มีรายงานอยู่ รวม ๑๖ ชนิด ๔ สกุล ที่พบเห็นบ่อยมีดังนี้ คือ
     ๑. สกุล Hyporhamphus ครีบท้องอยู่ใกล้หัวมากกว่าหาง ขากรรไกรบนยาวไม่เท่ากับความกว้างโดยวัดที่มุมปาก เกล็ดขนาดกลางหรือใหญ่ มีรายงานอยู่ ๕ ชนิด ที่รู้จักกันบ้างคือ
          ๑.๑ ปลากระทุงเหวปากแดง [Hyporhamphus gaimardi (Valenciennes) ชื่อวิทยาศาสตร์อื่น Hemirhamphus gaimardi Valenciennes] ชื่ออื่น ๆ ปลาเข็มปากแดง ชื่อสามัญ Gaimardi’s Halfbeak ขนาดยาวได้ถึง ๓๑ เซนติเมตร พบทั่วไปขนาดยาวประมาณ ๒๕ เซนติเมตร ลำตัวแบนข้างคล้ายกระสวย มีแถบสีเงินขนาดโตเท่า ๆ กับเกล็ดตามความยาวของลำตัว เกล็ดตามเส้นข้างตัวมี ๕๐ เกล็ด ริมฝีปากแดง มีฟันซี่เล็ก ๆ ที่ขากรรไกรบนและล่าง ๔-๕ แถว ครีบหลังมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๒-๑๓ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและ ก้านครีบแขนง ๑๒-๑๔ ก้าน ไม่มีเกล็ดที่ฐานของครีบหลังและครีบก้น ครีบหางแฉกลึก ขอบบนและขอบหน้าของครีบหลังมีสีดำเช่นเดียวกับขอบบนและขอบล่างของครีบหาง พบแพร่กระจาย จากมหาสมุทรอินเดียถึงเกาะนิวกินี

 



          ๑.๒ ปลากระทุงแถบเงิน [Hyporhamphus unifasciatus (Ranzani) ชื่อวิทยาศาสตร์อื่น Hemirhamphus unifasciatus Ranzani] ชื่ออื่น ๆ ปลาตัก ชื่อสามัญ Silverlined Halfbeak ขนาดยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย มีเกล็ดตามเส้นข้างตัว ๕๐-๕๖ เกล็ด มี แถบสีเงินขนาดเท่าเกล็ดตามความยาวของลำตัว มีฟันที่ขากรรไกร ๕-๖ แถว ครีบหลังมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๒-๑๔ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๒-๑๕ ก้าน มีเกล็ดที่ฐานของครีบหลังและครีบก้น ครีบหางแฉกลึก ขอบครีบหลังและครีบหางสีดำ พบแพร่กระจายตั้งแต่ทวีปแอฟริกาด้านตะวันออก ประเทศอินเดีย ฟิลิปปินส์ ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของประเทศปานามา และฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกในเขตร้อน

 



          ๑.๓ ปลากระทุงหางดำ [Hyporhamphus melanopterus (Collette et Parin)] เดิมจำแนกไว้เป็นชนิด H. melanurus (Valenciennes) ชื่อวิทยาศาสตร์อื่น Hemirhamphus melanurus Valenciennes ชื่อสามัญ Black-tailed Halfbeak ขนาดยาว ๒๓-๒๔ เซนติเมตร ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย มีเกล็ดตามเส้นข้างตัว ๕๕-๕๘ เกล็ด แถบสีเงินที่ด้านข้างของลำตัวแคบกว่าขนาดของเกล็ด ครีบหลังมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๓-๑๕ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๔-๑๕ ก้าน มีเกล็ดที่ฐานครีบหลังและครีบก้น ครีบ หางแฉกลึก ปลายครีบหลังและครีบหางสีดำ มีฟันซี่เล็ก ๆ ที่ขากรรไกรบนและล่าง ๖-๗ แถว พบแพร่กระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลของประเทศสิงคโปร์ เกาะสุมาตรา ชวา และเซลีเบส

 


     ๒. สกุล Rhynchorhamphus (หรือ Hemirhamphus) ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ริมฝีปากบนมีเกล็ด ครีบหลังมีจุดเริ่มต้นอยู่ในแนวล้ำหน้าครีบก้น ครีบท้องอยู่ค่อนไปทางหางมากกว่าทางหัว ชนิดที่พบในประเทศไทยมีลักษณะขากรรไกรบนยาวมากกว่าความกว้าง ขากรรไกรล่างยาวมาก ครีบ หางแฉก มีรายงานพบในประเทศไทย ๒ ชนิด คือ
          ๒.๑ ปลากระทุงปากยาว [Rhynchorhamphus georgii (Valenciennes) ชื่อวิทยาศาสตร์อื่น Hemirhamphus georgii Valenciennes] ชื่อสามัญ Long-billed Halfbeak ขนาดยาว ๒๒-๓๐ เซนติเมตร มีเกล็ดตามเส้นข้างตัว ๕๗-๖๐ เกล็ด ลำตัวมีแถบสีเงินขนาดกว้างเท่ากับเกล็ด ครีบหลังมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๑-๑๕ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๒-๑๓ ก้าน ก้านครีบแขนงของครีบหลังก้านท้ายสุดอยู่เลยก้านครีบแขนงก้านสุดท้ายของครีบก้น ครีบหางแฉก กลุ่มฟันที่โคนคอหอยล่างมีลักษณะปลายเป็นสามเหลี่ยม ซี่กรองเหงือกของกระดูกเหงือกอันแรกมี ๕๒-๖๗ ซี่ ส่วนมากอยู่ระหว่าง ๕๔-๖๔ ซี่ ซี่กรองเหงือกของกระดูกเหงือกอันที่ ๒ มี ๔๕-๖๓ ซี่ ส่วนมากมีอยู่ระหว่าง ๕๐-๖๓ ซี่ ขอบปากดำเช่นเดียวกับขอบครีบหลังและขอบครีบหาง พบแพร่กระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลตั้งแต่ทวีปแอฟริกาด้านตะวันออก ประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย หมู่เกาะบาหลีและเกาะบอร์เนียว ประเทศจีน ฟิลิปปินส์ จนถึงเกาะกวม

 


          ๒.๒ ปลากระทุงปากยาวนาคา (Rhynchorhamphus naga Collette) ชื่อสามัญ Naga Long-billed Halfbeak ขนาดยาวประมาณ ๑๘ เซนติเมตร ลักษณะใกล้เคียงกับปลากระทุงเหวปากยาว [R. georgii (Valenciennes)] ต่างกันที่ปลายยอดของฟันบริเวณโคนคอหอยล่างมีลักษณะเกือบหน้าตัดหรือโค้งน้อย ๆ ก้านครีบแขนงก้านสุดท้ายของครีบหลังอยู่ในแนวตรงกับก้านครีบแขนงก้านสุดท้ายของครีบก้น ซี่กรองเหงือกของกระดูกเหงือกอันแรกมี ๔๗-๕๙ ซี่ ส่วนมากมี ๔๘-๕๗ ซี่ และซี่กรองเหงือกของกระดูกเหงือกอันที่ ๒ มี ๔๐-๕๓ ซี่ ส่วนมากมี ๔๑-๕๐ ซี่ แพร่กระจายอยู่ทางตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย อ่าวไทย และเกาะบอร์เนียว
     ๓. สกุล Hemirhamphus (หรือ Hemiramphus) ความกว้างและความยาวของขากรรไกรบนใกล้เคียงกัน ด้านหลังขากรรไกรบนไม่มีเกล็ดคลุม ครีบท้องอยู่ค่อนไปทางหางมากกว่าหัว ลำตัวแบนข้าง ครีบหางแฉก มีรายงานพบในประเทศไทย ๓ ชนิด รู้จักกันดีอยู่ ๒ ชนิด คือ
          ๓.๑ ปลาตับเต่าปากแดง [Hemirhamphus far (Forsskaํl)] ชื่ออื่น ๆ ปลากระทุงแม่หม้าย, ปลากระทุงเหวแม่หม้าย, ปลาตับเต่า, ปลาเข็มทะเล ชื่อสามัญ Spotted Halfbeak ขนาดยาวได้ถึง ๕๐ เซนติเมตร โดยทั่วไปพบขนาดยาว ๒๕-๓๕ เซนติเมตร ลำตัวเรียวยาวคล้าย กระสวย มีปื้นสีดำขวางลำตัว ๔-๙ ปื้น เกล็ดตามเส้นข้างตัว ๕๐-๕๒ เกล็ด มีก้านครีบอ่อนเดี่ยวที่ครีบหลัง ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๑-๑๒ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๑ ก้านและก้านครีบแขนง ๙-๑๑ ก้าน แพร่กระจายอยู่ตั้งแต่มหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิกด้านตะวันตก ถึงเกาะริวกิว

 


          ๓.๒ ปลาตับเต่าปากสั้น [Hemirhamphus archipelagicus (Collette et Parin) ชื่ออื่น ๆ ปลาเข็ม, ปลาเข็มทะเล เดิมจำแนกไว้เป็นชนิด H. marginatus (Forsskal)] ชื่อสามัญ Barred  Halfbeak ขนาดยาว ๒๕-๓๐ เซนติเมตร ลำตัวยาวเรียวคล้ายกระสวย เหนือแถบสีเงินตามความยาวของลำตัวมีลายพาดขวางเล็ก ๆ สีดำพาดเป็นระยะ ๆ ตลอดไปจนถึงหาง เกล็ดตามเส้นข้างตัวมี ๕๓-๕๗ เกล็ด ครีบหลังมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๑-๑๒ ก้าน ครีบ ก้นมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและก้านครีบแขนง ๙-๑๐ ก้าน ปลายครีบสีดำ แพร่กระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลและในทะเลตั้งแต่มหาสมุทรอินเดียถึงแปซิฟิกด้านตะวันตก

 


     ๔. สกุล Zenarchopterus ลำตัวเรียวยาว แบนข้าง ขากรรไกรล่างยื่นยาวมาก ขากรรไกรบนมีความยาวมากกว่าความกว้างและมีเกล็ดที่ด้านหลัง ครีบท้องอยู่ค่อนไปทางหางมาก ครีบหางกลมหรือตัดตรง ครีบหลังตั้งอยู่ในแนวล้ำหน้าครีบก้นและมักยาวกว่าครีบก้น ครีบก้นของตัวผู้มักพัฒนาทั้งขนาดและรูปร่างที่ใหญ่ขึ้น ออกลูกเป็นตัว มีรายงานพบในประเทศไทย ๖ ชนิด ที่พบเห็นบ่อยมีเพียงชนิดเดียว คือ
          ปลากระทุงเหวปากขาว [Zenarchopterus ectuntio (Hamilton-Buchanan)] ชื่ออื่น ๆ ปลาเข็ม, ปลากระทุงเหว ชื่อสามัญ White-tip Halfbeak ขนาดยาวประมาณ ๑๘ เซนติเมตร ความยาวลำตัวที่ไม่รวมหาง ๒-๒.๓ เท่าของความยาวส่วนหัว ขากรรไกรบนยาวเป็น ๒ เท่าของความกว้าง ปลายขากรรไกรล่างสีขาวเป็นเงา เกล็ดตามเส้นข้างตัวมี ๔๘-๕๐ เกล็ด ฐานเริ่มต้นของ ครีบท้องอยู่ห่างจากช่องเปิดของเหงือกเป็น ๒ เท่าเทียบกับการห่างจากครีบหาง ครีบหลังมีก้านครีบ อ่อนเดี่ยว ๑ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๒-๑๓ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๒ ก้านและ ก้านครีบแขนง ๘-๑๐ ก้าน ครีบอกมีก้านครีบแขนง ๘ ก้าน ก้านครีบแขนงครีบก้นก้านที่ ๒ ถึงก้านที่ ๔ ของตัวผู้ขนาดใหญ่ และยาวกว่าก้านครีบก้านอื่น ๆ

 


     ในปลาตัวเมียก้านครีบแขนงของครีบก้นก้านที่ ๖ และ ๗ ใหญ่กว่าก้านครีบก้านอื่น ๆ และก้านครีบก้านถัด ๆ ไปจะมีขนาดเล็กกว่าก้านอื่น ๆ พบตามแม่น้ำสายต่าง ๆ ในภาคกลางถึงภาคใต้ มักลอยเทิ่ง ๆ ที่ผิวน้ำ พุ่งเข้าหาเหยื่ออย่างรวดเร็ว
     นอกจากนี้ยังมีปลากระทุงเหวเจ้าพระยา (Zenarchopterus gilli Smith) ชื่อสามัญ Gill’s Halfbeak ขนาดยาวประมาณ ๑๖.๕ เซนติเมตร ขากรรไกรบนมีความยาวใกล้เคียงกับความกว้าง ขากรรไกรล่างยาวกว่าขากรรไกรบน ๗-๘ เท่า ครีบหลังมีก้านครีบอ่อน ๑๐-๑๑ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน ๑๑-๑๒ ก้าน เกล็ดตามเส้นข้างตัวมี ๔๐ เกล็ด ก้านครีบหลังก้านที่ ๕ ของตัวผู้ใหญ่และยาวเป็น ๒ เท่าของก้านครีบก้านอื่น ๆ ในตัวผู้ก้านครีบก้นก้านที่ ๖ ยาวและใหญ่ บางทีอาจยาวถึงครีบหาง พบในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ชื่อชนิดเป็นชื่อที่ตั้งใหม่โดย ดร.สมิท (Dr. H.M. Smith) เพื่อให้เป็นเกียรติแก่ ดร.ทีโอดอร์ กิล (Dr. Theodor Gill) ผู้ตั้งชื่อสกุล Zenarchopterus ใน พ.ศ. ๒๕๐๖ (ค.ศ. ๑๘๖๓) ปลาชนิดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับชนิด Z. dispar (Valenciennes) ซึ่งในตัวผู้จะมีก้านครีบก้นก้านที่ ๖ และ ๗ ขยายใหญ่.

 

 

 

 

ชื่อหลัก
กระทุงเหว-ปลา
ชื่อวงศ์
Belonidae หรือ Tylosuridae ,Hemirhamphidae หรือ Hemiramphidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากระทุง, ปลาทุง, ปลาเข็ม
ชื่อสามัญ
Garfish, Needlefish เฉพาะในวงศ์ Hemirhamphidae เรียก Halfbeak
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.เฉลิมวิไล ชื่นศรี
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf