กระทุง-นก

Pelecanus philippensis Gmelin

ชื่อวิทยาศาสตร์
Pelecanus philippensis Gmelin วงศ์ Pelecanidae
ชื่อสามัญ
Spot-billed Pelican

ลักษณะทั่วไป เป็นนกน้ำขนาดใหญ่ วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาวประมาณ ๑.๕ เมตร ขาใหญ่สั้น สีน้ำตาลดำ ระหว่างนิ้วตีนมีพังผืดติดกันเป็นพืด ปากยาวใหญ่ปลายแบนสีชมพู ปลายปากเป็นจะงอย พื้นปากล่างอาจขยายเป็นกระพุ้งคล้ายถุงขนาดใหญ่สำหรับจับและเก็บปลาทีละมาก ๆ ขอบปากบนมีจุดสีฟ้าอยู่เป็นระยะตามความยาวของปาก ตาสีน้ำตาลแดงมีขอบสีเหลือง ขนบริเวณด้านหลังของคอตั้งเป็นสันไล่จากฐานคอไปถึงท้ายทอย ขนที่บริเวณท้ายทอยนี้จะมีลักษณะเป็นกระจุกสั้น ๆ คล้ายหงอน ขนตามลำตัวสีขาวอมเทา ปลายขนแซมดำ หางและตอนล่างของลำตัวสีน้ำตาล ทั้งตัวผู้ ตัวเมีย และลูกนกที่ยังไม่โตเต็มที่มีสีสันเหมือนกัน ในฤดูผสมพันธุ์ขนตอนบนของลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีเทาเงิน ตอนล่างเป็นสีขาว


     นกกระทุงมักอยู่หรือออกหากินเป็นฝูง ขณะอยู่รวมกันเป็นฝูงจะหันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน เวลาบินจะหดคอเข้ามา เมื่อบินระยะไกลจะบินเหลื่อมกันเป็นแถวเรียงหนึ่ง หรือเป็นรูปคล้ายหัวลูกศร การจับปลาอาจทำโดยบินขึ้นสูงแล้วทิ้งตัวพุ่งดิ่งลงไปในน้ำเพื่อให้ดำได้ลึก เพราะใต้ผิวหนังมีลักษณะพรุนเหมือนฟองน้ำ เมื่อคลำหรือบีบจะมีเสียงดังกรอบแกรบ เป็นลักษณะเด่นกว่านกน้ำชนิดอื่น ขณะว่ายน้ำจึงเห็นลำตัวลอยฟ่องอยู่บนผิวน้ำ นกชนิดนี้มีนิสัยชอบเลียนแบบกัน ถ้าตัวใดตัวหนึ่งทำอะไร ตัวอื่น ๆ ก็จะทำตาม เช่น ก้มหัวลงช้อนปลาพร้อม ๆ กัน กินปลา กุ้ง กบ เขียด
     นกกระทุงทำรังรวมกันเป็นกลุ่มบนต้นไม้ร่วมกับนกชนิดเดียวกัน หรือกับนกกินปลาชนิดอื่น เช่น นกกาบบัว นกยาง นกกาน้ำ นกปากห่าง นกกระสา โดยจะทำรังอยู่บนยอดหรือกิ่งไม้สูง ๆ ในป่า รังทำด้วยกิ่งไม้แห้งสานกันลักษณะคล้ายรังของกาหรือรังนกกาบบัว
     นกชนิดนี้จะผสมพันธุ์ประมาณเดือนพฤศจิกายน วางไข่คราวละ ๓-๕ ฟอง ไข่ออกใหม่เป็นสีขาว เมื่อฟักนานเข้าจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ตัวผู้และตัวเมียผลัดกันกกไข่นาน ๔-๕ สัปดาห์ จึงฟักออกเป็นตัว
     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทไทย.

 

 

 

ชื่อหลัก
กระทุง-นก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pelecanus philippensis Gmelin
ชื่อสกุล
Pelecanus
ชื่อชนิด
philippensis
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
Gmelin
ชื่อวงศ์
Pelecanidae
ชื่อสามัญ
Spot-billed Pelican
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf