กระทิงเขาทุย

Bos frontalis Lambert

ชื่อวิทยาศาสตร์
Bos frontalis Lambert วงศ์ Bovidae
ชื่อสามัญ
Gayal, Gyal

ลักษณะทั่วไป เป็นวัวขนาดใหญ่ รูปร่างล่ำเตี้ย วัดจากปลายจมูกถึงก้นยาวประมาณ ๒ เมตร ความสูงวัดที่ระดับไหล่ประมาณ ๑.๖ เมตร น้ำหนัก ๖๐๐-๘๕๐ กิโลกรัม หัวใหญ่ จมูกทู่ มี หนอกสูงเริ่มจากคอลาดไปถึงกลางหลัง เขาใหญ่แต่สั้น พุ่งชี้ออกไปทางด้านข้าง ไม่โค้งและบิดปลาย เหมือนเขากระทิง ฐานเขากว้าง ๑๒-๑๕ เซนติเมตร ด้านบนมีร่องตามแนวยาว เขาของตัวผู้ใหญ่กว่าของตัวเมีย และเขาของตัวเมียบางตัวอาจโค้งบ้างเล็กน้อย ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีเหนียงใต้คอ แต่ตัวผู้มีเหนียงใต้คางด้วย เหนียงใต้คอของตัวผู้มีขนาดใหญ่ ห้อยยานตั้งแต่ใต้ลำคอไปจนถึงอวัยวะเพศขาของกระทิงเขาทุยสั้นกว่ากระทิง กระทิงเขาทุยมีขนตามลำตัวสีดำ ขนที่ขาที่พ้นกีบขึ้นมาจนถึงข้อเข่าเป็นสีขาว มีเลขโครโมโซม (chromosome number) ๕๘ สูตรฟัน ๐/๓ ๐/๐ ๓/๓ ๓/๓ * ๒ = ๓๒


     กระทิงเขาทุยอยู่รวมกันเป็นฝูง ออกหากินตามทุ่งหญ้า ไม่ดุและไม่ตื่นตกใจง่าย มักอยู่กันเงียบ ๆ จนดูเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างเฉื่อยชา กินหญ้า ใบไม้ และผลไม้
     กระทิงเขาทุยเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ ๒ ปี ตั้งท้องนานประมาณ ๙ เดือน ตกลูกครั้งละ ๑ ตัว ลูกเกิดใหม่สีน้ำตาลหรือเทา หย่านมเมื่ออายุประมาณ ๙ เดือน มีอายุ ๒๕-๓๐ ปี
     กระทิงเขาทุยมีถิ่นกำเนิดทางตอนเหนือของเทือกเขาหิมาลัย เชิงเขาแถบแคว้นอัสสัมของประเทศอินเดีย เทือกเขาแถบแคว้นจิตตะกองของประเทศบังกลาเทศและเทือกเขาตะนาวศรีของ ประเทศพม่า สวนสัตว์ดุสิตนำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘ และขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้เป็นจำนวนมาก
     ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า กระทิงเขาทุยเป็นลูกผสมของกระทิงกับวัวบ้าน หรือเป็นกระทิงที่นำมาเลี้ยงจนเชื่อง มีผู้กล่าวว่า ชาวบ้านในแคว้นอัสสัมมักปล่อยวัวตัวเมียให้ไปผสมกับกระทิง ได้ลูกออกมา เป็นกระทิงเขาทุยเพื่อนำมาใช้งาน.

 

 

 

ชื่อหลัก
กระทิงเขาทุย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bos frontalis Lambert
ชื่อสกุล
Bos
ชื่อชนิด
frontalis
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
Lambert
ชื่อวงศ์
Bovidae
ชื่อสามัญ
Gayal, Gyal
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf