กระทิง-วัว

Bos gaurus Smith

ชื่อวิทยาศาสตร์
Bos gaurus Smith วงศ์ Bovidae
ชื่ออื่น ๆ
เมย, วัวดำหน้าเพิง
ชื่อสามัญ
Gaur

ลักษณะทั่วไป เป็นวัวป่าขนาดใหญ่ วัดจากปลายจมูกถึงก้นยาว ๒.๕-๓.๐ เมตร ความสูงวัดที่ระดับไหล่ ๑.๗-๑.๙ เมตร น้ำหนัก ๖๐๐-๙๐๐ กิโลกรัม รูปร่างล่ำสันบึกบึน คอใหญ่ มีหนอกสูงเริ่มจากคอจนถึงกลางหลัง หน้าผากโหนกสูง มีขนยาวสีเทาปกคลุม เขางามเป็นพิเศษ โคน เขาใหญ่มีพาลีบริเวณโคนเขา วงเขาโง้ง ปลายบิดงอนขึ้น กระทิงขนาดใหญ่วัดรอบโคนเขาได้ถึง ๕๐ เซนติเมตร ส่วนโค้งของวงเขาทั้ง ๒ ข้างวัดได้กว้างที่สุดถึง ๑ เมตร จึงมีผู้นิยมนำมาใช้ประดับบ้าน เขาของกระทิงตัวเมียจะเล็กและสั้นกว่าตัวผู้ มีสูตรฟัน ๐/๓ ๐/๐ ๓/๓ ๓/๓ * ๒ = ๓๒


     กระทิงมีขนตามลำตัวสีดำ ขนหน้าผากสีเทาหรือเทาอมเหลือง เรียกว่า “หน้าโพ” จมูกขาว ใบหูขาว ขาพ้นกีบขึ้นมาจนถึงข้อเข่าเป็นสีเทา มีผู้เรียกว่า “ถุงเท้าวัว” กระทิงมีเหงื่อลักษณะเป็นน้ำมัน สีเหลืองกลิ่นฉุน บริเวณข้อเข่ามักเปื้อนน้ำมันทำให้ดูเป็นสีเหลืองอ่อน กระทิงที่มีถิ่นอาศัยในประเทศอินเดียจะมีสีค่อนไปทางน้ำตาลมากกว่ากระทิงในประเทศไทย
     กระทิงมีนิสัยดุ แต่ก็ตื่นง่ายเยี่ยงสัตว์ป่าทั่วไป ตัวผู้และตัวเมียที่มีอายุและมีขนาดใหญ่ มักเดินอยู่รอบนอกของฝูงเพื่อระวังภัยและเข้าต่อสู้เมื่อมีภัย กระทิงตัวผู้เมื่อเติบใหญ่จะถูกผลักดันออกจากฝูงไปเที่ยวหากินโดดเดี่ยว มักเรียกว่า “กระทิงโทน” กระทิงเหล่านี้จะปรับตัวจนมีการรักษาตัวระแวงภัยได้ดีเยี่ยม นักล่าสัตว์ที่ตามรอยกระทิงโทนย่อมรู้ดี หลังจากหากินตามทุ่งโล่งระหว่างป่าแล้ว กระทิงโทนมีวิธีหลบเข้าหาที่ร่มเย็นเพื่อพักผ่อนอย่างแยบยลมากโดยจะเดินเข้าไปในที่รกชัฏ เช่น ป่าทึบที่มีทั้งไม้เล็กและไม้ใหญ่ เดินเป็นแนวตรงไปประมาณ ๑๐๐ เมตร แล้ววกกลับมาในแนวขนานกับทางเดินเดิมไม่ห่างจากแนวเดิมนัก เดินไปประมาณ ๔๐ เมตร จึงหยุดหันหลังกลับ หันหน้าย้อนมาในทางที่เดินมา แล้วลงนอนพัก ถ้ามีพรานเดินสะกดรอยมาตามทางเดินแรก กระทิงจะได้ยินหรือได้กลิ่นแปลกทำให้รู้ตัวได้ทันที ก็จะลุกขึ้นยืนคอยทีอยู่ ขณะนั้นหากมีเสียงสัตว์อื่น เช่น ค่าง หรือกระรอกร้องทัก หรือนกตบยุงโผบินขึ้นจากพื้น กระทิงก็จะออกวิ่งหนีไปก่อน แต่ถ้าไม่มีเสียงทัก ก็จะคงคอยทีอยู่ เมื่อกลุ่มพรานเดินวกมาตามทางเข้าที่พักนอน กระทิงก็จะโผนพุ่งเข้าใส่อย่างรวดเร็ว
     กระทิงกินหญ้า ใบไม้ และโปรดปรานหน่อไม้มาก หน่อไม้ที่สูงชะลูดถึง ๓ เมตร ก็สามารถใช้เขาเกี่ยวโน้มลงมาหักยอดกินได้ โดยปรกติกระทิงหากินในเวลากลางคืน มักไปเป็นฝูง ๕-๒๐ ตัว ออกหากินหญ้าระบัดในเวลาเย็นจนถึงรุ่งเช้า เมื่อแดดกล้าขึ้นก็จะพากันเข้าหลบนอนในป่าทึบ ซึ่งเป็นพฤติกรรมการดำรงชีวิตคล้ายฝูงช้าง
     กระทิงตัวผู้ที่เก่งกล้าในฝูงจะผสมพันธุ์กับตัวเมียหลายตัวในฝูงเดียวกัน สุดแต่ว่าตัวเมียตัวใดจะถึงคราวรับการผสมพันธุ์ได้ ส่วนตัวผู้ตัวอื่น ๆ จะเข้ามาในฝูงเพื่อผสมพันธุ์บ้างเพียงบางโอกาส ดังนั้น กระทิงตัวเมียในฝูงจึงหมุนเวียนกันตั้งท้อง และจะพบลูกกระทิงตัวเล็ก  ๆ ตามแม่อยู่ในฝูงเสมอ
     กระทิงตั้งท้องนานประมาณ ๙ เดือน ให้ลูกครั้งละ ๑ ตัว ลูกเกิดใหม่สีน้ำตาลแดงและมักมีสีเข้มเป็นทางบนสันหลัง ลักษณะผิดจากวัวบ้านตรงที่มีหูใหญ่ ตั้งชูระแวงภัยอยู่เสมอ หน้าผากโหนก และขายาวประเปรียวกว่าวัวบ้านมาก เมื่ออายุได้ ๕ เดือน สีจึงค่อย ๆ เข้มขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อย่างเข้าวัยรุ่น มีอายุประมาณ ๓๐ ปี
     กระทิงเคยพบทุกภาคของประเทศไทย แต่ปัจจุบันมีจำนวนลดน้อยลงมากเนื่องจากถูกล่า ทำลาย ในขณะเดียวกับป่าบริเวณที่อยู่อาศัยก็เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว นอกจากในประเทศไทยแล้ว ยังพบในประเทศแถบอินโดจีน มาเลเซีย พม่า อินเดีย และเนปาลอีกด้วย
     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย.

 

 

 

 

ชื่อหลัก
กระทิง-วัว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bos gaurus Smith
ชื่อสกุล
Bos
ชื่อชนิด
gaurus
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
Smith
ชื่อวงศ์
Bovidae
ชื่ออื่น ๆ
เมย, วัวดำหน้าเพิง
ชื่อสามัญ
Gaur
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.อ. วิโรจน์ นุตพันธุ์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf