กระทิง-ปลา

Mastacembelus spp.

ชื่อวิทยาศาสตร์
Mastacembelus spp. วงศ์ Mastacembelidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลาน้ำผึ้ง (เฉพาะปลากระทิงไฟในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี)
ชื่อสามัญ
Spiny Eel; Fire Eel หรือ Flame Eel (เฉพาะปลากระทิงไฟ)

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำจืดที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับปลาหลดซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกัน และพบอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกันจนมีการเรียกชื่อปลากระทิงซ้ำซ้อนเป็นปลาหลด หรืออาจเรียกรวมทุกชนิดของทั้งสกุล Mastacembelus และ Macrognathus ว่า “ปลาหลด” ปลากระทิงมีลำตัวยาวคล้ายงูหรือปลาไหล แต่แบนข้างเล็กน้อย หากตัดขวางจะเห็นหน้าตัดเป็นรูปรี หัวแหลม จะงอยปากยื่นยาวเป็นงวงสั้น ๆ และเคลื่อนไหวได้ ข้างหางแบนบางเหมือนใบพาย เกล็ดเล็กมาก เรียบ และยึดติดแน่นกับหนัง มีเมือกปกคลุมซึ่งจะยิ่งขับออกมามากเมื่อถูกจับ ครีบหลังส่วนที่เป็นก้านครีบแข็งซึ่งเริ่มประมาณแนวเหนือปลายครีบอกไม่ยึดติดต่อกันเป็นแผงเดียวด้วยหนัง จึงเห็นแยกเป็นแต่ละก้าน ครีบหลังส่วนถัดไปซึ่งประกอบด้วยครีบแขนง มีลักษณะเป็นแผงครีบยาวตลอดสันหลังข้างหางส่วนที่เหลือ และมีลักษณะคล้ายครีบก้นที่อยู่ตรงข้าม เว้นแต่เพียงมีฐานครีบสั้นกว่า ครีบหางมีขนาดเล็กและมีขอบครีบกลม ครีบอกสั้นและมีขอบกลม ไม่มีครีบท้อง
     ข้อแตกต่างที่พอจะแยกออกจากปลาหลด ได้แก่ ครีบหลังมีก้านครีบมากกว่า คือ มีก้านครีบแข็ง ๓๒-๔๐ ก้าน ตามด้วยก้านครีบแขนง ๖๗-๙๐ ก้าน ส่วนครีบก้นแม้ต่างจะเริ่มด้วยก้านครีบแข็ง ๒-๓ ก้านเท่ากัน แต่ของปลากระทิงจะตามด้วยก้านครีบแขนงมากถึง ๖๗-๘๖ ก้าน นอกจากนี้ยังมีข้อกระดูกสันหลังมากถึง ๗๙-๙๘ ท่อน เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งปลากระทิงและปลาหลดอาจมีข้างหางวิ่นเมื่อยังมีขนาดเล็ก เพราะมักได้รับอันตรายจากสัตว์อื่นแต่จะงอกใหม่ได้จนดูเหมือนปรกติเมื่อศึกษาด้วยวิธีธรรมดา เป็นผลให้อาจมีการนับจำนวนก้านครีบ ข้อกระดูก สันหลัง รวมทั้งการสังเกตลักษณะของหางคลาดเคลื่อนได้ มีข้อแนะนำว่า การศึกษาเรื่องนี้ควรตรวจและนับด้วยวิธีเอกซเรย์
     จะงอยปากของปลากระทิงซึ่งมีลักษณะเป็นงวงมีสัดส่วนเล็กกว่าของปลาหลด ที่ใต้บริเวณงวงจนถึงส่วนหน้าของเพดานปากไม่คุ้มโค้ง ไม่ปรากฏว่ามีร่องรอยของแผงฟันพาดขวางอย่างของปลาหลด และยังมีหน้าตัดค่อนข้างกลมแทนที่จะแบนอย่างปลาหลด ท่อจมูกอันที่อยู่ใกล้ปลายจะงอยปากมีขอบยื่นยาวเป็นติ่งเนื้อ ๒ อัน และแผ่นเนื้ออีก ๒ อัน มีหนามเป็นกระดูกรูปร่างคล้ายเขี้ยวซ่อนอยู่ใต้ตาค่อนไปทางด้านหน้า นอกจากนี้ ที่สำคัญคือ มีแผงครีบหลังรวมทั้งครีบก้นติดต่อกับครีบหาง ครีบหางมีก้านครีบแขนงมากถึง ๒๑-๒๗ ก้าน
     ปลากระทิงมีสีสันทั่วไปเด่นกว่าปลาหลด ทั้งนี้อาจสอดคล้องกับนิสัยความเป็นอยู่ที่ชอบน้ำใสและพื้นท้องน้ำที่แข็งกว่า และปรกติจะไม่ขุดรูเพื่อหลบซ่อนตัวอย่างปลาหลด ความรู้ที่สนับสนุนนิสัยข้อนี้คือ จะงอยปากของปลากระทิงมีหน้าที่หลักในการรับความรู้สึกหรือรับสัมผัสอาหารเท่านั้น ส่วนจะงอยปากของปลาหลดใช้ช่วยไชชอน ค้นหา และสัมผัสอาหาร
     ตาของปลากระทิงมีขนาดเล็ก อยู่ใกล้แนวสันหัวค่อนไปทางข้างหน้า ปากเล็กอยู่ต่ำ ช่องเหงือกเปิดที่ด้านล่างของหัว ไม่ปรากฏว่ามีซี่กรองเหงือก เส้นเหงือกมีขนาดยาวพอ ๆ กับเส้นผ่านศูนย์กลางของตา ไม่มีท่อติดต่อระหว่างกระเพาะลมกับทางเดินอาหาร
     ปลากระทิงไม่มีเกล็ดบนครีบ ข้างแก้มและข้างหน้าของตาปกคลุมด้วยเกล็ด ตลอดด้านบนของหัวไม่มีเกล็ด เส้นข้างตัวเริ่มโดยพาดอยู่ใกล้แนวสันหลังแล้วค่อย ๆ คล้อยต่ำลง จนที่สุดจะพาดอยู่ในแนวกลางลำตัวที่ข้างหาง รูท่อที่เรียงเป็นเส้นข้างตัวเห็นได้ชัดเจนและมีช่องเปิดเป็นร่องเรียงตามยาว
     แม้ปลากระทิงจะมีรูปร่างทั่วไปคล้ายปลาไหล แต่เชื่อว่ามีสายวิวัฒนาการมาจากปลากระดูกแข็ง กลุ่ม Percoid โดยมีกระดูกฐานครีบอกไม่ห้อยต่อเนื่องกับส่วนของกะโหลก แต่จะยึดอยู่กับกระดูกสันหลังโดยเอ็น
     ในจำนวนปลา ๗๑ ชนิด ของสกุล Mastacembelus ซึ่งกระจายพันธุ์อยู่ในหลายประเทศ ตั้งแต่จีน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะหลายแห่งใกล้คาบสมุทรมลายู อินเดีย เรื่อยไปจนจดทวีปแอฟริกา มีเพียง ๔ ชนิด ที่พบในประเทศไทย เรียงตามลำดับความชุกชุมได้ดังนี้
     ๑. ปลากระทิงลาย (Mastacembelus favus Hora) พบทั่วทุกภาคของประเทศจนถึงลุ่มแม่น้ำโขง มีก้านครีบแข็งที่ช่วงหน้าของครีบหลังระหว่าง ๓๓-๓๗ ก้าน ลำตัวมีลวดลายเป็นแถบกว้างรูปตาข่ายสีน้ำตาลดำบนพื้นสีเหลืองคล้ำคลุมไปถึงข้างท้องซึ่งเป็นบริเวณที่มีสีเหลือง ขนาดยาวได้ถึง ๗๐ เซนติเมตร
     ๒. ปลากระทิงลาย [Mastacembelus armatus (Lacepède)] พบในบริเวณเดียวกับชนิดแรก ทั้งยังมีรูปร่าง สีสัน และขนาดใกล้เคียงกันด้วย จึงมีชื่อเรียกพ้องกัน ต่างกันที่มีก้านครีบแข็งที่ช่วงหน้าของครีบหลังระหว่าง ๓๔-๓๙ ก้าน และลำตัวมีลวดลายตามแนวแกนลำตัวหยักเป็นเหลี่ยม ซึ่งบางครั้งอาจติดต่อกันเป็นรูปตาข่าย แต่ไม่กระจายจนคลุมถึงด้านท้องซึ่งมีสีซีด ขนาดยาวได้ถึง ๗๐ เซนติเมตร


     ๓. ปลากระทิงไฟ (Mastacembelus erythrotaenia Bleeker) ชื่ออื่น ๆ ปลากระทิงแดง, ปลาน้ำผึ้ง พบในเขตภาคกลางและภาคใต้ เป็นปลาที่มีสีสวยสดที่สุดในบรรดาปลากระทิงด้วยกัน พื้นลำตัวและครีบมีสีแตกต่างกัน บ้างเป็นสีดำคล้ำ บ้างเป็นสีน้ำตาลแดง น้ำตาลแกมเหลือง หรือน้ำตาลแกมเขียว มีแนวสีแดงสดหรือส้มสดพาดไปตามข้างตัวรวม ๓-๔ แนว โดยแนวสีแดงที่บริเวณหัวมักติดต่อกันแต่จะแตกเป็นจุดกลมหรือรีตามยาวในระยะต่อจากนั้นจนถึงหาง ขอบครีบหลังข้างหางและขอบครีบก้นมีสีแดงสดเช่นกัน ในสภาพปลาสวยงามยิ่งโตก็จะยิ่งมีราคาแพงขึ้น พบ ว่า ปลาชนิดนี้จากเขตภาคกลางโดยเฉพาะจากลุ่มแม่น้ำบางปะกงที่เรียกว่า “ปลากระทิงไฟจาก แปดริ้ว” มีสีสดสวยมากกว่าปลาจากเขตภาคใต้ ขนาดยาวได้ถึง ๘๐ เซนติเมตร มีน้ำหนักมากกว่า ๑ กิโลกรัม
     ๔. ปลากระทิง (Mastacembelus alboguttatus Boulenger) พบที่แม่น้ำสาละวิน เป็นปลาหายาก มีก้านครีบแข็งที่ช่วงหน้าของครีบหลัง ๓๔-๔๐ ก้าน ลำตัวและครีบมีประสีขาวเป็นจำนวนมากอยู่ทั่วไป ขนาดยาวได้ถึง ๔๐ เซนติเมตร เคยพบว่า ปลาขนาด ๓๔-๓๕ เซนติเมตร มีไข่สุกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มิลลิเมตร
     ปลาชื่ออื่น ๆ ในประเทศไทยที่ก่อนหน้านี้เคยยกรูปพรรณไว้ในสกุล Mastacembelus แท้ จริงเป็นปลาในสกุล Macrognathus ทั้งสิ้น
     ปลากระทิงอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหล เช่น แม่น้ำลำคลอง ห้วย ลำธาร ที่มีน้ำสะอาดจนใส หรือที่มีพื้นท้องน้ำเป็นหิน กรวด ทราย รวมทั้งห้วย หนอง บึง และทะเลสาบ โดยเฉพาะบริเวณที่มีพืชน้ำ ปรกติจะหลบซ่อนตัวเงียบและไม่ตกใจง่ายอยู่ในซอกวัตถุตามพื้นท้องน้ำลึกใกล้ฝั่ง เพราะสามารถหาอาหารได้ง่าย แต่หากไม่มีสภาพแวดล้อมดังกล่าวก็สามารถแทรกตัวลงไปในพื้นทรายหรือกรวดหินได้ มักอยู่เป็นคู่หรือหมู่เล็ก ๆ ไม่ชอบแสงสว่างจึงมักออกหากินตามพื้นท้องน้ำในเวลาพลบค่ำและกลางคืน บ่อยครั้งพบว่า สามารถหลบซ่อนตัวอยู่ตามที่ชื้นแฉะใต้พงพืชน้ำ เช่น กอสวะ เพื่อคอยน้ำขึ้นหรือหาอาหารที่อยู่ในบริเวณนั้น
     อาหารของปลากระทิงมักเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็กแทบทุกประเภท เป็นต้นว่า แมลง และตัวอ่อนของแมลง หนอน และสัตว์อื่นที่อาศัยอยู่ตามพื้นท้องน้ำ แม้แต่กุ้ง ปู หอย ปลากระทิงขนาดใหญ่ยังกินปลาเล็กอื่น ๆ ด้วย โดยขณะกินเหยื่อจะกินอย่างตะกรามและกลืนทีเดียวเข้าลึกมาก
     ปลากระทิงจัดเป็นปลาที่มีรสชาติดี เป็นที่รู้จักและเป็นที่ต้องการของตลาดท้องถิ่นทุกแห่งที่พบปลาพวกนี้ นอกจากจะพบขายเป็นปลาเป็น ๆ หรือปลาสดแล้ว มักพบในลักษณะย่าง รมควัน หรือถ้าเป็นปลาขนาดเล็กจะพบเป็นปลากรอบรมควัน แต่ก็ไม่พบบ่อยอย่างที่ทำจากปลาหลด
     เนื่องจากปลากระทิงมีนิสัยแปลก คือ ชอบกบดานอยู่นิ่ง ๆ แล้วออกเคลื่อนไหวตามพื้นท้องน้ำเป็นครั้งคราว ประกอบกับมีสีสันเป็นดอกดวงเด่น แข็งแรง ทน และปรับตัวได้ดีในที่กักขัง ทั้งยังเชื่องแม้บางครั้งจะตกใจง่าย และสามารถกระโดดได้ จึงมีการรวบรวมซื้อขายกันเป็นปลาสวยงามเป็นที่ต้องการโดยทั่วไป แม้กระทั่งส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะปลากระทิงซึ่งมีสีเด่นที่สุดและมีราคาแพงมาก ยิ่งขนาดใหญ่ก็ยิ่งแพง การจับปลากระทิงด้วยมือเปล่านับว่าค่อนข้างลำบาก เพราะปลาจะลื่นไหลถอยหลังหลุดมือได้ง่าย และก้านครีบแข็งซึ่งสั้นและแหลมคมก็สามารถตำให้บาดเจ็บจนเป็นแผลได้.

 

 

 

ชื่อหลัก
กระทิง-ปลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mastacembelus spp.
ชื่อสกุล
Mastacembelus
ชื่อชนิด
spp
ชื่อวงศ์
Mastacembelidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลาน้ำผึ้ง (เฉพาะปลากระทิงไฟในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี)
ชื่อสามัญ
Spiny Eel; Fire Eel หรือ Flame Eel (เฉพาะปลากระทิงไฟ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ทศพร วงศ์รัตน์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf