กระต่ายป่า

Lepus peguensis Blyth

ชื่อวิทยาศาสตร์
Lepus peguensis Blyth วงศ์ Leporidae
ชื่อสามัญ
Siamese Hare

ลักษณะทั่วไป เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก วัดจากปลายจมูกถึงก้นยาว ๔๔-๕๐ เซนติเมตร น้ำหนัก ๕๐๐-๘๐๐ กรัม รูปร่างเหมือนกระต่ายบ้าน ขนลำตัวตอนบนสีน้ำตาลหยาบ ตอนล่างสีขาวนุ่ม นอกจากบริเวณอกเป็นสีน้ำตาลแดง ขนบริเวณคางสีขาว หูสีน้ำตาล ปลายหูสีดำ ด้านบนของต้นคอสีน้ำตาลเข้มเช่นเดียวกับขาและตีนหน้า ขาหลังสีน้ำตาลด้านในสีขาว หางด้านบน สีน้ำตาลเข้ม ด้านล่างสีขาว มีสูตรฟัน ๒/๑ ๐/๐ ๓/๒ ๓/๓ * ๒ = ๒๘
     ข้อแตกต่างจากกระต่ายบ้านคือ กระต่ายป่าจะไม่ขุดโพรงหรือฝังตัวอยู่ในดิน ออกลูกในที่โล่งหรือทุ่งหญ้า ลูกแรกเกิดลำตัวปกคลุมไปด้วยขนและลืมตาได้ทันที
     กระต่ายป่าออกหากินเวลาเย็นหรือกลางคืน กลางวันจะหลบอยู่ตามพุ่มไม้เตี้ย ๆ หรือกอหญ้า เมื่อศัตรูมารบกวนจะออกวิ่งอย่างรวดเร็วเพื่อหาที่หลบซ่อนใหม่ หากินตัวเดียวโดด ๆ กินหญ้า ยอดและต้นอ่อนของพืช รากไม้ และเปลือกไม้ มีนิสัยหวงถิ่นไม่ล้ำเขตกัน แต่ระหว่างฤดูผสมพันธุ์จะเปลี่ยนนิสัยเป็นดุร้ายทันที มีการต่อสู้กันเพื่อแย่งตัวเมีย โดยใช้ตีนหน้าชกและตีนหลังเตะ เมื่อจับคู่กับตัวเมียที่ต้องการได้แล้ว ก่อนผสมพันธุ์จะทำร้ายตัวเมีย เช่น กัดก่อนจนอ่อนแรง ตัวเมียตั้งท้องนาน ๓๕-๔๐ วัน ออกลูกคราวละ ๑-๗ ตัว และมีลูกได้ตลอดปี กระต่ายป่ามีอายุอยู่ได้ประมาณ ๖ ปี


     ในประเทศไทยพบกระต่ายป่าบริเวณที่ราบซึ่งเคยเป็นป่าทึบแล้วถูกทำลายไป โดยเฉพาะที่ราบรอบ ๆ ภูเขาหรือหมู่บ้าน พบได้ทุกภาคนอกจากภาคใต้ ต่างประเทศพบในพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม สำหรับกระต่ายที่เลี้ยงกันทั่วไปมีชื่อสามัญว่า Rabbit ได้นำพันธุ์มาจากต่างประเทศมักเป็น ชนิด Oryctolagus cuniculus (Linn.).

 

 

ชื่อหลัก
กระต่ายป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Lepus peguensis Blyth
ชื่อสกุล
Lepus
ชื่อชนิด
peguensis
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
Blyth
ชื่อวงศ์
Leporidae
ชื่อสามัญ
Siamese Hare
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf