กระติ๊ด-นก

ชื่ออื่น ๆ
นกกะติ๊ด, นกกะทิ
ชื่อสามัญ
Munia

ลักษณะทั่วไป เป็นนกขนาดเล็ก วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาว ๑๐-๑๖ เซนติเมตรปากสั้นหนาปลายแหลม แข็งแรง ใช้เกล็ดเมล็ดพืชขนาดเล็กได้ดี หัวกลม ลำตัวอ้วนป้อม มีหลายสี เช่น แดง เขียว น้ำตาล ตัวผู้และตัวเมียรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกัน
     นกประเภทนี้มักออกหากินเป็นฝูง บินเกาะกลุ่มชิดกันพร้อมทั้งส่งเสียงร้อง มองดูไกล ๆ คล้ายฝูงผึ้ง ขณะลงหากินจะเกาะต้นพืช เช่น หญ้า ข้าว แล้วจิกเมล็ดพืชกินจนหมดต้น
     นกกระติ๊ดทำรังอยู่ตามพุ่มไม้เตี้ย ๆ หรือกอหญ้า ตัวผู้เป็นผู้สร้างรัง โดยทำด้วยเยื่อใยของต้นไม้เป็นรูปทรงกลมสูง มีทางเข้าอยู่ด้านข้าง วางไข่คราวละ ๔-๑๐ ฟอง ไข่สีขาว ตัวเมียทำหน้าที่กกไข่ ใช้เวลาฟัก ๑๒-๑๓ วัน พ่อแม่นกจะเอาเมล็ดพืชและแมลงมาป้อน จนอายุได้ ๑๖ วัน ลูกนกก็สามารถบินได้
     ในประเทศไทยมีนกที่เรียกว่า นกกระติ๊ด อยู่ ๗ ชนิด คือ
     ๑. นกกระติ๊ดตะโพกขาว [Lonchura striata (Linn.)] ขนาดประมาณ ๑๒ เซนติเมตรปากดำ ลำตัวตอนบนสีน้ำตาลมีลายขาวตามความยาวของลำตัว เหนือตะโพกมีสีขาว อกสีน้ำตาลมีลาย ท้องสีขาวลายน้ำตาล มีขนแหลมยาวโผล่ออกมาจากแพนหาง ๒ เส้น พบทั่วไปยกเว้นทางภาคใต้
     ๒. นกกระติ๊ดสีอิฐ [Lonchura malacca (Linn.)] ชื่ออื่น ๆ นกปากตะกั่ว ขนาดประมาณ ๑๒ เซนติเมตร ปากสีเทา หัวสีดำ ลำตัวและหางสีน้ำตาลแดง ท้อง ก้น และใต้หางสีดำ พบมากทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ตอนบน
     ๓. นกกระติ๊ดหัวขาว [Lonchura maja (Linn.)] ขนาดประมาณ ๑๒ เซนติเมตร หัวและปากสีขาว ลำตัวตอนบนและหางสีน้ำตาลเข้ม ท้อง ก้น และใต้หางสีดำ พบทางภาคใต้
     ๔. นกกระติ๊ดขี้หมู [Lonchura punctulata (Linn.)] ขนาดประมาณ ๑๒ เซนติเมตร หัวและลำตัวตอนบนสีน้ำตาล มีลายกระขาวตามความยาวของลำตัว คอสีน้ำตาล อกสีขาวกระน้ำตาล ท้องสีขาว พบแทบทุกภาคยกเว้นทางภาคใต้

 


     ๕. นกกระติ๊ดเขียว [Erythrura prasina (Sparrman)] ชื่ออื่น ๆ นกไผ่, นกเขียวไผ่ ขนาดประมาณ ๑๒ เซนติเมตร ตัวผู้ปากหนาสีดำปลายแหลม หัวและลำตัวตอนบนสีเขียว คอสีฟ้า อกและท้องสีน้ำตาล ตะโพกและลำตัวตอนล่างใกล้ตะโพกสีแดง มีขนหางสีแดงยื่นยาวออกมาประมาณ ๓ เซนติเมตร ตัวเมียคอ อก และท้องสีน้ำตาล ไม่มีขนหางยาวอย่างตัวผู้ พบแทบทุกภาคยกเว้นภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
     ๖. นกกระติ๊ดแดง [Amandava amandava amandava (Linn.)] ชื่ออื่น ๆ นกสีชมพูดง ขนาดประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ปากสีแดง ตะโพกสีแดง ปีกสีน้ำตาลมีจุดสีขาวกระจายอยู่ทั่ว ในฤดูผสมพันธุ์ หัว คอ หน้าอก ท้อง และตะโพกของตัวผู้จะเป็นสีแดงเข้ม จุดสีขาวบนปีกและท้องตัดกันเห็นได้ชัดเจน พบแทบทุกภาคยกเว้นทางภาคใต้
     ๗. นกกระติ๊ดท้องขาว [Lonchura leucogastra (Blyth)] ขนาดประมาณ ๑๒ เซนติเมตร ปากหนาสีดำปลายแหลม หน้าดำ หัวและลำตัวตอนบนสีน้ำตาลประขาว อกสีน้ำตาล ท้องสีขาว ตะโพกสีน้ำตาลเข้ม ขอบหางสีเหลือง พบทางภาคใต้.

 

ชื่อหลัก
กระติ๊ด-นก
ชื่อวงศ์
Estrildidae
ชื่ออื่น ๆ
นกกะติ๊ด, นกกะทิ
ชื่อสามัญ
Munia
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf