กระตั้วหงอนเหลือง-นก

Cacatua galerita (Latham)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Cacatua galerita (Latham) วงศ์ Psittacidae
ชื่อสามัญ
Sulphur-crested Cockatoo

ลักษณะทั่วไป คล้ายนกกระตั้วแต่หงอนเป็นสีเหลือง วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาวประมาณ ๔๘ เซนติเมตร ขนสีขาวตลอดตัว นอกจากขนที่ปกคลุมหู โคนขนข้างแก้มและคอ ขนใต้ปีกและใต้หาง และหงอนเป็นสีเหลือง หนังรอบตาสีฟ้าอ่อน ปากสีดำอมเทา ขาสีเทา ม่านตาของตัวผู้สีน้ำตาลแก่เกือบดำ ส่วนตัวเมียสีน้ำตาลแดง ปรกติหงอนจะเอนราบไปด้านหลัง แต่จะตั้งขึ้นเมื่อคึก ตกใจ หรืออยู่ในระหว่างการต่อสู้ ถ้าเป็นนกเลี้ยงสามารถฝึกให้ตั้งหงอนแสดงให้คนดูได้ในธรรมชาติเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์นกกระตั้วหงอนเหลืองมักอยู่กันเป็นคู่หรือเป็นฝูงเล็ก ๆ แต่นอกฤดูผสมพันธุ์อาจพบอยู่เป็นฝูงใหญ่นับร้อยตัว ขณะที่นกส่วนใหญ่หากินตามพื้นดิน จะมีนก ๒-๓ ตัว ทำหน้าที่เป็นยามเกาะอยู่บนยอดไม้ใกล้ ๆ เมื่อมีคนหรือสิ่งอื่นที่น่าจะเป็นอันตรายเข้ามาใกล้ นกที่ทำหน้าที่เป็นยามจะบินและส่งเสียงร้องดังมาก นกทั้งฝูงก็จะบินหนีไปทันที


     นกชนิดนี้กินเมล็ดหญ้า เมล็ดพืช ผลไม้ต่าง ๆ ดอกไม้ รากไม้ และแมลง ขยายพันธุ์โดยการทำรังตามโพรงไม้ มักเลือกที่ใกล้แหล่งน้ำ วางไข่คราวละ ๒ ฟอง บางครั้งอาจถึง ๓ ฟอง ตัวผู้และตัวเมียผลัดกันกกไข่ ใช้เวลาฟักประมาณ ๓๐ วัน ลูกนกบินได้เมื่ออายุประมาณ ๑๐ สัปดาห์
     นกกระตั้วหงอนเหลืองมีถิ่นกำเนิดและอาศัยในบริเวณเกาะนิวกินี รวมทั้งชายฝั่งทางเหนือ ทางตะวันออก และทางใต้ของทวีปออสเตรเลีย ตลอดจนเกาะแทสเมเนียด้วย
     เคยพบว่านกกระตั้วหงอนเหลืองที่อยู่ตามธรรมชาติทำความเสียหายให้แก่ไร่ข้าวโพด ข้าวสาลี และข้าวฟ่าง แต่ก็พบว่าช่วยกินเมล็ดวัชพืชบางชนิด.

 

 

ชื่อหลัก
กระตั้วหงอนเหลือง-นก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cacatua galerita (Latham)
ชื่อสกุล
Cacatua
ชื่อชนิด
galerita
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
(Latham)
ชื่อวงศ์
Psittacidae
ชื่อสามัญ
Sulphur-crested Cockatoo
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายสุวัช สิงหพันธุ์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf