กระด้าง-งู

Erpeton tentaculatum Lacepède

ชื่อวิทยาศาสตร์
Erpeton tentaculatum Lacepède วงศ์ Colubridae
ชื่ออื่น ๆ
งูมีหนวด, งูกระด้างแดง (ตัวที่สีน้ำตาลแดง), งูกระด้างดำ (ตัวที่สีดำ)
ชื่อสามัญ
Tentacle Snake

ลักษณะทั่วไป เป็นงูน้ำจืดหรืองูกินปลาขนาดเล็ก ลำตัวมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓๕ เซนติเมตร หัวยาวแบน ปลายปากใกล้รูจมูกมีรยางค์ ซึ่งมักเรียกกันว่าหนวด ลักษณะเป็นเส้นกลมมีเกล็ดหุ้ม ยาวประมาณ ๕ มิลลิเมตร ข้างละ ๑ เส้น ลำตัวแบนเรียว เกล็ดตัวเป็นเกล็ดชนิดมีสัน ทำให้ตัวสากและไม่เป็นเงามัน หางเรียวแหลม


     งูกระด้างมี ๒ สี คือ บางตัวสีน้ำตาลอ่อนลายน้ำตาลแดง ดูเผิน ๆ จะเห็นเป็นสีน้ำตาล บางตัวพื้นตัวสีเทาเข้มลายดำ ดูรวม ๆ เห็นเป็นสีดำ
     ลักษณะเขี้ยวพิษและกะโหลกของงูกระด้างเป็นแบบกลุ่มงูเขี้ยวหลัง เขี้ยวพิษมีขนาดเล็ก ต่อม น้ำพิษเล็กมากอยู่บริเวณโคนของเขี้ยว น้ำพิษมีฤทธิ์อ่อน จึงจัดเป็นงูที่มีพิษอ่อน มักไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อผู้ถูกกัด ปฏิกิริยาของน้ำพิษจะมีผลต่อสัตว์ขนาดเล็กที่เป็นอาหารของมันเท่านั้น
     อาหารของงูกระด้างส่วนใหญ่เป็นปลาขนาดเล็ก กุ้ง ลูกเขียด งูกระด้างจะกินอาหารทั้งกลางวันและกลางคืน โดยใช้หางเกี่ยวพันตัวไว้กับพืชน้ำแล้วฉกงับเหยื่อที่เข้ามาใกล้ งูชนิดนี้พบตาม แหล่งน้ำจืดทั่วทุกภาคของประเทศไทย
     เหตุที่เรียกงูชนิดนี้ว่า งูกระด้าง เพราะนอกจากเกล็ดแข็งสากแล้วยังมักทำตัวแข็งทื่ออยู่นิ่ง ๆ ขณะเกี่ยวพันกับไม้น้ำและเมื่อถูกจับ มักพบงูกระด้างบ่อย ๆ ตามกอผักตบจนมีเรื่องกล่าวขานกันผิด ๆ ว่าก้านใบของผักตบบางก้านเมื่อแก่เต็มที่แล้วจะกลายเป็นงูกระด้าง.

 

ชื่อหลัก
กระด้าง-งู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Erpeton tentaculatum Lacepède
ชื่อสกุล
Erpeton
ชื่อชนิด
tentaculatum
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
Lacepède
ชื่อวงศ์
Colubridae
ชื่ออื่น ๆ
งูมีหนวด, งูกระด้างแดง (ตัวที่สีน้ำตาลแดง), งูกระด้างดำ (ตัวที่สีดำ)
ชื่อสามัญ
Tentacle Snake
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.อ.วิโรจน์ นุตพันธุ์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf