กระดี่-ปลา

Trichogaster trichopterus (Pallas)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Trichogaster trichopterus (Pallas) วงศ์ Anabantidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากระดี่หม้อ (ภาคกลาง); ปลากระเดิด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ชื่อสามัญ
Three-spot Gourami

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำจืด โตเต็มที่ขนาดประมาณ ๑๒ เซนติเมตร ทั่วไปพบขนาด ๘-๑๐ เซนติเมตร ลำตัวด้านข้างแบนสั้นเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตาอยู่ในระดับเดียวกับปาก ปากเล็กเรียบ ขากรรไกรล่างยื่นล้ำขากรรไกรบนเล็กน้อย ปากเฉียงขึ้นด้านบน มุมปากยาวไม่ถึงขอบตา เกล็ดตามลำตัวเล็กเป็นแบบมีหนามคล้ายซี่หวีทางท้ายเกล็ด เกล็ดที่กระพุ้งแก้มโตกว่าเกล็ดบนลำตัว เกล็ดตามเส้นข้างตัวมี ๔๐-๕๒ เกล็ด พื้นลำตัวสีเทาอ่อน ลำตัวด้านหลังสีเข้มกว่าด้านท้อง มีแถบสีเข้มเล็ก ๆ เป็นลายพาดเฉียงตลอดลำตัวประมาณ ๒๐ แถบ จุดดำที่บริเวณกลางลำตัวและที่ใกล้โคนหางเห็นเด่นชัด ที่แก้มอาจมีแต้มคล้ายจุดแลเห็นไม่ชัดนัก บางตัวมองไม่เห็น ครีบหลังประกอบด้วยก้านครีบแข็งและก้านครีบอ่อนซึ่งปลายครีบแตกเป็นแขนง ครีบหลังตอนหน้ามีก้านครีบ แข็ง ๕-๙ ก้าน และก้านครีบอ่อน ๘-๙ ก้าน ครีบอกมีก้านครีบอ่อน ๘-๑๐ ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบแข็งเล็ก ๆ ๑ ก้านและก้านครีบอ่อน ๒-๔ ก้าน ก้านครีบอ่อนก้านแรกเจริญเป็นเส้นยื่นยาวออกไปมาก ครีบท้องทั้ง ๒ ครีบแลเห็นเป็นเส้นยาวเพียงคู่เดียว ครีบก้นมีฐานครีบยาวมาก มีก้านครีบแข็ง ๙-๑๓ ก้านและก้านครีบอ่อน ๓๐-๓๘ ก้าน ครีบหลังสั้นกว่าครีบก้นและตั้งอยู่ในช่วงตรงข้ามกับระยะประมาณกลาง ๆ ครีบก้น ปลายครีบหางเว้ากลางเล็กน้อย ครีบก้นและครีบหางมีสีเหลืองถึงสีส้มประทั่วครีบโดยเฉพาะตัวผู้มีสีเข้มกว่าตัวเมีย ปลาตัวผู้มีปลายครีบหลังยาวและแหลมกว่าปลาตัวเมีย
     ปลาในวงศ์ Anabantidae มีอวัยวะพิเศษใช้ช่วยหายใจที่บริเวณเหนือเหงือก มีลักษณะเป็นก้อนเป็นหลืบคล้ายกะหล่ำปลีที่ใบห่อไม่แน่น มีช่องว่างใช้อุ้มน้ำ ความชื้น และเก็บอากาศไว้หายใจ จึงมีนิสัยชอบฮุบอากาศเพื่อเก็บไว้ในอวัยวะพิเศษใช้ช่วยหายใจนี้ เมื่อปลาชนิดนี้มีขนาดยาวเพียง ๘ เซนติเมตรก็สามารถสืบพันธุ์ได้แล้ว ปลาตัวผู้จะสร้างรังและก่อหวอดด้วยน้ำเมือกในปากซึ่งทำให้ฟองหวอดคงอยู่ได้หลายวันตามชายน้ำนิ่งในฤดูฝน พ่อปลาจะเก็บไข่ที่ผสมแล้วพ่นไว้ที่หวอดและเฝ้าวนเวียนอยู่บริเวณนั้นจนกว่าลูกปลาจะแข็งแรง ปลากระดี่สามารถวางไข่ได้ในตู้เลี้ยง ไข่ครั้งหนึ่ง ๆ ๒๕๐-๙๕๐ ฟอง ไข่จะติดอยู่กับหวอดเป็นเวลา ๒ วัน และฟักออกเป็นลูกปลาภายใน ๔๘ ชั่วโมง ลูกปลาจะว่ายน้ำไปมาได้ดีภายในเวลา ๕ วัน ให้ไข่แดงต้มสุกบดละเอียดเป็นอาหารลูกปลาอายุ ๑ วัน และให้ลูกไรน้ำเล็ก ๆ เป็นอาหารในวันต่อไป


     ปลากระดี่กินสัตว์ขนาดเล็กชนิดต่าง ๆ เช่น ลูกน้ำ ไรน้ำ ลูกกุ้ง ลูกปลา ในธรรมชาติสามารถจับปลากระดี่ได้ตามแหล่งน้ำที่น้ำไม่ไหลแรง เช่น ลำคลอง หนอง บึง ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคกลางและภาคเหนือ ปลาชนิดนี้แพร่หลายอยู่ในประเทศออสเตรเลีย อินเดีย คาบสมุทรมลายู พม่า เวียดนาม ลาว และกัมพูชา การวิดน้ำในท้องร่องหรือแหล่งน้ำตื้น ๆ มักได้ปลากระดี่ไปปรุงอาหารประจำวัน เช่น ทอด ใส่แกงคั่ว แกงส้ม ทำเค็มโดยใส่เกลือตากแห้ง หมักทำปลาร้า ทั่วโลกนิยมเลี้ยงปลากระดี่เป็นปลาสวยงามซึ่งจะมีสีเข้มสวยกว่าปลาตามธรรมชาติมาก
     “กระดี่หม้อ” เป็นชื่อเรียกเพื่อให้แตกต่างจากปลากระดี่ชนิดอื่น ๆ สำหรับชื่อสามัญ Three-spot Gourami เรียกโดยนับนัยน์ตาเป็นอีกจุดหนึ่ง.

 

 

 

ชื่อหลัก
กระดี่-ปลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Trichogaster trichopterus (Pallas)
ชื่อสกุล
Trichogaster
ชื่อชนิด
trichopterus
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
(Pallas)
ชื่อวงศ์
Anabantidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากระดี่หม้อ (ภาคกลาง); ปลากระเดิด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ชื่อสามัญ
Three-spot Gourami
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.เฉลิมวิไล ชื่นศรี
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf