กระดิ่งทอง

Martinus dermestoides Framer

ชื่อวิทยาศาสตร์
Martinus dermestoides Framer วงศ์ Tenebrionidae
ชื่ออื่น ๆ
มะเหมี่ยว (ภาคกลาง), ม่าเหมี่ยว (ภาคใต้)

ลักษณะทั่วไป เป็นแมลงพวกด้วงปีกแข็ง ขนาดเล็ก สีน้ำตาลแก่จนเกือบดำ ลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๖ มิลลิเมตร กว้างประมาณ ๒ มิลลิเมตร อกและท้องที่มีปีกแข็งคลุมมีขนาดไล่เลี่ยกัน หัวรูปหกเหลี่ยม ปลายขอบด้านหน้ามีขนละเอียด ตามีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับหัว รูปคล้ายเมล็ดถั่ว หนวดเป็นรูปกระบอง มีรยางค์รับความรู้สึกของปากยื่นออกมาให้เห็นได้บ้าง ด้านหน้าของอกปล้องแรกที่ติดกับหัวตัดเป็นเส้นตรง ส่วนท้ายโค้งมนทำให้เกิดมุมทั้ง ๒ ข้าง มีจุดเล็ก ๆ กระจายเป็นลายทั่วอก เมื่อแมลงหุบปีก ปีกแข็งที่คลุมด้านหลังของอกปล้องที่ ๒ ไปจนถึงท้องหุ้มเกือบถึงปลายท้อง ทำให้เห็นปลายท้องโผล่ออกมาเพียงเล็กน้อย และจะเห็นแผ่นสามเหลี่ยมเล็ก ๆ อยู่ระหว่างโคนปีกแข็งที่มาจดกับด้านสันหลัง ปีกแข็งมีจุดเล็ก ๆ เรียงกันเป็นแถวหลายแถวทอดตามยาวไปจนตลอดปีก
     ยังมีแมลงในสกุลอื่น โดยเฉพาะสกุล Alphitobius ที่มีรูปร่างและนิสัยความเป็นอยู่คล้ายกระดิ่งทองซึ่งทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นกระดิ่งทองเสมอ และที่ก่อให้เกิดความสับสนมากที่สุดคือชนิด A. diaperinus Panzer ซึ่งมีขนาดเดียวกับกระดิ่งทอง แต่จะสังเกตความแตกต่างได้จากที่แมลงชนิดนี้มีสีดำกว่า ตาเล็กเมื่อเทียบกับหัวและมีรูปร่างกลม อกปล้องแรกที่ยื่นติดกับหัวมีด้านหน้าโค้งมนทำให้เกิดมีมุมแหลมทั้ง ๒ ด้าน ไม่ตัดตรงเหมือนกับกระดิ่งทอง ไม่มีแผ่นสามเหลี่ยมเล็ก ๆ บริเวณโคนปีกที่จดกับด้านสันหลังเมื่อหุบปีก
     กระดิ่งทองอาศัยอยู่ตามที่แห้งและกินของแห้งต่าง ๆ เช่น ถั่ว เปลือกไม้ ปลา เนื้อ โดยเฉพาะเมล็ดบัวแห้ง จึงพบได้บ่อย ๆ ตามเมล็ดบัวที่เก็บไว้นาน ๆ แมลงชนิดนี้วางไข่ฟองเดี่ยว ๆ ตามผิวของอาหารที่กิน และฟักเป็นตัวหนอนภายใน ๓-๗ วัน ตัวหนอนมีปล้องทางด้านหัวโตกว่าทางด้านหางและปล้องเหล่านี้เรียงตัวเรียวไปทางด้านหาง ผนังลำตัวค่อนข้างแข็ง อกมีขาเล็ก ๆสั้น ๆ ๓ คู่ เมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ สีขาวนวลและเมื่ออายุมากขึ้นสีจะเข้มขึ้นจนเป็นสีน้ำตาล มีชีวิตเป็นตัวหนอน ๓-๔ สัปดาห์ ก็จะเปลี่ยนเป็นดักแด้ ๗-๑๐ วัน จึงจะออกมาเป็นตัวเต็มวัย วัฏจักรชีวิตแต่ละระยะอาจสั้นหรือยาวแล้วแต่ความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่
     ชาวบ้านโดยเฉพาะในจังหวัดภาคใต้นิยมนำมาเลี้ยงด้วยเมล็ดบัวแห้งผสมสมุนไพรแห้ง โดยเฉพาะหัวข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ เชื่อกันว่าเมื่อนำตัวเต็มวัยมากินกับเหล้าหรือดองเหล้าดื่มจะช่วยกระตุ้นอวัยวะเพศชายให้มีความรู้สึกว่าแข็งตัวนานขึ้น อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หรือทางการแพทย์ว่าแมลงชนิดนี้มีตัวยาอะไร หรือเมื่อกินแล้วจะให้ผลเช่นนั้นจริง.

ชื่อหลัก
กระดิ่งทอง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Martinus dermestoides Framer
ชื่อสกุล
Martinus
ชื่อชนิด
dermestoides
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
Framer
ชื่อวงศ์
Tenebrionidae
ชื่ออื่น ๆ
มะเหมี่ยว (ภาคกลาง), ม่าเหมี่ยว (ภาคใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ.ดร.สุธรรม อารีกุล
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf