กระจัง-ปลา

Periophthalmodon schlosseri (Pallas)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Periophthalmodon schlosseri (Pallas) วงศ์ Periophthalmidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลาตีน, ปลาจุมพรวด, ปลาพรวด, ปลาดีจัง, ปลากะจัง
ชื่อสามัญ
Bigeye Mudskipper, Bigeye Mudhopper

ลักษณะทั่วไป เป็นปลากระดูกแข็ง ขนาดยาวได้ถึง ๒๕ เซนติเมตร ลำตัวยาว แบนข้างเล็กน้อย เกล็ดปกคลุมทั้งหัวและลำตัว ลำตัวยาวเป็น ๔-๔.๒ เท่าของหัว หรือ ๕-๖ เท่าของความ หนา ความหนาและความกว้างใกล้เคียงกัน มุมปากยาวถึงแนวประมาณกึ่งกลางตา มีฟันเขี้ยวซี่เล็กขบซ้อนเหลื่อมกันทั้งริมขากรรไกรบนและล่าง ฟันเขี้ยวที่ขากรรไกรบนยาวกว่าที่ขากรรไกรล่าง ตาอยู่สูงโดยอยู่ในแนวระดับหลังและมีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าหัว ๔.๒-๔.๕ เท่า ตาอยู่ห่างจากปลายสุด ๑.๒-๒ เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางตา กระบอกตาทั้งสองอยู่ชิดกันและมีหนังตาล่างหนาใช้ป้องกันตาได้ดี ตากลอกไปมาและมองเห็นได้ดีทั้งในน้ำและบนบก ปากอยู่ปลายสุดขนานกับพื้น เกล็ดแบบขอบเรียบ มีเกล็ดตามแนวลำตัว ๔๘-๖๐ เกล็ด ตามแนวเฉียงจากโคนครีบก้านแรกของครีบหลังครีบที่ ๒ ถึงแนวครีบก้น ๑๑-๑๗ เกล็ด เกล็ดตามส่วนบนของลำตัวมีขนาดใหญ่กว่าทางส่วนล่างและทางด้านท้องมีขนาดเล็กกว่าส่วนบนอย่างเห็นได้ชัด ครีบหลังมี ๒ ครีบ ครีบหลังครีบแรกอาจไม่มีเมื่อปลายังเล็ก ทำให้ปลาชนิดนี้มีก้านครีบหลังครีบแรก ๐-๑๕ ก้าน ก้านครีบหลังก้านแรกของตัวผู้ตั้งสูงกว่าก้านครีบหลังก้านอื่น ๆ ปรกติมีก้านครีบหลังครีบแรก ๑๐ ก้าน ครีบหลังครีบที่ ๒ มีก้านครีบสั้นกว่าก้านครีบหลังครีบแรกและมีก้านครีบแขนง ๑๑-๑๓ ก้าน ครีบอกมีฐานครีบพัฒนาเป็นกล้ามเนื้อยื่นยาวและแข็งแรง มีเกล็ดปกคลุมซึ่งตอนปลายครีบเป็นก้านครีบแขนง ๙-๑๖ ก้าน ครีบอกใช้คืบคลานหรือกระโดดและปีนป่ายตามรากไม้ได้ดี ครีบท้องทั้งสองรวมติดกันลักษณะคล้ายถ้วยปากบาน โดยมีหนังพังผืดติดก้านครีบหนาและแข็งแรง ครีบท้องมีก้านครีบแขนง ๕ ก้าน ปลาขนาดเล็กนั้นมีครีบท้องตอนปลายครีบไม่ติดกัน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๑ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๒ ก้าน ครีบหางกลม ส่วนบนโค้งออกและยื่นยาวกว่าส่วนล่าง และก้านครีบทางส่วนล่างใหญ่และแข็งแรงกว่าก้านครีบที่อยู่ทางส่วนบน ครีบหางมีก้านครีบ ๑๒-๑๕ ก้าน ลำตัวโดยทั่วไปออกสีเทามีแถบสีน้ำตาลพาด บริเวณหัวและตามลำตัวมีจุดวาว ๆ สีเขียวคล้ายมรกต ครีบหลังครีบแรกมีโคนครีบสีดำอาจเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินวาวและปลายครีบสีขาว พร้อมประที่เมื่อเหลือบสะท้อนแสงจะทำให้แลเห็นสีแตกต่างกันเป็นสีน้ำตาล สีน้ำเงิน และวาวเหมือนมุกตอนกลาง ๆ ครีบและระหว่างก้านครีบ ครีบหลังครีบที่ ๒ มีลักษณะสีเช่นเดียวกับครีบแรกแต่จางกว่าเล็กน้อย ปลายครีบก้นสีขาว
     ปลากระจังขุดรูอยู่ตามป่าชายเลน และใช้รูเป็นที่หลบภัยซ่อนตัว สามารถกระโดดเรียดไปตามผิวหน้าน้ำได้ไกลพอควร คืบคลาน กระดิบ และกระโดดไปตามพื้นเลนได้ดี มีนิสัยระวังภัยอยู่เสมอ จับได้ด้วยลอบ พบมากตามปากแม่น้ำและป่าชายเลน แพร่กระจายอยู่ในอ่าวเบงกอล อ่าวไทย ชายฝั่งทะเลอันดามัน คาบสมุทรมลายู และเกาะบอร์เนียว ชาวบ้านจับกินโดยตัดส่วนหัวและ เครื่องในทิ้ง.

ชื่อหลัก
กระจัง-ปลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Periophthalmodon schlosseri (Pallas)
ชื่อสกุล
Periophthalmodon
ชื่อชนิด
schlosseri
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
(Pallas)
ชื่อวงศ์
Periophthalmidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลาตีน, ปลาจุมพรวด, ปลาพรวด, ปลาดีจัง, ปลากะจัง
ชื่อสามัญ
Bigeye Mudskipper, Bigeye Mudhopper
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.เฉลิมวิไล ชื่นศรี
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf