กระจอกเทศ-นก

Struthio camelus Linn.

ชื่อวิทยาศาสตร์
Struthio camelus Linn. วงศ์ Struthionidae
ชื่อสามัญ
Ostrich

ลักษณะทั่วไป เป็นนกขนาดใหญ่ที่สุด สูงประมาณ ๒ เมตร น้ำหนักประมาณ ๑๖๐ กิโลกรัม หัวเล็ก คอยาว ปากสั้นแบน ปลายมนฐานกว้าง จึงอ้าปากได้กว้าง ตาโต ขนตาบนยาวเห็นได้ชัด นกชนิดนี้มีขนยาวเฉพาะตามลำตัว ปีก และหางเท่านั้น ส่วนหัว คอ และขามีขนสั้นหรือไม่มีเลย มีนิ้วตีน ๒ นิ้ว ขาใหญ่แข็งแรง บินไม่ได้แต่วิ่งได้เร็วประมาณ ๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตัวผู้ มีขนตามลำตัวสีดำ ขนปลายปีกและปลายหางสีขาวมีลักษณะเป็นพวง ตัวเมียขนสีน้ำตาลอมเทา
     นกกระจอกเทศหากินในทุ่งกว้างรวมกันเป็นกลุ่ม อยู่ร่วมกับฝูงม้าลายและยีราฟ เพื่อคอยดักกินแมลงและสัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ ที่ตื่นตกใจจากการเดินหากินของสัตว์เหล่านั้น ขณะต่อสู้หรือป้องกันตัวจะพองขน กางปีก ขนตั้ง และกระโดดเตะได้ เป็นนกที่มีการระแวดระวังภัยมาก ทำให้หลบหลีกพวกสัตว์กินเนื้อได้ดี
     นกชนิดนี้กินพืช เมล็ดพืช ผลไม้สุก และสัตว์เล็ก ๆ โดยใช้จะงอยปากงับอาหารแล้วกระดกเข้าลำคอ เมื่อได้จำนวนหนึ่งก็จะตั้งลำคอตรง ปล่อยให้อาหารไหลลงมาตามหลอดอาหาร จะเห็นเป็นก้อนอาหารเคลื่อนลงมาที่โคนลำคอ
     นกตัวผู้ตัวหนึ่งคุมตัวเมียหลายตัว ในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะวิ่งเป็นวงกลม พร้อมทั้งยกและกางปีก พองขนตั้งชัน และร้องเสียงดังมาก บางตัวจะนั่งกางปีกพองขนเอียงไปมาด้านข้างและส่งเสียงร้องเพื่อดึงดูดความสนใจจากตัวเมีย ตัวผู้จะขุดหลุมบนพื้นทรายด้วยจะงอยปากให้เป็นแอ่งคล้ายก้นกระทะกว้างประมาณ ๙๐ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๓๐ เซนติเมตร เพื่อให้ตัวเมียหลายตัววางไข่รวมกัน แต่ละแอ่งอาจมีไข่ ๒๐-๓๐ ฟอง ที่พบถึง ๖๐ ฟองก็มี ไข่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๒ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๕ เซนติเมตร หนักประมาณ ๑ กิโลกรัม เป็นไข่นกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตัวเมียที่แก่ที่สุดทำหน้าที่กกไข่ในเวลากลางวัน ตัวผู้กกไข่ในเวลากลางคืน ใช้เวลาฟักประมาณ ๖ สัปดาห์ ลูกนกเกิดใหม่มีขนตามลำตัวลาย แข็งแรงมากและโตเร็ว จะหาอาหารกินเองได้เมื่ออายุ ๒-๓ วัน โดยมีตัวผู้คอยดูแล โตเต็มวัยเมื่ออายุ ๓-๔ ปี มีอายุ ๔๐-๕๐ ปี
     นกกระจอกเทศมีถิ่นที่อยู่อาศัยในทวีปแอฟริกา
     ขณะวิ่งนกกระจอกเทศจะกางปีกออก ขนตามลำตัวพองตั้งชันเพื่อสะดวกในการหยุดและเลี้ยวอย่างกะทันหัน นกตัวผู้มีหนังบริเวณลำคอหย่อนยานกว่าตัวเมียและนกอื่น สามารถโป่งคอทำเสียงร้องคล้ายสิงโตได้ การจับนกประเภทนี้ทำโดยใช้ถุงสวมหัวคลุมตาไว้ แล้วจูงปีกให้เดินไปเพื่อเข้าลังหรือเปลี่ยนกรง


     ลูกนกกระจอกเทศที่ฟักออกจากไข่ได้ ๒-๓ วันจะแข็งแรงและวิ่งได้รวดเร็ว เมื่อมีอันตราย จะล้มตัวลงนอนราบไปกับพื้น ยืดหัวไปข้างหน้า ทำอาการคล้ายตาย ทำให้เชื่อกันว่าเมื่อนกกระจอกเทศวิ่งหนีศัตรูไม่พ้นจะล้มตัวลงนอนแล้วเอาหัวมุดทราย ซึ่งไม่เป็นความจริง
     อีกประการหนึ่ง มีผู้เข้าใจผิดกันว่ากระเพาะของนกกระจอกเทศสามารถย่อยโลหะได้ ความจริงนกชนิดนี้ชอบกินสิ่งแปลกปลอมโดยเฉพาะสิ่งที่สะท้อนแสง เช่น นาฬิกา ขวดน้ำอัดลม ขวดพลาสติก จุกขวดน้ำอัดลม ซึ่งสิ่งดังกล่าวจะค้างอยู่ในกระเพาะส่วนที่ ๒ ช่วยทำหน้าที่บดย่อย โดยไม่มีอันตรายต่อนก.

 

 

ชื่อหลัก
กระจอกเทศ-นก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Struthio camelus Linn.
ชื่อสกุล
Struthio
ชื่อชนิด
camelus
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
Linn.
ชื่อวงศ์
Struthionidae
ชื่อสามัญ
Ostrich
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf