กด-ปลา

ลักษณะทั่วไป เป็นปลากระดูกแข็ง ไม่มีเกล็ด ขนาด ๑๐-๑๕๐ เซนติเมตร หัวกะโหลกมีลักษณะลาดลง แข็งคล้ายเกราะ ปลายสุดค่อนข้างโค้งกลม ลำตัวค่อนข้างยาว แบนข้างเล็กน้อย ปาก อยู่ปลายหน้าสุดค่อนไปทางด้านท้อง มีรูจมูก ๒ คู่ อยู่ชิดกัน มีหนวด ๑-๔ คู่ ช่องเหงือกขนาดปานกลาง มีเส้นข้างตัวฝังอยู่ในหนัง ๑ เส้น ครีบหลังครีบแรกมีเงี่ยงแข็งและแหลมคม ๑ อัน และมีก้านครีบอ่อนหรือก้านครีบแขนง ๖-๗ ก้าน ฐานครีบหลังอยู่ในแนวระหว่างครีบอกและครีบท้อง ครีบอกมีเงี่ยงแข็งและแหลมคม ๑ อัน และก้านครีบอ่อน ๑๑-๑๓ ก้าน มีครีบไขมันขนาดเล็กอยู่ในแนวตรงข้ามกับครีบก้น ครีบท้องตั้งอยู่ที่ช่วงท้อง มีก้านครีบอ่อน ๖ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน ๑๔-๒๖ ก้าน ครีบหางเว้าลึกปลายแฉกแหลม มีก้านครีบอ่อน ๑๕-๑๗ ก้าน
     ปลากดโดยทั่วไปมีด้านหลังสีเทาหรือออกน้ำเงิน เทาเข้มหรือน้ำตาลเข้มทางด้านหลังและด้านข้าง ท้องสีขาวเงิน เหลืองอ่อน หรือขาว
     ปลากดตัวผู้หลายชนิดฟักไข่ในปาก โดยครีบอกเปลี่ยนลักษณะไปเพื่อช่วยช้อนไข่เข้าฟักในปาก ไข่ปลากดบางชนิดมีขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ เซนติเมตร สีเหลืองเข้มและใส ฟักในปากนาน ๖-๘ สัปดาห์
     ปลากดกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและปลาขนาดเล็ก มักอยู่รวมกันเป็นฝูง แต่ก็พบอยู่ตามลำพังบ้าง บางทีพบในน้ำจืด บางทีก็พบทั้งในน้ำกร่อยและน้ำเค็ม ที่พบในน้ำเค็มส่วนมากแพร่กระจายอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย คาบสมุทรอินโดจีน บางชนิดพบในประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย
     ปลากดใช้ปรุงอาหารได้เช่นเดียวกับปลาชนิดอื่น ๆ เนื้อปลากดขนาดใหญ่แล่เป็นชิ้นบาง ๆ ปรุงด้วยน้ำปลาและน้ำตาลให้ออกรสหวาน ตากแดดพอหมาด ๆ แล้วนำมาทอดหรือย่าง เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ปลาริวกิว” หรือ “ปลาหวาน” ไข่ปลากดนิยมนำมาใส่เสริมในต้มยำ ซึ่งจะหากินได้ตามร้านอาหารชายทะเล กระเพาะลมใช้ตากแห้งทำเป็น “กระเพาะปลา” เส้นใยจากกระเพาะลมของปลากดบางชนิดอัดเป็นแผ่นใช้กรองเบียร์หมักให้ใส
     ปลากดในวงศ์ Ariidae มีลักษณะสำคัญ คือ รูจมูกคู่หน้าคั่นด้วยแผ่นหนังจากรูจมูกคู่ที่ ๒ ปรกติมีหนวด ๓ คู่ โดยอยู่ที่ขากรรไกรบน ขากรรไกรล่าง และที่ใต้คาง ครีบหลังมีเงี่ยง ๑ อัน และก้านครีบอ่อน ๗ ก้าน ผนังเยื่อปิดเหงือกยึดติดกับคอดคอ (วงศ์ปลากดมีผนังเยื่อปิดเหงือกทั้ง ที่ยึดติดและไม่ยึดติดกับคอดคอ)
     ปลากดในวงศ์นี้แตกต่างจากปลาในวงศ์ปลาดุกทะเล (Plotosidae) วงศ์ปลาดุก (Clariidae) วงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Siluridae) และวงศ์ปลาจีด (Heteropneustidae หรือ Saccobranchidae) ตรงที่ปลากดมีครีบไขมัน ส่วนปลาใน ๔ วงศ์ นั้นไม่มี ปลากดในวงศ์นี้ต่างจากปลาในวงศ์ปลาสวาย (Schilbeidae) วงศ์ปลาขยุย (Akysidae) และวงศ์ปลาแขยง (Bagridae) ตรงที่ทั้ง ๓ วงศ์นี้มีรูจมูกรูหน้าและรูหลังของแต่ละข้างอยู่ห่างกัน และต่างจากวงศ์ปลาแค้ (Sisoridae) ตรงที่รูจมูกคั่นด้วยแผ่นหนัง ส่วนปลาแค้คั่นด้วยหนวดสั้น ๆ นอกจากนี้ยังแตกต่างจากปลาในวงศ์ปลาดัก (Amblycipitidae) ตรงที่ปลาดักมีหนวดไม่เกิน ๓ คู่
     ปลากดในวงศ์ Ariidae ที่รู้จักกันดีในประเทศไทยมี ๑๖ ชนิด ๕ สกุล คือ
     ๑. สกุล Arius (หรือ Tachysurus) มีลักษณะสำคัญ คือ มีหนวด ๓ คู่ มีฟันที่เพดานปากที่พอเป็นที่รู้จักกันมี ๑๒ ชนิด คือ
          ๑.๑ ปลากดทุกัง (Arius argyropleuron Cuvier et Valenciennes) ชื่ออื่น ๆ ปลากด, ปลาทุกัง (มลายู) ชื่อสามัญ Tugang Catfish ขนาดยาว ๓๓-๔๖ เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างยาว หัวเรียบ กระดูกท้ายทอยมีตุ่มเล็ก ๆ ยาวจดกระดูกฐานรองเงี่ยงของครีบหลัง ร่องบนหัวแคบ เริ่มจากบริเวณตาและยาวไม่ถึงกระดูกท้ายทอย จะงอยปากยื่นเล็กน้อย ตาอยู่ตรงกลางของส่วนหัว หนวดที่ขากรรไกรบนยาวถึงครีบอก หนวดที่ขากรรไกรล่างและหนวดใต้คางสั้นกว่า ครีบหลังสูงเท่ากับส่วนหน้าของลำตัว ด้านหน้าและด้านหลังเงี่ยงของครีบหลังหยักเล็กน้อย เงี่ยงของครีบหลังยาวประมาณ เท่าของหัว ครีบหลังยาวถึงจุดเริ่มของครีบก้น ครีบไขมันเริ่มต้นประมาณตอนกลาง ๆ ครีบก้น เงี่ยงของครีบอกหยักเป็นฟันเลื่อยทั้ง ๒ ด้าน มีก้านครีบอ่อน ๑๐-๑๑ ก้าน ครีบอกยาวเท่ากับหัว (เมื่อไม่วัดรวมถึงจะงอยปาก) ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน ๑๙-๒๐ ก้าน ครีบหางแฉกลึก มีก้านครีบ ๑๗ ก้าน ฟันที่ขากรรไกรบนซี่เล็กละเอียดเป็นแผงโค้ง ฟันที่เพดานปากเป็นเม็ดมี ๔ กลุ่ม กลุ่มหน้าเป็นกระจุกเล็กมากเมื่อเทียบกับกลุ่มหลังซึ่งเป็นแผงรูปไข่รียาว ซี่กรองเหงือกมี ๗-๘ ซี่ ด้านหลังลำตัวสีน้ำตาล ด้านล่างสีขาว ปลายครีบต่าง ๆ เป็นสีเทา
               ปลากดทุกังจับได้ที่จังหวัดจันทบุรี ชุมพร และสงขลา ในต่างประเทศมีรายงานว่า พบที่ประเทศอินเดีย เกาะชวา สุมาตรา และบอร์เนียวด้วย


          ๑.๒ ปลากดหัวโม่ง [Arius caelatus (Cuvier et Valenciennes) หรือ Tachysurus caelatus (Cuvier et Valenciennes)] ชื่ออื่น ๆ ปลากดแดง, ปลากด, ปลากดเหลือง, ปลาอุก, ปลาอุกปากกว้าง ชื่อสามัญ Engraved Catfish ขนาดโตได้ถึง ๔๕ เซนติเมตร ส่วนมากพบขนาด ๑๘-๓๐ เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างยาว หัวขรุขระ กระดูกท้ายทอยสูงเท่าหรือสูงมากกว่าฐานเล็กน้อย ร่องบนหัวเริ่มต้นจากหลังตาไปสิ้นสุดตรงสันของกระดูกท้ายทอย จะงอยปากยื่นเล็กน้อย หนวดที่ขากรรไกรบนยาวถึงสุดฐานครีบอก หนวดที่ขากรรไกรล่างยาวไม่ถึงครึ่งฐานครีบอก หนวดใต้คางยาวประมาณครึ่งหนึ่งของหนวดที่ขากรรไกรล่าง เงี่ยงของครีบหลังยาวเรียวเป็นเส้น เงี่ยงส่วนที่แข็งยาวประมาณความยาวของหัว ด้านหน้าของเงี่ยงขรุขระ ตอนบนและด้านหลังหยักเป็นฟันเลื่อย ครีบไขมันอยู่ตรงข้ามครีบก้น มีจุดดำทั่วครีบหรือเฉพาะครึ่งบน เงี่ยงของครีบอกสั้นกว่าครีบหลัง ครีบอกมีก้านครีบอ่อน ๙ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน ๑๘-๒๐ ก้าน ครีบหางแฉกลึก มีก้านครีบ ๑๕ ก้าน ขากรรไกรบนมีฟันซี่เล็กละเอียดเป็นแถบโค้ง ฟันที่เพดานปากซี่เล็กละเอียดเป็นแผงรูปสามเหลี่ยมไม่คมชัด ๒ กลุ่ม อยู่ห่างกัน มีซี่กรองเหงือก ๘ ซี่ ขณะมีชีวิตลำตัวสีออกแดงอ่อน ๆ จับได้ใหม่ ๆ สีออกเหลือง ลำตัวด้านบนตอนหัวสีน้ำเงินถึงน้ำเงินดำ ด้านท้องสีออกขาวเทา ปลายครีบทุกครีบมีจุดสีดำ

               ปลากดหัวโม่งกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหรือปลาขนาดเล็ก พบตามชายฝั่งโดยเฉพาะตามปากแม่น้ำ พบทั่วไปในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ในต่างประเทศพบตั้งแต่ชายฝั่งประเทศ อินเดียไปจนถึงเขตติดต่อกับออสเตรเลีย แต่ไม่พบที่ประเทศฟิลิปปินส์

 


          ๑.๓ ปลากดทุกังไข่ [Arius leiotetocephalus (Bleeker) หรือ Tachysurus leiotetoce-phalus (Bleeker)] ชื่ออื่น ๆ ปลากด, ปลาทูกัง ปลาทู่กัง (มลายู) ชื่อสามัญ Tugang Sea Catfish ขนาดโตได้ถึง ๘๐ เซนติเมตร หนัก ๑๐ กิโลกรัม พบทั่วไปขนาด ๒๕-๔๐ เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างยาว หัวเรียบในปลาที่ยังไม่โตเต็มวัย ถ้าโตเต็มวัยกระดูกท้ายทอยจะมีวงนูนกลมรีคล้ายรูปไข่ กระดูกท้ายทอยยาวจดกระดูกฐานเงี่ยงของครีบหลัง ร่องบนหัวแคบเริ่มจากบริเวณตายาวไม่ถึงกระดูกท้ายทอย จะงอยปากยื่นเล็กน้อย ตาอยู่ประมาณกึ่งกลางหัว หนวดที่ขากรรไกรบนยาวถึงปลายสุดแผ่นปิดเหงือก หนวดบนขากรรไกรล่างและใต้คางสั้นกว่า ครีบหลังสูงประมาณเท่ากับความกว้างของลำตัวหรือยาวถึงตรงกับหน้าครีบก้น เงี่ยงของครีบหลังด้านหน้าขรุขระ ด้านหลังเรียบ ยาวประมาณ ๑/๓ - ๓/๔ เท่าของหัว ครีบไขมันเล็ก เงี่ยงของครีบอกยาวเท่ากับเงี่ยงของครีบหลัง แต่ขอบหน้าและขอบหลังหยักเป็นฟันเลื่อยทั้ง ๒ ด้าน ครีบอกมีก้านครีบอ่อน ๑๒-๑๓ ก้าน ครีบก้นยาวมีก้านครีบอ่อน ๑๔-๑๗ ก้าน ครีบหางแฉกลึกมีก้านครีบ ๑๙ ก้าน ฟันที่ขากรรไกรบนซี่เล็กละเอียดเป็นแผงโค้ง ฟันที่เพดานปากเป็นเม็ด มี ๔ กลุ่ม กลุ่มหน้ารูปไข่ กลุ่มหลังรูปเรียวโค้งยาว ซี่กรองเหงือกมี ๙ ซี่ ด้านหลังลำตัวสีน้ำตาล ด้านล่างสีขาว ครีบสีเหลือง ครีบหลังมีแถบสีดำ
               ปลากดทุกังไข่พบตามพื้นท้องทะเลที่เป็นโคลนเหลวโดยทั่วไป ตามปากแม่น้ำ พบมากที่จังหวัดชลบุรี ชุมพร และบริเวณเกาะพงัน ในต่างประเทศมีรายงานว่าพบที่ประเทศสิงคโปร์ ช่องแคบมะละกา เกาะเซลีเบส และเกาะชวาด้วย นิยมนำมาทำเป็นปลาหวาน
               ชื่อปลากดทุกังไข่ เรียกตามลักษณะกระดูกท้ายทอยซึ่งแลเห็นนูนกลมรีเป็นรูปไข่

 


          ๑.๔ ปลากดหัวยาว (Arius macrocephalus Bleeker) ชื่ออื่น ๆ ปลากด ชื่อสามัญ Spotted Catfish ขนาดโตได้ถึง ๕๐ เซนติเมตร โดยทั่วไปพบขนาด ๒๐-๔๐ เซนติเมตร ความกว้างของหัวมากกว่าความลึก กระดูกท้ายทอยมีความยาวมากกว่าความกว้างและมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม ตอนบนของกระดูกท้ายทอยขรุขระเล็กน้อย ร่องบนหัวเริ่มจากด้านท้ายของจะงอยปาก และสิ้นสุดก่อนถึงกระดูกท้ายทอย ตาอยู่ครึ่งหน้าของหัว ขอบตาไม่มีเยื่อคลุม หนวดที่ขากรรไกรบนยาวเกือบเท่าความยาวของหัว หนวดที่ขากรรไกรล่างยาวประมาณสุดเยื่อปิดช่องเหงือก หนวดใต้คางสั้นกว่า เงี่ยงของครีบหลังยาว ๑/๓ - ๓/๔ เท่าของความยาวหัว ด้านหน้าเงี่ยงเป็นปุ่มหยาบ ด้านหลังหยักเป็นฟันเลื่อย เงี่ยงไม่แข็งมากนัก ครีบหลังมีก้านครีบอ่อน ๗ ก้าน ฐานครีบไขมันสั้นกว่าฐานของครีบหลัง ครีบอกมีเงี่ยงแบนและสั้น มีก้านครีบอ่อน ๑๑ ก้าน ครีบท้องยาวไม่ถึงครีบก้นและสั้นกว่าครีบอก มีก้านครีบอ่อน ๖ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน ๑๙-๒๑ ก้านครีบหางมีก้านครีบ ๑๗ ก้าน ซี่กรองเหงือก ๑๐ ซี่ ฟันเล็กละเอียดเป็นแถบโค้งทั้งขากรรไกรบนและล่าง ฟันที่เพดานปากเป็นเม็ดมี ๒ กลุ่ม แผงฟันมีลักษณะกลมรียาวเป็น ๒ เท่าของความกว้างโดยประมาณ ด้านหลังของลำตัวสีน้ำตาลถึงน้ำเงิน ด้านข้างสีขาวเงิน ครีบใส ครีบไขมันมีจุดดำ
               ปลากดหัวยาวอยู่ตามน้ำตื้นชายฝั่งทะเลตั้งแต่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา เกาะชวา สุมาตรา จนถึงบอร์เนียว ไม่พบที่ประเทศฟิลิปปินส์และออสเตรเลีย

 


          ๑.๕ ปลากดทะเล [Arius maculatus (Thunberg) หรือ Tachysurus maculatus (Thunberg)] ชื่ออื่น ๆ ปลากดขาว, ปลากดขี้ลิง, ปลากดโคกกะโส, ปลากดโคกกระโส, ปลากดหน้าหนู, ปลากดปากขวด, ปลากดหัวโม่ง, ปลากดหัวสั้น, ปลากดหัวอ่อน, ปลากดหน้าหมู, ปลาอุกหัวสั้น ชื่อสามัญ Spotted Catfish ขนาดโตถึง ๕๐ เซนติเมตร ทั่วไปพบขนาด ๒๐-๔๐ เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างยาว เกราะหัวเป็นเม็ด ความยาวมาตรฐานยาวเป็น ๓.๕-๔.๓ เท่าของความยาวหัว กระดูกท้ายทอยมีความยาวมากกว่าความกว้างของฐาน ส่วนปลายของกระดูกท้ายทอยอยู่ชิดกับกระดูกรองเงี่ยงของครีบหลัง ร่องบนหัวเริ่มจากจะงอยปากและยาวไม่ถึงกระดูกท้ายทอย จะงอยปากค่อนข้างยื่น หัวลาดขึ้นจนเกือบเป็นเส้นตรง หนวดที่ขากรรไกรบนยาวถึงฐานครีบอก แต่ ปลาขนาดใหญ่อาจยาวไม่ถึงฐานครีบอก หนวดที่ขากรรไกรล่างยาวถึงส่วนท้ายของเยื่อปิดช่องเหงือก หนวดใต้คางสั้น เงี่ยงของครีบหลังสั้นกว่าความยาวของหัว ด้านหน้าของเงี่ยงขรุขระ ด้านหลังหยักเป็นฟันเลื่อย ครีบไขมันขนาดเล็กมีจุดสีดำ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับครีบก้น เงี่ยงของครีบอกยาว ด้านหน้าเป็นตุ่ม ด้านหลังหยักเป็นฟันเลื่อย ครีบอกมีก้านครีบอ่อน ๑๐-๑๑ ก้าน ครีบท้องยาวถึงครีบก้น

 


ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน ๑๘-๒๒ ก้าน ครีบหางแฉกลึกปลายหางสอบแหลม ครีบหางตอนบนยาวกว่าครีบหางตอนล่าง ฟันที่ขากรรไกรซี่เล็กละเอียด ฟันที่เพดานปากเป็นเม็ดมี ๒ กลุ่ม แผงฟันมีลักษณะคล้ายสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่าโดยด้านในยาวสุดและเกือบขนานกัน มีซี่กรองเหงือกสั้นทู่ ๑๔ ซี่ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลถึงน้ำเงิน ด้านข้างและด้านท้องสีเทาออกขาวและมีกระสีโคลน ปลายครีบทุกครีบมีกระสีดำ
               ปลากดทะเลกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหรือปลาขนาดเล็ก ๆ พบตามชายฝั่งทะเล ทั่วไป ตั้งแต่ประเทศอินเดียจนถึงเกาะบอร์เนียว
               ที่จังหวัดจันทบุรีเรียก ปลากด ปลากดโคกกระโส ปลากดทะเล หรือปลากด หน้าหนู ที่จังหวัดสมุทรปราการเรียก ปลากดขาว ปลาอุกหัวสั้น หรือปลากดทะเลโดยเฉพาะในบริเวณน้ำขุ่น ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเรียก ปลากดหนู ที่แม่น้ำตาปีเรียก ปลากดปากขวด ที่จังหวัดสงขลาเรียก ปลากดหรือปลาหัวอ่อน
          ๑.๖ ปลากดครีบยาว [Arius nenga Bleeker หรือ Tachysurus nenga (Bleeker)] ชื่อสามัญ Long-finned Catfish ขนาด ๑๘-๒๒ เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างยาว ขากรรไกรบนยื่นล้ำขากรรไกรล่างเล็กน้อย ปากกว้างประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวหัว ร่องบนหัวยาว ด้านหน้ากว้างและตื้น ด้านท้ายแคบและลึกลงไปจดกระดูกท้ายทอยซึ่งเป็นสันนูน หนวดที่ขากรรไกรบนยาวเลยฐานครีบอกล้ำถึงประมาณ ๑ ใน ๓ ของความยาวครีบอก หนวดที่ขากรรไกรล่างยาวถึงฐานครีบอก เงี่ยงของครีบหลังยาวเท่ากับความยาวหัว ด้านหน้าเงี่ยงขรุขระ ด้านหลังหยักเป็นฟันเลื่อย ครีบหลัง

 


มีก้านครีบอ่อนก้านแรก ๆ ยาวเรียวกว่าก้านหลัง ๆ ครีบไขมันมีฐานครีบยาวเกือบเท่ากับฐานก้านครีบอ่อนของครีบหลัง เงี่ยงของครีบอกยาวเกือบเท่าความยาวหัว ด้านหน้าขรุขระ ด้านหลังหยักเป็นฟันเลื่อยซี่ละเอียด และมีก้านครีบอ่อนยาวเกือบถึงครีบท้อง จำนวน ๙-๑๐ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน ๑๘-๑๙ ก้าน ครีบหางแฉกลึก ครีบหางตอนบนยาวกว่าครีบหางตอนล่าง มีก้านครีบ ๑๗ ก้าน ฟันที่ขากรรไกรซี่เล็กละเอียดเช่นเดียวกับฟันที่เพดานปาก แผงฟันที่เพดานปากมี ๒ กลุ่ม โดยมีลักษณะแผงเป็นสามเหลี่ยมด้านเกือบเท่า ด้านหลังลำตัวสีเหลืองอมเทา ด้านล่างสีจางกว่า ครีบสีค่อนข้างดำทุกครีบ
               ปลากดครีบยาวพบน้อยมาก เคยพบเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทยที่จังหวัดภูเก็ต
          ๑.๗ ปลากดขี้ลิง [Arius sagor (Hamilton-Buchanan) หรือ Tachysurus sagor (Hamil- ton-Buchanan)] ชื่ออื่น ๆ ปลากดข้างลาย, ปลาขี้ลิง ชื่อสามัญ Sagor Catfish ขนาดโตถึง ๔๕ เซนติเมตร ทั่วไปพบ ๒๐-๔๐ เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างยาว หัวลาดลงมาก ครึ่งหลังของลำตัวแบนข้างมาก กระดูกฐานเงี่ยงของครีบหลังแบนและขยายกว้างเป็นรูปคล้ายผีเสื้อ จะงอยปากยื่น ปลายกลมมน เส้นผ่านศูนย์กลางของตายาวประมาณครึ่งหนึ่งของจะงอยปาก หนวดที่ขากรรไกรบนยาวอย่างน้อยถึงฐานครีบอก หนวดที่ขากรรไกรล่างยาวถึงฐานครีบอก หนวดใต้คางยาวถึงส่วนท้ายของเยื่อปิดช่องเหงือก เงี่ยงของครีบหลังด้านหน้าขรุขระ ด้านหลังหยักเป็นฟันเลื่อย ครีบไขมันมีฐานยาวเกือบเท่าฐานของครีบหลัง ครีบไขมันเริ่มประมาณกึ่งกลางตรงข้ามครีบก้น เงี่ยงของครีบอกสั้นกว่าความยาวหัวและหยักเป็นฟันเลื่อยทั้งด้านหน้าและด้านหลังและยาวกว่าเงี่ยงของครีบหลัง ครีบอกมีก้านครีบอ่อน ๑๐-๑๑ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน ๑๗-๑๙ ก้าน ครีบหางแฉกลึกมีก้านครีบ ๑๕ ก้าน ขากรรไกรบนมีฟันซี่เล็ก ๆ เป็นแผงโค้ง ฟันที่เพดานปากรูปกรวยซี่เล็กมี ๒ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีร่องแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๒ กลุ่ม กลุ่มย่อยแผงในมีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มย่อย แผงนอก ซี่กรองเหงือกมี ๙ ซี่ ด้านหลังของลำตัวสีน้ำตาลถึงน้ำเงิน ฐานครีบสีแดง ปลายครีบสีดำ หนวดที่ขากรรไกรบนสีดำทั้งเส้น หนวดอีก ๒ คู่ ครึ่งปลายสีดำ
               ปลากดขี้ลิงกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหรือปลาขนาดเล็ก ๆ พบว่าปลากดขี้ลิงฟักไข่ในปาก ไข่ในปากปลานับได้ ๓๙-๔๘ ฟอง พบมากตามชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะตามปากแม่น้ำ ตั้งแต่ประเทศอินเดียถึงเขตติดต่อกับทวีปออสเตรเลีย แต่ยังไม่มีรายงานว่าพบที่เกาะนิวกินีและทวีปออสเตรเลีย

 


          ๑.๘ ปลากดหัวเกราะ (Arius sciurus H.M. Smith) ชื่อสามัญ Sciurus Catfish ขนาดที่พบทั่วไป ๑๗-๒๕ เซนติเมตร ลำตัวแบนข้าง คอดหางยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวหัวเมื่อวัดจากหลังตา หัวเป็นรูปกรวยมีความสูงเท่ากับความกว้าง จะงอยปากด้านหลังโค้งนูนและขรุขระเล็กน้อย กระดูกท้ายทอยเป็นตุ่มหยาบมีสันเห็นได้ชัด ฐานของกระดูกท้ายทอยสั้นกว่าความยาว ร่องบนหัวเป็นรูปใบหอกเริ่มจากจมูกคู่หลังไปจนถึงกระดูกท้ายทอย ตาอยู่ด้านข้างค่อนไปทางด้านหน้าของหัว ปากเล็กกว้างประมาณ ๒ เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางตา หนวดที่ขากรรไกรบนเรียวยาวถึงครีบอก หนวดใต้คางสั้น เงี่ยงของครีบหลังหยักเป็นฟันเลื่อยทั้ง ๒ ด้าน ครีบไขมันมี ฐานยาวเท่ากับฐานของครีบหลัง เงี่ยงของครีบอกสั้นกว่าเงี่ยงของครีบหลัง ครีบอกมีก้านครีบอ่อน ๑๐-๑๑ ก้าน ครีบหางแฉกลึกมีก้านครีบ ๑๕ ก้าน ฟันที่ขากรรไกรบนซี่เล็กละเอียดเป็นแถบยาว ยาวประมาณ ๓ เท่าของความกว้าง ฟันที่เพดานปากเป็นเม็ดรูปไข่มี ๒ กลุ่ม ซี่กรองเหงือกมี ๙ ซี่ ด้านหลังและด้านข้างของลำตัวสีน้ำเงินอมดำ สีทางด้านท้องจางลงเป็นสีเงิน ครีบมีสีเหลืองอมเขียว ครีบหลังมีขอบสีดำ ครีบก้นสีเทา ครีบไขมันมีจุดดำ
               พบตามปากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสงขลา
               ชื่อ “กดหัวเกราะ” เรียกตามลักษณะหัวที่แลดูโตคล้ายสวมหมวกเป็นเกราะ ชาวบ้านทั่ว ๆ ไปเรียกว่า ปลากด

 


          ๑.๙ ปลาหัวผาล [Arius stormii (Bleeker) หรือ Tachysurus stormii (Bleeker)] ชื่อสามัญ Stormi Catfish ขนาดประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างยาว หัวแบนเป็นปุ่มกระดูกเล็ก ๆ หนวดที่ขากรรไกรบนยาวถึงช่องเปิดของเหงือก หนวดที่ขากรรไกรล่างยาวถึงส่วนท้ายของเยื่อปิดช่องเหงือก หนวดใต้คางสั้น เงี่ยงของครีบหลังหยักเป็นฟันเลื่อยชี้เข้าหาลำตัวทั้ง ๒ ด้าน ฐานของครีบไขมันยาวกว่าฐานของครีบหลังและเท่ากับฐานของครีบก้น เงี่ยงของครีบอกสั้นกว่าเงี่ยงของครีบหลัง ด้านหน้าขรุขระ ด้านหลังหยักเป็นฟันเลื่อย ครีบอกมีก้านครีบอ่อน ๑ ก้าน ครีบท้องสั้นและอยู่ห่างจากครีบก้นมีก้านครีบอ่อน ๖ ก้าน ครีบก้นเว้าเล็กน้อยมีก้านครีบอ่อน ๑๖ ก้าน ครีบหางเป็นแฉกลึก ฟันที่ขากรรไกรบนโค้งและคมเป็นแผง ฟันที่เพดานปากเป็นรูปกรวยปลายแหลม มี ๒ แผงยาว แต่ละแผงมีร่องแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มย่อย กลุ่มย่อยกลุ่มเล็กมีความยาวประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มย่อยกลุ่มใหญ่ กลุ่มย่อยกลุ่มเล็กอยู่ใกล้กึ่งกลางลำตัวและเป็นรูปไข่ กลุ่มย่อยกลุ่มใหญ่เป็นแผงรูปยาวรี ซี่กรองเหงือกมี ๑๐ ซี่ ด้านหลังของลำตัวสีน้ำตาล ด้านล่างสีขาว ครีบทุกครีบสีเหลือง ฐานครีบอกสีน้ำเงิน
               เคยพบที่แม่น้ำเจ้าพระยา ยาวประมาณ ๔๐ เซนติเมตร พบมากในประเทศอินเดีย พม่า เกาะชวา สุมาตรา และบอร์เนียว

 


          ๑.๑๐ ปลากดริวกิว [Arius thalassinus (Rüppell) หรือ Tachysurus thalassinus (Rüppell) หรือ Netuma thalassinus (Rüppell)] ชื่ออื่น ๆ ปลากดทะเล, ปลาโคกกระโส (จันทบุรี), ปลากด (ชุมพร), ปลาลู่ทู่ (ภูเก็ต), ปลาริวกิว (ระยอง), ปลาเลียวเซียว, ปลาริวกิวหม้อ, ปลากดหลาว, ปลากดคันหลาว, ปลากดโคกโส ชื่อสามัญ Giant Catfish ขนาดโตได้ถึง ๑.๕ เมตร ทั่วไปพบขนาด ๒๕-๗๐ เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างยาว หัวขรุขระ กระดูกท้ายทอยเป็นรูปสามเหลี่ยมมีความสูงมากกว่าความกว้าง ฐานตรงกลางเป็นสัน ปลายกระดูกท้ายทอยแตะฐานกระดูกรองเงี่ยงของครีบหลัง ร่องบนหัวตื้นและยาวไม่ถึงกระดูกท้ายทอย จะงอยปากของปลาขนาดเล็กจะค่อนข้างทู่ หัวค่อนข้างลาดชันเกือบตรง หนวดที่ขากรรไกรบนยาวถึงฐานครีบอก หนวดที่ขากรรไกรล่างยาวประมาณครึ่งหนึ่งของหนวดที่ขากรรไกรบน หนวดที่ใต้คางยาวประมาณ ๑ ใน ๓ ของหนวดที่ขากรรไกรบน ครีบหลังสั้นกว่าหัว เงี่ยงของครีบหลังด้านหน้าเป็นตุ่ม ด้านหลังหยักเป็นฟันเลื่อย ครีบไขมันเล็กเริ่มอยู่ประมาณกึ่งกลางตรงข้ามครีบก้น ครีบท้องยาวถึงครีบก้น เงี่ยงของครีบอกด้านหน้าขรุขระ ด้านหลังหยักเป็นฟันเลื่อย ยาวประมาณเท่ากับเงี่ยงของครีบหลัง ครีบอกมีก้านครีบอ่อน ๑๑-๑๓ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน ๑๕-๑๘ ก้าน ครีบหางแฉกลึก มีก้านครีบ ๑๗ ก้าน ฟันที่ขา-กรรไกรบนซี่เล็กละเอียดเป็นแผงโค้ง ฟันที่เพดานปากซี่เล็กละเอียด มี ๔ กลุ่ม ซึ่ง ๒ กลุ่มที่อยู่หน้ามีร่องแบ่งย่อยอีกกลุ่มละ ๒ กลุ่มย่อย แผงฟัน ๒ กลุ่มที่อยู่ท้ายเป็นแผงใหญ่กว่ากลุ่มที่อยู่หน้า ซี่กรองเหงือกมี ๙ ซี่ ด้านหลังลำตัวสีน้ำตาลแดง ด้านท้องสีขาวอมเทา ส่วนปลายของครีบทุกครีบมีสีดำ
               ปลากดทะเลกินสัตว์พวกกุ้ง ปู สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และปลาขนาดเล็ก พบชุกชุมตามชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะตามปากแม่น้ำ แต่ไม่ค่อยพบในแม่น้ำ อยู่ในน้ำลึกได้ถึง ๑๐๐ เมตร มีแพร่หลายตั้งแต่ประเทศอินเดียถึงทวีปออสเตรเลียรวมทั้งประเทศฟิลิปปินส์ นิยมใช้ทำปลาหวาน กระเพาะลมนำมาตากแห้งใช้เป็นอาหาร เรียกว่า กระเพาะปลา

 


          ๑.๑๑ ปลากดหลาว [Arius truncatus (Cuvier et Valenciennes) หรือ Tachysurus truncatus (Cuvier et Valenciennes)] ชื่ออื่น ๆ ปลากดหัวหลาว, ปลาอุกเหลือง ชื่อสามัญ Truncated Catfish, Blue Back Sea Catfish ขนาดยาวที่สุดเท่าที่เคยพบ ๓๓ เซนติเมตร ขนาดที่พบทั่วไปยาว ๑๒-๒๗ เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างยาว หัวลาดลงมาก บนหัวมีปุ่มเล็ก ๆ กระดูกท้ายทอยยาวเป็น ๒ เท่าของฐาน ปลายกระดูกท้ายทอยติดกับฐานรองรับเงี่ยงของครีบหลัง ร่องบนหัวแคบยาว จะงอยปากยื่น ตาอยู่ค่อนมาทางครึ่งหน้าของหัว หนังคลุมตาบาง หนวดที่ขากรรไกรบนยาวถึงส่วนหลังของกระพุ้งแก้ม หนวดที่ขากรรไกรล่างและหนวดใต้คางยาวถึงช่องเหงือก เงี่ยงของครีบหลังหยักเป็นฟันเลื่อยทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และยาวประมาณ เท่าของหัว ครีบหลังยาวเท่ากับหัวเมื่อไม่วัดจะงอยปาก ครีบไขมันตั้งอยู่ในแนวกึ่งกลางครีบก้น เงี่ยงของครีบอกหยักเป็นฟันเลื่อยทั้งด้านหน้าและด้านหลังและสั้นกว่าเงี่ยงของครีบหลัง ครีบอกมีก้านครีบอ่อน ๙ ก้าน ครีบท้องยาวถึงครีบก้นแต่สั้นกว่าครีบอก ครีบหางแฉกลึกมีก้านครีบ ๑๗ ก้าน ฟันที่ขากรรไกร บนซี่เล็กละเอียดเป็นแผงโค้ง ฟันที่เพดานปากเป็นรูปไข่ซี่เล็กละเอียดเป็นแผงมี ๒ กลุ่ม แต่ละกลุ่มอยู่ห่างกัน ซี่กรองเหงือกมี ๗ ซี่ ด้านหลังของลำตัวสีน้ำเงินเข้ม ด้านท้องสีขาว ครีบหลังและขอบหางมีสีดำ ลำตัวโดยทั่วไปสีออกเหลือง
               ปลากดหลาวพบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ว่ายน้ำเร็ว หากินในน้ำจืด และบริเวณปาก แม่น้ำ ในจังหวัดชลบุรี สมุทรสงคราม สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง ในต่างประเทศพบที่เกาะชวา สุมาตรา และประเทศมาเลเซีย

 


          ๑.๑๒ ปลากดเหลือง [Arius venosus (Cuvier et Valenciennes) หรือ Tachysurus venosus (Cuvier et Valenciennes)] ชื่ออื่น ๆ ปลากด ชื่อสามัญ Veined Catfish ขนาดโตได้ถึง ๓๐ เซนติเมตร พบทั่วไปขนาด ๑๕-๒๓ เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างยาว ร่องที่หัวแคบลึกเริ่มจากหลังตาถึงสันกระดูกท้ายทอย หัวเรียบมีตุ่มเล็ก ๆ ๒-๓ แถวยาวไปถึงกระดูกท้ายทอย กระดูก ท้ายทอยมีความยาวมากกว่าความกว้างของฐานเล็กน้อย ส่วนยอดของกระดูกท้ายทอยยาวไปแตะกับฐานกระดูกรองเงี่ยงของครีบหลัง จะงอยปากยื่นและโค้งมน หนวดที่ขากรรไกรบนยาวถึงหรือเลยฐาน ครีบอก หนวดที่ขากรรไกรล่างยาวถึงเยื่อปิดช่องเหงือก หนวดใต้คางสั้น ครีบหลังสั้นกว่าหัว เงี่ยงของครีบหลังยาวเท่ากับความยาวจากช่วงจมูกถึงช่องเหงือก ด้านหน้าของเงี่ยงขรุขระและด้านหลังหยักเป็นฟันเลื่อย ฐานของครีบไขมันสั้นกว่าฐานของครีบหลัง ครีบไขมันตั้งอยู่กลาง ๆ ตำแหน่งที่ครีบก้นตั้งอยู่ เงี่ยงของครีบอกยาวเท่ากับเงี่ยงของครีบหลังโดยประมาณ เงี่ยงของครีบอกด้านหน้าขรุขระด้านหลังหยักเป็นฟันเลื่อย ครีบอกมีก้านครีบอ่อน ๙-๑๐ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน ๑๘-๒๓ ก้าน หางแฉกลึกมีก้านครีบ ๑๗ ก้าน ฟันที่ขากรรไกรบนซี่เล็กละเอียดเป็นแถบโค้งและกว้าง ฟันที่เพดานปากซี่เล็กละเอียดเป็นแผงรูปสามเหลี่ยมโดยประมาณ มี ๒ กลุ่ม ซี่กรองเหงือกมี ๑๑ ซี่ ด้านหลังลำตัวสีน้ำตาลแดง ด้านท้องสีขาวอมเทา ครีบทุกครีบค่อนข้างดำ
               ปลากดเหลืองกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและปลาตัวเล็ก ๆ พบมากตามชายฝั่งทะเลในระดับน้ำลึกประมาณ ๑๐ เมตร แพร่กระจายตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำอิรวดีในประเทศพม่าเลาะชายฝั่งเรื่อยไปจนถึงประเทศฟิลิปปินส์

 


     ๒. สกุล Batrachocephalus มีลักษณะสำคัญ คือ มีหนวดสั้น ๆ ที่ขากรรไกรล่างเพียง ๑ คู่ มีเพียงชนิดเดียว คือ ปลากดหัวกบ [Batrachocephalus mino (Hamilton-Buchanan)] ชื่ออื่น ๆ ปลาอุกหน้ากบ ชื่อสามัญ Frog-headed Catfish ขนาดที่พบยาวที่สุด ๒๓ เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างขาว หัวโตกว้างและแบนลง จะงอยปากสั้นและทู่มาก ตาไม่มีหนังหุ้ม อยู่ค่อนไปทางครึ่งหน้าของหัวเหนือมุมปาก ปากกว้าง ขากรรไกรล่างยื่นล้ำขากรรไกรบน มีรูจมูก ๒ คู่อยู่ติดกันโดยมีผนังกั้นและอยู่ชิดกับตามาก เงี่ยงของครีบหลังหยักทั้งด้านหน้าและด้านหลังและยาวเท่ากับระยะจากส่วนหลังตาถึงช่องปิดเหงือก ครีบหลังสั้น ฐานของครีบไขมันยาวประมาณ ของฐานครีบหลัง เงี่ยงของครีบอกหยักเป็นฟันเลื่อยทั้งด้านหน้าและด้านหลังและยาวกว่าเงี่ยงของครีบหลังเล็กน้อย ครีบอกมีก้านครีบอ่อน ๗-๙ ก้าน ครีบก้นสั้นกว่าครีบหลังและมีก้านครีบอ่อน ๑๙-๒๑ ก้าน ครีบหางแฉกลึกโดยมีครีบหางตอนบนยาวกว่าครีบหางตอนล่าง ซี่กรองเหงือกมี ๙ ซี่ ลำตัวด้านหลังสีน้ำตาลและสีเงิน ครีบสีเหลืองและมีจุดสีดำประทั่วไป
     ปลากดหัวกบหาได้ยากในประเทศไทย เคยพบที่จังหวัดนนทบุรี จันทบุรี กระบี่ และสงขลา ในต่างประเทศพบที่ประเทศอินเดีย พม่า เกาะสุมาตรา ชวา และบอร์เนียว

 


     ๓. สกุล Hemipimelodus มีลักษณะสำคัญ คือ มีหนวด ๓ คู่ ไม่มีฟันที่เพดานปาก ฟันที่ขากรรไกรบนซี่เล็กละเอียด ที่รู้จักกันดีมีเพียงชนิดเดียว คือ ปลากดโป๊ะ (Hemipimelodus borneensis Bleeker) ชื่ออื่น ๆ ปลากดโพ, ปลาอุก, ปลาอุกขาว, ปลาอุกเข็ม, ปลาอุกแดง ชื่อสามัญ Borneo Catfish ขนาดที่พบทั่วไปยาว ๑๑-๒๕ เซนติเมตร ลำตัวยาว ๔-๔.๕ เท่าของความยาวหัว หัวโค้งนูนและขรุขระ กระดูกท้ายทอยเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีความสูงมากกว่าความยาวของฐาน ร่อง บนหัวยาวไปถึงกระดูกท้ายทอย จะงอยปากยื่นโค้งมน ปากเล็กและเฉียงกว้างเป็น เท่าของหัว หนวดที่ขากรรไกรบนยาวถึงช่องเหงือก หนวดที่ขากรรไกรล่างสั้นกว่า และหนวดที่คางสั้นกว่าหนวด ที่ขากรรไกรล่าง ตาเล็กมีหนังปกคลุมและอยู่ค่อนไปข้างหน้าประมาณ ของหัว เงี่ยงของครีบหลังด้านหลังหยักเป็นฟันเลื่อย ครีบหลังยาวประมาณเท่ากับความหนาของลำตัว ฐานครีบไขมัน ยาวมากกว่าฐานของครีบหลัง เงี่ยงของครีบอกหยักเป็นฟันเลื่อยทางด้านหลังและยาวเท่ากับหรือยาวกว่าเงี่ยงของครีบหลัง ครีบอกสั้นกว่าหัวและมีก้านครีบอ่อน ๙-๑๐ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน ๑๗-๒๐ ก้าน ชายครีบก้นเว้าเล็กน้อย ครีบหางเว้าลึก มีก้านครีบ ๑๕ ก้านและปลายครีบหางชี้แหลม ฟันที่ขากรรไกรบนซี่เล็กละเอียดเป็นแถบโค้ง ฟันที่ขากรรไกรล่างเป็นแผงโค้งมากกว่าที่ขากรรไกรบน ซี่กรองเหงือกมี ๑๐-๑๑ ซี่ ด้านหลังของลำตัวสีเขียว ด้านท้องสีออกเหลือง
     พบตามปากแม่น้ำที่จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ต่างประเทศพบที่เกาะสุมาตรา ชวา และบอร์เนียว

 


     ๔. สกุล Ketengus มีลักษณะสำคัญ คือ มีหนวด ๓ คู่ ไม่มีฟันที่เพดานปาก ฟันที่ขากรรไกรบนเป็นฟันตัด ลักษณะเป็นเม็ด มีเพียงชนิดเดียว คือ ปลากดหัวโต (Ketengus typus Bleeker) ชื่ออื่น ๆ ปลากดหัวหิน, ปลาอุกหิน ชื่อสามัญ Typus Catfish ขนาดที่พบยาว ๘-๒๒ เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างยาว หัวมีความยาวมากกว่าความกว้าง บนหัวมีปุ่ม กระดูกท้ายทอยเป็นรูปสามเหลี่ยมมีความสูงมากกว่าความยาวของฐาน ด้านท้ายของกระดูกท้ายทอยโค้งรับกับกระดูกฐานรองเงี่ยงของครีบหลัง ร่องบนหัวเริ่มจากหลังตาและยาวไม่ถึงกระดูกท้ายทอย หนวดที่ขากรรไกรบน และล่างมีความยาวเท่ากับเส้นผ่านศูนย์กลางตา หนวดใต้คางจะสั้นกว่า ปากกว้าง มุมปากอยู่ผ่านเลย ตำแหน่งตา ครีบหลังยาวเท่ากับหัว เงี่ยงของครีบหลังหยักเป็นฟันเลื่อยทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ครีบไขมันมีฐานยาวเท่ากับฐานของก้านครีบอ่อนของครีบหลัง เงี่ยงของครีบอกสั้นกว่าหัวและหยัก เป็นฟันเลื่อยเล็ก ๆ ทั้ง ๒ ด้าน ครีบอกมีก้านครีบอ่อน ๗-๘ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน ๑๙-๒๐ ก้าน ครีบหางแฉกลึก ครีบหางตอนบนยาวกว่าครีบหางตอนล่าง มีก้านครีบ ๑๕ ก้าน ซี่กรองเหงือกมี ๑๐ ซี่ ลำตัวด้านหลังสีดำ ด้านท้องสีขาวเงิน ครีบทุกครีบสีเหลือง
     ปลากดหัวโตเคยจับได้จากเขตจังหวัดสงขลา สมุทรปราการ และนนทบุรี ปัจจุบันพบได้น้อยมาก

 



     ๕. สกุล Osteogeneiosus มีลักษณะสำคัญ คือ มีหนวดเฉพาะที่ขากรรไกรบนเป็นเส้นแข็งกระด้าง มีเพียงชนิดเดียว คือ ปลากดหนวดแข็ง [Osteogeneiosus militaris (Linn.)] ชื่ออื่น ๆ ปลากดหนวด, ปลากดโคกกะโส, ปลากดส้มอุย, ปลากดหัวอ่อน, ปลาหัวอ่อน (สงขลา), ปลาอุก ปลาอุกหัวสั้น (บางปะกง, สมุทรปราการ) ชื่อสามัญ Soldier Catfish ขนาดโตได้ถึง ๓๕ เซนติเมตร ขนาดที่พบทั่วไป ๒๐-๒๕ เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างยาว หัวแบนมากลาดลงเล็กน้อย เรียบไม่มีปุ่มปมร่องกะโหลกหัวกว้างยาวไม่ถึงท้ายทอย ตาอยู่ค่อนไปทางครึ่งด้านหน้าของหัว หนวดที่ขากรรไกรบนยาวเลยฐานของครีบอก เงี่ยงของครีบหลังสั้นกว่าหัวเล็กน้อย ด้านหน้าขรุขระ ด้านหลังหยักเป็นฟันเลื่อย ครีบไขมันอยู่ตรงข้ามกับครีบก้นและมีฐานยาวเท่ากับฐานของครีบหลัง เงี่ยงของครีบอกยาวประมาณ เท่าของหัวและหยักทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ครีบอกมีก้านครีบอ่อน ๙-๑๑ ก้าน ครีบท้องเริ่มต้นตรงกับท้ายของครีบหลัง ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน ๑๙-๒๓ ก้าน ครีบหางแฉกลึกมีก้านครีบอ่อน ๑๗ ก้าน ฟันที่ขากรรไกรบนและล่างเป็นแผงซี่เล็กละเอียด ฟัน ที่เพดานปากเป็นรูปกรวยสั้น ๆ มีลักษณะเป็นแผงรูปคล้ายไข่ผ่าซีก ซี่กรองเหงือกมี ๘ ซี่ ลำตัว ด้านหลังสีน้ำเงินเข้มสะท้อนแสงเป็นสีเงิน ด้านท้องสีขาวมีประสีดำ ส่วนบนของครีบหลังและครีบไขมันสีน้ำเงินเข้ม

 



     ปลากดหนวดแข็งทั้งตัวผู้และตัวเมียฟักไข่ในปากตลอดปี อาศัยอยู่ตามปากแม่น้ำทั่วไปที่มีความลึกถึงประมาณ ๔๕ เมตรเป็นส่วนมาก ปลากดหนวดแข็งแพร่กระจายตั้งแต่ประเทศ อินเดีย ศรีลังกา ตลอดแนวชายฝั่งจนถึงประเทศอินโดนีเซีย เกาะบอร์เนียว และประเทศเวียดนาม
     ปลากดในวงศ์ Bagridae (Mystidae) มีชื่อสามัญว่า Bagrid Catfishes มีลักษณะสำคัญ คือ มีหนวด ๔ คู่[ อยู่ที่ขากรรไกรบน ขากรรไกรล่าง คาง และคั่นอยู่ที่รูจมูก หนังกระพุ้งแก้มปิดเหงือกไม่ติดกับคอดคอ มีเงี่ยงที่ครีบหลังและครีบอก ครีบหลังมีก้านครีบอ่อน ๖-๗ ก้าน มีครีบไขมัน
     ปลากดในวงศ์นี้ มีลักษณะแตกต่างจากปลาในวงศ์ปลาดุกทะเล วงศ์ปลาดุก วงศ์ปลาเนื้ออ่อน วงศ์ปลาจีด และวงศ์ปลาสวายเช่นเดียวกับความแตกต่างของปลากดในวงศ์ Ariidae และยังมีรูจมูกรูหน้าอยู่ห่างจากรูหลังผิดกับปลาในวงศ์ปลาแค้ วงศ์ปลาดัก และปลากดในวงศ์ Ariidae ตรงที่รูจมูกรูหน้าอยู่ติดกับรูหลัง และยังแตกต่างจากวงศ์ปลาขยุย (Akysidae) ตรงที่มีหนวดคั่นอยู่หน้ารูจมูกคู่หลัง ส่วนปลาขยุยมีหนวดใกล้รูจมูกคู่หลัง
     ปลาในวงศ์ Bagridae ที่รู้จักกันดีในชื่อของปลากด ครีบหลังมีก้านครีบอ่อน ๗ ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบอ่อน ๖ ก้าน และครีบก้นมีก้านครีบอ่อนไม่เกิน ๒๐ ก้าน มี ๕ ชนิด ๓ สกุล คือ
     ๑. สกุล Bagroides ตามีเยื่อคลุม หนังกระพุ้งแก้มปิดเหงือกติดกัน ขอบหลังของเงี่ยงครีบหลังหยักเป็นฟันเลื่อยโดยซี่ฟันชี้ออกนอกลำตัว ฟันซี่เล็กละเอียดเป็นแผงยาวหรือแผงรูปรี ที่รู้จักกันดีในสกุลนี้ คือ ปลากดหมู (Bagroides macropterus Bleeker)
     ๒. สกุล Leiocassis ตามีเยื่อคลุม หนังกระพุ้งแก้มปิดเหงือกเกือบแยกขาดจากกันและเกือบแยกจากคอดคอ ขอบหลังของเงี่ยงครีบหลังหยักเป็นฟันเลื่อยโดยซี่ฟันชี้เข้าหาลำตัว หรือไม่มีหยักฟันเลื่อย ที่รู้จักดีในชื่อปลากด คือ ปลากดหิน (Leiocassis siamensis Regan)

 



     ๓. สกุล Mystus ตาไม่มีเยื่อคลุม หนังกระพุ้งแก้มปิดเหงือกไม่ติดกับคอดคอ ครีบหลังสูงปานกลาง เงี่ยงยาวปานกลาง ขอบหลังของเงี่ยงครีบหลังหยักเป็นฟันเลื่อย ที่รู้จักกันมากในชื่อทั่วไปว่า ปลากด นั้นมีอยู่ ๓ ชนิด คือ ปลามังกง [Mystus gulio (Hamilton-Buchanan)], ปลากดเหลือง ปลากดขาว หรือปลาชงโลง [Mystus nemurus (Cuvier et Valenciennes)] และปลากดคัง [Mystus wyckii (Bleeker)].

 

 

 

 

 

 

 

ชื่อหลัก
กด-ปลา
ชื่อวงศ์
Ariidae (Tachysuridae), Bagridae (Mystidae)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.เฉลิมวิไล ชื่นศรี
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf