กงเกวียน-หอย

Angaria spp.

ชื่อวิทยาศาสตร์
Angaria spp. วงศ์ Angariidae
ชื่อสามัญ
Angarian Shells, Dolphin Shells

ลักษณะทั่วไป เป็นหอยกาบเดี่ยว เปลือกยาว ๓๐-๕๐ มิลลิเมตร เปลือกค่อนข้างหนา พื้นผิวนอกขรุขระ สีแตกต่างกันไป เช่น สีเทา เทาอมม่วง เทาอมเขียว มีหนามใหญ่ ทู่ หรือแหลมตามวงเกลียว (whorl) มีลักษณะแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิด เห็นได้ชัด ๒-๓ แถว มองดูคล้ายกำของล้อเกวียน ปลายหนามก็แตกต่างกันไปเช่นกัน เช่น อาจแยกเป็น ๒ แฉกคล้ายเขา หรือยาวบิดเบี้ยว ช่องแกนเปลือก (umbilicus) ลึก ช่องเปลือก (aperture) เป็นวงกลม และมีแผ่นปิด (operculum) ด้านในของเปลือกเป็นมุก
     หอยกงเกวียนกินสาหร่ายและตะไคร่น้ำ ปฏิสนธินอกตัว ตัวอ่อนโทรโคฟอร์ (trochophore larva) ลอยตัวอยู่ในน้ำ เมื่อเจริญเป็นตัวอ่อนเวลิเจอร์ (veliger larva) จะคงลอยอยู่ในน้ำชั่วระยะหนึ่งจนกระทั่งมีเปลือกขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากขึ้นจึงจมตัวลงสู่พื้นท้องทะเล เจริญเป็นตัวเต็มวัยต่อไป หอยเหล่านี้อาศัยตามแนวปะการัง มีอยู่หลายชนิด ชนิดที่พบมากในน่านน้ำไทย ได้แก่ ชนิด Angaria delphinus (Linn.).

 

 

 

 

 

ชื่อหลัก
กงเกวียน-หอย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Angaria spp.
ชื่อสกุล
Angaria
ชื่อชนิด
spp
ชื่อวงศ์
Angariidae
ชื่อสามัญ
Angarian Shells, Dolphin Shells
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.วันทนา อยู่สุข
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf