ไก่-ปู

ชื่อสามัญ
Land Crab

ลักษณะทั่วไป เป็นปูบกซึ่งมีกำเนิดในทะเล เมื่อเจริญเติบโตขึ้นมาระยะหนึ่งได้ขึ้นมาอาศัยอยู่บนบกจนเป็นตัวเต็มวัย กระดองวัดจากขอบหน้าจดขอบหลังยาว ๖๐-๖๗ มิลลิเมตร กว้าง ๗๒-๗๕ มิลลิเมตร ลักษณะกลมนูนเรียบ สีน้ำตาล บริเวณกระดองด้านข้างกลมและโป่งพองออก บริเวณ เนินกระเพาะและหัวใจเด่นชัด ขาก้ามทั้ง ๒ ข้างมีขนาดไม่เท่ากันและมีสีม่วงอ่อน ยกเว้นปล้องที่เป็นก้ามจะเป็นสีน้ำตาล ปล้องปลายของขาที่เหลือสีเหลืองส้ม ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้
     ปูไก่ขึ้นมาอาศัยอยู่บนบกจนสามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์ จนนักวิชาการเรียกว่า “ปูบก (Land Crab)” เพราะสามารถหายใจได้ด้วยเหงือกที่ชุ่มชื้นโดยไม่ต้องกลับลงไปอยู่ในทะเลเพื่อทำให้เหงือกเปียกชุ่ม ปูไก่ได้น้ำโดยใช้ขาที่มีขนหนาแน่นขุดลงไปในดินที่ชุ่มชื้น ตรงบริเวณของโคนขนเหล่านี้จะมีท่อเล็ก ๆ ติดต่อกันดึงดูดน้ำไปยังช่องที่ล้อมรอบหัวใจ (pericar-dial sac) ซึ่งอยู่บนเหงือกทำให้เหงือกได้รับน้ำและเกิดความชุ่มชื้นตลอดเวลา ปูไก่ออกจากรูที่อาศัยในตอนกลางคืนขณะที่มีอากาศเย็นเพื่อหาอาหารและผสมพันธุ์ และมักออกจากรูเสมอภายหลังที่มี ฝนตกหนัก ถ้ามีอะไรเคลื่อนไหวขณะที่ออกหาอาหารจะวิ่งหนีอย่างรวดเร็วเข้าไปอยู่ตามรอยแตกหรือซอกก้อนหิน ซอกและรากต้นไม้ กินใบไม้ ผลไม้ และเมล็ดพืช
     หลังผสมพันธุ์ตัวเมียจะปล่อยไข่ที่ผสมแล้วออกมาติดที่รยางค์ท้อง (pleopod) ที่หน้าท้อง ไข่ระยะแรกมีสีแดง ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเทาซึ่งแสดงว่าไข่ได้เจริญเป็นตัวอ่อนเต็มที่แล้วพร้อมที่จะฟักออกจากเปลือกไข่ ปูตัวเมียจะออกจากรูที่อาศัยเดินทางไปสู่ทะเลเพื่อปล่อยตัวอ่อนให้ออกจากเปลือกไข่ โดยเมื่อถึงน้ำทะเลมันจะกระพือรยางค์ท้องอย่างรุนแรงเพื่อให้ตัวอ่อนหลุดจากเปลือกไข่ และกระจายไปอยู่ในน้ำทะเล ตัวอ่อนระยะนี้เรียกว่า โซเอีย (zoea) หลังจากนั้นตัวอ่อนก็เจริญเติบโตลอกคราบหลายครั้งจนครั้งสุดท้ายกลายเป็นตัวอ่อนระยะที่เรียกว่า เมกะโลปา (megalopa) ซึ่งมีลักษณะคล้ายปูตัวเล็ก ๆ แต่ช่วงท้องยังเหยียดยาวอยู่ จากนั้นก็ลอกคราบกลายเป็นลูกปูตัวเล็ก ๆ (juvenile) จมลงสู่พื้นท้องทะเล คลานเข้าสู่ฝั่ง และขึ้นมาอาศัยอยู่บนฝั่งเริ่มต้นชีวิตเป็นปูบกต่อไป
     แหล่งอาศัยของปูไก่อยู่บริเวณชายทะเลเหนือป่าชายเลนขึ้นมา หรือตามเกาะต่าง ๆ ในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ขณะนี้ประชาชนนิยมบริโภคปูไก่เนื่องจากเป็นปูที่มีขนาดใหญ่และ เนื้อมาก จึงอาจทำให้สูญพันธุ์ไปในไม่ช้า สาเหตุที่เรียกชื่อว่า ปูไก่ เพราะสามารถพ่นลมให้เกิดเป็นเสียงคล้ายลูกไก่ร้อง
     ปูไก่ที่พบในประเทศไทย มี ๒ สกุล ๓ ชนิด ได้แก่
     ๑. Cardisoma carnifex (Herbst)
     ๒. C. hirtipes Dana
     ๓. Gecarcoidea lalandii H. Milne-Edwards.

ชื่อหลัก
ไก่-ปู
ชื่อวงศ์
Gecarcinidae
ชื่อสามัญ
Land Crab
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ.ไพบูลย์ นัยเนตร
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf