ลักษณะทั่วไป ไก่ป่าเป็นต้นตระกูลของไก่บ้าน วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาวประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ตัวผู้หนัก ๘๐๐-๑,๓๐๐ กรัม หน้าสีแดงไม่มีขน หงอนสีแดง มีเหนียงสีแดงและติ่งหูอย่างละคู่ ขนบริเวณคอ หลัง ถึงสะโพกสีส้ม ขนปีกสีเขียวเป็นมันขลิบสีส้ม ใต้ท้องสีน้ำเงินดำ หางโค้งลาด ปลายพลิ้ว สีเขียวแซมดำและน้ำเงินเข้มเป็นมัน มีขนหาง ๑๔-๑๖ เส้น คู่กลางซึ่งเรียกว่า หางกะลวย ยาวกว่าคู่อื่น เมื่อเริ่มฤดูฝนตัวผู้จะผลัดขนโดยขนที่บริเวณลำคอและหางซึ่งมีกษณะยาวและสีเข้มจะหลุดออก แล้วมีขนสั้น ๆ ขอบกลมมนสีดำขึ้นมาแทนที่ หงอนเปลี่ยนเป็น สีคล้ำขึ้นและงอพับลง ไก่ป่าตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ หนัก ๕๐๐-๗๔๐ กรัม ลำตัวสีน้ำตาลอมเทา หงอนและเหนียงมีขนาดเล็กและสีไม่เข้มอย่างของตัวผู้ ทั้งตัวผู้และตัวเมียขาสีเทาเข้ม
ไก่ป่าอาศัยอยู่ตามพุ่มไม้เล็ก ๆ ในป่าทั่วไปเพื่อสะดวกในการหลบภัย บินได้รวดเร็วแต่ในระดับต่ำและระยะทางสั้น ๆ เมื่อตื่นตกใจจะโผบินไประยะหนึ่งจึงถลาลงพื้นอย่างรวดเร็วบริเวณที่มีพุ่มไม้หรือกอหญ้าแล้ววิ่งไปคู้ตัวหลบซ่อนนิ่งเงียบอยู่ ปรกติไก่ป่าอยู่เป็นฝูงใหญ่ทั้งตัวผู้และตัวเมียรวมกันประมาณ ๕๐ ตัว ในฤดูผสมพันธุ์จึงแยกเป็นฝูงเล็ก ๆ โดยตัวผู้จะต่อสู้กันเพื่อแย่งพื้นที่ และครอบครองตัวเมียกันตัวละ ๓-๕ ตัว
หลังจากผสมพันธุ์แล้วตัวเมียจะทำรังเป็นหลุมตื้น ๆ บนพื้นดินหรือบนกองใบไม้แห้ง ๆ ในที่ปลอดภัย วางไข่คราวละ ๕-๖ ฟอง ไข่สีขาวหรือน้ำตาล หนักประมาณ ๓๐ กรัม ใช้เวลาฟักประมาณ ๒๑ วัน ลูกไก่ป่าอายุ ๘ วันเริ่มบินเกาะตามกิ่งไม้ได้ อายุประมาณ ๑๐ วันบินได้ในระยะทางสั้น ๆ
ไก่ป่าในประเทศไทยมี ๒ ชนิดย่อย คือ
๑. ไก่ป่าติ่งหูขาว [Gallus gallus gallus (Linn.)] ชื่อสามัญ Cochin Chinese Red Junglefowl ติ่งหูสีขาว พบทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
๒. ไก่ป่าติ่งหูแดง [Gallus gallus spadiceus (Bonnaterre)] ชื่อสามัญ Burmese Red Junglefowl ติ่งหูสีแดง พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้.